ศูนย์วิจัยฯธ.ก.ส คาด ยาง ปาล์ม ข้าวโพดฯ มันฯ ราคาปรับตัวสูงขึ้น

ศูนย์วิจัยฯธ.ก.ส คาด ยาง ปาล์ม ข้าวโพดฯ มันฯ ราคาปรับตัวสูงขึ้น

ศูนย์วิจัยฯธ.ก.ส คาด ยาง ปาล์ม ข้าวโพดฯ มันฯ ราคาปรับตัวสูงขึ้น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ศูนย์วิจัยและพัฒนา ธ.ก.ส. ชี้สถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรในช่วงเดือนเมษายน 2560 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ น้ำตาลทรายดิบ มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และสุกร ส่วน ข้าวและกุ้งแนวโน้มราคาลดลงเล็กน้อย

นายสมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เผยผลคาดการณ์ราคาสินค้าเกษตร ในช่วงเดือนเมษายน 2560 สินค้าเกษตรที่จะมีราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ คาดว่า ราคาเฉลี่ยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้นไม่เกิน 14.5% ที่เกษตรกรขายได้จะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 1.50-3.00 อยู่ที่ราคา 6.58-6.67 บาท/กก. เนื่องจากผลผลิตข้าวโพดรุ่น 2 เริ่มหมดจากตลาด และเข้าสู่ฤดูกาลปลูกข้าวโพดรุ่น 1 (ปลูกเดือนเมษายน-มิถุนายน) ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง ในขณะที่ปริมาณความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

น้ำตาลทรายดิบ คาดว่า ราคาเฉลี่ยน้ำตาลทรายดิบนิวยอร์คในตลาดโลก จะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 2.00-5.00 อยู่ที่ราคา 19.46-20.07 เซนต์/ปอนด์ (15.11-15.48 บาท/กก.) เนื่องจากการเข้ามาซื้อน้ำตาลทรายดิบคืนจากตลาด (Short-covering) ของนักลงทุน ประกอบกับผลผลิตอ้อยในอินเดียและจีนมีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกของเดือนเมษายนลดลงตามไปด้วย

มันสำปะหลัง คาดว่า ราคามันสำปะหลังที่เกษตรกรขายได้จะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.97 -5.26 อยู่ที่ราคา 1.55-1.60 บาท/กก. เนื่องจากเป็นช่วงที่ปริมาณผลผลิตมันสำปะหลังออกสู่ตลาดลดลง และราคาส่งออกมันเส้นและแป้งมันสำปะหลังมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดี ยางพารา คาดว่า สถานการณ์ราคายางพาราที่เกษตรกรขายได้จะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 5.26-9.00 อยู่ที่ราคา 76.88-79.61 บาท เนื่องจากเข้าสู่ฤดูยางผลัดใบ ทำให้ผลผลิตบางส่วนหายไปจากตลาด

ปาล์มน้ำมัน คาดว่า ราคาปาล์มน้ำมันที่เกษตรกรขายได้จะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อย ร้อยละ 1.21 – 5.26 อยู่ที่ราคา 5.00 – 5.20 บาท/กก. เนื่องจาก การดำเนินการตามประกาศแนะนำราคารับซื้อของกระทรวงพาณิชย์ ส่งผลต่อราคาปาล์มน้ำมัน

สุกร คาดว่า ราคาสุกรที่เกษตรกรขายได้จะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 2.00-5.00 อยู่ที่ราคา 59.66-61.41 บาท/กก. เนื่องจาก คาดว่า ปริมาณการบริโภคเนื้อสุกรจะเพิ่มขึ้นจากกิจกรรมการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์และเทศกาลเช็งเม้ง

ส่วนราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มลดลง ได้แก่

ข้าว คาดว่า ราคาเฉลี่ยข้าวเปลือกเจ้า 5% ที่เกษตรกรขายได้จะลดลงจากเดือนก่อนเล็กน้อย ร้อยละ 1.0-3.7 อยู่ที่ราคา 7,200-7,400 บาท/ตัน ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิที่เกษตรกรขายได้จะลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.9-3.0 อยู่ที่ราคา 9,000-9,200 บาท/ตัน และราคาข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวจะลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.4 -2.2 อยู่ที่ราคา 11,000-11,200 บาท/ตัน เนื่องจากการประมูลข้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมของภาครัฐในปริมาณมาก และอุปทานข้าวในตลาดโลกเพิ่มขึ้นจากผลผลิตข้าวนาปีของเวียดนามและอินเดียที่จะออกสู่ตลาดก่อนหน้านี้

กุ้ง คาดว่า ราคาเฉลี่ยกุ้งขาวแวนนาไมที่เกษตรกรขายได้จะลดลงจากเดือนก่อนเล็กน้อย ร้อยละ 0.29-4.71 อยู่ที่ราคา 215-225 บาท/กก. เนื่องจากปัญหาน้ำท่วมแหล่งเพาะเลี้ยงและสถานการณ์โรค EMS ได้คลี่คลายลง เกษตรกรสามารถผลิตกุ้งออกสู่ตลาดได้ปริมาณเพิ่มขึ้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook