"หมอปอ" คนเลี้ยงม้า อาชายักษ์ใหญ่-สวยที่สุดในโลก

"หมอปอ" คนเลี้ยงม้า อาชายักษ์ใหญ่-สวยที่สุดในโลก

"หมอปอ" คนเลี้ยงม้า อาชายักษ์ใหญ่-สวยที่สุดในโลก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สุชาฎา ประพันธ์วงศ์ : เรื่อง

เขาใหญ่แหล่งที่นักลงทุน เศรษฐี คนมีสตางค์ ใช้เป็นบ้านพักตากอากาศ พักผ่อนหย่อนใจในวันหยุด เป็นลานกิจกรรม ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ กลายเป็นจุดหมายปลายทางที่เบื่อเมืองไปหาธรรมชาติได้ง่ายและใกล้ที่สุด พื้นที่รอบ ๆ เขาใหญ่ยังมีฟาร์มเลี้ยงสัตว์เกิดขึ้นหลายแห่งนอกเหนือจากฟาร์มนมที่คนไทยคุ้นเคย มีสัตว์มากมายหลายสายพันธุ์ถูกนำมาอาศัย

หนึ่งในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่ "ประชาชาติธุรกิจ" จะพาไปชมในครั้งนี้ ค่อนข้างแปลกตาและแปลกใหม่ แม้จะไม่ใช่สิ่งใหม่ที่เกิดขึ้น "ฟาร์มหมอปอ" คือ คอกม้านำเข้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย แหล่งรวมพันธุ์ม้ายักษ์และม้าสวยงามที่สุดในโลกไว้ที่นี่ บนเนื้อที่ 16 ไร่ ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

หมอปอ หรือ น.พ.นพดล สโรบล สูติแพทย์ประจำ ร.พ.บำรุงราษฎร์ วัย 56 ปี มีความรักและชื่นชอบม้ามาตั้งแต่ยังเล็ก ทำให้ซึมซับความผูกพันและรักสัตว์ 4 ขา ที่มีสรีระสวยงามและแข็งแรงมาตลอด เมื่อมีโอกาสมาสร้างฟาร์มที่เขาใหญ่ เริ่มจากการเลี้ยงไก่ ก่อนจะขยับขยายมาเลี้ยงม้า

"ผมเริ่มทำฟาร์มม้ามาประมาณ 5-6 ปี ทีแรกก็ไม่ได้คิดว่าจะซื้อม้าเยอะขนาดนี้ เริ่มจากเลี้ยงม้าไทยก่อน 2-3 ตัว พอรู้ตัวว่าเลี้ยงได้ ก็เริ่มสั่งม้ามาจากต่างประเทศเข้ามาเลี้ยง พอไปดูรูปจากอินเทอร์เน็ต เริ่มเห็นว่ามีม้าสวย ก็ขยายสั่งเพิ่มมาเลี้ยง ตอนนี้มีประมาณ 80 ตัว ในระยะเวลา 3 ปี"

ต้องกระซิบดัง ๆ ว่า ม้าแต่ละตัวของฟาร์มม้าหมอปอ ไม่ใช่ม้าธรรมดา แต่เป็นม้าพันธุ์พรีเมี่ยมระดับโลก ถ้าเปรียบกับรถก็เป็นรถซูเปอร์คาร์ เพราะม้าที่ฟาร์มหมอปอมีถึง 5 สายพันธุ์ที่ติดอันดับเป็นม้าที่สวยที่สุดในโลก 10 อันดับแรก ซึ่งหาดูได้ยากในประเทศไทย 5 สายพันธุ์ที่สวยที่สุดในโลก ได้แก่ สายพันธุ์แอนดาลูเซียจากประเทศสเปน ฟรีเชียนจากประเทศฮอลแลนด์ อาระเบียนและร็อกกี้เมาน์เทนจากสหรัฐอเมริกา และยิปซีแวนเนอร์จากประเทศอังกฤษ

นอกจากม้าสวยที่สุด หมอปอยังมีม้าพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกถึง 3 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ชายร์ ไคลสเดล และเบลเยียม

ความพิเศษของฟาร์มหมอปอ คือ เป็นฟาร์มเลี้ยงสัตว์จริง ๆ จึงไม่ได้มีแค่ม้า แต่มีไก่อีก 300 ตัว เป็ด ห่าน หมูแคระ แพะ แกะ และลูกม้า

คอกม้าหมอปอ เกิดขึ้นจากความรักความชอบส่วนตัว ไม่ใช่การทำตามแฟชั่นแต่อย่างใด ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา หมอปอสะสมม้านำเข้าเกือบร้อยตัว และเลี้ยงดูเป็นอย่างดี รักทุกตัว ไม่มีรักตัวไหนเป็นพิเศษ

จากฟาร์มม้าปิดที่ให้เฉพาะเพื่อนๆ เข้าไปใช้บริการ เลี้ยงม้า ขี่ม้า เมื่อปลายปีที่แล้วหมอปอเริ่มเปิดให้คนนอกเข้ามาใช้บริการ โดยมีแรงขับดันจากเพื่อนๆที่มองเห็นศักยภาพว่า น่าจะรองรับนักเดินทางที่ชื่นชอบการขี่ม้ามาใช้บริการ หมอปอจึงเริ่มทำคอกม้าเป็นธุรกิจ เพื่อให้ฟาร์มเลี้ยงดูตัวเองได้บ้าง โดยก่อนหน้านี้หมอปอต้องดูแลค่าบริหารจัดการด้วยเงินทุนตัวเองกว่าเดือนละ 3-4 แสนบาท

การเริ่มต้นทำฟาร์มหมอปอ ไม่ได้เริ่มจากการแสวงหากำไรที่เป็นตัวเงิน แต่กำไรจากความสุข การแบ่งปัน ความสุขให้คนในพื้นที่เดิมได้มีอาชีพและมีรายได้ ด้วยแนวคิดที่ว่า ต้องช่วยพัฒนาให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การทำฟาร์มม้าของหมอปอจึงเริ่มจากการปรึกษาเจ้าของที่เดิมว่า ต้องการทำกินอะไรในพื้นที่นี้ โดยหมอปอจะลงทุนเป็นเงิน ส่วนชาวบ้านลงทุนแรง เริ่มจากการเลี้ยงไก่ ก่อนจะมาเลี้ยงม้าตามที่ตกลงทั้ง 2 ฝ่าย

โดยกำไรที่ได้จากการเลี้ยงไก่ไข่ หมอปอแบ่งคนละครึ่งกับชาวบ้าน นอกจากเงินเดือนที่ได้รับแล้ว ชาวบ้านยังได้ส่วนแบ่งกำไรด้วย

สิ่งที่หมอปอได้มากกว่าคือ ความสุขที่ได้เห็นชาวบ้านมีความสุข หมอปอไม่ใช่แค่นายทุน แต่หมอปอยังเป็นเสมือนนายอุปถัมภ์ ที่รับผิดชอบค่าเล่าเรียนของบุตรพนักงาน โดยจะส่งให้พวกเขาได้ร่ำเรียนสูงถึงระดับปริญญาตรี หากใครอยากเรียนสูงกว่านี้ก็พร้อมจะส่ง เป็นความรับผิดชอบที่หมอปอมอบให้คนในพื้นที่ และสร้างสุขให้ตัวเอง

"ผมเพิ่งทำเป็นธุรกิจไม่ถึงปี ก่อนหน้านี้ผมก็จ่ายอยู่คนเดียว บางคนชอบถามผมว่าทำไมใช้เงินเยอะเหลือเกิน ซึ่งผมมีคติประจำใจคือ อยากทำอะไรก็ทำ ขอให้ไม่เบียดเบียนคนอื่น ตายไปก็เอาเงินไปไม่ได้ และผมก็บอกกับลูกชายผมสองคนนะว่า ถ้าผมเป็นอะไรไป สิ่งที่แรกที่ต้องทำก่อนจองวัดก็คือ ขายม้า หรือยกให้คนอื่นไปเลย เพราะว่าลูกคงไม่มีปัญญาเลี้ยงแม้วันเดียว แต่เรื่องจองวัดมันง่าย"

เพื่อลดต้นทุนการทำฟาร์มให้ดูแลตัวเองได้ จึงมีการขยาย จากบริการขี่ม้า มีการเพาะพันธุ์ม้าขาย ทำแคมป์ต้อนรับเด็ก ๆ ให้มาเที่ยวชมและใช้ชีวิตในฟาร์มเพื่อเพิ่มประสบการณ์ชีวิตให้ตัวเอง ได้อยู่กับธรรมชาติและเรียนรู้การช่วยเหลือตัวเอง

"ผมก็สอนหนังสืออยู่แล้ว การทำฟาร์มม้าก็เหมือนกัน ผมอยากเผยแพร่ให้คนอื่น จึงมีการสอนขี่ม้า มีการจูงม้า ขี่เข้าป่า เพื่อบริการนักท่องเที่ยวและขี่ม้าออกทุ่ง ม้าผมแต่ละตัวราคา 6-7 แสนบาท พูดกันตามความเป็นจริง ม้าราคานี้ ไม่มีใครยอมให้ขี่ง่าย ๆ แน่ เพราะขี่แล้วก็ไม่คุ้ม แต่เราอยากให้คนอื่นได้มีความสุขเหมือนที่เราได้รับ"

เมื่อเปลี่ยนความรักความชอบเป็นธุรกิจ แต่ก็ไม่ทิ้งสไตล์การทุ่มสุดตัวของหมอปอ เขากำลังจะสร้างคอกม้าแห่งใหม่ให้ใหญ่กว่าเดิม ชื่อโครงการ "Mirasierra" (มีร่าเซียร่า) เป็นโครงการที่ดินจัดสรรที่หมอนพดลและพี่น้องร่วมกันก่อตั้งขึ้นบนเนื้อที่ 74 ไร่ ตั้งอยู่ที่เขาวง ต.หนองน้ำแดง เขาใหญ่ โครงการประกอบด้วย แปลงที่ดินแบ่งขายจำนวน 29 แปลง สโมสร ร้านอาหาร โรงแรมบูติคจำนวน 9 ห้อง คอกม้า 6 คอก และสนามขี่ม้า อาคารถูกก่อสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมของประเทศสเปนทางตอนใต้ เรียกว่า Hacienda

"ที่นี่จะเป็นโรงแรมไม่เหมือนที่อื่น ผมขายอะไรที่แตกต่างคือ ขายประสบการณ์ และไลฟ์สไตล์ ไม่ใช่ขายความหรูหรา ขายความเป็นหนึ่งในด้านบริการ เหมือนเราไปพักฟาร์มที่สเปน ยกตัวอย่าง อาหารเช้า นมสดที่ต้มและพาสเจอไรซ์เอง"

เช่นเดียวกับ "กะทิ-ปารมี ทองเจริญ" รองประธานฝ่ายการตลาด บริษัทมัดแมน จำกัด ตามมาเยี่ยมบิดา น.พ.ประเสริฐ ทองเจริญ แพทย์ผู้เกษียณอายุมาเขียนหนังสือที่เขาใหญ่ในละแวกฟาร์มหมอปอ เธอจึงมีโอกาสได้ใช้เวลาบนหลังม้าเป็นที่ชาร์จแบตจากงานและความวุ่นวายในเมือง และมากกว่าความเบิกบานที่ได้รับจากบรรยากาศและความท้าทายบนหลังม้า สิ่งที่เธอได้คือ การเรียนรู้จากสิ่งมีชีวิต ที่สามารถนำมาปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้

ปารมียกตัวอย่างสิ่งที่เธอได้เรียนรู้จากการขี่ม้า ที่เธอไม่เคยคิดว่าการขี่ม้าจะกลายมาเป็นกีฬาที่เธอโปรดปรานมากกว่ากีฬาทั้งปวงที่เธอชอบความเสี่ยง อย่างปีนหน้าผา ไต่เขาได้ แต่เมื่ออยู่บนหลังม้าแล้ว ยิ่งกว่าความเสี่ยงคือความท้าทายที่ไม่ใช่แต่ร่างกายและจิตใจ แต่ต้องคิดและทำความเข้าใจ เรียนรู้ไปพร้อมกับพาหนะที่ขี่

"การขี่ม้ามันท้าทายมาก เพราะเราเป็นคนชอบรักอิสระแต่ชอบควบคุม จากเดิมเราขี่ตามคนอื่น แต่ขี่ไม่นานเราก็มาเป็นผู้นำได้ มันเป็นชีวิตที่ปลดปล่อย เรามาถึงแบบไม่เหลืออะไรเลย มาแบบร่างไร้วิญญาณ พอได้ขึ้นบนหลังม้า มันเป็นสิ่งที่มีความสุขที่สุด"

สิ่งที่กะทิได้จากการขี่ม้านอกจากความสุขและการออกกำลังกาย เธอได้เรียนรู้อะไรบางอย่างและนำสิ่งนั้นมาปรับใช้กับลูกที่เดิม พูดยาก ดื้อ ในที่สุดเธอก็ได้พยายามคิดตามว่าเราทำกับม้าได้ ทำไมทำกับลูกไม่ได้

"เวลาจะบังคับม้าไปซ้ายหรือขวา เราต้องดี ๆ ใช้ขาแตะเบา ๆ แต่ถ้าขอแล้วไม่ไปก็เริ่มเตะแรงขึ้น เหมือนเราจะบอกลูกให้ทำอะไรบางอย่างเราก็ต้องเริ่มจากการขอเขาก่อน ไม่ใช่ตะโกน แล้วถ้าเขาไม่ทำ เราก็เริ่มมีโทนเสียงที่มีมากขึ้น เพราะเด็กถ้าไปเริ่มต้นจากการดุเขา หรือสั่งเขา เขาจะต่อต้านเราทันที เหมือนที่กะทิเคยตกม้ามาแล้วครั้งนึง"

เมื่อกะทิได้ม้าที่รู้ใจแล้ว ก็ตัดสินใจซื้อม้ามาเป็นสมบัติของตัวเอง โดยให้ฟาร์มหมอปอช่วยดูแลต่อ และเธอก็ต้องขอบคุณหมอปอที่ให้โอกาสได้ทดลองขี่ม้าดี ๆ เพราะม้าระดับนี้คงไม่มีใครยอมให้แตะง่าย ๆ

"ไม่น่าเชื่อว่าสัตว์ทำให้เราเปลี่ยนทัศนคติและมุมมองได้ขนาดนี้" สิ่งที่คนขี่ม้าได้เรียนรู้จากสิ่งมีชีวิต

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook