พ่อเลี้ยงเดี่ยว แม่เลี้ยงเดี่ยว ลูกโตอย่างมีคุณภาพแม้เลี้ยงตามลำพัง

พ่อเลี้ยงเดี่ยว แม่เลี้ยงเดี่ยว ลูกโตอย่างมีคุณภาพแม้เลี้ยงตามลำพัง

พ่อเลี้ยงเดี่ยว แม่เลี้ยงเดี่ยว ลูกโตอย่างมีคุณภาพแม้เลี้ยงตามลำพัง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การแต่งงาน หาใช่จุดจบที่สวยงามของความรัก มันแปลว่าชีวิตคู่ที่เพิ่งเริ่มต้นนั้นไม่มีอะไรแน่นอน อะไรก็อาจเกิดขึ้นก็ได้ ซึ่งเมื่อวันหนึ่ง ถ้าความเป็น “ครอบครัว” กลับไม่เป็นดังที่ฝันไว้ คน 2 คนจำต้องยุติบทบาทความเป็นสามี ภรรยา อาจจะด้วยการหย่าร้าง หรือการที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเสียชีวิตลงไปก่อน ทำให้ครอบครัวที่เคยอยู่กันพร้อมหน้าสูญเสียสมาชิกคนสำคัญไป แต่ไม่อาจยุติความเป็นพ่อหรือแม่ได้ แม้จะเหลือเพียงพ่อกับลูกหรือแม่กับลูก คนที่ยังอยู่จึงต้องกลายเป็นคุณพ่อหรือคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ต้องประคับประคองลูกตามลำพัง

เมื่อจำต้องอยู่สภาพนี้ ในขณะที่ชีวิตยังต้องเดินต่อไป ทั้งคุณพ่อคุณแม่จำต้องปรับเปลี่ยนวิธีเลี้ยงลูกไปจากเดิม จากที่เคยช่วยกันเลี้ยงดูเป็นเลี้ยงดูคนเดียว สำหรับคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว อาจไม่ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงลูกมากนัก เพราะส่วนใหญ่มักใช้เวลาอยู่กับลูกเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่คุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวนี่สิคงต้องปรับตัวอยู่พักใหญ่ อย่างไรก็ดี ไม่ว่าใครก็ตามที่มีหน้าที่ต้องเลี้ยงลูกต่อจากนี้ ก็คงคาดหวังว่าตนเองจะเลี้ยงดูพวกเขาให้ได้ดีที่สุด เติบโตมาอย่างดีมีคุณภาพ โดยไม่รู้สึกว่าขาดอะไรไป

หากกลายเป็น “คุณพ่อเลี้ยงเดี่ยว (Single Dad)” หรือ “คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว (Single Mom)” ที่ต้องดูแลลูกตามลำพัง ควรปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อเลี้ยงลูกให้เติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ นี่อาจไม่ใช่คำแนะนำที่ดีที่สุด เพราะแต่ละคนมีสไตล์การเลี้ยงลูกต่างกัน แต่เชื่อได้เลยว่าหากนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน อาจช่วยให้คุณเลี้ยงลูกอย่างเข้าใจในสถานการณ์ เข้าใจลูก และเข้าใจตัวเอง

1. พูดความจริงกับลูก
คุณไม่ควรปิดบังความจริงเกี่ยวกับสาเหตุที่ต้องเลี้ยงลูกเพียงลำพัง ทั้งนี้ก็เพื่อรักษาความรู้สึกของลูก คุณควรอธิบายความจริงด้วยคำตอบง่าย ๆ ให้ลูกเข้าใจว่าเหตุใดครอบครัวของคุณเหลือเพียงคุณกับลูก หากเป็นกรณีหย่าร้าง คุณต้องย้ำว่า การที่พ่อแม่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน มาจากการตัดสินใจของพ่อแม่เอง ไม่ได้มีสาเหตุมาจากลูกแต่อย่างใด และการพูดความจริงก็ไม่ควรตำหนิใครคนใดคนหนึ่งว่า “ไม่ดี” เช่นกัน

2. สร้างสายสัมพันธ์ระหว่างคุณและลูกให้แน่นแฟ้น
เนื่องจากคุณต้องเลี้ยงลูกด้วยตัวคนเดียว ไม่มีอดีตสามีหรือภรรยามาช่วยแบ่งเบา คุณจึงต้องให้ความสำคัญเรื่องการให้เวลากันลูกด้วยการใช้เวลาอยู่กับลูกให้มากขึ้น เพราะแท้จริงแล้วการผูกพันและสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมิได้เกิดจากการสัญชาตญาณของความเป็นแม่ แต่ขึ้นอยู่กับว่าใครที่ใช้เวลาอยู่กับลูกมากที่สุด คุณจึงต้องให้เวลากับพวกเขาให้มากกว่าเดิม ทดแทนการหายไปของอีกคนหนึ่ง ลองมองหากิจกรรมที่สามารถทำร่วมกับลูกได้ อาทิ เล่านิทานก่อนนอน เล่นเกม เล่นกีฬา ปลูกต้นไม้ หรือช่วยกันทำอาหารเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดี

3. เปิดโอกาสให้มีการสื่อสารระหว่างคุณและลูก
นอกจากการให้เวลาทำกิจกรรมร่วมกันแล้ว คุณอาจต้องคอยถามว่าแต่ละวันลูกได้ทำหรือเจอเรื่องอะไรมาบ้าง เพื่อแสดงออกว่าคุณไม่เคยละเลยหรือทอดทิ้งให้ลูกต้องเติบโตอย่างโดดเดี่ยวตามลำพัง คุณจะได้รู้ชีวิตความเป็นไปของลูกเสมอ และยังได้คอยอธิบาย และคอยช่วยเหลือเมื่อลูกมีปัญหา ที่สำคัญคุณไม่ควรปฏิเสธหรือแสดงอาการหงุดหงิดเมื่อลูกต้องการคุยกับคุณ แต่ให้พยายามกระตุ้นให้ลูกกล้าที่จะเข้ามาคุยกับคุณ ในเวลาที่มีเรื่องไม่สบายใจ อาทิ เรื่องความรัก การเปลี่ยนแปลงด้านร่างกาย หรือการกลั่นแกล้งที่โรงเรียน

4. ไม่ยอมแพ้ เมื่อลูกพยายามถอยตัวออกห่าง
อาจเพราะคุณเป็นคนที่ไม่ได้ใกล้ชิดสนิทสนมกับลูกมาตั้งแต่ต้น เด็กบางคนสนิทกับแม่มากกว่า บางคนสนิทกับพ่อมากกว่า พอคนที่พวกเขาสนิทด้วยหายไป เป็นเรื่องธรรมดาที่เด็กจะรับความจริงไม่ได้ในระยะเวลาสั้น ๆ เมื่อคุณต้องเข้ามาดูแลพวกเขาอย่างเต็มตัวเพียงคนเดียว อาจทำให้ลูกพยายามถอยตัวออกห่างทุกครั้งที่คุณพยายามเข้าหา ถ้าเป็นเช่นนี้ ขอให้คุณอย่ายอมแพ้ พยายามเข้าไปคุยกับลูกใหม่ ลูกเหลือคุณแค่คนเดียว คุณจึงต้องพยายามให้ดีที่สุด อาจบอกกับลูกก็ได้ว่า “คุณจะยืนอยู่ตรงนี้เสมอ หากลูกมีเรื่องอยากคุย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรคุณก็ยินดีรับฟัง”

5. เปลี่ยนตัวเองให้เป็น “นักฟัง” ที่ดี มากกว่าเป็น “นักพูด”
จริง ๆ แล้วการพยายามเป็นนักฟังที่ดี มีประโยชน์ต่อการสื่อสารในชีวิตประจำวันของคุณมากไม่ว่าจะอยู่ในสถานะไหนในสังคม และเมื่อต้องเปลี่ยนสถานะมาเป็นคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวหรือคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ลูกจะเหลือคนที่พึ่งได้คือคุณคนเดียว คุณจึงต้องฟังให้มากกว่าพูด จะช่วยให้คุณสามารถรับมือได้ดีขึ้นเวลาที่ลูกต้องการคุยด้วย คุณต้องฟังเรื่องราวของลูกให้จบเสียก่อน เพราะบางครั้งลูกของคุณอาจไม่ได้ต้องการคำแนะนำ อาจแค่อยากคุยหรือระบายกับใครสักคนที่ไว้ใจได้ พึ่งพาได้ และพร้อมจะรับฟังเท่านั้นเอง

6. สร้างความมั่นใจให้แก่ลูก
เด็กที่เติบโตมาในครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวนั้น ย่อมมีความรู้สึกลึก ๆ เป็นปมว่าพวกเขาไม่สมบูรณ์ จากการที่ขาดพ่อหรือขาดแม่ไป เด็กบางคนอาจเกิดความรู้สึกวิตกกังวลว่าการที่ครอบครัวเหลือเพียงพ่อกับลูกหรือแม่กับลูกนั้น ชีวิตความเป็นอยู่อาจแย่ลง ทั้งเรื่องที่พักอาศัย อาหารการกิน แต่สำหรับเรื่องนี้คุณอาจสร้างความมั่นใจให้ลูกได้ง่าย ๆ ด้วยการพูดคุยว่าหลังที่ต้องใช้ชีวิตกันเพียงลำพังคุณวางแผนอะไรไว้บ้าง ต้องทำให้พวกเขารู้สึกว่าการที่ขาดพ่อหรือขาดแม่ไป พวกเขาไม่ได้ด้อยไปกว่าคนอื่น คุณต้องเติมเต็มพวกเขาได้ว่าพวกเขาก็คือคนปกติธรรมดาที่ไม่ได้ขาดอะไรไป

7. พยายามเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตลูก
อย่างที่บอกว่าความรู้สึกลึก ๆ ของเด็กที่โตมากับคุณพ่อหรือคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวคือความรู้สึกที่ไม่สมบูรณ์ มีอะไรขาดหายไป คุณจึงต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของลูกให้ได้ นอกจากเป็นการแสดงความใส่ใจในรูปแบบหนึ่งแล้ว คุณจะรู้ว่าวัน ๆ หนึ่งลูกไปเจออะไรมาบ้าง และช่วยให้คุณรู้จักลูกมากขึ้นในฐานะคนคนหนึ่ง อาทิ หากลูกอยู่ในวงดนตรี คุณควรไปดูลูกซ้อมหรือแสดง เป็นต้น นอกจากนี้ คุณควรรู้จักเพื่อนของลูกด้วย ทั้งที่เป็นเพื่อนสนิท เพื่อนร่วมชั้น หรือเพื่อนที่ทำกิจกรรมด้วยกัน

8. ปล่อยให้ลูกมีพื้นที่ส่วนตัวบ้าง
การเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตลูก ไม่ได้แปลว่าให้คุณเข้าไปก้าวก่ายชีวิตของพวกเขา มันอาจเป็นเรื่องธรรมดาที่คนเป็นพ่อเป็นแม่จะอยากปกป้องลูก แต่การปกป้องลูกมากเกินไป อาจทำให้ลูกพยายามตีตัวออกห่างก็ได้ หรือมันอาจจะเข้าทำนองรักเกินรักมักทำลาย การที่พยายามทำให้พวกเขาไม่รู้สึกว่าขาด จะต้องไม่ใช่การปกป้องแบบพ่อแม่รังแกฉัน คุณต้องปล่อยให้ลูกของคุณได้มีอิสระมีโอกาสได้ตัดสินใจเลือกเองบ้าง พวกเขาจะได้รู้ว่าสิ่งที่ตนเลือกนั้นมีผลดีผลเสียกับตนอย่างไรบ้าง ความผิดพลาดที่เกิดขึ้น จะทำให้พวกเขาได้เรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาด้วยตนเอง คุณมีหน้าที่แนะนำและสนับสนุนอยู่ห่าง ๆ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้พวกเขาเติบโตอย่างแข็งแกร่ง

9. กำหนดขอบเขตระหว่างคุณกับลูก
ไม่ใช่แค่ลูกเท่านั้นที่ต้องการพื้นที่ส่วนตัว แม้แต่คุณซึ่งเป็นพ่อเป็นแม่ก็อย่าลืมความเป็นส่วนตัวหรือเวลาสงบ ๆ ของตัวเองเหมือนกัน สนิทกับลูกเป็นเรื่องดี แต่ไม่ใช่ตัวติดกันตลอดทุกวินาที ฉะนั้น คุณควรคุยกับลูกให้เข้าใจและรับรู้ว่า ช่วงใดที่คุณต้องการความเป็นส่วนตัวสำหรับตัวเองบ้าง การมีการกำหนดขอบเขตที่ชัดเจน จะช่วยให้คุณกับลูกไม่รู้สึกอึดอัดต่อกันมากจนเกินไป ต่างคนต่างมีหน้าที่ มีสิ่งที่ต้องทำก็แยกย้ายกันไปทำ แค่พูดคุยและรู้ความเป็นไปกันเสมอ แค่นั้นก็พอแล้ว

10. ขอความช่วยเหลือเมื่อต้องการ
แม้จะเป็นพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว แต่มันไม่จำเป็นเลยที่คุณต้องพยายามแบกรับทุกอย่างไว้ด้วยหนึ่งหลัง สองมือ และสองขาของคุณตามลำพัง การพยายามสตรองเป็นเรื่องน่าชื่นชม แต่อย่าฝืนจนตัวเองทรมาน อย่าลืมว่าถ้าคุณล้มไปอีกคนลูกจะอยู่อย่างไร ถ้าคุณตกอยู่ในภาวะไม่แน่ใจ หรือมีความอึดอัดใจ คุณก็ควรมีเพื่อนคู่คิดไว้คอยช่วยเหลือ ปรึกษา ให้การสนับสนุน อาจจะเป็นเพื่อนสนิทหรือญาติพี่น้องก็ได้ ที่คุณสบายใจจะพูดคุยด้วย ช่วยป้องกันการมาระบายอารมณ์ลงที่ลูกอย่างไม่มีเหตุผล และยังช่วยให้คุณอดทนต่ออุปสรรคต่าง ๆ ได้มากขึ้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook