TMB ฟัน FED ลดดอกเบี้ย แต่ไม่กระทบดอกเบี้ยไทย

TMB ฟัน FED ลดดอกเบี้ย แต่ไม่กระทบดอกเบี้ยไทย

TMB ฟัน FED ลดดอกเบี้ย แต่ไม่กระทบดอกเบี้ยไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

TMB Analytics คาดว่าเฟดจะประกาศลดอัตราดอกเบี้ย 25 bps ในการประชุมวันนี้ 31 กรกฎาคม โดยพิจารณาจากจุดยืนของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ที่สื่อสารผ่านคำแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ความเห็นของผู้มีสิทธิ์โหวตที่น่าจับตามอง และการคาดการณ์ของตลาด

เฟดได้แสดงให้เห็นถึงท่าทีที่ผ่อนคลายมากขึ้นอย่างชัดเจนผ่านการสรุปเศรษฐกิจกลางปีของประธานเฟด นายเจอโรม พาวเวล ในวันที่ 10 กรกฎาคม เขากล่าวชัดเจนว่า ความเสี่ยงจากภายนอกโดยเฉพาะการค้าระหว่างประเทศได้มีน้ำหนักมากกว่าปัจจัยภายในไปแล้ว ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนถึงมิถุนายนปีนี้ ปริมาณการค้าโลกและดัชนี manufacturing PMI ของโลก แทบจะไม่ขยายตัวหรือขยายตัวติดลบ ล่าสุดอยู่ที่ -0.4% และ -0.6% ตามลำดับ ในขณะที่เศรษฐกิจภายในประเทศ ประธานเฟดได้ชี้ให้เห็นถึงการแสดงสัญญาณชะลอตัวบ้างแล้วเช่นกัน โดยเฉพาะการโตช้าลงของการลงทุนถาวรในภาคธุรกิจ การลงทุนในที่อยู่อาศัย และผลผลิตภาคอุตสาหกรรม รวมถึงอัตราเงินเฟ้อ (PCE) ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายระยะยาว 2% อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 1.5-1.6% ซึ่งเฟดได้ปรับลดประมาณการอัตราเงินเฟ้อสำหรับปี 2019 ลงด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาการให้คำถ้อยแถลงที่น่าจับตามองของสมาชิกผู้มีสิทธิ์โหวตใน FOMC พบว่า สมาชิกที่มีสิทธิ์โหวตซึ่งมีมุมมองเป็นกลางต่อนโยบายการเงิน (neutral) และให้ความเห็นไว้ก่อนหน้าในช่วงกลางเดือนมิถุนายนว่า ดอกเบี้ยควรจะคงอยู่ที่ช่วง 2.25-2.5% ตลอดปี 2019 (dot plot) กล่าวคือ นายจอห์น วิลเลียมส์ ประธานเฟด สาขานิวยอร์ก ซึ่งมีความสำคัญเป็นอันดับสองรองจากประธานเฟด กลับเริ่มมีท่าทีสนับสนุนการลดดอกเบี้ย โดยกล่าวว่าการใช้มาตรการป้องกันดีกว่าการรอให้เกิดหายนะ โดยก่อนหน้านี้ นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ สมาชิกซึ่งมีมุมมองผ่อนคลายมากที่สุด (most dovish) ต่อนโนบายการเงิน กล่าวว่าการลด 25 bps ในเดือนกรกฎาคมนี้เพียงพอแล้ว 50 bps นั้นมากเกินไป ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าโอกาสที่คณะกรรมการจะลดถึง 50 bps นั้นน้อยมาก

มิหนำซ้ำ ณ วันที่ 19 มิถุนายน ความน่าจะเป็นที่ตลาดคาดว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยในเดือนกรกฎาคมนี้สูงถึง 100% และคงอยู่ระดับนี้จนถึงปัจจุบัน เนื่องด้วยคำแถลงของ FOMC ที่กล่าวไว้ข้างต้น โดยก่อนหน้านี้ ณ วันที่ 3 มิถุนายน 2562 เป็นครั้งแรกที่สมาชิกผู้มีสิทธิ์โหวตของเฟดออกมาแถลงสนับสนุนการลดดอกเบี้ย ถึงแม้ว่าจะมาจาก นายเจมส์ บูลลาร์ด ซึ่งมีมุมมองผ่อนคลายมากสุด (most dovish) ต่อนโนบายการเงินก็ตาม ส่งผลให้ความน่าจะเป็นที่จะลดอัตราดอกเบี้ยซึ่งสะท้อนจาก Fed funds futures นั้นเริ่มสูงขึ้นจนแซงความน่าจะเป็นที่จะคงอัตราดอกเบี้ย เพราะฉะนั้น หากเฟดตัดสินใจคงดอกเบี้ยคงเป็นการ panic ตลาดไม่น้อยเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม การลดดอกเบี้ยของเฟดในครั้งนี้ และทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายของธนาคารกลางส่วนใหญ่ จะไม่ส่งผลต่อการตัดสินใจของ กนง. ในสัปดาห์หน้า TMB Analytics มองว่า กนง. จะยังคงดอกเบี้ยนโยบายต่อไปที่ 1.75% ข้อสนับสนุนการลดดอกเบี้ยเพื่อแก้ปัญหาสภาพเศรษฐกิจไทยที่ถดถอยลงยังไม่มีน้ำหนักที่เพียงพอ เนื่องจาก ธปท. มีเครื่องมืออื่นๆ นอกเหนือจากดอกเบี้ยนโยบายที่สามารถช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่น มาตรการเฝ้าระวังเงินทุนไหลเข้าระยะสั้นที่มุ่งเน้นแก้ปัญหาการเก็งกำไรและการแข็งค่าของค่าเงินบาทที่เริ่มเมื่อ 22 กรกฎาคม ภายหลังจากมีการดำเนินการอย่างเป็นทางการ 5 วัน มีกระแสเงินทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นสุทธิ 8,225 ล้านบาท ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่า 0.48%

ยิ่งไปกว่านั้น การตัดสินใจในประเด็นดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่บนพื้นฐานเรื่องความเปราะบางของเศรษฐกิจไทยเป็นหลัก ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันยังคงน่าเป็นห่วง ในไตรมาสแรก ภาคครัวเรือนมีสัญญาณกลับมาเร่งก่อหนี้มากขึ้นในทุกหมวดสินเชื่อ โดยมีอัตราการเติบโตรวมที่ 6.3% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว โดยสินเชื่อรถยนต์เป็นหมวดที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดที่ 12.3 % จากการวิเคราะห์ข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย TMB analytics พบว่ากลุ่มสินเชื่อไม่มีหลักประกันมีการขยายตัวสูงถึง 21.2 %

ดังนั้น การลดดอกเบี้ยนโยบายที่อาจจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้น แต่จะเพิ่มความเสี่ยงในระบบเศรษฐกิจไทยให้มากขึ้นในระยะยาว จึงไม่น่าจะเป็นทิศทางที่กนง. จะเลือกดำเนินการในช่วงที่ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินอยู่ในระดับสูง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook