"ดร.กฤษฎา จ่างใจมนต์" เผยเคล็ดลับ "เนเจอร์กิฟ" ขึ้นแท่นอันดับ 1 กาแฟลดความอ้วน

"ดร.กฤษฎา จ่างใจมนต์" เผยเคล็ดลับ "เนเจอร์กิฟ" ขึ้นแท่นอันดับ 1 กาแฟลดความอ้วน

"ดร.กฤษฎา จ่างใจมนต์" เผยเคล็ดลับ "เนเจอร์กิฟ" ขึ้นแท่นอันดับ 1 กาแฟลดความอ้วน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"ดร.กฤษฎา จ่างใจมนต์" เผยเคล็ดลับ "เนเจอร์กิฟ" ขึ้นแท่นอันดับ 1 กาแฟลดความอ้วน

"จดหมายจากผู้ที่ดื่มกาแฟลดความอ้วนเนเจอร์กิฟ เขียนขอบคุณที่ทำให้น้ำหนักลดลง สุขภาพดีขึ้น และเขานำไปลงเป็นเนื้อหาโฆษณา ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เนเจอร์กิฟ กลายเป็นที่รู้จักแบบก้าวกระโดด"

"พอเริ่มโตก็โตปีละ 100 เปอร์เซ็นต์ 200 เปอร์เซ็นต์ และ 500 เปอร์เซ็นต์"

ตื่นเต้นทุกครั้งที่ได้ยินเสียงโฆษณาอาหารเสริมประเภทหนึ่งทางหน้าสื่ออิเล็กทรอนิกส์อย่างโทรทัศน์ หรือ วิทยุ เพราะน้ำเสียงที่สื่อออกมากระตุ้นให้เกิดข้อสงสัยในเนื้อหาโฆษณาชิ้นนั้น ยิ่งตัวละครนำในโฆษณามีรูปร่างสะดุดตา ยิ่งอยากได้ใคร่รู้มากขึ้น และมาเข้าใจในช่วงสุดท้ายว่าเป็นอาหารเสริมลดน้ำหนัก ประเภทกาแฟ ที่ขึ้นแท่นขายดีเป็นอันดับหนึ่ง

"เนเจอร์กิฟ" เป็นแบรนด์โฆษณาที่ผลิตออกมาหลายชิ้นและสร้างความตื่นเต้นให้น่าสนใจในเนื้อหาทุกชิ้น

ท้ายที่สุด ความเข้าใจว่าอาหารเสริมเนเจอร์กิฟ มีเฉพาะ "กาแฟ" ผิดถนัด เพราะเมื่อได้รุกตลาดสัมผัสกับ "เนเจอร์กิฟ" ตัวจริงเสียงจริง ยังมีผลิตภัณฑ์อื่นที่เป็นอาหารเสริมชนิดชง อาทิ โกโก้ น้ำขิง อาหารเสริมชนิดแคปซูลบำรุงร่างกายอีกจำนวนหนึ่ง

ในทางตลาด แบรนด์เนเจอร์กิฟ ติดท็อปฮิตในช่วงเวลา 5 ปีเศษให้หลัง แล้วก่อนหน้านั้นคืออะไร

ผู้ที่ให้คำตอบได้เยี่ยมยอดที่สุด เป็นใครไปไม่ได้นอกจาก ดร.กฤษฎา จ่างใจมนต์ เจ้าของและผู้จัดการใหญ่ ห.จ.ก.เนเจอร์กิฟ 711, ห.จ.ก.เนเจอร์กิฟ (ประเทศไทย) และ ห.จ.ก.ดีเค เฮ็ลธ โปรดัคท์

เด็กสลัม ขายทุกสิ่ง

สู้ชีวิตก่อนเติบโต

"พอเริ่มโตก็โตปีละ 100 เปอร์เซ็นต์ 200 เปอร์เซ็นต์ และ 500 เปอร์เซ็นต์" ประโยคนี้ชี้ให้เห็นว่า สินค้าเป็นที่รู้จัก จำหน่ายและขายได้ หากขีดเป็นเส้นกราฟก็คงทบเส้นกราฟได้หลายตลบ!!

แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้...

"เส้นทางเศรษฐี" ขอให้ ดร.กฤษฎา เล่าย้อนความเป็นมา ก่อนประสบความสำเร็จในกิจการผลิตและจำหน่ายอาหารเสริมแบรนด์โต

ดร.กฤษฎา ตอบด้วยน้ำเสียงราบเรียบพร้อมเล่าย้อนเก่าก่อนถึงสมัยเด็กที่ชีวิตแร้นแค้นมากมายว่า เกิดและเติบโตในสลัม อยู่บ้านเช่าขนาด 3 คูณ 4 เมตร กับพ่อแม่พี่และน้องๆ รวม 8 ชีวิต และเป็นอยู่อย่างนั้นกระทั่งอายุ 22 ปี

"ห้องเช่าราคาเดือนละ 20 บาท คุณพ่อหาบก๋วยเตี๋ยวแคะขาย คุณแม่เย็บผ้าอยู่บ้านตั้งแต่เช้ามืดถึงดึก ผมไม่เคยรู้จักว่าความสบายเป็นอย่างไร ได้เรียนหนังสือตอนอายุ 9 ขวบ เข้าชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่ได้เรียนก็เพราะหลอกแม่ว่าถ้าไม่ให้เรียนตำรวจจับ"

ในวัยเด็กที่มีไม่เหมือนคนอื่น ดร.กฤษฎาถือว่าไม่ใช่ความโชคร้ายแต่อย่างใด แต่เป็นสิ่งกระตุ้นเตือนให้ตั้งใจเก็บออมและทำความหวังให้ประสบความสำเร็จให้ได้

ประถมศึกษาปีที่ 1 เด็กชายกฤษฎาพาตัวเองเข้าเรียนที่โรงเรียนวัดสระเกศ ในวันธรรมดาไปโรงเรียนเขาตั้งใจเรียนอย่างเดียว เมื่อวันเสาร์อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ทุกครั้ง ช่วงสายในวัย 9 ปีของ ดร.กฤษฎาเขาจะไปรับขนมจากปากคลองตลาดมาขายเพื่อนๆ ในชุมชน ขายขนมหมดราวช่วงสายต่อด้วยไอติมแท่ง ที่ต้องเดินข้ามแยกถนน 4 เส้น ไปให้ถึงย่านวรจักร นำมาขายในชุมชนเช่นเดิม

วันพิเศษสุดที่ต้องตื่นแต่เช้ากว่าทุกวัน คือวันออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล อันเป็นความหวังเล็กๆ ของคนมีรายได้น้อย เด็กชายกฤษฎาต้องเดินเท้ากึ่งวิ่งเพื่อให้ทันเวลา ไปจองคิวให้ได้คนแรกสำหรับการรับเรียงเบอร์มาขาย ตกบ่ายรางวัลออกเสร็จสรรพแปรสภาพเป็นเด็กขายเรียงเบอร์แยกหัวลำโพง หมดก็เข้าบ้าน แต่ถ้าไม่หมดต้องหอบเรียงเบอร์มาขายหนังรอบทุ่มและรอบดึกที่โรงหนังคิงส์ และควีนส์ ย่านวังบูรพา เลิก

ดร.กฤษฎา ดำเนินชีวิตในวัยเด็กเช่นนี้มาตลอดการเรียนประถมศึกษาปีที่ 4 เลยเข้าสู่ชั้นมัธยมศึกษาที่แอบสอบเข้าเรียนและขอให้ผู้ปกครองเพื่อนลงลายมือชื่อรับรองให้

แม้วัยเด็กที่น่าจะมีโอกาสได้วิ่งเล่นตามประสา ไม่ได้เกิดขึ้นในชีวิตของ ดร.กฤษฎา แต่เขาไม่เคยน้อยใจในโชคชะตา คงเก็บหอมรอมริบจากเงินที่ขายขนม ไอติมและเรียงเบอร์ ผ่อนเบาภาระครอบครัวเสมอ

"นักธุรกิจ" คือความฝัน

เรียนรู้ทุกอย่างเป็นพื้นฐาน

คะแนนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายของ ดร.กฤษฎาอยู่ในระดับ 1 หรือ 2 มาโดยตลอด กระทั่งถึงเวลาสอบเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา ดร.กฤษฎาได้ทุนเรียนดียากจน จำนวน 300 บาท พอเป็นแรงใจให้มุ่งมั่น โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเป้าประสงค์หลัก

"ผมอยากเรียนแพทย์ แต่เวลาเรียนนานและใช้ทุนเยอะ เมื่อผมไม่มีเงินก็ต้องเรียนอาชีพที่ทำเงินได้ จึงเลือกเรียนวิศวะ และติดได้โดยไม่ต้องกวดวิชาเหมือนเด็กอื่น"

อาหารมื้อกลางวันระหว่างเรียน คือ ข้าวแกงริมถนนติดรั้วมหาวิทยาลัย ราคา 2 บาท น้ำกลั้วคอเป็นน้ำฟรีที่มหาวิทยาลัยบรรจุเครื่องไว้ให้ดื่ม ดร.กฤษฎาจำกัดมื้ออาหารไว้ให้ตัวเองเพียงเท่านี้

ชีวิตวัยเด็กถึงวัยรุ่นของ ดร.กฤษฎาไม่ฟุ้งเฟ้อ แต่มีความทะเยอทะยาน ดร.กฤษฎา บอกว่า ในวัยเด็กเขายืนมองรถวิ่งผ่านไปมาบนถนน ฝันว่าสักวันหนึ่งจะต้องมีรถยุโรปดีๆ ใช้สักคัน มีบ้านหลังใหญ่ที่มีรั้วรอบขอบชิด มีสนามหญ้ากว้างให้วิ่งเล่น

"ความฝันของผมจะเป็นจริงได้ ถ้าผมมีธุรกิจเป็นของตัวเอง"

แรงกระตุ้นหนึ่งที่ทำให้ ดร.กฤษฎาตั้งเป้าอยากเป็นนักธุรกิจ คือ การตระเวนอ่านหนังสือตามหอสมุดแห่งชาติ และ บันไดโบสถ์วัดสุทัศน์ และมีโอกาสอ่านประวัติเศรษฐีระดับโลก เกิดแรงบันดาลใจ โดยยึด เฮนรี่ ฟอร์ด เจ้าของธุรกิจรถยนต์แบรนด์อเมริกัน "ฟอร์ด" เป็นแบบอย่าง

หลังเรียนจบปริญญาตรีไม่ถึงสัปดาห์ อาชีพวิศวะที่ขาดแคลนในช่วงนั้นทำให้โอกาสเข้าถึง ดร.กฤษฎา การไฟฟ้านครหลวง วัดเลียบ เรียกตัวให้เข้าไปทำงานเริ่มสตาร์ตด้วยเงินเดือน 1,550 บาท และเป็นก้อนที่ใช้เลี้ยงคนทั้งครอบครัว

ดร.กฤษฎา บอกว่า เขาทำงานอยู่การไฟฟ้านครหลวงไม่นานนัก ก็ตัดสินใจลาออกเพื่อหาประสบการณ์การเป็นนักธุรกิจ เขาเห็นว่านักธุรกิจควรรู้หลายเรื่อง หากยังเดินหน้าทำงานการไฟฟ้านครหลวงต่อไป สิ่งที่ควรรู้สำหรับนักธุรกิจจะไม่เกิดขึ้นกับเขาอย่างแน่นอน

ดร.กฤษฎา ต้องการเรียนรู้ในทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจ แต่ไม่มีพื้นฐานมาก่อน จึงคิดแบบเรียบง่ายเท่าที่คิดได้ คือ การเรียนรู้การสั่งซื้อของจากต่างประเทศ จึงตัดสินใจเข้าทำงานบริษัทนำเข้าของจากต่างประเทศ แต่น่าเสียดายที่ ดร.กฤษฎาได้รับตำแหน่งให้ควบคุมงานด้านการช่าง ซึ่งเขาไม่คิดว่าโชคร้ายเสียทีเดียว เพราะอย่างน้อยงานด้านนี้สอนให้รู้จักวิธีคิดงาน วิธีการประมูล

แต่แล้วโชคเข้าข้างเมื่อบริษัทนำเข้าอีกแห่งทาบทามให้ไปทำหน้าที่ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายต่างประเทศ ตลอดปีเศษที่ทำงานตำแหน่งนี้ สอนให้ ดร.กฤษฎาเข้าใจธุรกิจต่างประเทศเป็นอย่างดี

ตั้งบริษัทด้วยเงินก้อนแรก

นำเข้าสินค้าต่างประเทศ

ปี 2519 เป็นปีที่ ดร.กฤษฎา นำเงินที่รวบรวมได้จากน้ำแรงตลอด 3 ปีที่ทำงาน เป็นเงิน 50,000 บาท ก่อตั้งบริษัท ดร.กฤษฎาทำหน้าที่เจ้าของและพนักงานบริษัทเพียงคนเดียว เริ่มธุรกิจการนำเข้าเพื่อจำหน่ายอุปกรณ์ไฮโดรลิกส์ จากสหรัฐอเมริกา และอุปกรณ์นิวแมติค จากอังกฤษ

เพราะเงินทุนไม่สูง ธุรกิจการนำเข้าสินค้าจึงต้องใช้เครดิตจากธนาคารเพื่อเปิด LC ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งในการชำระเงินทางการค้าระหว่างประเทศ แต่ ดร.กฤษฎาไม่มีเงิน สิ่งที่ทำได้คือ รอเวลาและมองหาช่องทางเงินตรา

ด้วยอุปนิสัยชอบช่วยเหลือคน ดร.กฤษฎาจึงได้รับการช่วยเหลือสะท้อนกลับ เมื่อชาวไต้หวันที่เคยช่วยลงลายมือชื่อในตำแหน่งวิศวกรให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ยื่นมือให้ความช่วยเหลือเมื่อ ดร.กฤษฎาเอ่ยปากขอยืมเครดิตเพื่อเปิด LC ทำให้การทำธุรกิจซื้อขายกับต่างประเทศคล่องตัวขึ้น

เครื่องทำน้ำร้อนไฟฟ้า แก๊ส และแสงอาทิตย์ เครื่องล้างจานเป็นสินค้านำเข้ามาจำหน่ายในยุคแรก แต่เส้นทางธุรกิจของ ดร.กฤษฎาไม่สวยหรูเสมอไป กำไรไม่ได้เกิดขึ้นทุกครั้ง ทำให้บางเดือนต้องขอให้คุณแม่กู้เงินคนขายปาท่องโก๋แถวบ้านมาจ่ายเงินให้กับลูกน้องที่จ้างมาช่วยงาน 1-2 คน ทุกเดือน

ราว 4 ปี ดร.กฤษฎาเปลี่ยนมุมมองเป็นธุรกิจขายเครื่องฟอกอากาศจากสิงคโปร์ ได้รับการตอบรับระดับหนึ่ง พอสร้างเม็ดเงินเป็นทุนหมุนเวียนให้กับธุรกิจได้บ้าง แต่ไม่นานนักเมื่อเครื่องฟอกอากาศลดคุณภาพลง ทำให้ลูกค้าลดลงด้วย จึงคิดผลิตเครื่องฟอกอากาศเอง

คำว่า นักธุรกิจ เข้ามาในชีวิตของ ดร.กฤษฎานานราว 11 ปี ดร.กฤษฎาตัดสินใจก่อตั้งโรงงานผลิตเครื่องฟอกอากาศของตนเอง ใช้ชื่อว่า "AEROCLEAN" สั่งอุปกรณ์นำเข้ามาสำหรับผลิตจากเยอรมนี อเมริกา และญี่ปุ่น ถือเป็นเครื่องฟอกอากาศรายแรกที่ผลิตและขายในเมืองไทย โดยคนไทยเอง จนยอดขายขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ ทำให้ครอบครัว ดร.กฤษฎา ลืมตาอ้าปากได้มีเงินในหลักร้อยล้าน จึงซื้อบ้านและรถยนต์ ที่ดินจำนวนหนึ่ง ทั้งยังนำเครื่องเครื่องกรองน้ำจากอเมริกามาจำหน่ายเป็นสินค้านำเข้าที่น่าสนใจในยุคนั้น

คว้าน้ำเหลว "ธุรกิจขายตรง"

แบบอย่างที่น่าจดจำ

ระหว่างนั้นมีสิ่งที่นักธุรกิจอย่าง ดร.กฤษฎาต้องเรียนรู้เพิ่มเติมอีกมาก ดร.กฤษฎาไม่เคยปล่อยให้เวลาเสียไป ยังคงเข้ารับการอบรม สมัครเข้าเรียนคอร์สสั้นๆ ในทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ เช่น การเขียนจดหมายธุรกิจ การขาย การโฆษณา การตลาด การอบรมเส้นทางสู่นักบริหาร การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการ ทั้งยังสมัครเข้าอบรมการปลูกพืช การผลิตปุ๋ย และการเกษตรธรรมชาติคิวเซ เพื่อนำมาพัฒนาที่ดินที่ซื้อไว้ในจังหวัดลพบุรี จำนวนกว่า 500 ไร่

ช่วงเวลาเดียวกัน "ธุรกิจขายตรง" เริ่มแพร่หลาย ดร.กฤษฎาได้รับคำแนะนำจากชาวญี่ปุ่นคุยทฤษฎีขายตรงให้ฟัง ทำให้ ดร.กฤษฎาตั้งใจเอาดีทางธุรกิจขายตรง เพราะเห็นว่าธุรกิจเช่นนี้ ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของธุรกิจได้โดยไม่ต้องลงทุน และเป็นการทำธุรกิจที่ทุกคนเป็นเจ้าของธุรกิจของตนเอง

แนวคิดของ ดร.กฤษฎา ไม่มีใครแย้งว่าผิด แต่เมื่อ ดร.กฤษฎาลองทำในสิ่งที่เขาให้ความสนใจ ยิ่ง กลับเห็นว่าธุรกิจขายตรงอาจไม่เหมาะกับตัวเอง

"ธุรกิจขายตรงต้องมีภาพพจน์ พูดเก่ง น่าเชื่อถือ โน้มน้าวเป็น แต่เราพูดไม่เก่ง เราเป็นนักวิชาการ ความน่าเชื่อถือก็ไม่มีเพราะเราไม่เคยมีประวัติในวงการนี้ การโน้มน้าวก็ไม่เป็น สุดท้ายเราก็เจ๊ง"

เจ๊งในที่นี่ ดร.กฤษฎา หมายถึง ช่วงที่เขาตัดสินใจสั่งซื้อสินค้าเป็นอุปกรณ์คล้ายเครื่องนวด และได้ไปเรียนทฤษฎีการขายตรงที่ไต้หวัน แต่ท้ายที่สุดธุรกิจนี้ก็ไม่รอด

ประจวบเหมาะกับความตั้งใจพัฒนาที่ดิน 555 ไร่ ที่จังหวัดลพบุรี ให้เป็นอสังหาริมทรัพย์ที่มีราคา โดยจัดสรรพื้นที่เป็นทะเลสาบและคิดแบ่งพื้นที่ขายแปลง แต่เมื่อลงทุนไปเกินครึ่งโครงการกลับต้องชะงัก เมื่อภาวะทางเศรษฐกิจประสบปัญหา "ฟองสบู่แตก" ในปี 2540 ธนาคารไม่ปล่อยเงินกู้ แต่ ดร.กฤษฎาต้องการให้โครงการแล้วเสร็จตามที่ตั้งใจ จึงยอมนำเครื่องกรองน้ำรุดสต๊อค นำเงินมาก่อสร้าง เมื่อไม่แล้วเสร็จ จึงหันกลับไปนำเครื่องฟอกอากาศรุดสต๊อค แต่โครงการก็ยังไม่ได้ตามเป้า

เป็นความล้มเหลวทางธุรกิจของ ดร.กฤษฎาที่เขาจดจำไว้ไม่เคยลืม แต่ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้ความมุ่งมั่นสู่เส้นทางการเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จหายไป

ฟองสบู่แตก ติดลบ-หนี้พอก

เริ่มผลิตอาหารเสริมพืช-สัตว์

หลังเหตุการณ์ฟองสบู่แตก ปี 2540 ผ่านพ้น เมื่อเงินจม สินค้าไม่มี รายได้ไม่เข้า เครดิตธนาคารไม่เหลือ ครอบครัวจ่างใจมนต์กลับเข้าสู่ภาวะวิกฤตอีกครั้ง

"ธนาคารโทรศัพท์ทวงเงินทุกเดือน ตอนนั้นเป็นหนี้ 50 กว่าล้านบาท ดอกเบี้ยตอนนั้น 19 เปอร์เซ็นต์ต่อปี หนี้สูงขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายต้องให้ธนาคารยึดโรงงานเครื่องฟอกอากาศ ออฟฟิศย่านตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรี ที่ดินกว่า 60 ไร่ตัดจากทั้งหมด 555 ไร่ที่จังหวัดลพบุรี ที่เหลือเป็นเงินที่ต้องใช้หนี้ธนาคารอีกราว 7 ล้านบาท"

สิ่งที่เหลือพอจะทำทางเป็นอาชีพได้ขณะนั้น คือ ที่ดินที่ยังเหลืออยู่ราว 500 ไร่!!

ดร.กฤษฎา และภรรยา จึงบ่ายหน้าเข้าสู่อาชีพเกษตรกรรม เรียนรู้และเอาจริงกับการปลูกแก้วมังกร ผลไม้ที่ติดอันดับความสนใจในยุคนั้น แต่ผลผลิตที่ผันเป็นเงินได้เฉพาะฤดูที่ให้ผล ทำให้เงินสำหรับใช้หนี้ธนาคารทุกเดือนขาดมือ

ดร.กฤษฎา เล่าถึงความคิดตอนนั้นว่า ผมคิดว่าปลูกแก้วมังกรอย่างเดียวคงไม่รอด ใช้หนี้ธนาคารไม่หมดแน่ จึงใช้ความรู้ที่พอมีศึกษาและทดสอบเกี่ยวกับวิตามินและแร่ธาตุสำหรับบำรุงรักษาต้นไม้ และได้ผลเมื่อต้นไม้ที่ได้วิตามินและแร่ธาตุที่ผลิตขึ้นกลับผลิดอกออกผลเร็วและรสชาติดี จึงผลิตขายพอเป็นรายได้ พร้อมกับคิดค้นวิตามินและแร่ธาตุสำหรับสัตว์ เมื่อทดสอบกับกุ้ง พบว่า กุ้งดีดตัวได้สูง ซึ่งหมายความว่าวิตามินที่คิดค้นได้ผลดีกับสัตว์เช่นเดียวกัน

แต่วิตามินที่เป็นอาหารเสริมสำหรับพืชและสัตว์ก็ไม่ได้ให้ผลกำไรและเติบโตได้ดีในตลาดการค้าเกษตรอย่างที่คิด ดร.กฤษฎาจึงเบนเข็มหันมาให้ความสนใจกับการผลิตอาหารเสริมสำหรับคนแทน

ทำแบรนด์ "เนเจอร์กิฟ"

ทุ่มตลาดขายตรง ไม่สำเร็จ

อาหารเสริมยุคแรกเกิดขึ้นในนามของ "เนเจอร์กิฟ" เป็นรูปลักษณ์แคปซูลบรรจุกระปุก ดร.กฤษฎาให้ลูกชายคนโตเดินขายย่านวังหลัง ศิริราช แต่หมดท่าเมื่อขายไม่ได้แม้แต่ขวดเดียว แม้จะทำข้อมูลประกอบให้เห็นถึงคุณภาพของอาหารเสริมแต่กลับไม่ได้รับความสนใจแม้แต่น้อย โดยเฉพาะเมื่อเดินเข้าไปขอวางขายในร้านขายยา กลับถูกปฏิเสธโดยสิ้นเชิง

"แบรนด์เนเจอร์กิฟสมัยนั้นคงไม่รู้จัก เคยไปเสนอให้ร้านขายยา เขาไม่คุยบอกแค่ให้เอาวางไว้แล้วจะติดต่อกลับ แต่ไม่มีสักรายที่ติดต่อกลับมา"

หลังจากนั้น "ธุรกิจขายตรง" ก็กลับมาให้ ดร.กฤษฎาได้รู้จักอีก เป็นบริษัทน้ำลูกยอ ด้วยความสนใจในระบบ ดร.กฤษฎาจึงเข้าอบรมอีกครั้ง และออกขายน้ำลูกยอด้วยตนเอง จนท้ายที่สุดคิดได้ว่า เมื่อน้ำลูกยอขายไม่ได้ เราก็นำสินค้าเราออกขายในรูปแบบธุรกิจขายตรง และตั้งบริษัทจดทะเบียนเป็นธุรกิจขายตรง "เนเจอร์กิฟ"

สิ่งที่ ดร.กฤษฎาทุ่มด้านการตลาด คือ การลงโฆษณาคุณภาพของอาหารเสริมเนเจอร์กิฟ และลงประกาศอบรมสัมมนาฟรีสำหรับผู้สนใจธุรกิจขายตรงเนเจอร์กิฟ ถึงขั้นจองโรงแรมทั่วกรุงเทพฯ รวม 10 แห่ง

"ผมบรรยายเอง ครั้งแรกมีคนมาฟัง 3 คน ครั้งที่ 2 มีคนมาฟัง 2 คน แต่ในจำนวนนั้นเป็นตัวแทนของธุรกิจขายตรงอื่นที่มาหาลูกค้าในงานสัมมนา สุดท้ายอีก 8 แห่ง ต้องยอมเสียเงินค่ามัดจำเพื่อยกเลิก เพราะมั่นใจว่าไม่มีคนมาฟังแน่นอน"

ดร.กฤษฎา ล้มลุกคลุกคลานกับเนเจอร์กิฟ เพราะความใฝ่ฝันนั่งแท่นนักธุรกิจจึงเลิกล้มความตั้งใจไม่ได้ จึงยังไม่ทิ้งระบบธุรกิจขายตรง เขาพยายามเข้าให้ถึงลูกค้า และเมื่อมีคนสนใจแผนธุรกิจยอมติดต่อคนให้มาฟังบรรยาย แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายค่าสถานที่และค่าเดินทางไปบรรยายเอง

สถานที่แรกเป็นจังหวัดพิจิตร มีคนมาฟังจำนวนหนึ่ง แต่ยอดขายไม่กระเตื้อง ไม่นานนักจังหวัดอุดรธานีกลายเป็นเป้าหมาย เมื่อสมาชิกที่มาฟังสนใจและอยากให้ ดร.กฤษฎาเปิดการบรรยายที่นั่น ซึ่งได้ผลเมื่อการบรรยายครั้งแรกมีคนสนใจฟังเกิน 200 คน เพียงแต่การบรรยายในครั้งถัดมาจำนวนคนกลับลดลงตามลำดับ ถึงอย่างนั้นเนเจอร์กิฟก็ยังขายได้ราว 200,000 บาทต่อเดือน ซึ่งดร.กฤษฎา บอกว่า จำนวนนี้ยังไม่พอค่าใช้จ่ายใดๆ

เพราะยอดขายยังน้อย ดร.กฤษฎาจึงได้รับคำแนะนำจากเพื่อนสมาชิกให้เปลี่ยนอาหารเสริมจากแคปซูลเป็นรูปแบบอื่น และเท่าที่พอทำได้ เนื่องจากลงทุนไม่สูงนัก คือ "กาแฟ" ที่ใช้เงินลงทุนเริ่มต้นเพียง 50,000 บาท

ชูจุดขาย "กาแฟลดความอ้วน"

พลิกยอดขายหลายร้อยเท่า

เดือนธันวาคม ปี 2546 ผลิตอาหารเสริมออกมาในรูปของ "กาแฟลดความอ้วน" และออกขายในราคาซองละ 12.50 บาท ซึ่งหากเทียบกับกาแฟทั่วไปเรียกได้ว่า "แพง" แต่เมื่อเทียบกับคุณค่าที่ได้ต่อสุขภาพกลับเรียกว่า "คุ้ม"

การผลิตของเนเจอร์กิฟ เมื่อเป็นกาแฟลดความอ้วน ใช้สถานที่โรงรถของบ้านเป็นโรงงาน

การตลาดของเนเจอร์กิฟ ขณะนั้นใช้วิธีลงโฆษณาพร้อมการตระเวนเสนอขายให้กับร้านค้า

ตลาดต่างจังหวัดกลายเป็นตลาดใหญ่ให้กับเนเจอร์กิฟ เมื่อกาแฟลดความอ้วนถูกนำไปจำหน่ายต่อยังต่างจังหวัดโดยสมาชิกเก่าที่เคยมาฟังบรรยายธุรกิจขายตรงของ ดร.กฤษฎา ยอดจำหน่ายในระยะแรกราว 30,000 ซองต่อเดือน ค่อยๆ ขยับเป็น 40,000 ซอง และ 50,000 ซองต่อเดือน

จุดเปลี่ยนที่ทำให้ เนเจอร์กิฟ ติดตลาดและมียอดขายสูงขึ้นเป็นร้อยเท่าอยู่ตรงไหน

ดร.กฤษฎา บอกว่า จดหมายจากผู้ที่ดื่มกาแฟลดความอ้วนเนเจอร์กิฟ เขียนขอบคุณที่ทำให้น้ำหนักลดลง สุขภาพดีขึ้น และเขานำไปลงเป็นเนื้อหาโฆษณา ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เนเจอร์กิฟกลายเป็นที่รู้จักแบบก้าวกระโดด

ต้นปี 2548 เนเจอร์กิฟเริ่มเป็นที่รู้จัก ยอดขายพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้ ดร.กฤษฎาต้องผันโรงรถที่เดิมเป็นแหล่งผลิต ก่อตั้งโรงงานแห่งแรกขึ้นด้วยงบประมาณ 18 ล้านบาท อีก 2 ปีถัดมาก่อตั้งโรงงานแห่งที่ 2 ขึ้นด้วยงบประมาณ 200 ล้านบาท และเปิดโรงงานแห่งที่ 3 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ด้วยงบประมาณ 500 ล้านบาท

แม้คำว่า ธุรกิจขายตรง ยังคงอยู่ในใจ ดร.กฤษฎา แต่เมื่อเส้นทางการเติบโตทางธุรกิจของเนเจอร์กิฟไม่ได้เป็นเช่นนั้น ดร.กฤษฎาจึงเลิกธุรกิจขายตรงไปราวต้นปี 2547 และมุ่งมั่นผลิตเนเจอร์กิฟในรูปแบบสินค้าอื่นออกมาอีกจำนวนหนึ่ง เพราะยังประเมินตนเองว่าเป็นนักธุรกิจที่ไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ตั้งใจ

ยอดขายและกำไรเป็นสิ่งที่ ดร.กฤษฎาไม่ขอปริปากบอก แต่ทุกวันนี้ยอมรับว่ามีเงินมากพอที่หาความสุขสบายให้กับตัวเองได้ทุกรูปแบบ ซึ่งสิ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิตคือความสุขที่ได้จากการทำบุญ และการบริจาคทุนการศึกษาให้กับเด็กนักเรียนยากจนเรียนดี เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็ก ไม่ต้องตกอยู่ในสภาพเดียวกับที่เขาเคยประสบ

"ความใฝ่ฝันที่อยากเป็นเจ้าของธุรกิจ ถือว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง มีครอบครัวดี มีเงินไม่ขัดสน มีบ้าน มีรถ และแม้จะมีลูกค้าหลายแสนคน แต่คนที่เป็นทุกข์กับสุขภาพยังมีอีกจำนวนมาก ผมถือว่าเป้าหมายยังไม่บรรลุ"

ภาพที่เห็นจึงเป็นภาพที่ ดร.กฤษฎา เดินหน้ามุ่งมั่นกับธุรกิจอาหารเสริมลดน้ำหนัก "เนเจอร์กิฟ" ต่อไป จนกว่าจะถึงเป้าหมายการเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จคนหนึ่ง

ขอขอบคุณ
สัมภาษณ์พิเศษ
สุจิต เมืองสุข
นิตยสาร เส้นทางเศรษฐี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook