ต้องทำอย่างไร หากทำประกันสังคมมาตรา 40 แล้วได้งานทำทีหลัง

ต้องทำอย่างไร หากทำประกันสังคมมาตรา 40 แล้วได้งานทำทีหลัง

ต้องทำอย่างไร หากทำประกันสังคมมาตรา 40 แล้วได้งานทำทีหลัง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กองทุนประกันสังคมมีทางเลือกให้กับผู้ที่เป็นแรงงานนอกระบบหรือมีอาชีพอิสระ ที่ไม่เคยอยู่ในระบบของประกันสังคมมาก่อน ไม่เคยเป็นลูกจ้างตามมาตรา 33 และไม่เคยเป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจตามมาตรา 39 ให้สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนโดยอิสระตามมาตรา 40 ได้โดยสมัครใจเพื่อได้รับสิทธิประโยชน์จากประกันสังคมทั้งเรื่องเงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วยหรือทุพพลภาพ ค่าทำศพกรณีเสียชีวิต และเงินบำเหน็จชราภาพเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์

ผู้ที่ไม่ได้เป็นแรงงานในระบบหรือประกอบอาชีพอิสระไม่อยู่ในระบบประกันสังคม จึงสามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนโดยอิสระตามมาตรา 40 เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เหล่านี้ได้ โดยกองทุนประกันสังคมมีทางเลือกในการจ่ายเงินสมทบให้ 2 กรณีด้วยกัน คือ


• ทางเลือกที่ 1 จ่ายเงินสมทบเดือนละ 100 บาท โดยจ่ายเอง 70 บาท รัฐช่วยจ่าย 30 บาท สิทธิประโยชน์ที่ได้รับจะคุ้มครอง 3 กรณี คือ เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย ทุพพลภาพ และเงินช่วยค่าทำศพ


• ทางเลือกที่ 2 จ่ายเงินสมทบเดือนละ 150 บาท โดยจ่ายเอง 100 บาท รัฐช่วยจ่าย 50 บาท สิทธิประโยชน์ที่ได้รับจะคุ้มครอง 4 กรณี คือ เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เงินช่วยค่าทำศพ และเงินบำเหน็จชราภาพ


มีข้อสงสัยจากผู้ที่สมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ที่สงสัยว่า หากภายหลังจากการสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 แล้วได้ทำงานทีหลัง จะต้องทำอย่างไรต่อไป เช่นในกระทู้นี้ โดยมีคำถามว่าได้สมัครมาตรา 40 ไปส่งเงินสมทบไปแล้วเป็นจำนวน 5 งวด ต่อมาภายหลังได้เข้าทำงานในระบบ โดยบริษัทจะทำประสังคมตามมาตรา 33 ให้ ถ้าเป็นแบบนี้เราจะต้องทำอย่างไรกับมาตรา 40 ที่เราสมัครไป ต้องไปแจ้งยกเลิกหรือไม่ และเงินสมทบที่จ่ายไปจะได้คืนหรือไม่

ผู้เขียนได้ลองโทรไปสอบถามที่สายด่วนประกันสังคม 1506 ได้รายละเอียดจากเจ้าหน้าที่มาดังนี้

ต้องแจ้งลาออกจากมาตรา 40 หรือไม่

สถานะของผู้ประกันตนจะเป็นได้แค่สถานะใดสถานหนึ่งในขณะหนึ่งเท่านั้น ซึ่งหมายความว่า เมื่อนายจ้างใหม่ได้มีการแจ้งการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 เข้าไป สถานะของผู้ประกันตนจะกลายเป็นมาตรา 33 จะต้องส่งเงินสมทบและได้รับสิทธิประโยชน์ตามประกันสังคมในมาตรา 33


ส่วนประกันสังคมมาตรา 40 นั้น ผู้ประกันตนเลือกที่จะไปแจ้งลาออกหรือไม่แจ้งก็ได้ เจ้าหน้าที่ประกันสังคมได้ชี้แจงเพิ่มเติมถึงเงื่อนไขของการสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ไว้ว่า จะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์เท่านั้น ซึ่งหมายความว่าหากเราไม่ได้ไปแจ้งลาออกก็สามารถทิ้งสถานะของการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ไว้ได้ เมื่อใดก็ตามที่เราเลิกทำงานโดยลาออกจากการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรืออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ก็กลับมาใช้สถานะของประกันสังคมตามมาตรา 40 ได้ทันที


แต่ถ้าเราจะลาออกจากการเป็นผู้ประกันตามมาตรา 40 ตอนนี้ก็ได้เช่นกัน เพียงแต่ในอนาคตหากว่าเราอยากกลับมาเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 นี้ จะต้องสมัครเข้ามาใหม่และถ้าในตอนนั้นอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ ก็จะไม่สามารถสมัครได้


เงินสมทบที่ส่งไปได้คืนหรือไม่

กรณีเงินสมทบที่ส่งไปจะได้คืนหรือไม่ ต้องดูว่าเราส่งเงินสมทบในทางเลือกใด หากว่าเป็นการส่งเงินสมทบในแบบที่ 1 ที่ส่งเงินสมทบเดือนละ 100 บาท ส่งเอง 70 บาท รัฐช่วย 30 บาท ที่ให้ความคุ้มครอง 3 กรณี ไม่รวมเงินบำเหน็จชราภาพ เราจะไม่สามารถขอเงินสมทบที่ส่งไปคืนได้

แต่ถ้าเป็นการส่งเงินสมทบแบบที่ 2 คือ เดือนละ 150 บาท ส่งเอง 100 บาท รัฐช่วยส่ง 50 บาท กรณีนี้จะคุ้มครอง 4 กรณี รวมเงินออมชราภาพด้วย ซึ่งผู้ประกันตนจะสามารถขอเงินสมทบคืนได้ แต่มีเงื่อนไขว่าจะขอคืนได้ก็ต่อเมื่อมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์แล้วเท่านั้น และไม่ว่าผู้ประกันตนจะแจ้งลาออกจากมาตรา 40 ตั้งแต่วันนี้หรือไม่ก็ตาม เงินสมทบในส่วนของเงินออมชราภาพนี้ก็จะยังอยู่ ผู้ประกันตนสามารถขอคืนได้ตั้งแต่อายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป โดยต้องไปแจ้งลาออกจากประกันสังคมเพื่อได้รับเงินก้อนนี้

สรุป

ดังนั้นโดยสรุปหากว่าเงินสมทบที่ส่งตามมาตรา 40 ไปเป็นเงินสมทบแบบที่ 1 ก็จะไม่สามารถขอคืนได้ แต่ถ้าเป็นแบบที่ 2 ก็จะขอคืนได้เมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ โดยจะได้รับเป็นเงินบำเหน็จชราภาพเฉพาะในส่วนที่เป็นเงินสมทบชราภาพพร้อมกับผลประโยชน์อีกจำนวนหนึ่ง

ส่วนเรื่องการแจ้งลาออกจากการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ว่าจะต้องแจ้งหรือไม่นั้น เท่าที่สอบถามจากเจ้าหน้าที่ เห็นว่าไม่แตกต่างกัน เพราะอย่างไรก็ไม่สามารถขอเงินสมทบส่วนชราภาพคืนในตอนนี้ได้อยู่ดี ต้องรอจนอายุ 60 ปีบริบูรณ์ และการเลือกที่จะไม่ลาออกแต่เก็บสถานะของการเป็นผู้ประกันตามมาตรา 40 ไว้ ทำให้เมื่อถึงวันหนึ่งในอนาคตที่เราไม่ได้เป็นผู้ประกันตนในมาตราอื่น เช่น มาตรา 33 หรือ 39 เราก็จะเป็นสถานะเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 อย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องสมัครใหม่ และไม่ต้องเสี่ยงที่จะมีอายุเกิน 60 ปีแล้วกลับมาสมัครใหม่ไม่ได้ด้วย

เรื่องของประกันสังคมนั้นเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย ผู้ประกันตนไม่ว่าจะอยู่ในมาตราใดอาจมีข้อสงสัยในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเงินสมทบและสิทธิประโยชน์ของตัวเอง ช่องทางที่ถือว่ามีประสิทธิภาพมากที่สุดในการตอบข้อซักถามต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับประกันสังคมก็คือให้โทรสอบถามพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ที่สายด่วนประกันสังคม 1506 ผู้ประกันตนจะได้ข้อมูลที่ชัดเจนและถูกต้องตามที่ต้องการ


ขอบคุณข้อมูล เจ้าหน้าที่สายด่วนประกันสังคม 1506

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook