พยาธิสตรองจิลอยด์ อันตรายแค่ไหน ?

พยาธิสตรองจิลอยด์ อันตรายแค่ไหน ?

พยาธิสตรองจิลอยด์ อันตรายแค่ไหน ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ท่ามกลางความเสียใจต่อการจากไปของ "โค้ชแต๊ก" อรรถพล ปุษปาคม กุนซือมากฝีมือของวงการลูกหนังไทย ยังมีกระแสสังคมที่ตามมาเกี่ยวกับ "พยาธิสตรองจิลอยด์" อันเป็นต้นเหตุก่อให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งคร่าชีวิต "โค้ชแต๊ก"

ความหวั่นใจจึงถูกมุ่งตรงไปที่ "พยาธิสตรองจิลอยด์" ว่าเป็นวายร้ายที่น่าหวาดกลัว เพื่อไม่ให้เกิดการตื่นตูม "ดีไลฟ์" จึงสอบถามไปยัง ผศ.น.พ.ดร วัฒนกุลพานิชย์ อาจารย์ประจำภาควิชาปรสิต หนอนพยาธิ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล เกี่ยวกับพยาธิร้ายตัวนี้

โดย ผศ.น.พ.ดรได้เปิดเผยว่า "พยาธิสตรองจิลอยด์" ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวขนาดที่สังคมกำลังตระหนก และการพบพยาธิตัวนี้ก็มีมานานแล้ว มิใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด "พยาธิสตรองจิลอยด์" เป็นพยาธิตัวกลมกลุ่มเดียวกับพยาธิไส้เดือน พยาธิแส้ม้า พยาธิปากขอ และพยาธิท็อกโซคาร่า ที่มักพบในสัตว์เลี้ยง แต่สำหรับ "พยาธิสตรองจิลอยด์" จะมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากพยาธิชนิดอื่น คือสามารถอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมได้ สามารถติดต่อผ่านทางดินโดยการไชเข้าผิวหนัง หรือรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนพยาธิในระยะติดต่อ

ประเด็นสำคัญอยู่ที่การเจริญเติบโตของ "พยาธิสตรองจิลอยด์" ในร่างกายมนุษย์ จะสอดคล้องกับระบบภูมิคุ้มกัน กลุ่มคนที่ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ จึงอยู่ในกลุ่มผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ อาทิ คนท้อง เด็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่รับประทานยากดภูมิคุ้มกัน ฯลฯ เพราะจะทำให้พยาธิเจริญเติบโตได้ดี รวมถึงขยายพันธุ์ในร่างกายได้เร็วขึ้น ซึ่งนั่นจึงเป็นสาเหตุก่อให้เกิดความรุนแรงได้

วิธีการสังเกตว่าร่างกายได้รับ "พยาธิสตรองจิลอยด์" คือมีอาการคัน หรือเป็นผื่นแพ้ บริเวณที่สันนิษฐานว่าพยาธิไชสู่ร่างกาย มีอาการท้องเสีย เมื่อได้รับยาต้านแบคทีเรียแล้วไม่ดีขึ้น ควรสังเกตและตรวจพยาธิเพิ่มอีกระดับ เพื่อได้รับการรักษาที่ถูกต้อง

สำหรับการป้องกัน "พยาธิสตรองจิลอยด์" คือควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสดินโดยตรง รักษาความสะอาดของมือและเท้า ตรวจสุขภาพประจำปี โดยเพิ่มการตรวจอุจจาระร่วมด้วยอีกหนึ่งโปรแกรม

ทั้งนี้ ผศ.น.พ.ดรยังกำชับว่า ไม่ควรตระหนกด้วยการรับประทานยาถ่ายพยาธิ เพราะนอกจากจะเสี่ยงไม่ตรงกับชนิดของพยาธิแล้ว ยังมีทำให้ดื้อยาอีกด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook