เตรียมลดหย่อน ′ภาษีบ้านอยู่อาศัย′ จ่ายปีละหลักพัน-′นักธุรกิจ′ ค้านเก็บภาษี ชี้ ศก.ยังทรุด

เตรียมลดหย่อน ′ภาษีบ้านอยู่อาศัย′ จ่ายปีละหลักพัน-′นักธุรกิจ′ ค้านเก็บภาษี ชี้ ศก.ยังทรุด

เตรียมลดหย่อน ′ภาษีบ้านอยู่อาศัย′ จ่ายปีละหลักพัน-′นักธุรกิจ′ ค้านเก็บภาษี ชี้ ศก.ยังทรุด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงแนวทางการลดหย่อนภาษีในร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างว่า การพิจารณาแนวทางการลดหย่อนภาษีนี้ จะอยู่บนหลักการที่ว่าจะไม่มีการกำหนดอัตราพิเศษหรือปรับลดอัตราภาษี และจะไม่ปรับลดการคำนวณจากราคาประเมิน แต่จะใช้วิธีการลดหย่อนจากภาระภาษีหลังการคำนวณแล้ว โดยจะกำหนดเป็นวงเงินที่ผู้เสียภาษีจะไม่มีภาระภาษีเกินกว่านั้น

แหล่งข่าวกล่าวว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางการลดหย่อนสำหรับที่ดินเชิงเกษตรกรรมและที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย โดยที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยจะลดหย่อนให้สำหรับที่อยู่อาศัยประเภทที่เป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่ดั้งเดิม ซึ่งต้องพิสูจน์ทางสายเลือดได้ และอยู่มาก่อนที่กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะมีผลบังคับใช้ โดยจะกำหนดเป็นวงเงินที่จะต้องเสียภาษีว่าไม่ควรเสียเกินจำนวนเท่าใด เบื้องต้นหารือกันว่าสำหรับภาษีที่อยู่อาศัยโดยรวมที่จะต้องเสียนี้ จะอยู่ในหลักร้อยบาทหรือหลักพันบาทต่อปีเท่านั้น

"สมมุติว่ามีบ้านหลังหนึ่ง พื้นที่ 1 ไร่ อยู่ในซอยสุขุมวิท 24 ในอดีตซื้อมาราคาตารางวาละ 5 สลึง แต่ปัจจุบันตารางวาละ 5 แสนบาท คิดเป็นมูลค่าที่ดินรวม 200 ล้านบาท ถ้าคิดภาษีในอัตรา 0.1% ของราคาประเมิน จะต้องเสียภาษี 2 แสนบาทต่อปี ซึ่งไม่ใช่ความผิดที่เขามีที่ดินราคาสูง แต่กรณีที่เจ้าของบ้านดั้งเดิมดังกล่าวมีการเปลี่ยนเจ้าของการเสียภาษีจะเข้าสู่เกณฑ์ปกติ" แหล่งข่าวกล่าว

- 2แนวลดหย่อนที่เกษตรกรรม -
แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับเพดานการจัดเก็บภาษีที่อยู่อาศัยนี้ จะกำหนดที่ 0.5% ของราคาประเมิน แต่การจัดเก็บจริงจะอยู่ที่ 0.1% ของราคาประเมิน โดยยกเว้นภาษีสำหรับที่อยู่อาศัยที่มีมูลค่าไม่เกิน 1 ล้านบาท ส่วนที่เกิน 1 ล้านบาท แต่ไม่ถึง 3 ล้านบาท จะจัดเก็บ 50% ของอัตรา 0.1% ของราคาประเมิน ส่วนที่เกินกว่า 3 ล้านบาท จะเสียภาษี 0.1% ของราคาประเมิน ส่วนที่ดินเชิงเกษตรกรรม ขณะนี้มี 2 แนวทางการพิจารณาลดหย่อน คือ 1.ยกเว้นเป็นขนาดพื้นที่เลย เช่น ขนาด 15-20 ไร่ ได้รับการยกเว้น หรือ 2.ยกเว้นบนฐานมูลค่าของที่ดิน
"ส่วนที่อยู่อาศัยที่ปลูกอยู่ในพื้นที่ที่ทำเกษตรกรรมด้วย จะพิจารณาบนหลักการที่ว่า จำนวน 3 ใน 4 ของพื้นที่นั้นๆ ใช้เป็นพื้นที่สำหรับอะไร เช่น พื้นที่ปลูกบ้านถึง 3 ส่วน ก็จะคิดบนฐานที่อยู่อาศัย หากทำเกษตรกรรมถึง 3 ส่วน จะคิดบนฐานที่ดินเชิงเกษตรกรรม โดยเพดานภาษีที่ดินเชิงเกษตรกรรมกำหนดไว้ที่ 0.25% ของราคาประเมิน ส่วนอัตราการจัดเก็บจริง ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา" แหล่งข่าวกล่าว

- ย้ำที่ดินพาณิชย์ไม่มียกเว้นภาษี -

แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับที่ดินเชิงพาณิชย์ เพดานการจัดเก็บจะอยู่ที่ 2% ของราคาประเมิน เบื้องต้นจะไม่มีการยกเว้น แต่หากที่ดินเชิงพาณิชย์นั้นมีสิ่งปลูกสร้างที่เป็นอยู่อาศัยด้วย จะคิดบนฐานที่อยู่อาศัยตามการใช้พื้นที่จริง และคิดบนฐานเชิงพาณิชย์ตามการใช้พื้นที่จริง อัตราการจัดเก็บจะแบ่งตามขนาดการประกอบธุรกิจ เช่น ห้องแถวขนาดเล็ก จะมีอัตราจัดเก็บที่ต่ำกว่าห้างสรรพสินค้า ส่วนที่ดินที่รกร้างว่างเปล่า จะไม่ได้รับการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษี
แหล่งข่าวกล่าวว่า การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้ ไม่ได้เป็นการจัดเก็บภาษีตัวใหม่ แต่เป็นภาษีที่มาทดแทนการจัดเก็บภาษี 2 ฉบับที่ล้าสมัย คือภาษีที่ดินและโรงเรือน และภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งมีการยกเว้นการเสียภาษีหลากหลายรูปแบบ ทำให้ผู้เสียภาษีแทบจะไม่มีภาระภาษี ดังนั้น การจัดเก็บภาษีตามกฎหมายใหม่นี้ ถือเป็นการเสียภาษีบนฐานที่ควรจะเสีย และช่วยให้ท้องถิ่นมีรายได้เพื่อนำมาพัฒนาท้องถิ่น

-4สมาคมรอคลังเคาะตัวเลขภาษี-
นายสุรพงษ์ เตชะหรูวิจิตร นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า ทีเอสเอและ 3 สมาคมอสังหาริมทรัพย์ คือ สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร สมาคมอาคารชุดไทย และสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย จะยังไม่เข้าไปหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อขอให้ทบทวนการคิดอัตราการจัดเก็บของมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะรอให้สรุปตัวเลขที่ชัดเจนก่อน เชื่อว่ารัฐจะไม่เก็บเต็มเพดานภาษีอยู่แล้ว

"ภาษีเดิมคือภาษีโรงเรือนและที่ดิน เก็บจากรายได้ค่าเช่า ที่ผ่านมาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) มีเพดานจัดเก็บที่ 3% แต่จัดเก็บจริงเพียง 0.8% หรือไม่เกิน 1% แต่ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะจัดเก็บจากมูลค่าทรัพย์สินตามราคาประเมิน อาจเกิดความไม่เป็นธรรมกับโรงแรมที่อยู่ในทำเลใจกลางเมืองที่มีราคาประเมินที่ดินสูง จึงอยากให้พิจารณาฐานการเก็บภาษีเดิมประกอบด้วยเพื่อให้ได้ตัวเลขที่เหมาะสมในการจัดเก็บภาษี" นาย สุรพงษ์กล่าว

นายเกียรติ สิทธีอมร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า การจะจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ควรมีหลักการที่ชัดเจนก่อน สมัยที่พรรค ปชป.เป็นรัฐบาลเคยผลักดันเรื่องภาษีทรัพย์สิน ขณะนั้นเองมีความชัดเจนแล้วว่าเป้าหมายไม่ได้ต้องการภาษีเพิ่ม แต่ต้องการให้ความเป็นธรรม อุดช่องโหว่ทุจริต การใช้ดุลพินิจของข้าราชการ ดังนั้น ถ้ารัฐบาลนี้ประกาศชัดเจนว่าไม่ได้ต้องการภาษีเพิ่ม ต้องการสร้างความเป็นธรรม และอุดช่องโหว่ในสังคม ผู้เสียภาษีก็จะสบายใจ

-สอท.ชี้ยังไม่เหมาะรีดภาษีที่ดิน-
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจประเทศยังไม่ดี ดังนั้น การที่รัฐบาลจะจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะเป็นการซ้ำเติม ควรจะจัดเก็บช่วงเวลาที่เหมาะสม ขณะที่นโยบายการปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) นั้นไม่ว่าจะกี่เปอร์เซ็นต์ก็ไม่ควรดำเนินการตอนนี้ เพราะจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวและแย่ลง เนื่องจากปัจจุบันการบริโภคภายในประเทศค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว หากจะขึ้นภาษีแวตควรปรับขึ้นช่วงเศรษฐกิจดีและอัตราเจริญเติบโตของประเทศ ขยายตัวไม่ต่ำกว่าปีละ 4-4.5%

นายณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เชื่อว่ารัฐบาลจะไม่ปรับขึ้นภาษีแวตในเร็วๆ นี้อย่างแน่นอน เพราะภาวะเศรษฐกิจของประเทศในขณะนี้ยังไม่ดี แม้อยากจะปรับขึ้นก็คงไม่สามารถทำได้

แหล่งข่าวจากวงการค้าปลีก กล่าวว่า ขณะนี้ไม่เหมาะที่จะขึ้นแวต ควรรอให้เศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้นก่อน หากรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวดีขึ้นมากกว่านี้ การขึ้นแวตน่าจะทำได้ แต่ควรทยอยปรับขึ้นจากปัจจุบัน 7% เป็น 8% จะทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นเล็กน้อย แต่จะไม่เกิดความตระหนกจนถึงขั้นกักตุนสินค้า
′เอสเอ็มอี′โอดรายได้หด30%

นางเพ็ญทิพย์ พรจะเด็ด นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอทีเอสเอ็มอี) กล่าวว่า สถานการณ์ผู้ประกอบการเอสเอ็มอียังไม่ดีนัก รายได้ลดลงประมาณ 20-30% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศยังไม่ฟื้นตัว จึงต้องการให้ภาครัฐเร่งกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวมากขึ้นเพราะไม่ต้องลงทุนเพิ่มเติม อยากเสนอให้จัดงานอาเซียนเที่ยวไทยภายในปีนี้ เป็นการรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) เชื่อว่าจะกระตุ้นรายได้ให้ภาคเอสเอ็มอี ได้รวดเร็ว

"จากการสอบถามเอสเอ็มอีที่เป็นสมาชิก หลายคนพูดตรงกันว่า รายได้ลดลงประมาณ 20-30% หลายคนไม่อยากรอมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศอย่างเดียวเพราะล่าช้า จึงอยากให้ภาครัฐโปรโมตให้อีก 9 ประเทศในอาเซียนมาเที่ยวไทย เพราะไม่ต้องลงทุนอะไรเพิ่มเติม เรามีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอยู่แล้วแต่อยากให้อำนวยความสะดวกเพิ่มเติม อาทิ การให้วีซ่าเพราะบางประเทศยังต้องใช้วีซ่าเข้าไทยอยู่ หากกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวได้ จะทำให้ภาคเอสเอ็มอี ได้รับอานิสงส์โดยตรง เพราะรายได้หลักของหลายธุรกิจของเอสเอ็มอี มาจากภาคการท่องเที่ยว" นางเพ็ญทิพย์กล่าว

-หนี้เน่าเพิ่ม-จี้รัฐเร่งกระตุ้นศก.-
นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ธุรกิจเอสเอ็มอีกำลังประสบปัญหาสภาพคล่องจากภาวะเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกชะลอตัว ส่งผลให้เริ่มเป็นเอ็นพีแอลในอัตราที่เพิ่มขึ้น ถือเป็นสัญญาณที่ไม่ดีนัก ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจและหามาตรการช่วยเหลือสภาพคล่องเอสเอ็มอี อย่างเร่งด่วน
นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ขณะนี้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เริ่มเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในอัตราที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังการส่งออกชะลอตัวลง และแรงซื้อในประเทศยังไม่ฟื้นตัว ส่งผลให้จำหน่ายสินค้าลดลง และยังเผชิญการแข่งขันที่สูง ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและงบลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมายเร่งด่วน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ

"การส่งออกเดือนมกราคมที่ผ่านมาลดลง ขณะที่แรงซื้อในประเทศไม่ฟื้นตัว ดังนั้นสิ่งที่เอกชนรอดูคือการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐที่จะเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่พบว่าเดือนมกราคมรัฐเบิกจ่ายงบลงทุนเพียง 5 หมื่นกว่าล้านบาท คิดเพียง 13% จากที่ตั้งเป้าไว้ ทำให้การลงทุนทั้งรัฐและเอกชนบางส่วนชะลอออกไป" นายเกรียงไกรกล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook