ถ่ายภาพยังไงให้คิดว่าแต่งภาพ คุยกับ ทวีพงษ์ ประทุมวงษ์ ช่างภาพสตรีทฝีมือระดับโลก

ถ่ายภาพยังไงให้คิดว่าแต่งภาพ คุยกับ ทวีพงษ์ ประทุมวงษ์ ช่างภาพสตรีทฝีมือระดับโลก

ถ่ายภาพยังไงให้คิดว่าแต่งภาพ คุยกับ ทวีพงษ์ ประทุมวงษ์ ช่างภาพสตรีทฝีมือระดับโลก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คุยหลังเลนส์กับ ทวีพงษ์ ประทุมวงษ์ ช่างภาพสตรีท เจ้าของรางวัลระดับนานาชาติมากมายอาทิ EyeEm Awards และ Street Shooting Around the World จนภาพถ่ายของเขาได้รับการจัดแสดงทั้งในเอเชีย อเมริกาเหนือ และยุโรป

ย้อนเวลากลับไป ความชอบด้านการถ่ายภาพเริ่มต้นตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมฯ เขาชอบภาพสารคดีในหนังสือ National Geographic มากๆ จนเมื่อจบการศึกษาปริญญาตรีด้านภาพยนตร์ จึงเริ่มถ่ายภาพแนวสารคดีเนื่องจากอยากมีผลงานตีพิมพ์ในนิตยสารเล่มโปรดสักครั้ง

แต่ด้วยความที่ก่อตั้งบริษัทของตัวเองจึงต้องโฟกัสกับงาน การถ่ายภาพจึงเริ่มน้อยลงและเกือบจะหันหลังให้กับการถ่ายภาพ จนปลายปี 2013 ภรรยาได้มอบของขวัญวันครบรอบแต่งงานเป็นตั๋วเครื่องบินไปเมืองพาราณสี ประเทศอินเดีย นั้นคือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เขาพบ "ความสุข" จากการถ่ายภาพอีกครั้ง

ทวีพงษ์ ประทุมวงษ์ทวีพงษ์ ประทุมวงษ์

แคมเปญ Glenfiddich Where Next Club คืออะไร คุณเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญนี้ได้อย่างไร

ผมมาในส่วนของช่างภาพ ในมาสเตอร์คลาสหัวข้อ Street Photography is My Passion ที่จะถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการถ่ายภาพสตรีทและการสร้างแรงบันดาลใจสำหรับผู้ที่หลงใหลด้านการถ่ายภาพ มาแนะนำในสิ่งที่เราทำมาในสิ่งที่เราประสบความสำเร็จในส่วนนี้ ทำสิ่งนี้มานานแล้วก็ทาง Glenfiddich ก็คงเห็นว่าคงจะเผยแพร่ความรู้ในส่วนที่เราถนัดได้

เพราะอะไรคุณถึงชอบการถ่ายภาพ แรงบันดาลใจในการถ่ายภาพของคุณคืออะไร

จริงๆ เราเคยคุยกับหลายๆ คน บางทีมันเกี่ยวกับว่าเราเติบโตมายังไง ตอนเด็กๆ ชอบดูการ์ตูนแบบไหน ชอบอ่านหนังสืออะไร มันส่งผลต่อการถ่ายภาพด้วยว่าเราจะถ่ายอะไรเหมือนกัน เราไปกับช่างภาพอีกคนไปเจอซีนเดียวกัน แต่เราถ่ายมาไม่เหมือนกันส่วนหนึ่งเพราะเราเติบโตมาคนละแบบ

เหตุการณ์ไหนที่ทำให้คุณหันมาจริงจังกับการถ่ายภาพ

น่าจะเกิดจากสมัยเรียนมัธยมฯที่โรงเรียนประจำ เราจะไม่ได้กลับบ้าน เสาร์-อาทิตย์ ต้องอยู่โรงเรียน แล้วมันจะมีกิจกรรมให้เลือก 2 อย่าง ตอนกลางวันให้ว่ายน้ำกับไปห้องสมุด สระของอัสสัมชัญ ศรีราชา นี่ใหญ่มากนะ สระมาตรฐาน แต่อยู่กลางแดด ก็เลยไปห้องสมุดดีกว่า ไปเจอหนังสือเล่มหนึ่ง National Geographic เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราสนใจ เรารู้สึกว่าภาพในหนังสือมันสวย ก็เลยเริ่มสนใจการถ่ายภาพตั้งแต่ตอนนั้น

ทำไมคุณถึงหลงใหลการถ่ายภาพสตรีท มากกว่าถ่ายภาพแนวอื่นๆ

เราว่าเราชอบแนวสารคดีตามหนังสือ National Geographic ตอนแรกที่เราถ่าย เข้าใจว่าที่เราถ่ายคือแนว "ไลฟ์" แต่ว่าไม่ได้เป็นเรื่องราวถึงขั้นเป็นสารคดีได้ ไปเจอคุณลุงคนหนึ่งข้างถนนเราเข้าไปถ่ายใกล้ๆ โดยที่อาจจะไม่ต้องมีเรื่องราว เป็นแค่ชีวิตเขาช่วงเวลานั้นจบ

หลังจากนั้นเราก็ถ่ายมาเรื่อยๆ เราก็เริ่มคิดว่ามันควรจะเป็นเรื่องราว เราก็เลยทำเป็นสารคดี มีการส่งภาพไปที่ National Geographic Thailand ทำให้เรารู้ว่ามันต้องใช้พลังงานเยอะมากในการถ่ายภาพสารคดี ก็เลยไม่ได้ทำต่อ มาทำในสิ่งที่เรียนมาคือพวกภาพยนตร์โฆษณาไปช่วงหนึ่งตอนที่มาทำออฟฟิศของตัวเอง

แล้วคุณกลับมาในวงการถ่ายภาพได้อย่างไร

ที่กลับมาได้เพราะภรรยาคงเห็นว่าเราบ้าอุปกรณ์มาก ตอนนั้นทำออฟฟิศตัวเองเริ่มมีตังค์ เริ่มมีตังค์ก็เริ่มซื้อเลนส์สะสม แต่ว่าไม่ได้มีเวลาไปถ่าย ซื้อเป็นล้านเลยนะ แฟนก็คงเห็นว่า บ้าแล้วมั้ง เพี้ยนแล้ว วันครบรอบแต่งงาน เมื่อปี 2013 เขาเลยส่งผมไปอินเดีย โดยที่เขาไม่ได้ไปด้วยนะ เป็นของขวัญวันครบรอบแต่งงานที่แปลกมาก "ซื้อตั๋วให้ จองที่พักให้เราไปถ่ายรูป 7 วัน ก็เลยเป็นจุดเปลี่ยนเหมือนกันที่ทำให้ได้กลับมาถ่ายรูป และเผอิญช่วงนั้นได้รู้จักกับกลุ่ม Street Photo Thailand กลับมาจังหวะนั้น"

ทวีพงษ์ ประทุมวงษ์ทวีพงษ์ ประทุมวงษ์

เรื่องราวความล้มเหลว 99 ครั้งที่คุณต้องเผชิญ ก่อนจะประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้

พอหลังจากทริปอินเดียจุดเปลี่ยนของชีวิตผมเลย คือ กิจกรรมของกลุ่ม Street Photo Thailand ที่ชื่อว่า 365 days in 2014 พี่แอดมินคนหนึ่งเหมือนกับเขาตั้งเกมมาเล่นๆ ว่าเรามาถ่ายภาพสตรีทกันทุกวันไหม เหมือนชาเลนจ์เล่นๆ แล้วก็เอารูปวันนั้นๆ มาลงในกลุ่มไม่ต้องเขียนอธิบายอะไรเลย ใส่วันที่ถ่ายซึ่งต้องเป็นวันเดียวกับวันที่ลง ใครเล่นทั้งปีก็จะชนะ ถ้าใครหยุดระหว่างทางก็ต้องออกจากเกมนี้

ชาเลนจ์นั้นมันเปลี่ยนชีวิตผมเลย "ผมได้รูปที่ได้รางวัลในปีนั้น 2 รางวัล เป็นรางวัลใหญ่ของวงการสตรีททั้งที่อเมริกาและที่เยอรมัน การที่กว่าจะได้รูปพวกนี้มันเหมือนกับอะไร เขาเรียกบําเพ็ญเพียรหรือเปล่า เราต้องออกไปถ่ายรูปทุกวัน มันยากเหมือนกัน เพราะช่วงแรกเราก็ยังไม่ค่อยเข้าใจว่าต้องทำอะไรยังไง คือ มันยากจริงๆ นะ"

มันจะเป็นเหมือนเรื่องความผิดหวังในตัวเอง ต้องจัดการกับความผิดหวังครั้งแล้วครั้งเล่า เราออกไปถ่ายรูปทุกวัน ออกไปพยายามออกไปหารูปดีๆ แต่ก็ไม่ได้ เหมือนกับเราจะค่อยๆ เก่งขึ้น พอถึงจุดหนึ่งเหมือนเราจะมีมาตรฐานของเราที่เราต้องทำให้ได้ มีคนเคยบอกว่า เราสามารถถ่ายรูปได้ทุกวันแต่เราไม่สามารถได้รูปดีๆ ได้ทุกวัน มันมีองค์ประกอบหลายอย่างมากที่จะได้รูปดีๆ

"ภาพสตรีทมันคือดวงครึ่งหนึ่งเลย ซึ่งเราก็ต้องบาลานซ์ความคาดหวังตัวเองกับสิ่งที่เราต้องออกไปหาทุกวัน ถ้าเราคิดมาก คิดเยอะ มันจะไม่ได้ เราต้องบาลานซ์ความต้องการกับความสนุกให้ได้"

ความหมายของ "ภาพแนวสตรีท" ในแบบของคุณคืออะไร

นิยามมันกว้างครับ แต่มีหลายท่านให้ทัศนะแล้วมันใช่ก็คือ มันจะประกอบไปด้วยองค์ประกอบ 3 อย่างก็คือ ภาพที่ถ่ายในที่สาธารณะ ที่สาธารณะไม่ได้หมายถึงแค่ถนน มันอาจจะเป็นชายหาด ห้างสรรพสินค้า สวนสาธารณะ ที่ไหนก็ได้ที่มีคนและเป็นที่พื้นที่สาธารณะ 2 ก็คือ ไม่ได้จัดฉาก ไม่ได้บอกคนนั้น คนนี้ ให้ทำแบบนั้นแบบนี้ เพียงแต่ถ่ายไปตามความเป็นไปของมัน ข้อ 3 ถ่ายอย่างมีความคิดสร้างสรรค์และรูปออกมาสามารถตีความบางอย่างได้ หรือแม้จะไม่ได้มีมุมอะไร แต่ภาพต้องผ่านกระบวนการคิดบางอย่าง พูดง่ายๆ คือไม่ใช่ยกกล้องมาแล้วถ่ายเฉยๆ

เทคนิคในการถ่ายภาพสไตล์ ทวีพงษ์ ประทุมวงษ์ คืออะไร

มันเรียกว่า "การจัดตำแหน่ง" มันแปลว่าเอาของสองสิ่งมาวางไว้ด้วยกัน มันเป็นเทคนิคที่ผมใช้บ่อย แต่เราไม่ได้ใช้โฟโต้ชอปนะครับ เราใช้วิธีจัดองค์ประกอบภาพในการเชื่อมของสองสิ่งให้เกิดสิ่งใหม่ อย่างเช่น ผมเชื่อมคนคนหนึ่งที่อยู่บนระเบียงตึกแห่งหนึ่งกับจาน-ถ้วยโดยใช้การเปลี่ยนมุมมอง การใช้เลนส์ภาพมันก็จะเหมือนกับเขาเป็นมนุษย์ตัวจิ๋ว หรือคนที่นั่งอยู่ข้างหลังต้นไม้เฉยๆ แต่กลายเป็นเหมือนเขามีหางมันก็เป็นเทคนิคที่ใช้ประจำ เรารู้สึกสนุกกับการมองสิ่งต่างๆ ใกล้ตัวที่เปลี่ยนไปจากเดิม

ภาพของคุณมีการเซ็ตไว้ล่วงหน้าก่อนถ่ายไหม

อันนี้จัดไม่ได้เลยนะ แค่คิดก็บาปแล้ว เสน่ห์ของภาพสตรีทมันคือการที่เราถ่ายมันอย่างเป็นธรรมชาติ โดยที่เราเปลี่ยนมุมมองของเรา เปลี่ยนระยะเลนส์ เปลี่ยนเทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพ หรือจังหวะการกดชัตเตอร์ให้ภาพมันดูแปลก เพราะฉะนั้นถ้าเราไปทำลายกฎ เรื่องนี้มันก็จะดราม่า แล้วถ้าคุณโดนจับได้ คุณอาจจะหมดอนาคตในวงการนี้ไปเลย

ถ้าคุณอยากจะถ่ายภาพโดยที่มีคอนเซ็ปต์บางอย่างอยู่แล้วหรือมีเรื่องราว อยากทำภาพเป็นงานซีรีส์โปรเจกต์คุณสามารถเซ็ตได้นะ พูดง่ายๆ คือการเช็ตติ้งมันไม่ได้ผิด แต่ถ้าคุณบอกทุกคนว่าคุณเป็นสตรีทโฟโตกราฟเฟอร์ แต่คุณไปเช็ตอันนั้นอ่ะผิด

ภาพคุณลุงล้ม ทุกคนถามว่าภาพนี้มันเกิดขึ้นได้อย่างไร มันเกิดจากการที่เขา เหมือนอยากจะโชว์ผม ผมถ่ายคนอื่นอยู่ ถ่ายเพื่อนแกเป็นแท็กซี่ แล้วอยู่ๆ แกก็พุ่งตัวเองมาปาดหน้าผม 1 รอบก่อน ผมก็อะไรวะ ถอยกลับมาดู แกก็ทำอีก ทำหลายรอบเลยนะ จนสุดท้ายแกไปทำอยู่ตรงหัวมุม ผมก็เห็นแล้วก็ตามไปถ่ายเรื่อยๆ

จนมารู้ตอนหลังว่า ถ่ายมาเป็นปียังมีคนไปเจอลุงทำแบบนี้อยู่เลย เขาก็ถ่ายคลิปมาลง ผมคิดว่าเขาน่าจะอวดว่าเขาเต้นท่าไมเคิล แจ็คสันได้ ผ่านมาปีกว่าผมจัดนิทรรศการภาพ คอนเซ็ปต์ คือ การพาผู้ชมไปอยู่ในบรรยากาศที่ผมได้รูป พาไปยังจุดนั้น มันจะมีรูปหนึ่งที่เป็นเป็ดกลับหัวอยู่ในสระน้ำ ผมก็ปั้นเป็ดเลยเอาไปแปะที่ผนังให้เหมือนเป็ดมันกลับหัว ที่นี่หลายๆ ชิ้นก็จะมีกิมมิค ผมก็เลยไปเชิญลุงมาในงาน ก็เลยได้รู้ว่าแกทำแบบนี้ทำไม แกทำเพราะโชว์ชาวต่างชาติ เวลานั่งแท็กซี่มาใต้โรบินสัน สุขุมวิท แกก็จะเอียงตัวอยู่แถวนั้น ก็สามารถไปดูคุณลุงได้

ในกระบวนการถ่ายภาพของคุณขั้นตอนไหนที่คิดว่ายากที่สุด

มันคือกระบวนการที่เราไม่รู้ว่าภาพไหน คือ ภาพที่ดีที่สุด เราก็เลยถ่ายมันไปเรื่อยๆ จนร่างกายมันไม่ไหวหรือซีนนั้นมันจะไม่เหลือแล้ว ผมเคยยกกล้อง มันจะเป็นซีนที่เป็นรูๆ เยอะๆ ก็ต้องการรอจังหวะให้คนเดินพอดี ผมก็ยกกล้องอยู่อย่างนั้น เป็นครึ่งชั่วโมงจนหลังมันไม่ไหวแล้ว ยอมแพ้แล้ว ส่วนที่ยากที่สุดคือเราไม่รู้ว่ารูปมันดีหรือยัง เราเลยพยายามถึงที่สุดแล้วค่อยมาเลือกรูปอีกที

อะไรคือเส้นกั้นระหว่างภาพแนวสตรีทและการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว

เอาจริงๆ มันเริ่มมีความดราม่าอยู่ช่วงหลังๆ ช่วงหนึ่ง หลายๆ คนไปถ่ายรูปสตรีทแบบว่าไปดูคุกคามเขาจริงๆ ถ้าไปดูช่างภาพสตรีททำงานกันจริงๆ เขาค่อนข้างละมุนละม่อมมากๆ  ปกติผมจะสอนคนที่มาเวิร์คช็อปนะว่า ถ้าเขาไปถ่ายใครให้คิดว่าเป็นตัวเองโดนถ่ายแบบนั้นจะรู้สึกยังไง

ผมรู้สึกว่าท่าทีที่เขาไปถ่ายมันก็สำคัญเหมือนกัน อย่างเช่น ถ้าเราจะถ่ายใคร ทำอะไรบางอย่างอยู่ เราไม่จำเป็นต้องเอากล้องไปจ่อเขา เราอาจจะถ่ายภาพกว้างๆ เราแค่มีเขาเป็นหนึ่งในองค์ประกอบภาพแบบนี้จะโอเค มันต้องคิดเสมอว่าเขาจะน่าเกลียดไหม เราต้องเห็นความงามในรูปนั้น และอธิบายได้ สมมุติเขาถามเรา ถ่ายไปทำไม รูปมันเป็นอย่างไรหรอ เราต้องอธิบายได้ เช่น ผมชอบสิ่งนี้ในรูปครับ เผอิญมีพี่อยู่แล้วมันดีมากเลย ผมทำงานแบบนี้อยู่เปิดให้เขาดู

ผมเคยถ่ายที่ต่างประเทศนั้นซึ่งค่อนข้างซีเรียสเรื่องนี้มาก เขากำลังสูบบุหรี่อยู่หน้าอิสตันบูล เพื่อนเขามารู้ที่หลังว่าผมถ่ายรูปนี้ เขาเจอรูปนี้ในโซเชียล แล้วเขาก็แท็กคนนั้นมา กลับกลายเป็นว่าเขาชอบรูปนั้นมาก ผมว่าถ้าเราดูแล้วว่าสร้างเป็นงานศิลปะที่ดีได้คนจะเข้าใจ

ทวีพงษ์ ประทุมวงษ์ทวีพงษ์ ประทุมวงษ์

ช่างภาพแนวสตรีทสร้างรายได้จากช่องทางไหน

จริงๆ ผมไม่อยากเรียกมันว่าเป็นอาชีพเลย ให้เป็นงานอดิเรกมากกว่า แต่หลายๆ ครั้งมันเกิดเป็นเม็ดเงินเหมือนกัน ถ้าสมมุติคุณถ่ายดีๆ คุณสามารถรวมเล่มขายได้เลย สามารถเปิดเวิร์กช้อปให้คนเข้ามาเรียนได้ ในไทยขายรูปเป็นใบๆ อาจจะไม่ได้ง่ายเหมือนต่างประเทศ ผมว่าเป็นโฟโตบุ๊คมันเป็นน้ำเป็นเนื้อมากกว่า ถ้างานคุณเป็นเอกลักษณ์จริงๆ มันก็อาจจะต่อยอดไปทางอื่นๆ ได้ เช่น ไปคอลแลปส์กับแบรนด์ หรือมีแบรนด์สนใจทำงานด้วย

เวลารับงานลูกค้า การมีโจทย์เป็นข้อจำกัดของคุณอย่างไรบ้าง และทำอย่างไรให้ได้งานตามลูกค้าต้องการ ในขณะที่เราแฮปปี้กับการถ่ายภาพของเราเหมือนเดิม

ตอนทำงานแรกๆ กับแบรนด์ผมค่อนข้างเป็นเด็กดื้อคนหนึ่ง อะไรดูแล้วมันไม่สตรีทผมไม่ทำเลย ผมไม่รับเลย ถ้าเขาบอกอันนี้ต้องมีนางแบบ นายแบบ มีสินค้าอยู่ในนั้นเต็มๆ เป็นการจัดฉากผมก็จะไม่รับเลย ซึ่งหลังๆ ผมจะปรับเราจะบอกลูกค้าเลยว่าถ้างานชิ้นนี้มันไม่ใช่งานสตรีท ผมจะบอกกับทุกคนว่าอันนั้นงานคอนเซ็ปต์นะ ก็มีงานหลายๆ งานที่ผมบอกตั้งแต่ต้นเลยว่างานนี้ตัดต่อ โฟโต้ช้อปด้วยนะ บอกทุกคนเลย แต่มันเป็นงานชิ้นหนึ่งที่ทำกับแบรนด์นี้ก็บอกตรงๆ ไป  ถ้าเราเปิดใจก็ทำอย่างอื่นได้เหมือนกัน

คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่าต้องคอยรีเฟรชตัวเองให้เป็นเด็ก เพื่อให้ได้ภาพถ่ายออกมา วิธีรีเฟรชตัวเองของคุณคืออะไร

เดินถ่ายรูปหรือมีไอเดียเราต้องพยายามสงสัย "เอ๊ะ" ตลอด เช่น เราไปเจอเหตุการณ์หนึ่งที่ถนน ถ้าเราไม่รู้จักสังเกตมัน เราจะไม่สนใจซีนนั้น และเราจะไม่ไปค้นหามันว่าในซีนนั้นมีอะไรให้เราถ่ายได้ ผมรู้สึกว่าวิธีนี้มันเวิร์คกับการทำงานต่างๆ  เราต้องพยายามตื่นเต้นกับมัน ก็จะมีจุดที่พลิกมันมาเป็นงานได้

ทุกวันนี้คุณยังถ่ายภาพทุกวันไหม ถ้าวันไหนคุณไม่ได้ถ่ายภาพคุณทำอะไร

พยายามจะเป็นมนุษย์ที่ถ่ายภาพทุกวัน แต่มันก็จะไม่เข้มข้นมากเท่าปีแรกๆ ปีที่ร่วมกิจกรรมถ่ายทุกวัน คือ เหมือนกับเราต้องลงรูปทุกวันเราจะผลักดันตัวเอง แล้วถ้าเราพยายามแบบนั้นติดต่อกัน 4-5 ปีได้ไหม ซึ่งอาจจะป่วยตายไปเลยก็ได้เพราะมันเครียดมาก ก็เลยปรับ เราก็มีวันที่เอาจริงเอาจัง วันที่เราสบายๆ เหมือนกับมันเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต เราไปซื้อกาแฟ ผมติดกล้องตลอด เจอซีนที่น่าสนใจก็ถ่าย

มุมมองการถ่ายภาพยุคก่อนของคุณกับสมัยนี้แตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร

เรารู้สึกว่ามันควรจะเป็นภาพที่เราถ่ายออกแล้วมันควรมีเรื่องราวมากกว่าแค่ถ่ายมาเฉยๆ เมื่อก่อนเราถ่ายคุณยายนั่งกับแมวจบ แต่ตอนนี้เหมือนกับว่าคุณยายอาจจะต้องมีเรื่องราวสัมพันธ์กับแมว ให้คนตั้งคำถามในรูปว่ามันเกิดเรื่องราวแบบนี้ขึ้นได้อย่างไร ซึ่งถ้าเป็นเมื่อก่อน คุณลุงขี่จักรยานเป็นคำบอกเล่าสั้นๆ ง่ายๆ แต่รูปหลังๆ มันจะมีความซับซ้อนขึ้นทำให้เกิดคำถามมากกว่า

ทวีพงษ์ ประทุมวงษ์ทวีพงษ์ ประทุมวงษ์

เป้าหมายของคุณคืออะไร ในเมื่อรางวัลหรือชื่อเสียงคุณได้มันมาหมดแล้ว

เรารู้สึกว่าเราอยากทำงานที่เป็นซีรีส์โปรเจคให้มากกว่านี้ ที่ผ่านมาตลอดมันคือภาพเดียว 1 คลิก 1 เรื่องราว เราเลยรู้สึกว่าเราอาจทำงานที่เป็นเรื่องราวที่เราอยากจะเล่าจริงๆ ภาพถ่ายสตรีทความคลาสสิกคือเราออกไปถ่ายภาพโดยที่เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเราจะเล่าเรื่องอะไร

เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่ารูปที่ได้จะเป็นยังไง แต่รูปที่เราได้มันจะบอกเล่าเรื่องราวของมัน ถ้าเป็นงานซีรีส์มันจะเป็นงานที่เราอัดอั้นตันใจว่าไอ้สิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่ไม่เวิร์คเลยในสังคมนี้ แล้วเราก็แปลงมันออกมา ซึ่งมันก็จะไม่ใช่งานสตรีทซะทีเดียว มันจะเป็นงานคอนเซ็ปต์ จัดฉากเต็มที่เลย แต่เราจะบอกว่าอันนี้เราคิดแบบนี้นะ นายคิดอย่างไร งานแบบนี้อยากจะทำมากขึ้น

การถ่ายภาพสตรีทในประเทศไทย มีข้อจำกัดหรือแตกต่างกับต่างประเทศอย่างไร

ประเทศไทยได้เปรียบกว่าประเทศอื่นๆ ช่างภาพสตรีทหลายๆ คน อย่างชาวยุโรปหรืออเมริกา เขาจะชอบประเทศเรามาก ข้อจำกัดมันแทบจะไม่มีเลยหรือน้อยมาก อย่างต่างประเทศถ่ายเด็กไม่ได้ อันตรายมาก เขาฟ้องคุณ แจ้งตำรวจมาจับคุณเลย แต่ผมว่าหลังๆ ผู้ปกครองหลายท่านก็ให้ความสำคัญ เราต้องเคลียร์ตัวเองให้ได้ว่าเราไม่ใช่โรคจิตมาถ่ายลูกเขา เรามาทำงานศิลปะ และก็มีเรื่องทั่วไปศาสนาและอื่นๆ

อยากถ่ายภาพแนวสตรีทให้สวยควรเริ่มต้นจากตรงไหนดี

อย่างแรกที่ต้องฝึกเลย คือ การถ่ายคนใกล้ๆ เราต้องมีความกล้าในการถ่ายคนก่อน พอผ่านสเต็ปแรกในการกล้าถ่ายคนแล้ว มันจะเปิดโอกาสให้เราหาอะไรมาเชื่อมภาพ คนเหมือนวัตถุดิบหลัก แต่สิ่งรอบๆ ตัวเป็นเหมือนเครื่องชูรสที่ทำให้ภาพมีเรื่องราว บิดมุมกล้องเชื่อมต่อเขากับสิ่งรอบๆ ตัวเขา ทั้งหมดต้องผ่านกระบวนการแรกคือ "ความกล้า"

ความสนุกของการถ่ายภาพแนวสตรีทอยู่ตรงไหน

ถ้าช่างภาพแนวแลนด์สเคปคุณจะรู้แล้วว่าคุณจะไปถ่ายภูเขาลูกนี้ ไอซ์แลนด์ คุณต้องการแสงเหนือ หรือสถาปัตยกรรมคุณรู้ว่าตึกนี้สวย คุณถ่ายภาพพอตเทรตคุณก็ต้องหาแล้วว่าถ่ายคนนี้ยังไงให้สวย แต่ว่าการถ่ายภาพสตรีท เป็นการถ่ายรูปที่คุณไม่รู้ว่าคุณจะได้รูปอะไร ซึ่งสิ่งนี้คือ "ความสนุก" ว่าคุณจะได้ผลผลิตบางอย่างจากสิ่งรอบตัวคุณในโมเมนต์นั้นได้อย่างไร

องค์ประกอบที่ดีของภาพแนวสตรีทคืออะไร

มันอาจจะไม่ได้เป็นแค่เรื่ององค์ประกอบภาพ แต่มันควรจะเป็น "แนวคิด" หรือ "ไอเดีย" บางอย่างที่มันใหม่ ที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน อย่างจังหวะ วิธีจัดองค์ประกอบภาพที่เล่าเรื่องที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน มันจะใหม่มากๆ มุมต่างๆ เราสามารถลอกเลียนกันได้ด้วยฝึกฝน แต่คุณจะเป็นออริจินอลได้ก็ต่อเมื่อคุณสร้างสิ่งที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน “มีช่างภาพคนหนึ่งที่เป็นไอดอลผมเคยบอกว่า การถ่ายภาพทุกอย่างมันคือศิลปะของการสังเกต คุณเห็นสิ่งนี้อย่างไรแล้วคุณถ่ายทอดมายังไงมุมมองจึงสำคัญที่สุด"

สุดท้ายสำหรับคนที่ชอบถ่ายภาพแนวสตรีทและอยากเริ่มต้นในวงการนี้ คุณทวีพงษ์ แนะนำว่า ให้หาตัวเองก่อนว่าคุณชอบงานแบบไหน เพราะงานสตรีทมันก็มีหลายแบบมาก ติดตามผลงานช่างภาพที่ชอบเพื่อศึกษารายละเอียดต่างๆ จากนั้นออกไปถ่ายภาพ กลับมาวิเคราะห์ด้วยตัวเองว่ารูปนั้นดีไม่ดีอย่างไร แก้ไขอย่างไร จากนั้นก็ทำมันซ้ำๆ "ไม่มีทางลัด"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook