ทำไมยุค 80 ถึงดูคูล ทำไมยุค 90 ถึงกลับมา ทำไมอดีตจึงดูมีค่ากว่าปัจจุบัน?

ทำไมยุค 80 ถึงดูคูล ทำไมยุค 90 ถึงกลับมา ทำไมอดีตจึงดูมีค่ากว่าปัจจุบัน?

ทำไมยุค 80 ถึงดูคูล ทำไมยุค 90 ถึงกลับมา ทำไมอดีตจึงดูมีค่ากว่าปัจจุบัน?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ดูเหมือนว่า ความสำเร็จของหนัง Ready Player One ของ สตีเว่น สปีลเบิร์ก จะทำให้กระแสความนิยมในป๊อบ คัลเจอร์หรือวัฒนธรรมป๊อบของยุค 80’s กลับมาความนิยมอีกครั้งนะครับ ตอนนี้ (หรือก่อนหน้านั้นราวสัปดาห์-2 สัปดาห์) หน้านิวส์ฟี้ดของผมก็ท่วมท้นไปด้วยการถอดรหัสต่างๆ ที่สปีลเบิร์ก และ เออร์เนสต์ ไคลน์ ซึ่งเป็นคนเขียนนวนิยาย (และร่วมเขียนบทภาพยนตร์ด้วย) ร่วมกันใส่ไว้ในหนังเป็นอีสเตอร์ เอ้ก ให้แฟนๆ ได้ค้นหากัน แฟนๆ ที่ว่านี่ก็รวมทั้งเหล่าเด็กชายเด็กหญิงวัย 40 กว่าๆ อย่างคนรุ่นผมและคนรุ่นใหม่ที่อาจจะเกิดหรือโตไม่ทัน ได้แต่ฟังพี่ๆ น้าๆ เขาโม้ถึงความสุดยอดของยุคนั้นมาโดยตลอดด้วยเช่นกัน

สำหรับคนกลุ่มแรกนี่เราคือเพื่อนกันนะครับ คงไม่จำเป็นต้องสาธยายอะไรกันให้มากความ เอาเป็นว่าตอนที่หุ่นยนต์กันดั้มกับ Kaneda’s Bike สีแดงสดใน Akira โผล่ออกมาผมนี่แทบจะกรี๊ดดังๆ ออกมาเลย ยังดีว่ามีสติรู้ตัวว่าอยู่ในโรงภาพยนตร์เลยทำได้แค่พึมพำอุทานออกมาเบาๆ ส่วนคนกลุ่มหลังนั้น อืม...นี่ก็คือประเด็นที่อยากชวนคุยกันสักหน่อยน่ะครับ เรื่องที่คุยกันก็ตามชื่อบทความเลยว่า ทำไมยุคแปดศูนย์-เก้าศูนย์ มันถึงดูคูล-ดูเท่นักในยุคนี้? มาตั้งคำถามเองนี่ เอาเข้าจริงก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าผมจะหาคำตอบได้หรือไม่ เอาเป็นว่าอ่านไปก่อนก็แล้วกันครับ

ผมจำได้ว่าตอนยังเป็นเด็ก พ่อแม่เล่าเรื่องของ เอลวิส (เพรสลี่ย์), คลิฟฟ์ ริชาร์ด รวมถึงนักแสดงอย่าง เจมส์ ดีน ให้ฟังบ่อยมากเลยครับ ยิ่งได้เห็นแววตาของพ่อ ได้ฟังน้ำเสียงแกตอนที่เล่าถึงบรรยากาศในตอนนั้นยิ่งมั่นใจว่า ยุคซิกส์ตี้ต้องเป็นอะไรที่เจ๋งแน่ๆ แต่พอไปคุยกับคนรุ่นน้าหรือคนรุ่นพี่ก็บอกเหมือนกันว่า ยุค 70’s ต่างหากที่เจ๋งมากๆ ศิลปินอย่าง บ็อบ ดิแล่น, อีริค แคลปตัน นี่ถือเป็นสุดยอดแล้ว งงล่ะสิครับทีนี้ ผมเริ่มสับสนแล้วว่าตกลง ซิกส์ตี้ส์กับเซเว่นตี้ส์ ยุคไหนมันเจ๋งกันแน่ หรือว่ามันเจ๋งทั้งคู่ อ้าว! แล้วถ้าอย่างนั้นยุคไหนเจ๋งกว่ากัน?

เอลวิส เพรสลี่ย์

บ็อบ ดิแล่น

แต่ที่แน่ๆ ตอนนั้นคิดว่า ไอ้ยุคสมัยของเรา (80’s) นี่มันจืดจ๋อยจังเลย

แต่สุดท้ายผมก็เหมือนเด็กแมสๆ ทั่วไปในยุคนั้นครับ คือโตมากับวัฒนธรรมป๊อบจากยุค 80’s ก่อนจะมาแอ็คทีฟจริง ๆ ในยุค 90’s ในฐานะคน Generation X

มาถึงตอนนี้ สังเกตอะไรไหมครับว่า ไอ้ยุคที่ผมเติบโตมาทั้งเอ็ทตี้ส์และไนน์ตี้ส์ก็เพิ่งจะผ่านพ้นความคูลไปหยกๆ (ถ้าคุณนึกไม่ออกลองนึกถึงปรากฏการณ์ของวง Polycat เสื้อยืด Iron Maiden กับ Joy Division หรือ Meme ที่เกี่ยวกับยุค 90’s ดูก็ได้ครับ) หนังเรื่อง Ready Player One นี่ก็ทำให้คนหันมาสนใจความเป็นเอ็ทตี้ส์อีกครั้ง ล่าสุดผมเห็นโฆษณาเครื่องดื่มน้ำดำแบรนด์หนึ่งก็ใช้ บริทนี่ย์ สเปียร์ส มาเป็นคอนเทนต์ในฐานะไอคอนของยุคมิลเลนเนียมหรือยุค 2000 แล้วนะครับ (เห็นครั้งแรกก็ตกใจนิดหน่อย เพราะยังติดภาพว่า บริทนี่ย์ สเปียร์ส เป็นนักร้องขวัญใจวัยรุ่นอยู่ ก่อนจะนึกขึ้นได้ว่ามันผ่านมาแล้วเกือบ 20 ปี)

Polycat

เสื้อวง Iron Maiden

ทีนี้เมื่อทบทวนแล้วลองกลับไปตอบคำถามข้างบนว่าทำไมยุค 80’s-90’s (และอาจรวมถึงยุคเปลี่ยนสหัสวรรษใหม่) ถึงดูเจ๋ง แต่เดี๋ยวนะ...อ้าว จริงๆ มันก็ดูคูลมาตั้งแต่ 60’s-70’s แล้วนี่หว่า งั้นลองตั้งคำถามใหม่ ทำไมอดีตมันถึงหวนกลับมาดูเท่ ทันสมัย มีคุณค่าขึ้นอีกครั้ง คำตอบที่ผมได้รับก็คือ...

เพราะมันมีเรื่องเล่าต่างๆ บรรจุอยู่ในนั้น เรื่องเล่าหรือคอนเทนต์เหล่านั้นมีคุณค่าขึ้นมาได้ก็เพราะมันมีการเดินทางผ่านช่วงเวลา ทั้งพร่าเลือนและแจ่มชัดไปในความทรงจำของผู้คนในยุคสมัยนั้นๆ และเมื่อมันหวนกลับมา มันได้หอบความเอาความระลึกถึงและความโหยหาเป็นสำนึกแบบ nostalgia ผสมปนเปอยู่ในนั้น วัฒนธรรมป๊อบมันเกิดขึ้นและเป็นไปในแบบนั้นครับ สรรพสิ่งหมุนเป็นวงโคจร รอวันหายไปแล้วกลับมาใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า

และใช่ครับ, ถ้าคุณๆ ในยุคสมัยนี้กำลังคิด (เหมือนที่ผมเคยคิดสงสัย) ว่าทำไมยุคของฉันมันไม่เจ๋งเลยนั้น มีชีวิตอยู่ต่อไปครับ อีกไม่นานสิ่งที่รายล้อมรอบตัวคุณมันอาจหวนกลับมาให้คุณระลึกถึงอีกครั้งก็เป็นได้ คราวนี้มันจะคูลด้วยครับ

 

เกี่ยวกับผู้เขียน
จักรพันธุ์ ขวัญมงคล
นักเขียน นักแปล นักวิจารณ์ภาพยนตร์ และบรรณาธิการอิสระ สนใจความเคลื่อนไหวในแวดวงศิลปะและสังคม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook