Homestay สภาวะซึมเศร้าและโลกอาจจะไม่ได้หมุนรอบตัวเรา

Homestay สภาวะซึมเศร้าและโลกอาจจะไม่ได้หมุนรอบตัวเรา

Homestay สภาวะซึมเศร้าและโลกอาจจะไม่ได้หมุนรอบตัวเรา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

บทความนี้มีการเปิดเผยจุดสำคัญของภาพยนตร์

 

Homestay ถูกดัดแปลงมาจากวรรณกรรมของประเทศญี่ปุ่นในชื่อ Colorful ของ เอโตะ โมริ และได้รับการแปลเป็นนิยายฉบับแปลไทยโดยใช้ชื่อว่า เมื่อสวรรค์ให้รางวัลผม ทั้งยังเคยถูกนำไปสร้างเป็นหนังแอนิเมชั่นญี่ปุ่นในชื่อ Colorful (2010)

 

สำหรับภาพยนตรเวอร์ชั่น GDH นั้น บอกเล่าเรื่องราวของวิญญาณเร่ร่อนที่ตื่นขึ้นมาในร่างของเด็กมัธยมปลายอย่างมิน (เจมส์ ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ) ไม่นานนักเขามีโอกาสได้ทำความรู้จักกับชายลึกลับที่อ้างตัวเองว่าเป็นผู้คุม (ปีเตอร์ นพชัย ชัยนาม) ว่าจริงๆแล้วมินนั้นฆ่าตัวตายไปและเขามีโอกาสจะได้อาศัยอยู่ใน “ร่างนี้” ถ้าหากเขาสามารถหาคำตอบให้ได้ว่ามินนั้นฆ่าตัวตายด้วยเหตุผลอะไรและเพราะใคร ถ้าหากเขาไม่สามารถค้นหาคำตอบได้ภายใน 100 วันเขาจะต้องตายจากร่างนี้ไปตลอดกาล

 

 

แม้หนังจะเปิดเรื่องมาด้วยการสร้างเงื่อนไขให้ตัวละครอย่างมินค้นหาความจริงว่า ทำไมเขาต้องฆ่าตัวตาย เอาเข้าจริงแล้วคนดูก็สามารถคาดเดาได้ตั้งแต่เนิ่นว่า คนที่ทำให้มินตายนั้นน่าจะหนีไม่พ้นคนใกล้ตัวหรือไม่ก็คือตัวมินเอง แต่สิ่งที่เราคาดเดาได้ก็ไม่ได้ลดอรรถรสในการตั้งคำถามว่า “แล้วทำไม เขาถึงต้องตัดสินใจปลิดชีวิตตัวเอง”

 

หนังจึงพาเราไปสำรวจชีวิตของเด็กชายวัยมัธยมปลายที่เหมือนเขาจะเริ่มเรียนรู้ว่า มินอยู่ในครอบครัวที่กำลังประสบปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ แม่ของเขา (สู่ขวัญ บูลกุล) ดูมีเรื่องราวอยู่ในใจตลอดเวลา แต่ไม่สามารถบอกความจริงบางอย่างให้กับแม่ได้ ในขณะที่พ่อ (วิโรจ ควันธรรม) อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ลาออกจากงานและมาขายวิตามินเสริมให้กับธุรกิจเครือข่ายเจ้าดัง และพี่ชาย (เบสท์ ณัฐสิทธิ์) ที่ดูไม่ชอบขี้หน้ามินเอามากๆ

 

 

มินที่ฟื้นขึ้นมากลับปราศจากความทรงจำเก่าอย่างสิ้นเชิง เขาจึงต้องพยายามค้นหาความจริงว่าเหตุการณ์ก่อนหน้านี้เกิดอะไรขึ้นบ้าง จากที่บ้านสู่โรงเรียน เขาได้เริ่มทำความรู้จักกับเพื่อนๆ ร่วมไปถึงหญิงสาวคนพิเศษที่ชื่อว่า พาย (เฌอปราง อารีย์กุล) นักเรียนรุ่นพี่ที่อยู่ในกลุ่มเด็กนักเรียนโอลิมปิกที่เหมือนจะมีใจให้กับมิน

 

ด้วยความที่ Homestay มีการผสมผสานแนวทางของภาพยนตร์อันหลากหลายไม่ว่าจะเป็น ไซไฟ-ทริลเลอร์-โรแมนซ์-ดราม่า ต้องยอมรับว่าหนังมีความทะเยอทะยานในการอยากจะเล่าเรื่องราวให้ออกมาพิเศษ แต่เมื่อหนังเดินทางมาถึงจุดหนึ่งแล้ว เราจะพบว่าบทภาพยนตร์ของหนังนั้นยังมีความบกพร่องในการนำพาคนดูไปถึงอารมณ์ที่ตัวหนังวางเส้นทางเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ที่ดูไม่ค่อยน่าเชื่อถือระหว่างมินและพาย (เราอยากทราบว่าทำไมผู้หญิงแบบพายถึงชอบมินเวอร์ชั่นเก่าที่มีความเก็บตัวและดูไม่เป็นมิตร) ทำไมมินจึงรู้สึกเกลียดพ่อและพี่ชายของตัวเองขนาดนั้น (จะขายตรงหรืออะไรก็ตามแต่) กระทั่งการที่เขาทุ่มเทความรักให้แม่อย่างหมดหัวใจและใจสลายเมื่อพบว่าจริงๆแล้วแม่ของเขามีอีกครอบครัวอยู่ที่จังหวัดระยอง

 

การที่หนังเลือกจะคลี่คลายอธิบายเหตุผลว่าการที่มินฆ่าตัวตายนั้นก็เป็นเพราะตัวของเขาเอง มองโลกในแง่ลบและพยายามเข้าข้างตัวเองว่าไม่มีใครรักเขาเลย จึงเป็นเหตุผลที่ค่อนข้างจะตีความรวบรัดตัดตอน โดยเฉพาะตลอดทั้งเรื่องหนังไม่ได้พาคนดูไปสำรวจแง่มุมที่ลึกซึ้งในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างมินกับคนรอบข้าง เราจึงรู้สึกตะขิดตะขวงใจว่า ตัวหนังมีความฉาบฉวยไปหน่อยในแง่การทำให้คนดูเชื่อว่า การที่คนอย่างมินที่อาจจะมีอาการซึมเศร้าและตัดสินใจฆ่าตัวตายนั้นเป็นเพราะตัวเขาเองไม่เข้มแข็งพอ

 

 

อาการซึมเศร้านั้นไม่ได้มีต้นเหตุจากการที่คนๆหนึ่งไม่สามารถทนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เข้ากับตัวเองเท่านั้น แต่มันยังอาจจะมีมูลเหตุมาจากเรื่องราวอันหลากหลาย การที่หนังพยายามบอกว่าจริงๆแล้วการฆ่าตัวตายนั้นอาจจะเป็นเพราะการตัดสินใจของการมองโลกในแง่ลบของเด็กคนหนึ่งเท่านั้น แต่แท้ที่จริงแล้วคนป่วยเป็นโรคซึมเศร้าไม่ได้อยากจะมองโลกในแง่ลบแต่เพียงแค่นั้น สาเหตุของโรคนี้ยังมีหลากหลายไม่ว่าจะเป็นการทำงานของสมองผิดปกติเนื่องจากหลั่งสารเคมีออกมาไม่เท่ากัน พันธุกรรม เหตุการณ์ตึงเครียดในชีวิต ฯลฯ

 

อีกตัวละครหนึ่งที่น่าเป็นห่วงไม่แพ้กัน เมื่อหนังเลือกจะเผยความจริงให้กับคนดูได้เห็นว่า ตัวละครอย่างพายเองก็กำลังประสบปัญหาในชีวิต เมื่อเธอเองเป็นนักเรียนทุน มิหนำซ้ำยังจะไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ หนังเผยฉากที่มินเห็นว่า อาจารย์ประจำชั้นของเธอกำลังล่วงละเมิดทางเพศพาย แต่พายก็ได้แต่นั่งตัวแข็งทื่อและไม่สามารถโต้ตอบอะไรได้ เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มินโกรธและทำอะไรไม่ถูก ฉากเคลียร์และระเบิดอารมณ์บนดาดฟ้าระหว่างสองตัวละครนี้ จัดได้ว่าเป็นฉากที่ค่อนข้างน่ากลัว เมื่อมินตั้งคำถามกับพายว่า ทำไมต้องทำอะไรเช่นนั้น ทำไมเธอถึงมองว่าโอลิมปิกเป็นเรื่องสำคัญกับชีวิตที่เธอต้องแลก “ร่าง” ของตัวเอง

 

 

พายอธิบายว่าเพราะการไปโอลิมปิกวิชาการ “คือทุกอย่างในชีวิตของเธอ” แสดงให้คนดูเห็นชัดเจนเลยว่า เหนือจากความรักความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับมิน จุดหมายที่สำคัญคือการที่เธอต้องไปแข่งขันและคว้าเหรียญกับมาให้ได้จนสำเร็จ ไม่ว่าเดิมพันครั้งนี้จะต้องแลกมาด้วยอะไรก็ตาม ซีนที่มินถอยหลังจนเดินไปจะแทบจะสุดขอบดาดฟ้า จนทำให้พายพูดขึ้นมาว่า “มินอย่าโดดลงไปนะ” พร้อมกับการร้องไห้โฮ มินกลับสวนมาว่า “คนที่จะโดดไม่ใช่เราหรอก แต่น่าจะเป็นเธอมากกว่า”

 

ประโยคดังกล่าวจัดได้ว่าเป็นคำพูดที่ค่อนข้างน่ากลัว ถ้าหากในวินาทีนั้นพายเกิดตัดสินใจกระโดดจากตึกลงไปทันที คนที่เสียใจอาจจะกลายเป็นมินเองก็ได้ เพราะความไม่ยั้งคิดในการใช้ความโกรธเปลี่ยนมาเป็นคำพูดที่ทำร้ายผู้ฟัง แต่ถึงอย่างนั้นเราจะได้เห็นสภาวะความกดดันของพายในฉากต่อๆมาโดยเฉพาะฉากหน้าเสาธงที่เธอจะได้เป็นตัวแทนกล่าว แต่เมื่อเธอเห็นหน้ามิน เธอกลับพูดไม่ออกและหนีไปร้องไห้ในห้องแล็บ จนมินต้องเข้าไปปลอบและขอโทษ

 

ตัวละครพายเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่น่าจะทำให้มิน (และคนดู) เข้าใจว่า ทุกคนนั้นมีสภาวะเรื่องเครียดที่ต้องเผชิญหน้าด้วยกันทั้งนั้น แต่อยู่ที่ว่าแต่ละคนนั้นจะรับมือกับปัญหาเหล่านั้นยังไง และบรรดาตัวละครแวดล้อมของมินน่าจะเป็นบทอธิบาย (และเป็นความตั้งใจของผู้กำกับ) ที่เลือกจะสะท้อนมุมมองของหนังออกมาว่า บางครั้งโลกก็อาจจะไม่ได้หมุนรอบตัวเราแต่เพียงอย่างเดียว เราอาจจะต้องทำความเข้าใจโลกของคนอื่นๆด้วยเช่นกัน

 

ดังนั้น Homestay อาจจะเป็นวิธีการสะท้อนแนวคิดของฝั่งผู้สร้างมาในมุมมองหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกันสภาวะของผู้ป่วยที่มีอาการซึมเศร้าก็อาจจะมองหนังเรื่องนี้ในอีกมุมมองหนึ่งเช่นเดียวกัน

 

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ ของ Homestay สภาวะซึมเศร้าและโลกอาจจะไม่ได้หมุนรอบตัวเรา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook