ได้ยินแต่ไม่รู้จัก “Foley Artist” ผู้สร้างเสียง ที่ไม่มีใครนึกถึง

ได้ยินแต่ไม่รู้จัก “Foley Artist” ผู้สร้างเสียง ที่ไม่มีใครนึกถึง

ได้ยินแต่ไม่รู้จัก “Foley Artist”  ผู้สร้างเสียง ที่ไม่มีใครนึกถึง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รางวัลบันทึกเสียงยอดเยี่ยมบนเวทีประกวดภาพยนตร์หลายเวทีเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของคนทำงานเบื้องหลัง แต่ในฐานะผู้ชมภาพยนตร์เรามักใส่ใจกับรางวัลใหญ่ๆ บนเวทีเพียงไม่กี่รางวัล แน่นอนว่ารางวัลด้านการบันทึกเสียงจัดอยู่ในหมวดความทรงจำระดับเลือนราง

Foley Artist (โฟลี่ย์ อาร์ตติส) อีกหนึ่งคนทำงานเบื้องหลัง ฟันเฟืองเล็กๆ มีหน้าที่สร้างสรรค์เสียงประกอบภาพยนตร์นอกเหนือไปจากการใช้เสียงเอฟเฟกต์จากคอมพิวเตอร์ นั่นจึงหมายความว่าเสียงจากโฟลี่ย์ อาร์ตติสเป็นเสียงจากจินตนาการถ่ายทอดผ่านการเคาะ เป่า เท สะบัด หรือแม้กระทั่งการเลียแขนตัวเอง รวมไปถึงการทดลองทำบางสิ่งแบบเกินคาด เพื่อให้ได้เสียงประกอบฉากภาพยนตร์ที่ขณะถ่ายทำไม่สามารถบันทึกไว้ได้ หรือบางครั้งเสียงนั้นไม่มีอยู่จริง แต่โฟลี่ย์ อาร์ตติสกลับสร้างเสียงนั้นเพื่อเติมเต็มความสมบูรณ์ให้กับหนัง

GDH

  • Cemetery of Splendor (รักที่ขอนแก่น) หนังของเจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ทำให้บิ๊กต้องเลียแขนตัวเอง 2 ชั่วโมงเพื่อใช้ประกอบฉากเลียขาที่มีอยู่ในหนังไม่ถึง 3 นาที
  • บิ๊กเป็นคนทำเสียงเดินบนกองขยะในฉากที่แบงค์ตื่นขึ้นมาพบตัวเองท่ามกลางกองขยะในภาพยนตร์ฉลาดเกมส์โกง และภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลบันทึกเสียงยอดเยี่ยมจากรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 27
  • บิ๊กเคยนำแก้วน้ำทั้งหมดในออฟฟิศมาเคาะให้หว่อง ก๊า ไหว่ ผู้กำกับดังชาวฮ่องกงฟัง เพื่อหาเสียงแก้วที่ให้ความรู้สึกเซ็กซี่ที่สุด สุดท้ายต้องจ่ายเงิน 800 บาท ซื้อแก้วใบใหม่

บิ๊ก-ศุภวิชญ์ โพธิ์วิจิตร หนุ่มวัย 27 ปี หนึ่งในทีมโฟลี่ย์ อาร์ตติสของกันตนา ซาวด์สตูดิโอ เขาเรียนจบด้านภาพยนตร์จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ตอนเรียนเล่นดนตรีและได้ยินคำว่าโฟลี่ย์ครั้งแรกจากรุ่นพี่ในวง ตอนนั้นแค่สงสัย กระทั่งตนเองได้เรียนวิชา Sound for film จึงเริ่มเข้าใจ แต่เพราะฝันอยากเป็นคนมิกซ์เสียง เรียนจบจึงมุ่งมาสมัครงานตำแหน่งโฟลี่ย์ อาร์ตติส เพราะอยากรู้ที่มาของเสียงเหล่านั้นเพื่อนำไปต่อยอดการเป็นมิกเซอร์ (คนผสมเสียง) ที่ตนเองตั้งเป้าหมายไว้

เรียกว่าเป็นงานหินเพราะเขาเริ่มต้นทำงานแบบไม่มีความรู้ แถมเข้างานรอบ 4 ทุ่ม ถึง 7 โมงเช้า จะขอคำแนะนำจากใครก็ได้แค่ถาม ถึงหน้างานต้องลงมือและแก้ปัญหาเอง เสียง Foot step หรือเสียงก้าวเดิน เสียงพื้นฐานที่โฟลี่ย์ อาร์ตติสทุกคนต้องทำเป็น ครั้งแรกเขาใช้เวลา 12 ชั่วโมง ทำเสียงเดินในหนังเพียง 12 นาที ยังไม่นับฉากเดินที่เหลือในภาพยนตร์ซึ่งปกติหนัง 1 เรื่อง มีความยาวประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง บิ๊กจึงเคยนั่งหลับคาหน้าจอภาพขณะทำเสียงประกอบไปด้วย

“ตอนนั้นเครียดมาก มันต้องตัดสินใจภายในเสี้ยววินาที เราปล่อยภาพไป และต้องจำให้ได้ว่าก้าวนี้พระเอกเดินอย่างไร ไปถึงตรงนี้แล้วหยุดเดิน เดินกี่ก้าว เดินด้วยอารมณ์ไหน”

ขั้นตอนการทำงานคือเมื่อหนังเข้ามาที่ออฟฟิศ ภาพทั้งหมดจะอยู่ในคอมพิวเตอร์ จากนั้นโฟลี่ย์ อาร์ตติสต้องนั่งดูหนังเรื่องนั้นก่อน 1 รอบ เพื่อดูว่ามีนักแสดงทั้งหมดกี่คน เป็นหนังแนวไหน เนื้อเรื่องเป็นอย่างไร หนังแต่ละม้วนมีฉากอะไรบ้าง แล้วเช็กว่าต้องใช้อะไรทำเสียงประกอบ ถ้ามีสิ่งเหล่านั้นอยู่แล้วก็ไม่ต้องจัดหาของเพิ่มเติม

“ผมต้องจำลำดับหนังทั้งหมดให้ได้ ถ้ามิกเซอร์ถามว่าฉากนี้ทำหรือยัง ทำเสียงอะไรมาบ้าง ผมต้องตอบได้ทันที ห้ามมานั่งคิดว่าม้วนไหน หนังบางเรื่องต่อสู้ทั้งเรื่อง ถ้าเขาบอกว่าต่อสู้ปลายม้วน 2 ผมต้องนึกออกว่าฉากต่อสู้ปลายม้วน 2 ลำดับเป็นอย่างไร ต้องจำทุกอย่างได้หมด”

หลังทำเสียงประกอบเรียบร้อยแล้วเขาต้องเช็กงานอีกรอบ ถ้าทำแล้วไม่มีเสียง เสียงไม่ใช่ เขาต้องคุยรายละเอียดกับมิกเซอร์ว่าเพราะอะไรจึงคิดและทำงานออกมาแบบนี้ ถ้ามิกเซอร์บอกว่าเสียงไม่ดี ต้องปรับ เขาจะต้องจดจำเพื่อแก้ไขงานต่อไป

หนึ่งในความน่าสนใจของงานนี้คือการคัดเลือกสิ่งของเพื่อสร้างเสียง การแคสติ้งหรือคัดเลือกรองเท้าเป็นงานประจำที่ต้องทำอันดับแรกหลังดูหนังเสร็จ นั่นเป็นเพราะเสียงเดินเป็นเสียงประจำในหนัง ผู้สร้างสรรค์เสียงทุกคนต้องคิดว่ารองเท้าทั้งหมดที่มีอยู่เหมาะกับตัวละครในเรื่องหรือเปล่า เพราะคาแรกเตอร์ของรองเท้าส่งผลต่อหนังทั้งเรื่อง

“เรื่องล่าสุดที่ผมทำ เห็นแล้วว่ารองเท้าผ้าใบเยอะมาก ที่มีอยู่ไม่พอ ต้องซื้อเพิ่ม ไปนั่งเลือก ยืนเคาะพื้นรองเท้าว่ารองเท้าคู่นี้เสียงพื้นรองเท้าดีเนอะ ไปถึงร้านไม่ใช่เลือกแล้วซื้อเลย ต้องเคาะพื้นรองเท้าฟังก่อน แล้วต้องลองใส่แล้วเหยียบ คนขายก็งงว่าทำอะไร ผ้าใบยังไม่เท่าไร แต่ส้นสูงผมต้องลองใส่ด้วย คนขายจะมองแปลกๆ ว่าเราใช่หรือเปล่า (หัวเราะ)”

Kantana Motion Pictures

  • สารคดีก้าวคนละก้าวของตูน บอดี้สแลม เสียงวิ่งในสารคดีเป็นการวิ่งจริงของบิ๊ก กว่าจะพอใจ เขาต้องวิ่งในห้องบันทึกเสียงนับระยะทางรวมแล้วประมาณจากกรุงเทพฯ-อยุธยา
  • เขาใช้เวลาทำเสียง Body Percussion ในภาพยนตร์พรจากฟ้า ตอนยามเย็น ตั้งแต่ 6 โมงเย็นถึงตี 3 รวม 8 ชั่วโมง ต่อมาภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลบันทึกเสียงและผสมเสียงยอดเยี่ยมจากรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 26
  • หนังอวสานโลกสวย ฉากที่สายป่าน-อภิญญา สกุลเจริญสุข วิ่งขณะขาเจ็บ บิ๊กต้องวิ่งแบบคนขาเจ็บลงน้ำหนักไม่เต็มเท้า และควบคุมความเร็วช้าให้แตกต่างกัน

GDH

โฟลี่ย์ อาร์ตติสจึงไม่ใช่เพียงผู้สร้างเสียง แต่ระหว่างการทำงานพวกเขาเหมือนร่วมแสดงในฉากนั้นด้วย เพราะทุกเสียงที่สร้างสรรค์ขึ้นคือความรู้สึก บางครั้งเสียงนั้นอาจไม่มีอยู่จริง แต่เขาต้องจินตนาการถึงเสียงนั้นและสร้างมันขึ้นมา

“เหมือนเราเล่นดนตรีไปด้วยแล้วดูภาพไปด้วย เพียงแต่เสียงเหล่านั้นไม่ได้มาจากเครื่องดนตรี แต่มาจากหลายสิ่งหลายอย่าง ที่แทบไม่น่าเชื่อว่าจะให้กำเนิดเสียงนั้นได้”

ระยะเวลา 4 ปี เป็นข้อพิสูจน์ได้ว่างานที่คนอื่นอาจมองว่าน่าเบื่อ ต้องทำอะไรซ้ำๆ เป็นเวลานาน แต่สำหรับบิ๊กซึ่งชื่นชอบและสนใจเรื่องเสียงมาแต่ไหนแต่ไร เขามองว่างานนี้ท้าทาย และเขาน่าจะเป็น 1 ใน 10 โฟลี่ย์ อาร์ตติสของประเทศไทยที่ยังคงหลงใหลงานที่ทำอยู่ทุกๆ วัน เพราะโฟลี่ย์ อาร์ตติสมือใหม่จะมีระยะวัดผลประมาณ 3 เดือน ซึ่งส่วนใหญ่ทนไม่ได้ ลาออกเพราะความเครียด และความจำเจ

“ผมทำงานก็ท้อมาเรื่อยๆ ครับ แต่ถ้าผมตั้งใจทำอะไรแล้วต้องทำให้ได้ บางทีคิดว่าเอาเรื่องนี้ให้ได้แล้วค่อยพอ แต่พอทำได้แล้วรู้สึกดี ก็ถามตัวเองว่าเราจะเลิกทำจริงๆ เหรอ เดี๋ยวเรื่องหน้าทำแล้วต้องใช้เวลาน้อยลงกว่าเดิม หรือบางครั้งมีความท้าทายเล็กๆ น้อยๆ ที่ผมกำหนดขึ้นเองเพื่อไม่ให้ตัวเองรู้สึกเบื่อ อย่างทำเสียงเสื้อผ้าขยับของหนังจีนแอคชั่นเรื่องหนึ่ง ในหนังมีผ้าหลายชนิด เมื่อก่อนผมอาจทำโดยใช้ผ้าชนิดเดียว แต่เรื่องนี้ผมเปลี่ยนวิธีทำงาน ลองใช้ผ้าชนิดต่างๆ มาทำให้เกิดเสียงแบบใหม่ๆ อยู่เสมอ ถ้าเราอิน เรารักมัน เราทำได้ไม่เบื่ออยู่แล้ว และเรายังได้พัฒนาตัวเอง”

บิ๊กวางแผนหลังจากเป็นโฟลี่ย์ อาร์ตติสแล้วเขาจะขยับไปเป็นโฟลี่ย์ เอดิเตอร์ และก้าวขึ้นไปเรื่อยๆ สู่การเป็นมิกเซอร์อย่างที่ฝัน

 

หรือบางทีเหตุผลที่ทำให้เราดูหนังได้อย่างมีอรรถรสตั้งแต่ต้นเรื่องไปจนจบโดยไม่สะดุดหู หรือรู้สึกสงสัยกับเสียงเอฟเฟกต์ในภาพยนตร์เรื่องนั้น อาจเป็นความสำเร็จสูงสุดของเหล่าโฟลี่ย์ อาร์ตติส ที่เขาสามารถทำให้คนดูเชื่อว่าเสียงนั้นเป็นเสียงที่เกิดขึ้นจริงตามเนื้อเรื่อง ไม่ใช่เสียงประดิษฐ์หรือสร้างขึ้น เพราะสำหรับพวกเขา “เสียงที่เหมือนที่สุด คืองานที่หินที่สุด และความสำเร็จที่สุด”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook