จากเหตุการณ์โรคระบาดที่ร้ายแรงที่สุดของโลก สู่วิวัฒนาการด้านกลิ่นของน้ำหอมที่เราใช้กันในยุคปัจจุบัน

จากเหตุการณ์โรคระบาดที่ร้ายแรงที่สุดของโลก สู่วิวัฒนาการด้านกลิ่นของน้ำหอมที่เราใช้กันในยุคปัจจุบัน

จากเหตุการณ์โรคระบาดที่ร้ายแรงที่สุดของโลก สู่วิวัฒนาการด้านกลิ่นของน้ำหอมที่เราใช้กันในยุคปัจจุบัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     ในยุคนี้ที่โลกเราต้องเผชิญกับโรคระบาดอย่างโควิด-19 รวมไปถึงความจำเป็นที่จะต้องดูแลรักษาสุขภาพกันให้ดีเป็นพิเศษ เมื่อเราคิดย้อนไปถึงประวัติศาสตร์ของน้ำหอมและเครื่องหอมต่างๆ นั้น กลับมีความเกี่ยวพันกับยารักษาโรค น้ำยาฆ่าเชื้อ เครื่องสำอาง และเครื่องประทินผิวอยู่มากมาย รวมไปถึงการใช้ทางสุคนธบำบัด (Aroma Therapy) เพื่อให้ผลทั้งร่างกาย อารมณ์ และจิตใจอีกด้วย

     โรคติดต่อที่ส่งผลกระทบประชากรโลกจำนวนมากๆ ในประวัติศาสตร์ มีทั้งกาฬมรณะหรือกาฬโรคครั้งใหญ่ (Black Death) ในช่วงศตวรรษที่ 14 ส่งผลกระทบตั้งแต่มองโกเลีย จีน ไปจนถึงยุโรป จากเชื้อแบคทีเรียเยอซิเนีย เพสทิซ (Yersinia pestis) ซึ่งติดต่อกันผ่านหมัด (Flea) ระหว่างคนและสัตว์ได้ เช่น หนู กระต่าย หรือแมว โดยที่โรคนี้แพร่กระจายไปได้ทั่วโลกจากการเดินทางติดต่อค้าขาย สงคราม และการย้ายถิ่นฐานหนีโรคระบาด รวมไปถึงหนูที่เดินทางไปพร้อมกับคน ซึ่งทำให้หมัดที่เป็นพาหะของโรคแพร่เชื้อออกไปได้อย่างรวดเร็ว

 นักปรุงน้ำหอม โยฮานน์ มาเรีย ฟารินา (Yohann Maria Farina) ซึ่งแต่เดิมเป็นคนอิตาลี อาศัยในเมืองโคโลญจน์

     การรักษาโรคต่างๆ ของคนในยุคโบราณ มีการใช้ยาสมุนไพรหลากชนิดทั้งสำหรับใช้ภายนอก หรือดื่มกิน โดยที่บางอย่างก็เป็นความเชื่อที่ยังไม่มีผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์รองรับ บางอย่างก็มาจากการทดลองและเก็บข้อมูลของหมอและเภสัชกรในยุคนั้น นี่ก็คือความสำคัญของผู้ปรุงยา (Apothecary) และ นักเล่นแร่แปรธาตุ (Alchemist) โดยบุคคลเหล่านี้จะผลิตยาจากสมุนไพรและวัตถุดิบที่มีฤทธิ์เป็นยามาสกัดทำปฏิกิริยาและผสมผสานจนกลายเป็นตำรับยาต่างๆ ซึ่งนอกจากจะใช้รักษาโรคติดต่อและโรคอื่นๆ แล้ว ก็ยังมีผลิตภัณฑ์ออกมาในรูปแบบของเครื่องสำอางอีกด้วย ซึ่งในปัจจุบันบทบาทนี้ได้พัฒนาไปสู่วิชาสาขาแพทย์ (Physician) เภสัชกร (Pharmacist) และนักเคมี (Chemist)

     จากประวัติศาสตร์เหล่านี้ทำให้เกิดที่มาของน้ำหอม อย่างเช่น Eau de Toilette ที่แปลออกมาได้ว่า “น้ำที่มาจากในห้องน้ำ” (Toilet Water) จนกลายเป็นคำพูดติดปาก หรือเรื่องล้อเลียนในสังคมน้ำหอม แต่ถ้าจะให้แปลความหมายจริงๆ ก็คือ Grooming Water ที่หมายถึง “น้ำ (ของเหลว, ยา) ที่เอาไว้ดูแลตัวเอง” ทำโดยการนำเอาสมุนไพรเครื่องหอม น้ำมันหอมระเหยต่างๆ มาผสมกับแอลกอฮอล์ชนิดเอทานอล (Ethanol) หรือแอลกอฮอล์ผสมน้ำ โดยจะมีปริมาณแอลกอฮอล์สูง วัตถุดิบที่ใช้ก็อย่างเช่น โรสแมรี (Rosemary) เจอราเนียม (Geranium) ไลแลก (Lilac) ไวโอเล็ต (Violet) ส้ม (Orange) West Indian Bay (มาจากใบของต้นไม้ตระกูลเมอร์เทิลชนิดหนึ่ง) และอื่นๆ ซึ่งไม่ได้จำกัดชนิดของวัตถุดิบที่เอามาใช้ได้ แต่ก็ทำให้ได้ยาที่ใช้แล้วมีกลิ่นหอมไปพร้อมๆ กับการบำรุงสุขภาพ

     Eau de Toilette ยังเป็นต้นกำเนิดของ Eau de Cologne ซึ่งแปลได้ว่า “น้ำที่มาจากเมืองโคโลญจน์” ซึ่งผู้ผลิตน้ำหอมและขายในชื่อ Eau de Cologne เป็นบริษัทแรกก็คือฟารินา (Farina) ก่อตั้งโดยนักปรุงน้ำหอมนาม โยฮานน์ มาเรีย ฟารินา (Johann Maria Farina) ซึ่งแต่เดิมเป็นคนอิตาลีในเมืองโคโลญ หรือ Köln ประเทศเยอรมนี ในปี ค.ศ. 1709 ซึ่งกลายเป็นโรงงานผลิตน้ำหอมที่เก่าแก่ที่สุดในโลกอีกด้วย น้ำหอมของเขาได้รับอิทธิพลมาจาก Aqua Mirabilis ซึ่งเป็นสูตร ‘ยามหัศจรรย์’ จากประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นยาที่ใช้สมุนไพรต่างๆ นำมาใช้รักษาโรคระบาดและอวดอ้างสรรพคุณว่ารักษาโรคได้แทบทุกอย่าง

 เครื่องแต่งกายของแพทย์ยุคกาฬโรคที่มีหน้ากากพร้อมช่องใส่เครื่องหอม ซึ่งเชื่อว่ามีกลิ่นใช้ป้องกันเชื้อโรคได้

    น้ำหอมโคโลญจน์ส่วนใหญ่ของบริษัทอื่นๆ ในสมัยนั้น ได้รับอิทธิพลมาจากฟารินา ก็จะมีวัตถุดิบหลักๆ เป็นผลไม้ประเภทซิตรัส เช่น ส้มต่างๆ เบอร์กามอต (Bergamot) เลมอน (Lemon) วัตถุดิบอโรมาติกอื่นๆ อย่างโรสแมรี ลาเวนเดอร์ (Lavender) กำยานแฟรงคินเซนส์ (Frankincense หรือ Olibanum) ดอกไม้ต่างๆ เช่น ไวโอเล็ต มะลิ (Jasmine) ไม้หอมอย่างไม้จันทน์ (Sandalwood) ซึ่งรวมกันเป็นกลิ่นน้ำหอมที่สดชื่น เบาสบาย ต่างจากกระแสนิยมสมัยนั้นที่ชอบทำน้ำหอมกลิ่นค่อนข้างหนักเพื่อกลบกลิ่นเหม็นอื่นๆ ที่เป็นกลิ่นหนัก เช่น มัสก์กวาง (Deer Musk) ทำให้โคโลญจน์กลายมาเป็นน้ำหอมที่ได้รับความนิยมในสังคมชั้นสูง

     สิ่งหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาดที่พูดถึงไปข้างต้น ก็คือน้ำหอมเหล่านี้นอกจากจะใช้ฉีดตามตัวและเสื้อผ้าเพื่อให้ความหอมแล้ว ยังมีการโฆษณาว่าเป็นยาที่ใช้ดื่มได้อีกด้วย โดยที่คนสมัยนั้นเชื่อว่า น้ำหอมโคโลญจน์สามารถใช้เป็นยาที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อกาฬโรค ซึ่งในปัจจุบันเราพบแล้วว่า พวกน้ำมันซิตรัสทั้งหลาย ช่วยขับไล่แมลงจำพวกหมัดได้ และน้ำมันซิตรัสที่ดื่มกินเข้าไป ก็จะซึมออกมาตามผิวกายเราได้เรื่อยๆ นั่นคือสามารถใช้เป็นยาเพื่อลดการติดเชื้อกาฬโรคได้จริง แต่ในยุคต่อมาการขายยาต้องระบุส่วนผสมอย่างละเอียด น้ำหอม Eau de Cologne ของฟารินาจึงเปลี่ยนไปทำการตลาดเป็นน้ำหอม ไม่ใช่เป็นยาสำหรับดื่มในที่สุด ปัจจุบันน้ำหอมทั่วไปไม่สามารถนำมากินดื่มแบบนี้ได้ เนื่องจากมีปริมาณแอลกอฮอล์สูง และยังมีสารเคมีต่างๆ ที่ไม่เหมาะสมกับการบริโภค

     ที่เล่ามาก็เป็นหนึ่งในเรื่องราวยุคอดีตที่น้ำหอมเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการรักษาโรคและดูแลสุขภาพ ซึ่งยังมีวัตถุดิบ ยา สมุนไพรต่างๆ ที่นำเอามาทำเป็นยาอีกมากมาย คราวนี้เรามาดูกันว่า มีน้ำหอมอะไรบ้างที่มีส่วนผสมหรือโน้ตกลิ่นรับอิทธิพลจากวัตถุดิบที่สามารถใช้เป็นยาได้

1709 Original Eau de Cologne
Farina

     เมื่อพูดถึง Eau de Cologne ที่มีการผลิตครั้งแรกก็คือตัวนี้เลย ที่ทำให้พวกเรารู้จักน้ำหอมยูนิเซ็กส์ที่เน้นไปที่ความสดชื่นของซิตรัส ผู้ปรุงคือโยฮานน์ มาเรีย ฟารินาได้อธิบายไว้ว่า กลิ่นสดชื่นอย่างเบอร์กามอต ตามด้วยมะลิ ไวโอเล็ต จนจางลงกลายเป็นไม้จันทน์ และกำยานแฟรงคินเซนส์ที่อบอุ่นนั้น ทำให้เขาคิดถึงความทรงจำของบรรยากาศหลังฝนตกยามเช้าในสวนที่มีดอกแดฟโฟดิลและดอกส้มของประเทศอิตาลี 

Sun
Lush

     น้ำหอมที่มีความเข้มข้นแบบ Eau de Cologne เป็นน้ำหอมยูนิเซ็กส์ที่ทำให้เราสัมผัสได้ถึงรอยยิ้ม ความสดใส สดชื่นของแสงอาทิตย์ในหน้าร้อน บรรยากาศการขับรถท่องเที่ยวในประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยกลิ่นส้มบราซิลเลียนทำให้คิดถึงน้ำส้มฉ่ำๆ ผสานกลิ่นดอกมิโมซา (Mimosa) และไม้จันทน์ เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกของน้ำหอมกลิ่นซิตรัสสำหรับคนที่ไม่อยากได้กลิ่นดอกไม้แรงๆ ผู้ปรุงคือมาร์ก คอนสแตนติน (Mark Constantine)

Lavender Extreme 
Tom Ford

     น้ำหอมยูนิเซ็กส์ที่มีความเข้มข้นระดับ Eau de Parfum ขวดนี้ เป็นน้ำหอมที่คิดวิธีการนำเสนอวัตถุดิบที่ใช้อย่างลาเวนเดอร์ที่ทุกคนรู้จักให้กลายเป็นสิ่งใหม่ โดยรวบรวมลาเวนเดอร์ที่มีกลิ่นแบบอำพันและเอิร์ธตี (Earthy) ให้เข้ากับลาเวนเดอร์ที่พุ่งกระจาย โดยมีฐานเป็นวานิลลาและถั่วตองกา (Tonka Bean) ซึ่งทำให้น้ำหอมนี้กลายเป็นน้ำหอมในแนวอโรมาติกฟูแจร์ (Aromatic Fougere) ผู้ปรุงคือโอลิวีเยร์ กิโยแตง (Olivier Gillotin)

California Dream Cologne
Louis Vuitton

     นี่คือน้ำหอมยูนิเซ็กซ์ตัวใหม่ในคอลเล็กชั่น Les Parfums Louis Vuitton มาเป็นกลิ่นแนวซิตรัส สดชื่นอย่างโคโลญจน์ แต่มีความเข้มข้นระดับ Eau de Parfum ในชื่อ California Dream คือการสะท้อนถึงบรรยากาศของนครลอสแอนเจลิส ตัดกับท้องฟ้าและความรู้สึกอิสระเสรี ด้วยโน้ตสดใสอย่างส้มแมนดาริน ลูกแพร์ ตัดกับโน้ตนุ่มนวลแบบโอเรียนทัลของกำยาน (Benzoin) เมล็ดแอมเบรตต์ (Ambrette Seed) และมัสก์ (Musk) ผู้ปรุงคือฌากส์ กาวาลลีเยร์ (Jacques Cavallier)

Jazz Club
Maison Martin Margiela

     ความทรงจำของบรรยากาศในคลับดนตรีแจ๊ซสด เก้าอี้หนัง เก้าอี้ไม้ แสงสลัว บวกกลิ่นโลหะของเครื่องเป่า และค็อกเทลกลิ่นสไตล์ลิเคียวร์ (Liqueur) ผสมเครื่องเทศ (Spice) ที่วางอยู่บนเปียโน เคล้ากลิ่นควันซิการ์ คือภาพจินตนาการที่น้ำหอมกลิ่นหนังนี้พาเราย้อนกลับไปเพื่อสัมผัสประสบการณ์สุดคลาสสิก ผ่านโน้ตที่หลากหลาย เช่น เลมอน พริกไทยสีชมพู ดอกต้นส้มขมเนโรลี (Neroli) คลารี เสจ (Clary Sage) กลิ่นเหล้ารัมจาก Rum Absolute หญ้าแฝก (Vetiver) สไตแรกซ์ (Styrax) ใบยาสูบ (Tobacco Leaf) และวานิลลา ออกมาเป็นน้ำหอมผู้ชายในความเข้มข้นระดับ Eau de Toilette ผู้ปรุงคือเอลีนอร์ มาสเซเนต (Alienor Massenet)

Rose 31
Le Labo

     กรุ่นกลิ่นแปลงกุหลาบแห่งเมืองกราซ (Grasse Rose) ที่เป็นสัญลักษณ์ความยั่วยวนแบบผู้หญิง กลายเป็นกลิ่นของน้ำหอมยูนิเซ็กส์ที่แสดงถึงความแน่วแน่ แข็งแรง หรืออาจจะดื้อรั้น โดยมีการออกแบบกลิ่นกุหลาบผสานกลิ่นโทนไม้ (Woodsy) และเครื่องเทศ เช่น ยี่หร่า (Cumin) กำยาน (Olibanum) ไม้ซีดาร์ และอำพัน โดยมีไม้กวัยแอก (Guaiacwood) กับซิตรัสเป็นฐานเติมกลิ่นไม้ สัตว์/หนัง ให้กับน้ำหอมตัวนี้ จนกลายเป็นกลิ่นที่ดูลึกลับ ผู้ปรุงคือดาฟเน บูเจย์ (Daphne Bugey)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook