ร้านสะดวกซื้อชิงทำเลทอง "โชห่วย" รอวัน...โรยรา

ร้านสะดวกซื้อชิงทำเลทอง "โชห่วย" รอวัน...โรยรา

ร้านสะดวกซื้อชิงทำเลทอง "โชห่วย" รอวัน...โรยรา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ร้านสะดวกซื้อ หรือคอนวีเนี่ยนสโตร์ ถือเป็น "ธุรกิจดาวเด่น" ติดต่อกันมาหลายปี รวมถึงปี 2557 เนื่องจากจำนวนสาขาที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว และปีนี้ต้องจับตามองอย่างยิ่งในแง่ของการแข่งขันที่มีแนวโน้มว่าจะดุเดือดเข้มข้นขึ้น เพราะเป็นสมรภูมิที่เต็มไปด้วยผู้เล่นรายใหญ่ที่มีศักยภาพทั้งสิ้น

นอกจากเจ้าตลาด "เซเว่นอีเลฟเว่น" ของกลุ่มซีพี ออลล์ ค่ายคู่แข่ง ต่างก็ได้จัดทัพ เพื่อจะเปิดเกมบุกอย่างหนัก ทั้งแฟมิลี่มาร์ท ของกลุ่มเซ็นทรัล และลอว์สัน 108 ของเครือสหพัฒน์ ที่ผนึกกำลังกับบริษัทแม่จากญี่ปุ่น ซึ่งทุกค่ายต่างมีความพร้อมทั้งในแง่เม็ดเงินลงทุน มีโนว์ฮาว มีความเชี่ยวชาญและพร้อมที่จะปูพรมสาขาเพื่อแย่งเค้กก้อนโต นี่ยังไม่นับรวมถึงแมกซ์แวลู ของกลุ่มอิออนจากญี่ปุ่น ที่ขยายตัวอย่างเงียบ ๆ

ปัจจุบันร้านสะดวกซื้อมีจำนวนร้านรวมกันมากกว่า 12,000 แห่ง โดยปีที่ผ่านมามีสาขาเปิดใหม่รวมกันกว่า 1,500 สาขา จากปกติที่มีสาขาเปิดใหม่เฉลี่ยเพียง 700-800 สาขา ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายเชิงรุกของหลาย ๆ ค่าย โดยเฉพาะเซเว่นฯที่เร่งสปีดและเปิดสาขาเพิ่มเป็น 540 สาขา จากปกติเปิดปีละ 500 สาขา ทำให้ตัวเลข ณ สิ้นปี 2556 มี 7,500 สาขา

"ปิยวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล" รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ย้ำเสมอว่า เซเว่นฯมุ่งศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภค เพื่อนำมาพัฒนานวัตกรรม บริการ แบบวันสต็อปเซอร์วิส และสินค้า เน้นกลุ่มอาหารพร้อมทาน ชูภาพลักษณ์อิ่มสะดวก เพื่อมัดใจลูกค้าและฉีกหนีคู่แข่ง ควบคู่การเปิดสาขามุ่งสู่เป้าหมาย 1 หมื่นแห่งในปี 2560

ด้านแฟมิลี่มาร์ท ปีนี้จะเปิดเพิ่มอีกมากกว่าปีที่แล้ว เปิดไป 240 สาขา บวกกับการเปลี่ยน ท็อปส์ เดลี่ เป็นแฟมิลี่มาร์ท 74 สาขา จากปีที่ผ่านมา ส่งให้ตัวเลขทะลุ 1,000 สาขาไปแล้ว และตั้งเป้าว่าภายในปี 2560 จะมี 3,000 สาขา

"ณัฐ วงศ์พานิช" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลแฟมิลี่ มาร์ท จำกัด กล่าวว่า คอนวีเนี่ยนมีการแข่งขันสูงมาก แต่ก็ถือเป็นเซ็กเมนต์ที่โตมากที่สุดในแง่ของรีเทล ถ้าแบรนด์เล็กจะเหนื่อย สายป่านต้องยาว รายใหม่ ๆ จะเริ่มใหม่ไม่ง่าย การขึ้นเป็นอันดับ 1 คงยาก เพราะจำนวนสาขาห่างกันมาก แฟมิลี่มาร์ทเองก็ต้องพยายามหาจุดที่มีความชัดเจนในตัวเองให้ได้ หาจุดยืนให้ได้ในตลาด

"หลัก ๆ จะมุ่งไปที่การพัฒนาสาขาและทดลองรูปแบบใหม่ ๆ หลายโมเดล เพื่อสร้างจุดต่างและเอกลักษณ์ พยายามหาจุดยืนที่มีความชัดเจน ส่วนหนึ่งก็คือการเน้นเรื่องของการเลือกสินค้านำเสนอในร้าน"

ขณะที่ลอว์สัน 108 ของสหพัฒน์ แบรนด์น้องใหม่ ปีที่ผ่านมาเปิดสาขาได้ 50 แห่ง และตั้งเป้าอีก 5 ปีข้างหน้าจะเพิ่มให้ได้ 1,000 สาขา และขยับไปถึง 5,000 สาขาในปี 2566 เจาะทำเลคอนโดฯ สำนักงาน สถานีรถไฟฟ้า ส่วนแหล่งชุมชนขนาดเล็กและตามซอยต่าง ๆ จะใช้ 108 ช็อป เป็นตัวรุก

ด้านความเคลื่อนไหวของยักษ์ค้าปลีก เทสโก้ โลตัส-บิ๊กซี ก็หันมาให้น้ำหนักกับไซซ์เล็กมากขึ้น โดยโลตัส เอ็กซ์เพรส จะเปิดเพิ่มอีก 300 สาขา จาก 1,200 สาขา เมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา ขณะที่ มินิ บิ๊กซี มีสาขา 278 แห่ง รวมปีก่อนที่เปิดใหม่ 153 สาขา และตั้งเป้าปี 2559 จะครบ 950 สาขา

การขยายสาขาเชิงรุกของทุกค่ายจึงทำให้การแข่งขันเพื่อแย่งชิงทำเลทองมีความรุนแรงมากขึ้น

อย่างไรก็ตามนอกจากการลงทุนเปิดสาขาด้วยตัวเองแล้ว ทุกค่ายยังมุ่งเพิ่มสัดส่วนของร้านแฟรนไชส์ ด้วยการส่งเสริมคนรุ่นใหม่ ผู้สนใจ รวมถึงโชห่วย ให้หันมาเปิดร้าน เพื่อให้การขยายสาขาเป็นไปอย่างรวดเร็วและโตแบบก้าวกระโดด

จากการสำรวจของนีลเส็นระบุว่า ร้านสะดวกซื้อมีการขยายตัวมากกว่าตลาดโดยรวม และมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

โดยปี 2555 เติบโต 23.01% ขณะที่เทรดิชั่นนอลเทรดโตเพียง 7.21% และร้านสะดวกซื้อมีส่วนแบ่งตลาดเมื่อปี 2554 ถึง 20% จากปี 2552 ที่มีเพียง 16.9% ขณะที่ส่วนแบ่งของโชห่วยตกลงมาเหลือเพียง 3% และถึงแม้โชห่วยจะมีส่วนแบ่งตลาดและการเติบโตลดลงต่อเนื่อง แต่ก็ยังคงความเป็นผู้นำด้วยส่วนแบ่งของตลาดมากกว่า 50% ของธุรกิจค้าปลีก

อย่างไรก็ตามจากการเปิดเกมรุกหนักของร้านสะดวกซื้อที่ลงลึกไปถึงชุมชนต่าง ๆ ในระดับอำเภอ ยกตัวอย่างกรณีของเซเว่นฯ ที่วันนี้มีสาขาครอบคลุมกว่า 691 อำเภอ จากทั้งหมด 928 อำเภอทั่วประเทศ ความอยู่รอดของโชห่วยจากนี้จึงเป็นโจทย์ใหญ่ต้องตีให้แตก

"ธนวรรษ์ เสริมพาณิชย์" ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า จากผลการวิจัยพบว่าร้านค้าปลีกสมัยใหม่เติบโตเป็นตัวเลข 2 หลัก ขณะที่โชห่วยเติบโตไม่ถึง 5% ปัจจุบันร้านโชห่วยมีคนเข้าร้านน้อยลง และเริ่มเห็นการเปิดร้านใหม่น้อยลง ส่วนใหญ่เจ้าของเป็นคนที่มีอายุ รุ่นปู่ รุ่นพ่อ ส่วนคนรุ่นลูกส่วนหนึ่งจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบร้านให้ทันสมัยขึ้น คล้าย ๆ กับคอนวีเนี่ยนสโตร์และมีจำนวนหนึ่งที่ปรับไปสู่แฟรนไชส์ของค่ายใหญ่

ถ้าแนวโน้มอย่างนี้เกิดขึ้นมาก เชื่อว่าอีก 10-20 ปี อาจจะไม่มีโชห่วยรูปแบบดั้งเดิมให้เห็น หรืออาจจะมีบ้าง แต่ก็จะไปอยู่ตามย่านเก่า ๆ หรือตามสถานที่ท่องเที่ยวสไตล์ย้อนยุค

"ธนวรรษ์" ย้ำว่า พฤติกรรมของคนเป็นตัวกำหนดกรอบของรูปแบบการค้าใหม่ ๆ ซึ่งคอนวีเนี่ยนสโตร์สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างมากในแง่ของความสะดวก รวดเร็ว ร้านคอนวีเนี่ยนที่เปิดตัวอย่างรวดเร็วจึงเป็นตัวเร่งให้โชห่วยตายเร็วขึ้น

"การปรับตัวของโชห่วยไปสู่ร้านสะดวกซื้ออาจจะไม่ใช่คำตอบสุดท้าย ถ้าทำเหมือนเซเว่นฯ คนก็จะเข้าเซเว่นฯ แต่ว่าถ้าทำเป็นร้านของตัวเอง มีสินค้าฉีกจากเซเว่นฯ อย่างร้านซีเจ ราชบุรี ขายของที่เซเว่นฯไม่มี ก็ทำให้เติบโตได้ ดังนั้นทางออกอย่างหนึ่งก็คือ การสร้างความโดดเด่นที่ไม่เหมือนเซเว่นฯ"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook