ในเกมที่นานกว่า 90 นาทีของ แมตต์ สมิธ กัปตันทีมบางกอกกล๊าส

ในเกมที่นานกว่า 90 นาทีของ แมตต์ สมิธ กัปตันทีมบางกอกกล๊าส

ในเกมที่นานกว่า 90 นาทีของ แมตต์ สมิธ กัปตันทีมบางกอกกล๊าส
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“ถ้ามีใครสักคนมาบอกผมตอนที่เป็นวัยรุ่นว่า คอยดูสิ อีก 20 ปี ผมจะได้มาเป็นนักฟุตบอลอาชีพที่เมืองไทย ได้ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ ตัวผมในตอนนั้นคงนึกภาพไม่ออกว่ามันจะเกิดขึ้นได้ยังไง” แมตต์ สมิธ เริ่มต้นบทสนทนาก่อนที่เครื่องอัดเสียงจะทำหน้าที่

ถึงแม้ว่าประเทศไทยอาจจะไม่ใช่ส่วนหนึ่งของความฝันวัยเด็กของเขา แต่สำหรับกองหลังชาวอังกฤษวัย 34 ปี เจ้าของตำแหน่งกัปตันทีมของสโมสรฟุตบอลบางกอกกล๊าส เอฟซี สิ่งเดียวที่เป็นความฝันของเขาและไม่เคยจางหายไปไหนก็คือ การเป็นนักฟุตบอล

“คนเราชอบในสิ่งต่างๆ ที่ไม่เหมือนกัน บางคนรักการถ่ายรูป บางคนรักการเขียน สำหรับผม สิ่งนั้นคือฟุตบอล มันคือความฝันช่วงวัยเด็ก คือความหวังในช่วงวัยรุ่น คือความทะเยอะทะยานและแรงผลักดันที่ทำให้ผมมาถึงจุดนี้ได้” แมตต์ถ่ายทอดความรู้สึกเข้มข้นที่เขามีต่อกีฬาชนิดนี้

และเมื่อได้ฟังเรื่องราวทั้งหมดจากปากคำ ภาพสะท้อนที่เรามองเห็นก็คือเกมฟุตบอลเกมหนึ่งที่มีทั้งเกมช้า เกมเร็ว

แต่ที่พิเศษกว่าเกมทั่วไปก็คือ มันเป็นเกมที่ไม่ได้จบในเวลา 90 นาที

 

Pre-game

“ที่อังกฤษ ฟุตบอลคือส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ผมจำไม่ได้ว่าตัวเองชอบฟุตบอลตั้งแต่เมื่อไร แต่ก็จำได้ว่าชอบกีฬานี้มาตั้งแต่รู้ว่าฟุตบอลคืออะไร” แมตต์เล่าถึงจุดเริ่มต้นของความผูกพันระหว่างตัวเขาและลูกหนัง

พ่อของแมตต์เองก็เล่นกีฬานี้เช่นกัน ถึงจะไม่ใช่ระดับมืออาชีพ แต่ก็สม่ำเสมอมากพอที่จะพาลูกชายคนโตไปที่สนามด้วยทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ความทรงจำในวัยเยาว์ของแมตต์ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับฟุตบอลจึงเป็นส่วนผสมระหว่างการเล่นกับเพื่อนแถวบ้าน เล่นกับญาติๆ เล่นกับพ่อในสนามที่บ้าน และเล่นรอพ่อระหว่างที่พ่อนัดเตะฟุตบอลกับเพื่อนๆ

เช่นเดียวกับเด็กผู้ชายอังกฤษวัยเดียวกัน แมตต์ฝันอยากเป็นนักฟุตบอลอาชีพ และดูเหมือนว่าเขาได้เข้าใกล้ความฝันกว่าเด็กอีกหลายๆ คน เมื่อผู้อำนวยการอะคาเดมี่ของ Portsmouth F.C. ซึ่งเป็นสโมสรท้องถิ่นในละแวกบ้านมาหาเขาและพ่อแม่ถึงบ้าน พร้อมกับข้อเสนอให้เซ็นสัญญา ตอนที่แมตต์อายุเพียง 10 ขวบเท่านั้น

โมเมนต์นั้นคือช่วงเวลาที่ภาคภูมิใจที่สุดเท่าที่จะเกิดขึ้นได้กับเด็กคนหนึ่งที่หายใจเข้าหายใจออกเป็นฟุตบอล

 

 The First Half

เมื่อย้อนกลับไปมองตัวเองตลอด 7 ปีที่อยู่กับสโมสร Portsmouth F.C. เขามองว่าสไตล์การเล่นของตัวเองในช่วงวัยรุ่นเป็นแบบ ‘play safe’

การเล่นแบบระมัดระวังมากกว่ากล้าเสี่ยง กล้าลุยของเขาในตอนนั้นอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขาไม่ได้เซ็นสัญญาต่อ เมื่อถึงจุดที่สโมสรต้องเลือกว่าใครจะได้เซ็นสัญญาแบบฟูลไทม์เพื่อก้าวเข้าสู่โลกฟุตบอลอาชีพ

จากความยินดีที่เดินทางมาถึงบ้านเมื่อตอน 10 ขวบ กลายเป็นความผิดหวังที่มาทางโทรศัพท์ตอนอายุ 17 คนแรกที่รู้ข่าวนั้นไม่ใช่ตัวแมตต์ แต่เป็นพ่อของเขาที่เป็นคนรับสาย ก่อนจะถือโทรศัพท์แยกไปคุยอีกห้อง

10 นาทีหลังจากนั้น พ่อของเขาวางสายและเดินกลับมาบอกลูกชายว่า “เสียใจด้วยนะ แต่ลูกไม่ได้เซ็นสัญญาฟูลไทม์กับสโมสร”

 “การยอมรับว่าตัวเองไม่ดีพอที่จะถูกเลือก มันไม่ใช่เรื่องที่จะทำใจได้ง่ายๆ โดยเฉพาะตอนเป็นวัยรุ่น และเป็นวัยรุ่นที่ทุ่มเทให้กับกีฬาฟุตบอลมาทั้งชีวิต” แมตต์เล่าถึงความรู้สึกในตอนนั้น เขาเลือกที่จะใช้คำว่า ‘hurts’ แทนคำว่า ‘hurt’ ที่เป็นรูปอดีต

ตัว s ที่เพิ่มเข้ามาท้ายเสียงทำให้รู้ว่า ถึงแม้ว่าโมเมนต์นั้นจะผ่านมาแล้วกว่า 10 ปี ความเจ็บปวดก็ยังเป็นความเจ็บปวดอยู่ดี

 

Half-time

ช่วงเวลาพักครึ่งในเกมฟุตบอลจริงๆ นั้นยาวแค่ 15 นาที แต่สำหรับเกมของแมตต์ ช่วงพักกินเวลาร่วม 10 ปี นับตั้งแต่เขาถูกปล่อยตัวจากสังกัดท้องถิ่น

เป็น 10 ปีที่เวลาของเขาหมดไปกับเรียนมหาวิทยาลัย เรียนปริญญาโท ย้ายไปออสเตรเลียตอนอายุ 25 หางาน มีงานประจำเป็นผู้จัดการฝ่ายการตลาด มีครอบครัว 

และยังคงมีการเล่นฟุตบอลเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเหมือนเดิม

 “ถึงจะไม่ได้เป็นนักฟุตบอลอาชีพ แต่ไม่ได้หมายความว่าผมจะเลิกเล่นฟุตบอล ผมยังเล่นฟุตบอลมหาวิทยาลัย ยังเล่นฟุตบอลกึ่งอาชีพ และไม่เคยล้มเลิกความคิดที่จะเล่นในระดับมืออาชีพ ผมตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องเล่นฟุตบอลในระดับ A-League ซึ่งเป็นลีกสูงสุดของออสเตรเลียให้ได้” เขาเล่าถึงช่วงเวลาที่เอื้อต่อการถอดใจ แต่ก็ไม่เคยถอดใจ

แมตต์เล่าต่อว่า ไม่ว่าจะกังวลกับเรื่องนี้แค่ไหน แต่สุดท้ายพออยู่ในสนาม เขาก็จะลืมความกังวลไปจนหมดสิ้น ความคิดทั้งหมดของเขาอยู่ที่ในสนามเท่านั้น

หลายครั้งที่ช่วงพักครึ่งของเขาเหมือนจะสิ้นสุดลงและเกมครึ่งหลังน่าจะได้เริ่มต้นขึ้น แต่สุดท้ายก็มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ไม่เป็นอย่างที่คิด ซึ่งนั่นรวมถึงช่วงเวลาที่ผู้จัดการทีม North Queensland Fury เรียกเขาไปคุย ชวนทำสัญญา ก่อนจะอกหักในอีกอึดใจถัดมา เมื่อรู้ว่าตัวเองติดปัญหาเรื่องที่ยังไม่ได้สัญชาติออสเตรเลีย

“บอกตามตรงว่ามันก็มีจุดที่ผมคิดเหมือนกันว่า ถ้ายังคงไม่ได้โอกาสก้าวเข้าสู่ระดับมืออาชีพแบบนี้ หรือผมควรจะโฟกัสกับงานประจำและโตไปทางสายงานนี้ดี แต่เมื่อคุยเรื่องนี้กับไอช่า ภรรยาของผม เธอบอกผมว่า ‘ถ้าคุณดีพอ สักวันจะต้องได้รับโอกาสแน่นอน ขอแค่อย่าล้มเลิกความตั้งใจก่อนเท่านั้นพอ’” คำพูดของคนข้างกายที่แสดงถึงความเข้าใจและแสดงออกถึงการสนับสนุน ทำให้เขายังคงทำตามเป้าหมายของตัวเองต่อไป

จนกระทั่งสิ้นสุดช่วงพักครึ่งเวลาในเกมฟุตบอลของเขา

Bangkok Glass FC          

The Second Half

ปลายปี 2009 แมตต์ได้สัญชาติออสเตรเลีย และหลังจากนั้น เกมชีวิตของเขาก็ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว จนเหมือนเป็นคนละเกมกันกับช่วงครึ่งแรก ทั้งที่เป็นผู้เล่นคนเดียวกัน

หลังหมดปัญหาเรื่องสัญชาติ เขาได้เซ็นสัญญากับ North Queensland Fury เป็นเวลา 6 สัปดาห์ แต่พอผ่านเกมแรกไป ผู้จัดการทีมเสนอสัญญา 2 ปีให้เขา เขาจึงได้เป็นฟุตบอลอาชีพตามที่ฝันไว้ในวัย 27 ปี ซึ่งถือว่าอายุไม่น้อยในการเริ่มต้นสำหรับวงการฟุตบอลอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นในอังกฤษ ..หรือในออสเตรเลีย

แต่เมื่อผ่านไปเพียง 10 เกม มีเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้นอีกครั้ง นั่นคือสโมสรล้มละลาย แน่นอนว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแมตต์ก็คือเขาโดนลอยแพ และยังไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร เพราะไม่มีทั้งสังกัดและไม่มีทั้งงานประจำ

โชคยังคงเข้าข้างคนพยายามอย่างเขา เมื่อหลังจากนั้นอีกไม่กี่สัปดาห์ มีโทรศัพท์ทางไกลจากเยอรมนี ต้นสายคือโค้ชของทีม Brisbane Roar ทีมแนวหน้าทีมหนึ่งใน A-League ของออสเตรเลีย ที่โทรมาเสนอสัญญา 2 ปีให้กับแมตต์ แน่นอนว่าเขาตอบตกลงทันที โดยไม่ลังเล

แมตต์สวมเสื้อสีส้มของ Brisbane Roar อยู่ถึง 5 ฤดูกาล ตั้งแต่ปี 2010 จนถึงตอนปิดฤดูกาลในปี 2015 และเป็นกำลังสำคัญคนหนึ่งที่ทำให้ทีมคว้าแชมป์ได้ในปี 2011, 2012 และ 2014

หลังจากนั้น เขาตัดสินใจมองหาความท้าทายใหม่ด้วยการรับข้อเสนอของสโมสรบางกอกกล๊าส เอฟซี มาสวมเสื้อสีเขียวและรับตำแหน่งกัปตันทีมนี้ที่เมืองไทย ซึ่งผ่านมา 2 ฤดูกาลแล้วและกำลังจะเข้าสู่ฤดูกาลที่ 3 พร้อมกับสถิติที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ของทีม

“ผมใช้เวลานานมากกว่าจะก้าวเข้ามาเป็นนักฟุตบอลอาชีพ แต่พอผ่านจุดเริ่มต้นมาแล้ว ทุกอย่างเกิดขึ้นไวมาก” และถึงแม้ว่าในสายตาคนจำนวนไม่น้อยจะมองว่าเขาเริ่มต้น ‘ช้า’ เกินไปหรือเปล่าสำหรับการเป็นนักฟุตบอลอาชีพ และอายุอาจเป็นจุดเสียเปรียบของเขาในฐานะผู้เล่น แมตต์กลับไม่รู้สึกว่า การเริ่มต้นตอนใกล้ 30 จะช้าเกินไป และไม่เคยมองว่าวัยเป็นอุปสรรคสำหรับเขา

“ปีนี้ผมอายุ 34 แล้วก็จริง แต่ผมคือหนึ่งในผู้เล่นที่สภาพร่างกายฟิตที่สุดในทีม ฤดูกาลที่ผ่านมา ผมเป็นคนเดียวในทีมที่ลงเล่นครบ 90 นาทีในทุกเกม เรื่องอายุดูเหมือนจะเป็นปัญหาในมุมมองของคนอื่น แต่สำหรับผม นั่นไม่ใช่อุปสรรคเลย ถ้าเรารู้จักดูแลตัวเอง มีวินัยกับตัวเอง ผมอาจจะไม่ได้ไปแฮงเอาต์กับเพื่อนๆ ตอนดึกบ่อยเท่าไหร่ เพราะต้องพยายามนอนให้เต็มที่ หรือถ้าไปก็จะดื่มน้ำแทนดื่มเหล้า ผมมองว่ามันเป็นเรื่องที่ต้องแลก เพื่อจะได้ทำสิ่งที่เรารัก” 

“แต่เรื่องที่ยากกว่าน่าจะเป็นการพยายามอธิบายว่าทำไมเรื่องอายุถึงไม่ใช่ปัญหา” แมตต์หัวเราะเบาๆ เมื่อพูดถึงเรื่องที่เขาต้องคอยตอบคำถามของคนอื่นเกี่ยวกับอายุ

Bangkok Glass FC

Post-game

ถึงจะมองว่าอายุไม่ใช่ปัญหา แต่แมตต์ก็รู้ตัวว่าเขาคงไม่สามารถลงเล่นในฐานะนักฟุตบอลอาชีพต่อไปอีก 10 ปีได้ การวางแผนอนาคตหลังถอดสตั๊ดจึงเป็นเรื่องหนึ่งที่เขาคิดอยู่เสมอ และพยายามเพิ่มเติมความรู้ให้กับตัวเองตลอดเวลา เขาเพิ่งผ่านการอบรมและได้ใบอนุญาตในการเป็นโค้ชเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งนั่นอาจจะกลายเป็นอีกบทบาทหนึ่งของเขาในอนาคต

หลังจากบรรลุเป้าหมายในเรื่องการเป็นนักฟุตบอลอาชีพ ซึ่งเป็นอาชีพที่เขาบอกว่าจะมีอะไรเจ๋งไปกว่าการได้ทำสิ่งที่ตัวเองรักเป็นงานแล้ว การวางแผนชีวิตของเขาตอนนี้ ถึงจะยังมีฟุตบอลเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แต่เขาก็ต้องให้น้ำหนักกับครอบครัวมากขึ้น...ครอบครัวที่มีเขา ไอช่าและลูกๆ อีก 4 คน คือ เอวา วัย 7 ขวบ, โอเวน วัย 5 ขวบ รวมถึงไลลากับรูบี้ วัย 2 ขวบ ที่ทั้งสองอายุห่างกันเพียงแค่ 6 เดือน

“ผมกับภรรยาคุยกันเรื่องรับอุปการะเด็กกำพร้ามาตลอดตั้งแต่เราเริ่มคบกัน มันเหมือนเป็นหัวข้อหนึ่งที่เราจะยกมาพูดถึงกันเรื่อยๆ แต่เราเริ่มคุยกันจริงจังมากขึ้นเมื่อย้ายมาอยู่เมืองไทย จนเมื่อเราพร้อม เราก็ยื่นเอกสารและรอเวลา จนกระทั่งได้รูบี้มาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวเราเมื่อ 6 เดือนที่แล้ว”

เอวาและโอเวนต้อนรับน้องเล็กของบ้านเป็นอย่างดี ส่วนไลลาที่วัยไล่เลี่ยกันก็เหมือนได้เพื่อนเล่นที่ช่วยทำให้พัฒนาการของเด็กหญิงเชื้อสายไทยอย่างรูบี้ดีขึ้นทุกด้านและทุกวัน การเฝ้าดูพัฒนาการของลูกๆ ทุกคนจึงเป็นความตื่นเต้นและความสุขนอกสนามของนักฟุตบอลคนนี้

ก่อนบทสนทนาจะจบลง เราสังเกตว่าที่ท้องแขนซ้ายของแมตต์มีรอยสักที่เป็นตัวอักษรภาษาอราบิก เขาเล่าถึงที่มาของรอยสักที่ช่วยย้ำถึงความสุขนอกสนามของเขาว่า “รอยสักพวกนี้เป็นอักษรย่อภาษาอราบิก แทนชื่อลูกๆ ทุกคน ตอนนี้มีของเอวา โอเวน และไลลาแล้ว เร็วๆ นี้ ผมจะไปสักใหม่ เพิ่มชื่อของรูบี้เข้าไปด้วย”

ถึงตอนนี้แมตต์เองจะยังตอบไม่ได้ว่า สกอร์ของเกมนี้จะจบลงอย่างไร แต่สิ่งที่เขารู้แน่ก็คือมันเป็นเกมที่เขาใช้ความทุ่มเททั้งชีวิตในการเล่นและเดินเกมด้วยความรักในกีฬาที่เรียกว่า “ฟุตบอล”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook