อย่าเพิ่งทิ้ง! “แบงก์” ชำรุด ขอเปลี่ยนใหม่ได้ฟรี

อย่าเพิ่งทิ้ง! “แบงก์” ชำรุด ขอเปลี่ยนใหม่ได้ฟรี

อย่าเพิ่งทิ้ง! “แบงก์” ชำรุด ขอเปลี่ยนใหม่ได้ฟรี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทุกวันนี้ธนบัตรถูกหลายมือ สภาพย่อมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ไม่ว่าจะเป็น รอยเปื้อน สีซีดจาง หรือเปื่อยขาดจนบางส่วนหลุดหาย ในบางกรณีอาจถูกสัตว์หรือแมลงกัดแทะจนเนื้อธนบัตรหลุดลุ่ยเสียหายจนไม่สามารถนำมาใช้งานได้ตามปกติ

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติเงินตรา พุทธศักราช ๒๕๐๑ มาตรา ๑๘ บัญญัติไว้ว่า ธนบัตรชำรุดไม่เป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย และได้จำแนกลักษณะของธนบัตรชำรุดเป็น 4 ลักษณะ ดังนี้

1.ธนบัตรครึ่งฉบับ คือ ธนบัตรที่ถูกแยกตรงกลางหรือใกล้กับกลางเป็นสองส่วนตามยืนเท่านั้น

1ตัวอย่างธนบัตรครึ่งฉบับ

2.ธนบัตรต่อท่อนผิด คือ ธนบัตรซึ่งมีส่วนของธนบัตรฉบับอื่นมาต่อเข้าเป็นฉบับเดียวกัน

2ตัวอย่างธนบัตรต่อท่อนผิด

3.ธนบัตรขาดวิ่น คือ ธนบัตรซึ่งมีส่วนหนึ่งส่วนใดขาดหายไป

3ตัวอย่างธนบัตรขาดวิ่น

3.1ตัวอย่างธนบัตรขาดวิ่น

4.ธนบัตรลบเลือน คือ ธนบัตรที่มีเหตุทำให้อ่านข้อความหรือตัวเลขไม่ได้ความ

4_1ตัวอย่างธนบัตรลบเลือน

4.1ตัวอย่างธนบัตรลบเลือน

​นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการแ​ลกเปลี่ยนธนบัตรชำรุด อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ และมาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติเงินตรา พุทธศักราช ๒๕๐๑ ไว้  ดังนี้

ข้อ 1 ผู้ใดประสงค์ขอแลกเปลี่ยนธนบัตรชำรุด ให้ทำคำร้องเป็นหนังสือตามแบบยื่นต่อธนาคารแห่งประเทศไทย หรือเจ้าหน้าที่ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยมอบหมาย โดยแนบธนบัตรชำรุดไปกับคำร้องด้วย

กรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือเจ้าหน้าที่ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยมอบหมาย เห็นสมควรจะรับธนบัตรชำรุดไว้แลกเปลี่ยน โดยมิต้องให้ผู้ประสงค์ขอแลกเปลี่ยนธนบัตรชำรุดทำคำร้องเป็นหนังสือดังกล่าวในวรรคหนึ่งก็ได้

ข้อ 2 ให้รับแลกเปลี่ยนธนบัตรชำรุดตามข้อจำกัดและหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

ธนบัตรครึ่งฉบับ ให้รับแลกเปลี่ยนแต่ละครึ่งฉบับเพียงครึ่งราคาของราคาเต็มของธนบัตรนั้น

ธนบัตรต่อท่อนผิด ถ้าไม่เกินสองท่อน แต่ละท่อนเป็นธนบัตรแบบและชนิดราคาเดียวกัน ให้รับแลกเปลี่ยนเต็มราคาของธนบัตรนั้น

ธนบัตรขาดวิ่น ให้รับแลกเปลี่ยนเฉพาะเมื่อเห็นได้ประจักษ์ว่าส่วนที่เหลืออยู่มีมากกว่าครึ่งฉบับ ให้รับแลกเปลี่ยนเต็มราคาของธนบัตรนั้น

ธนบัตรลบเลือน ให้รับแลกเปลี่ยนเฉพาะเมื่อการลบเลือนนั้น ไม่ถึงทำให้ไม่รู้ได้ว่าเป็นธนบัตรแท้จริง โดยให้รับเปลี่ยนเต็มราคาของธนบัตรนั้น

สำหรับสถานที่ติดต่อขอแลกเปลี่ยนธนบัตรชำรุด ได้แก่ ธนาคารออมสินทั่วประเทศ (ให้บริการในเวลาทำการทุกวัน) และธนาคารพาณิชย์ทั่วประเทศ (ให้บริการเฉพาะวันพุธ ยกเว้นสาขาย่อยและสาขาในห้างสรรพสินค้า)

ขั้นตอนการขอแลกเปลี่ยน

1) กรณีแลกเปลี่ยนได้ทันที ได้แก่ ธนบัตรชำรุดมีเนื้อธนบัตรเหลืออยู่เกินกว่า 3 ใน 5 ส่วน สามารถแลกเปลี่ยนได้เต็มตามราคาหน้าธนบัตร​

2) กรณีต้องเขียนคำร้อง

​- ธนบัตรชำรุดครึ่งฉบับ ธนบัตรต่อท่อนผิด และธนบัตรขาดวิ่นที่มีเนื้อน้อยกว่า 3 ใน 5 ส่วน ผู้ขอแลกต้องเขียนคำร้องขอแลกเปลี่ยนตามแบบที่กำหนด พร้อมแนบธนบัตรชำรุดยื่นต่อเจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อนำส่งให้ ธปท. พิจารณาค่าแลกเปลี่ยน โดย ธปท. จะโอนเงินค่าแลกเปลี่ยนเข้าบัญชีออมทรัพย์ หรือทางธนาณัติ ตามที่ผู้ขอแลกระบุไว้ในคำร้อง

ธนบัตรชำ​รุดที่ถูกไฟไหม้เกรียม ถูกสัตว์หรือแมลงกัดแทะ หรือเปี่อยติดกันเป็นปึกเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจได้รับความเสียหายระหว่างจัดส่ง ผู้ขอแลกต้องนำธนบัตรไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อขอออกหลักฐาน ก่อนนำมาขอแลกด้วยตนเอง ที่สายออกบัตรธนาคาร ธนาคารแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ การขอแลกเปลี่ยนธนบัตรชำรุดไม่เสียค่าธรรมเนียมใด ๆ ทั้งสิ้น​

>> เจ้าของเงินแสนเป็นคุณยาย เพราะธนบัตรปลวกกิน คิดว่าคงใช้ไม่ได้

>> พบแล้ว! เจ้าของเงินแสนในถังขยะเมืองระยอง ปลวกกินขอบแบงก์เลยเอาทิ้ง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook