สังเกตปัสสาวะกันหน่อย! หากสะดุดอาจเป็นจุดเริ่มต้นของโรคต่อมลูกหมาก

สังเกตปัสสาวะกันหน่อย! หากสะดุดอาจเป็นจุดเริ่มต้นของโรคต่อมลูกหมาก

สังเกตปัสสาวะกันหน่อย! หากสะดุดอาจเป็นจุดเริ่มต้นของโรคต่อมลูกหมาก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อายุที่มากขึ้นมักส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ไม่ใช่แค่ในผู้หญิงเท่านั้น แต่ผู้ชายเองก็มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนตามวัยเช่นกัน จนส่งผลต่ออารมณ์ จิตใจและสุขภาพ โดยเฉพาะความผิดปกติของต่อมลูกหมาก (Prostate Gland) ซึ่งเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญต่อระบบสืบพันธุ์และระบบปัสสาวะของเพศชาย อยู่บริเวณด้านล่างระหว่างกระเพาะปัสสาวะกับลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ทำหน้าที่ผลิตน้ำเมือกและน้ำหล่อเลี้ยงอสุจิ โดยโรคต่อมลูกหมากที่พบได้บ่อยของชายไทย คือ

1. ต่อมลูกหมากโต (Benign Prostate Hyperplasia) คือ ภาวะที่ต่อมลูกหมากมีขนาดใหญ่ผิดปกติจนไปบีบท่อปัสสาวะให้แคบลง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปัสสาวะขัด ปัสสาวะไม่สุด กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรือปัสสาวะไม่ออกเฉียบพลัน หากปล่อยไว้ไม่รีบรักษาอาจทำให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ต่อมลูกหมากบวมจนปัสสาวะเป็นเลือด หรือร้ายแรงถึงขั้นไตเสื่อมและไตวายได้ เป็นโรคที่พบในผู้ชายที่อายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป และพบมากถึง 80% ในผู้ชายที่อายุมากกว่า 80 ปี

2. มะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate Cancer) เกิดจากความผิดปกติและการกลายพันธุ์ของเซลล์ในต่อมลูกหมาก จนก่อให้เกิดเนื้องอกและลุกลามไปยังเนื้อเยื่อรอบข้าง ส่วนใหญ่พบในผู้ชายที่อายุ 50 ปีขึ้นไป และยิ่งอายุมากก็ยิ่งมีความเสี่ยงในการเป็นโรคนี้มากขึ้น มะเร็งต่อมลูกหมากมักจะไม่แสดงอาการในระยะแรกจนกว่าเนื้องอกจะมีขนาดใหญ่ขึ้นหรือมะเร็งลุกลามไปกดทับท่อปัสสาวะ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปัสสาวะยาก ปัสสาวะขัด ปัสสาวะไม่สุดและปัสสาวะบ่อย รวมทั้งยังก่อให้เกิดอาการข้างเคียงอื่น ๆ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก น้ำหนักลด ขาอ่อนแรง เจ็บเชิงกรานหรือหลังส่วนล่าง หากเป็นในระยะรุนแรงเซลล์มะเร็งอาจลุกลามไปยังกระเพาะปัสสาวะ ต่อมน้ำเหลือง กระดูก ปอด หรือส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย

แม้โรคต่อมลูกหมากโตและมะเร็งต่อมลูกหมากจะมีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนและความผิดปกติของเซลล์ในร่างกาย แต่การดูแลตัวเองให้ดีตั้งแต่อายุยังน้อยก็เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเกี่ยวกับต่อมลูกหมากได้ ไม่ว่าจะเป็นการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานและเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเน้นผัก ผลไม้ รวมถึงธัญพืชที่อุดมไปด้วยวิตามินและสารอาหารที่เหมาะกับเพศชาย เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือด เสริมสร้างฮอร์โมนเพศชายตามธรรมชาติและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายให้แข็งแรง

งานนี้ไม่ใช่เพียงแค่ผู้หญิงที่ต้องดูแลสุขภาพ ผู้ชาย 2021 ก็ต้องให้ความสนใจสุขภาพเช่นกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook