เวนคืน 3 หมื่นล้าน ผุดโครงข่ายใหม่ เชื่อม "กาญจนาภิเษก" ทะลุ "วิภาวดี"

เวนคืน 3 หมื่นล้าน ผุดโครงข่ายใหม่ เชื่อม "กาญจนาภิเษก" ทะลุ "วิภาวดี"

เวนคืน 3 หมื่นล้าน ผุดโครงข่ายใหม่ เชื่อม "กาญจนาภิเษก" ทะลุ "วิภาวดี"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คอลัมน์ เวนคืนอัพเดต

ปัจจุบันการเชื่อมต่อพื้นที่กรุงเทพฯโซนตะวันตกกับตะวันออกยังขาดโครงข่ายที่จะมารองรับกับการขยายตัวของเมืองและแก้ไขปัญหาการจราจรที่นับวันทวีคูณมากยิ่งขึ้น

ล่าสุด "ทช.-กรมทางหลวงชนบท" สังกัดกระทรวงคมนาคม มีแผนจะศึกษาโครงข่ายใหม่มาเติมเต็มพื้นที่ดังกล่าว มีแนวคิดจะสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสนามบินน้ำและถนนต่อเชื่อมจากถนนกาญจนาภิเษกตะวันตกมายังถนนวิภาวดีรังสิตระยะทาง19 กม.และโปรเจ็กต์นี้บรรจุอยู่ในแผนแม่บทสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา 11 แห่งแล้วตามมติคณะกรรมการจัดการจราจรทางบก (คจร.)

ปี"59 ศึกษา-ลงทุน 3.3 หมื่นล้าน

ความคืบหน้าโครงการ "ดรุณ แสงฉาย"อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปี 2559 กรมจะของบประมาณ 65 ล้านบาทจ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดของโครงการ จะใช้เวลา 1 ปีเศษ จากนั้นจะเป็นการดำเนินการตามกระบวนการต่าง ๆ เช่น การเสนอขออนุมัติโครงการจากกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ออก พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินเพื่อสำรวจและเวนคืนที่ดิน เป็นต้น

"คาดว่าจะเริ่มสร้างได้กลางปี"63 แล้วเสร็จกลางปี"66 กรมได้ประเมินเงินลงทุนไว้เบื้องต้น จะใช้เงินลงทุน 33,603 ล้านบาทเป็นค่าก่อสร้าง 9,574 ล้านบาท และเวนคืนที่ดิน 25,278 ล้านบาท"

แบ่งพัฒนา 3 ตอน

สำหรับการก่อสร้าง "อธิบดีดรุณ" กล่าวว่าจะแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 3 ตอน โดย "ตอนที่ 1" ช่วงถนนกาญจนาภิเษกตะวันตกถึงถนนราชพฤกษ์ จุดเริ่มต้นอยู่ที่ถนนกาญจนาภิเษกใกล้กับสถานีซ่อมบำรุงและอาคารจอดแล้วจร (เดโป้) ของรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางซื่อ-บางใหญ่) เพื่อเปลี่ยนถ่ายโหมดการเดินทางจากรถมาเป็นระบบราง จะก่อสร้างเป็นถนน 6 ช่องจราจร ระยะทาง 2 กม. และสะพาน 4 ช่องจราจร ข้ามถนนบางกรวย-ไทรน้อย คลองบางบัวทอง มาสิ้นสุดที่ถนนราชพฤกษ์ รวมระยะทาง 5 กม. เงินลงทุน 6,366 ล้านบาท เป็นค่าก่อสร้าง 813 ล้านบาท และเวนคืนที่ดิน 5,553 ล้านบาท

"ตอนที่ 2" ช่วงถนนราชพฤกษ์ถึงถนนติวานนท์ จะเริ่มต้นที่ถนนราชพฤกษ์ ก่อสร้างเป็นสะพานข้ามถนนราชพฤกษ์ 4 ช่องจราจร ความยาว 600 เมตร จากนั้นจะเป็นถนน 6 ช่องจราจร และสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา (สะพานสนามบินน้ำ) 6 ช่องจราจรบริเวณฝั่งตรงข้ามกระทรวงพาณิชย์ เมื่อข้ามแม่น้ำแล้วจะสร้างเป็นทางยกระดับ 4 ช่องจราจรโดยแนวเส้นทางจะไปตามแนวถนนสนามบินน้ำ พร้อมปรับปรุงและขยายถนนสนามบินน้ำและถนนนนทบุรี 1 จากแยกจุดตัดถนนติวานนท์ถึงสะพานนนทบุรี 1 จาก 4 ช่องจราจรเป็น 6 ช่องจราจร รวมระยะทาง 8 กม. เงินลงทุน 8,891 ล้านบาท เป็นค่าก่อสร้าง 3,386 ล้านบาทและเวนคืนที่ดิน 5,505 ล้านบาท

และ "ตอนที่ 3" ช่วงถนนติวานนท์ถึงถนนวิภาวดีรังสิต เริ่มจากจุดสิ้นสุดตอนที่ 2 บนถนนติวานนท์ ก่อสร้างเป็นทางลอด 6 ช่องจราจร วิ่งตรงไปเชื่อมกับทางด่วนศรีรัช จะมีทางต่างระดับเชื่อมกับทางด่วน จากนั้นจะสร้างเป็นทางยกระดับ 4 ช่องจราจรไปตลอดเส้นทางจนถึงถนนวิภาวดีรังสิต จะมีถนนคู่ขนานด้านข้างฝั่งละ 2 ช่องจราจร เปิดพื้นที่แนวเส้นทางที่ตัดผ่าน และทางต่างระดับเชื่อมถนนวิภาวดีรังสิต รวมระยะทาง 6 กม.เงินลงทุน 18,346 ล้านบาท เป็นค่าก่อสร้าง 4,126 ล้านบาท เวนคืนที่ดิน 14,220 ล้านบาท

สร้างแน่จากวงแหวนฯ-ติวานนท์

"ค่าเวนคืนสูงมาก เพราะที่ดินราคาแพง บางช่วงต้องตัดผ่านที่อยู่อาศัยหนาแน่น โดยเฉพาะตอนที่ 3 จากถนนติวานนท์ถึงวิภาวดีที่เงินลงทุนสูง ที่ปรึกษาต้องจัดลำดับความสำคัญทั้ง 3 ตอนนี้จะสร้างตอนไหนก่อน เพื่อแบ่งเบาการใช้งบประมาณ คงจะไม่สร้างพร้อมกันทั้งโครงการ"

ถึงจะยังไม่ฟันธงเสียทีเดียว แต่ "อธิบดีดรุณ" ย้ำชัดว่า จะสร้างแน่นอนคือช่วงถนนกาญจนาภิเษกถึงถนนติวานนท์ เพื่อเพิ่มโครงข่ายใหม่เชื่อมการเดินทาง 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และรองรับการเดินทางย่านนี้ อีกทั้งแก้ไขปัญหารถติดในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี หลังเมืองมีการพัฒนาและขยายตัวรวดเร็วขึ้นมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

ส่วนช่วง "ถนนติวานนท์-วิภาวดีรังสิต" ด้วยราคาที่ดินแพงลิ่ว อาจจะชะลอโครงการออกไปได้อีกพักใหญ่ ๆ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook