4 กฎเหล็กนักพูดมืออาชีพต้องรู้ “เบื้องสูง – เชื้อชาติ – ศาสนา – ข่าวลือ” ไม่ควรแตะต้อง !

4 กฎเหล็กนักพูดมืออาชีพต้องรู้ “เบื้องสูง – เชื้อชาติ – ศาสนา – ข่าวลือ” ไม่ควรแตะต้อง !

4 กฎเหล็กนักพูดมืออาชีพต้องรู้ “เบื้องสูง – เชื้อชาติ – ศาสนา – ข่าวลือ” ไม่ควรแตะต้อง !
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นักวาทวิทยา แจง 4 กฎเหล็กที่นักพูดมืออาชีพทุกคนต้องรู้ และนำไปปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากความไม่เห็นด้วยของผู้ฟัง

ความโกรธแค้นของผู้คนที่มีต่อนักพูดสาว หลังได้ชมคลิปวีดีโอซึ่งมีเนื้อหาพาดพิง ถึงเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง ยังคงเป็นประเด็นร้อนในสังคมไทย ซึ่งตามหลักการพูดในที่สาธาณะ ก่อนที่นักพูดแต่ละคนจะมีทักษะความเชี่ยวชาญ สามารถไปบรรยายตามหน่วยงานและสถานที่ต่างๆ ได้อย่างเป็นมืออาชีพนั้น ทุกคนต้องผ่านการฝึกฝนมาอย่างเข้มข้น เพื่อให้ผู้ฟังได้รับประโยชน์สูงสุด รวมไปถึงป้องกันความขัดแย้งจากการพูดที่ไม่เหมาะสม

ก่อนที่นักพูดแต่ละคนจะประสบความสำเร็จ และก้าวขึ้นเป็นนักพูดที่ชื่นชอบของผู้คน เขาเหล่านี้ต้องผ่านการฝึกฝนทักษะอะไร และก่อนขึ้นพูดในแต่ละครั้ง นักพูดมืออาชีพต้องเตรียมตัวอย่างไร ทีมนิวมีเดีย PPTV สอบถาม อาจารย์พรศักดิ์ ธนพัฒนพงศ์ หัวหน้ากลุ่มวิชาวาทวิทยาและการสื่อสารบูรณาการ คณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง ให้ทุกคนได้รับทราบ..

หัวหน้ากลุ่มวิชาวาทวิทยาและการสื่อสารบูรณาการ เริ่มต้นอธิบายว่า ก่อนที่นักพูดแต่ละคนจะประสบความสำเร็จ เป็นที่ชื่นชอบและโด่งดังในสังคม ทุกคนล้วนต้องผ่านการฝึกฝนอย่างหนัก อดีตหลายคนอาจมองว่าคนที่เป็นนักพูด คือคนที่มีพรสวรรค์เป็นตัวนำ แต่ในความเป็นจริงไม่มีใครพูดเก่งตั้งแต่เกิด พรสวรรค์มีส่วนช่วยเพียงนิดเดียว ที่เหลือกว่า 80% อยู่ที่การฝึกฝน ยิ่งในปัจจุบันสังคมมีความซับซ้อนมากขึ้น การพูดในแต่ละครั้งผู้พูดต้องเตรียมตัวอย่างดี เมื่อประกอบกับการเลือกใช้เทคนิคต่างๆ ทั้งภาษา สำนวน น้ำเสียง และกริยาท่าทาง ประกอบการพูด จะยิ่งดึงดูดความสนใจผู้ฟังได้มากขึ้น

ทั้งนี้ ตามหลักแล้วการเตรียมความพร้อมก่อนขึ้นพูด ไม่ว่าจะพูดเพื่อวัตถุประสงค์ใดและพูดให้กลุ่มบุคคลใดฟัง ผู้พูดจำเป็นต้องทำการบ้านโดยการเขียน “วาทนิพนธ์” หรือบทร่างการพูด ผ่านการวิเคราะห์ 4 ข้อ คือ 1. วิเคราะห์ตัวตน ตัวตนในที่นี้หมายถึงตัวตนของผู้พูด ว่ามีความถนัดและเชี่ยวชาญในด้านใด 2. วิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย ข้อนี้ถือเป็นสิ่งที่ต้องทำการบ้านอย่างดี เพราะการวิเคราะห์ผู้ฟังจะทำให้การพูดได้รับความสน 3. วิเคราะห์เนื้อหา คือการกำหนดสาระและลำดับขั้นตอนในการพูด ซึ่งต้องสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายหรือผู้ฟังด้วย และ 4. วิเคราะห์สถานการณ์ ประเด็นนี้เชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อม และอารมณ์ของผู้ฟัง สิ่งใดที่คิดว่าพูดแล้วไม่ก่อให้เกิดผลดีก็ควรหลีกเลี่ยง

นอกจากการเตรียมตัวก่อนขึ้นพูดตามหลักข้างต้นแล้ว นักวาทวิทยา เน้นย้ำว่ายังมีหลัก 4R ซึ่งถือเป็นข้อปฏิบัติที่นักพูดทุกคน ต้องยึดถือและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพราะถือเป็นกฎเหล็กที่หากใคร กล่าวถึง หรือแตะต้องเมื่อไหร่ย่อมก่อให้เกิดผลเสีย คือ

1. Royal: ไม่กล่าวอ้างอิงหรือพาดพิงถึงบุคคลเบื้องสูง

2. Race: เชื้อชาติ เป็นสิ่งที่ไม่ควรหยิบยกขึ้นมาพูด

3. Religion: ศาสนา ถือเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนเป็นอย่างมาก

4. Rumor: ข่าวลือ การหยิบยกข้อมูลที่ไม่มีต้นตอ หรือประเด็นที่ถกเถียงกันไม่จบขึ้นมาพูด ก็ถือเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงเช่นกัน

“ปัจจุบันมีผู้เข้าสู่วงการนักพูดมากขึ้น แต่สิ่งที่หลายคนละเลยคือหลักการที่ถูกต้อง ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดความน่าเชื่อถือได้ หลายคนต้องการสร้างเอกลักษณ์สร้างตัวตน จนลืมไปว่าการพูดด้วยถ้อยคำรุนแรงหรือกล่าวถึงสิ่งที่ไม่สมควร เป็นสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดผลดีในระยะยาว คิดแค่ว่าต้องการให้โดนใจกลุ่มผู้ฟังเพียงอย่างเดียว แต่ลืมไปว่าการพูดแต่ละครั้งไม่จบแค่ในสถานที่นั้นๆ เพราะปัจจุบันมีเทคโนโลยีมากมาย ที่สามารถกระจายถ้อยคำไปสู่วงกว้างได้” หัวหน้ากลุ่มวิชาวาทวิทยาและการสื่อสารบูรณาการ ทิ้งท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook