5 ข้อผิดพลาด “เรซูเม่” แบบไหนที่เขา “คัดทิ้ง” ไม่พิจารณา

5 ข้อผิดพลาด “เรซูเม่” แบบไหนที่เขา “คัดทิ้ง” ไม่พิจารณา

5 ข้อผิดพลาด “เรซูเม่” แบบไหนที่เขา “คัดทิ้ง” ไม่พิจารณา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เรซูเม่ (Resume) คือ ประวัติย่อของผู้สมัครงาน เป็นเครื่องมือที่เราใช้นำเสนอตัวเองให้กับคนที่มีอำนาจเลือกเราเข้าทำงาน โดยเรซูเม่นั้นจะเป็นด่านแรกที่จะทำให้ฝ่ายบุคคลรู้จักเรา ซึ่งถ้าเรซูเม่เราน่าสนใจ เขาก็จะเลือกเราให้เข้าสู่ด่านต่อไป อันที่จริง การทำเรซูเม่ไม่ใช่เรื่องยาก แต่สิ่งที่ยากคือ การทำออกมาให้ถูกหลักและมีคุณภาพต่างหาก

เพราะฉะนั้น การมี “เรซูเม่” ที่โดดเด่น ถูกหลักการ มีคุณภาพ เป็นเรื่องจำเป็นหากต้องการจะได้งานทำ ความโดดเด่นที่ว่าไม่ได้หมายความต้องมีสีสันฉูดฉาด ตกแต่งสวยงามเกินหน้ากระดาษแผ่นอื่น แต่เป็นความโดดเด่นของประวัติ ความเป็นมืออาชีพ ความน่าเชื่อถือ ชนิดที่เพียงแค่เห็นผ่านตาก็ดึงดูดให้อยากจะหยิบมาพิจารณา

การเขียนเรซูเม่เพื่อสมัครงาน จึงเป็นทักษะที่ทุก ๆ คนควรมี เพราะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยหางาน อย่างไรก็ดี มีข้อผิดพลาดบางประการที่หลายคนอาจไม่เคยรู้ ซึ่งนั่นอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาไม่แม้แต่จะเลือกหยิบประวัติเราขึ้นมาพิจารณา แบบนี้แล้ว เราควรระวังและกลับไปปรับปรุงเรซูเม่ของตัวเองอย่างไรบ้าง

1. เน้นสวยงามอลังการมากเกินไป
วัตถุประสงค์ของการเขียนเรซูเม่นั้นเป็นเอกสารที่ใช้สำหรับยื่นของานทำ เขาสนใจประวัติที่อยู่ในแผ่นกระดาษมากกว่าความสวยงามอลังการ หากเป็นตำแหน่งงานทั่ว ๆ ไป ที่ไม่ได้ต้องการความครีเอท ให้เน้นรูปแบบที่ดูเรียบง่าย สุภาพ จัดหน้าให้อ่านง่ายสะอาดตา ใส่ใจเรื่องการจัดวางข้อความ ใช้ฟอนต์ที่เป็นทางการ และขนาดตัวหนังสือไม่เล็กหรือใหญ่จนเกินไป แต่ถ้าเป็นสายงานด้านศิลปะ ก็อาจจะทำให้ดูมีลูกเล่นที่แสดงถึงความคิดสร้างสรรค์มากขึ้้น แต่ต้องไม่รก หรือสีสันฉูดฉาด ใช้หลักน้อย ๆ แต่มากก็พอ

2. ใช้อีเมลไม่เป็นทางการ
สำหรับการสมัครงาน อะไรที่ดูแล้วไม่เป็นทางการ มันก็แสดงถึงความไม่เป็นมืออาชีพ ความไม่จริงจัง ไม่น่าเชื่อถือ เพราะฉะนั้น การใช้อีเมลสมัยเรียนที่เป็นชื่อเล่นแล้วตามด้วยภาษาวัยรุ่น ฉายา ตัวหนังสือที่พิมพ์ลวก ๆ ไม่มีความหมาย หรือคำหยาบคาย เอาไว้ใช้สมัครใช้งานเว็บไซต์ สมัครเข้าใช้โซเชียลมีเดีย หรือเอาไว้ใช้ติดต่อกับเพื่อนฝูงเท่านั้นก็พอ อย่านำมาใส่ในเอกสารที่ใช้ยื่นสมัครงานเด็ดขาด ชื่ออีเมลที่เหมาะสมที่สุดคือ ชื่อจริง นามสกุลจริงของตัวเอง สามารถศึกษาวิธีการตั้งชื่ออีเมลที่เหมาะสมได้จาก Google เลย

3. ใช้รูปภาพไม่เหมาะสม
การส่งเรซูเม่ไปสมัครงาน เราต้องให้เกียรติกับบริษัทที่กำลังจะสมัครงานด้วย และที่สำคัญ คือให้เกียรติตัวเอง ทำให้ตัวเองดูเป็นมืออาชีพและน่าเชื่อถือ การสมัครไม่ควรอย่างยิ่งที่จะใช้รูปภาพเซลฟี่ ภาพที่แต่งกายไม่เป็นทางการ หรือรูปที่ใช้ตั้งเป็นโปรไฟล์โซเชียลมีเดีย แต่ควรใช้ภาพที่แต่งกายสุภาพเป็นทางการ หน้าตรง ซึ่งสมัยนี้เราไม่จำเป็นต้องเช่าชุดสูทไปถ่ายรูปสมัครงาน ร้านเขาตัดต่อให้ได้ มีสูทให้เลือกหลายแบบเลย การที่เราใช้ภาพไม่เป็นทางการ นั้นแสดงให้เห็นถึงภาพลักษณ์ที่ไม่ค่อยจะดีเท่าไรนัก เขาอาจปัดตกทันที เพราะดูแล้วไม่น่าจ้างมาร่วมงานด้วยเลย

4. สั้นกุด-ยาวเกินไป
สิ่งหนึ่งที่ควรระวังเวลาจะส่งประวัติย่อ นั่นคือความยาว เรซูเม่คือ “ประวัติย่อ” ไม่ใช่ “บทความ” ต่อให้เกียรติประวัติจะยาวเป็นหางว่าวแค่ไหนก็ไม่ควรจะเกิน 1 แผ่นกระดาษ A4 (หน้า-หลัง) คัดเฉพาะประวัติเด่น ๆ ที่เข้ากับสายงานที่สมัคร และควรเขียนเป็นข้อ ๆ มากกว่าการเขียนบรรยาย จะอ่านได้ง่ายกว่า เพราะเจ้าหน้าที่เขาไม่ได้มีเวลามานั่งอ่านประวัติของคนสมัครงานจนครบ ถ้าเขียนยาวเกินไป เขาอาจจะไม่อยากอ่านก็ได้ แต่ถ้าสั้นกุดจนเกินไป ความยาวแค่ครึ่งหนึ่งหรือยังไม่เต็ม 1 ด้าน A4 ก็กระไรอยู่ ดูไม่มีอะไรที่โดดเด่นจะจ้างมาทำงาน

5. มีแต่กราฟิกเต็มไปหมด
เด็กสมัยนี้ควรจะระวังมากถึงมากที่สุด คือการใส่ทักษะความสามารถของตนเองในรูปแบบกราฟิก เช่น แผนภูมิหรือหลอดพลังงาน สำหรับเราอาจมองว่าสวย ทันสมัย ไม่จืดชืด และโดดเด่น แต่สำหรับเจ้าหน้าที่ที่พิจารณาเรซูเม่เขาไม่ปลื้ม สิ่งที่เขาอยากรู้คือถนัดระดับไหน เชี่ยวชาญก็บอกเชี่ยวชาญ พอใช้ก็บอกพอใช้ ไม่ต้องมานั่งวัดระดับสเกลเอง แต่ละคนประเมินไม่เท่ากัน และที่สำคัญ ไม่ดึงความสนใจไปที่ข้อด้อยของเรามากเกินไปด้วย เพราะจะเห็นชัดมากเมื่อความเต็มของหลอดต่างกัน เรซูเม่ไม่ต้องเน้นความสวยงาม ให้เน้นประวัติที่ดี เป็นทางการ และสุภาพสะอาดตา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook