"ขริบ" หรือ "ไม่ขริบ" ดีน้า?

"ขริบ" หรือ "ไม่ขริบ" ดีน้า?

"ขริบ" หรือ "ไม่ขริบ" ดีน้า?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คอลัมน์ คุยกับหมอพิณ

พ.ญ.พิณนภางค์ ศรีพหล

email:doctorpin111@gmail.com

สวัสดีค่ะ วันนี้เราจะมาคุยกันเรื่องเด็กผู้ชาย หรือคุณผู้ชาย เกี่ยวกับการ "ขริบไม่ขริบ" กันนะคะ

ขริบที่ว่า คือ การตัดเอาผิวหนังที่หุ้มส่วนปลายขององคชาต (Gland Penis) ออกนะคะ

การขริบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย เป็นสิ่งที่ทำกันแพร่หลายทั่วโลก

ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเชื่อในแต่ละชาติพันธุ์ กับความเชื่อทางศาสนา ว่าจะขริบหรือไม่ขริบดีอีกด้วย

ปัจจุบัน ในสหรัฐอเมริกา ทารกชายแรกเกิด ส่วนใหญ่จะโดนคุณพ่อคุณแม่ ส่งให้หมอขริบกันตั้งแต่อายุได้ 1-2 วัน ก่อนคุณแม่จะกลับบ้าน โดยการขริบในทารกแรกเกิด ใช้เวลาเพียง 5 นาทีก็เสร็จ (ขริบตัด ขริบตัด)

ซึ่งการทำตั้งแต่แรกเกิด (1-2 วันแรกหลังเกิด) แผลจะหายเร็วกว่า ภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่า และทำง่ายกว่า การทำในเด็กโต หรือทำตอนเป็นผู้ใหญ่แล้ว (และทำตอนแรกเกิด อาจจะลืมได้ง่ายกว่าด้วยใช่ไหมคะ ความเห็นส่วนตัว)

ข้อดีของการขริบ หลัก ๆ คือเรื่องสุขอนามัยค่ะ เพราะในคนที่ไม่ได้ขริบ ส่วนปลายขององคชาตจะมีการสะสมของคราบขาว ลักษณะเป็นมูกหรือเมือก ที่บ้านเราเรียกว่า "ขี้เปียก" (Smegma) ซึ่งเป็นส่วนผสมของเซลล์ที่ตายแล้ว (ขี้ไคล) นั่นเอง ซึ่งหากทำความสะอาดไม่ดี อาจทำให้มีกลิ่นเหม็น และมีการติดเชื้อตามมาได้

ดังนั้น คนที่ยังไม่ขริบควรดูแลและล้างทำความสะอาดบริเวณปลายองคชาตระหว่างอาบน้ำทุกวันนะคะ

ข้อดีของการขริบทำให้ลดโอกาสการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะได้ ลดโอกาสการเกิดมะเร็งที่องคชาต(แต่โอกาสการเกิดมะเร็งที่องคชาตก็ยากมาก ๆ เลยนะคะ)

บางวิจัยกล่าวว่า การขริบ สามารถลดการรับเชื้อเอดส์จากคู่นอนเพศหญิงมายังเพศชายได้ด้วย และลดโอกาสการแพร่กระจายเชื้อเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จากเพศชายสู่ผู้อื่นอีกด้วย

แต่ข้อมูลและประโยชน์ทางสุขภาพของการขริบก็ยังไม่มากพอที่จะทำให้เกิดคำแนะนำให้ขริบเด็กชายทุกคนบนโลกใบนี้นะคะ ภาวะแทรกซ้อนที่สามารถเกิดขึ้นได้จากการขริบก็ได้แก่ เลือดออก ติดเชื้อ หรือเป็นแผลเป็น

ในผู้ใหญ่จะขลิบกันต่อเมื่อเกิดภาวะที่หนังหุ้มปลายอวัยวะเพศไม่เปิด คือ ไม่สามารถดึงลงมาได้ ทำให้มีอาการเจ็บขณะอวัยวะเพศแข็งตัวได้ค่ะ

บางรายงานกล่าวว่า การขริบ ทำให้ความไวต่อความรู้สึกทางเพศลดลง บางคนว่าทำให้สามารถหลั่งได้ช้าลง แต่ แต่ แต่อย่าเข้าใจผิดนะคะ การขริบไม่ได้เป็นการรักษาภาวะการหลั่งเร็วค่ะ เพราะบางรายงานก็กล่าวว่า การขริบไม่ขริบ ไม่มีผลต่อเรื่องบนเตียงเช่นกันค่ะ

ดังนั้นการขริบ ผลประโยชน์ที่ชัดเจนจะเป็นเรื่องของความสะอาดเสียมากกว่า เรื่องอื่นยังไม่ยืนยันกันนะคะ

สุดท้ายนี้ จะขริบหรือไม่ขริบ ก็อย่าลืมดูแลความสะอาดของน้อง ๆ กันด้วยนะคะ สวัสดีค่ะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook