“ครูพิช พัทธ์นิธาน” คนดนตรีผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ “เก่ง ธชย”

“ครูพิช พัทธ์นิธาน” คนดนตรีผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ “เก่ง ธชย”

“ครูพิช พัทธ์นิธาน” คนดนตรีผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ “เก่ง ธชย”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ความสำเร็จของคนๆ หนึ่งอาจไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะความสามารถ หรือทักษะเฉพาะตัวของบุคคลนั้น หากแต่ยังมีพลัง กำลังใจจากคนเบื้องหลังคอยผลักดันให้เดินทางไปสู่เป้าหมาย “พัทธ์นิธาน ศรีเอี่ยม หรือครูพิช” ชื่อที่คนส่วนใหญ่ไม่คุ้น แต่เขาคือผู้ส่งให้ “เก่ง เดอะวอยซ์” หรือ “ธชย ประทุมวัน” ก้าวไปสู่ความสำเร็จระดับโลกด้วยการกวาดรางวัล 27 รางวัลจากการแข่งขันโอลิมปิกทางด้านศิลปะบนเวที World Championships of Performing Arts ครั้งที่ 20 (WCOPA 2016) หรือ Olympics of the Performing Arts ที่ลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกาครั้งที่ผ่านมา Sanook! Men ขอพาทุกคนไปทำความรู้จักความสามารถของผู้ที่ได้ชื่อว่า “ครู” ผู้ปิดทองหลังพระ

ครูพิชมีเสียงดนตรีในหัวใจและชอบการฟังเพลง ร้องเพลงมาตั้งแต่อายุ 3 ขวบ จากความชอบเขยิบขึ้นมาเป็นความรักจึงตัดสินใจประกวดร้องเพลงในเวทีต่างๆ ตั้งแต่เด็ก จากครั้งแรกก็เริ่มจริงจังมากขึ้นโดยได้รับการสนับสนุนจากทางบ้าน

กระทั่งเรียนอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ครูสอนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนเห็นแววจึงเอ่ยปากขอให้เขาซึ่งขณะนั้นเป็นลูกศิษย์สอนร้องเพลงไทยให้และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของคำว่า “ครู” อย่างไม่เป็นทางการทั้งๆ ที่มีอายุเพียงไม่กี่ปี

“ตอนนั้นเริ่มจากเปิดคาราโอเกะสอน จากครูที่ร้องเพลงไม่เป็น ก็ร้องเป็น”

เมื่อเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครูพิชมีโอกาสร่วมวงดนตรี TU Brand วงดนตรีประจำมหาวิทยาลัย ก่อนจะไปออดิชั่นที่แกรมมี่ โดยมีข้อตกลงว่าหลังเทรนนิ่ง 6 เดือนครูพิชจะได้เป็นครูสอนดนตรีของสถาบันสอนดนตรีมีฟ้า และเขาก็สามารถผ่านการเทรนได้เป็นคุณครูสมปรารถนา ในขณะที่ความฝันแรกเริ่มต้นขึ้นแล้ว ความฝันที่มีอยู่เดิมถึงการเป็น “สจ๊วต” ก็ไม่หยุดนิ่ง ครูพิชเข้าสอบเป็นลูกเรือของสายการบินแห่งหนึ่ง ในตอนนั้นครูพิชจึงเป็นทั้งครูสอนร้องเพลงและสจ๊วตงานในฝันอีกหนึ่งอย่างไปพร้อมๆ กัน

จนกระทั่งอายุ 25 ครูพิชตัดสินใจเลิกสอนที่โรงเรียนดนตรีมีฟ้าก่อนจะเปิดโรงเรียนสอนดนตรีของตนเอง หลังเปิดสอนดนตรีได้เพียง 1 ปีกว่า ครูพิชก็ตอบตัวเองได้ว่าตนเองเหมาะกับการเป็นครูมากกว่า 14 ปีกับบทบาทครูทำให้คุณครูคนนี้กลายเป็นเรือจ้างที่ส่งให้ลูกศิษย์หลายๆ คนถึงฝั่งฝัน นั่นรวมไปถึง “เก่ง ธชย” นักเรียนคนเก่ง

“อย่างเก่ง เริ่มให้เขาประกวดก่อน เขาชอบประกวด เพราะการประกวดคือการหาสิ่งที่ตัวเองเป็น เขาจะมีสไตล์ของตัวเอง มันเกิดจากการตกตะกอน เขาฟังเยอะ เมื่อมันตกตะกอนเขาก็นำมาปรับใช้กับชีวิตจนกลายเป็นตัวเขา ครูพิชสอนเก่งตั้งแต่ปี 2 ตอนเขาเรียนมหาวิทยาลัยมหิดล เราอยากสอนเขาเพราะรู้สึกว่าเด็กคนนี้มีอะไร เขาเป็นคนขยันซ้อม เขาหมกมุ่นกับมัน เขาเป็นคนสุด ครูพิชจะบอกเขาเสมอว่า “เก่ง เก่งสมชื่อ กว่าที่เขาจะดังแบบนี้เขาพยายามเยอะมาก สมแล้วที่เขาได้”

ภาระบทบาทครูสิ่งที่เป็นเป้าหมายไม่ใช่ชื่อเสียงหากแต่เป็นพัฒนาการที่เพิ่มขึ้นในทุกๆ ชั่วโมง “เป้าหมายของครูพิชที่สอน มันต้องพัฒนาไปใน 1 ชั่วโมง เดินเข้ามาแล้วต้องพัฒนา ครูพิชทำทุกวิถีทาง มันมีวิธีเยอะมาก เราก็จะหาข้อมูลในหัวว่าทำไมเขามีการพัฒนา เพราะอะไร บางทีเราสอนถูกหมดเลย แต่เราไม่เคยเข้าใจเขา โรงเรียนเรามีเด็กพิเศษเยอะมาก อีกอย่างที่เด็กจะเป็นกันมากคือโรคสมาธิสั้น การบังคับเด็กมากเกินไปมันไม่ดี เราต้องใช้ดนตรีทำให้เขารู้สึกว่าเขาพัฒนาขึ้นในทุกด้าน”

ครูพิชจึงเป็นคุณครูโดยสายเลือดเพราะทุกเช้าที่ตื่นขึ้นมาก็รู้สึกมีความสุขทีได้สอน ไม่ได้รู้สึกว่ามันคือการทำงาน นอกจากนั้นยังรู้สึกภูมิใจ ยิ่งมีลูกศิษย์เดินมาบอกว่า “ครู หนูทำได้แล้ว” นั่นเท่ากับเป็นความสุขจนครูพิชกล่าวว่ามันคือ “นิพพานชั่วขณะ”

ความรักในสิ่งหนึ่งที่ทำอยู่อาจไม่เพียงพอ แต่คุณต้องเอาตัวและจิตวิญญาณเข้าไปอยู่ในสิ่งนั้นด้วย เพราะนั่นคือเส้นทางของความสุขที่จะเกิดขึ้นอย่างแท้จริงเช่นเดียวกับครูพิช

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook