นพ.ประยูร เจนตระกูลโรจน์ ผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลผิวหนัง อโศก

นพ.ประยูร เจนตระกูลโรจน์ ผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลผิวหนัง อโศก

นพ.ประยูร เจนตระกูลโรจน์ ผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลผิวหนัง อโศก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เปิดดำเนินการมาได้เกือบ 2 ปีแล้ว สำหรับ "โรงพยาบาลผิวหนัง อโศก" โรงพยาบาลผิวหนังแห่งแรกในประเทศไทย ที่ให้บริการรักษาด้านผิวหนังโดยตรงอย่างครบวงจร พร้อมด้วยเครื่องมือทางการแพทย์อันทันสมัย และทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ

นพ.ประยูร เจนตระกูลโรจน์
สั่งสมประสบการณ์กว่า 15 ปี

นพ.ประยูร เจนตระกูลโรจน์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านผิวหนังแห่งแรกในประเทศไทย สำเร็จการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และวุฒิบัตรสาขาตจวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี ถือเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านโรคผิวหนังและการรักษาด้วยเลเซอร์

ปัจจุบัน นพ.ประยูร เป็นอาจารย์พิเศษด้านผิวหนัง หน่วยเลเซอร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางผิวหนัง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลผิวหนัง อโศก ซึ่งคุณหมอได้เล่าให้ฟังถึงแรงบันดาลใจในการมาเปิดโรงพยาบาลผิวหนัง อโศก ว่า

"จริง ๆ ผมชอบงานด้านศัลยกรรม แต่พอทำงานจริง ๆ รู้สึกว่าตัวเองเหมาะกับงานด้านผิวหนังมากกว่า แต่งานศัลยกรรมก็ถนัดนะ แต่ถ้าทำงานด้านผิวหนังจะ Cover ส่วนที่ผมชอบ รวมทั้งได้ทำในสิ่งที่อยากทำ ที่สำคัญ สิ่งที่คนไข้รับรู้มากที่สุดคือ สิ่งที่เห็นได้ด้วยตัวเอง คนไข้จะบอกได้เลยว่าดีขึ้น ไม่ใช่หมอไปตรวจแล้วบอกว่าดีขึ้น ผมใช้เวลาในการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทำงานด้านผิวหนังมาประมาณ 15 ปี ทำงานแทบไม่ได้หยุดเลย แล้วก็มองเห็นว่าบ้านเรายังทำงานกันในวงแคบ ๆ ทำแค่ Cosmetic ซึ่งผมมองว่าโรคผิวหนังไม่ได้มีแค่ Cosmetic เพียงอย่างเดียว ยังมีโรคผิวหนังอื่น ๆ อีกมากมายที่ไม่ได้รักษาได้ง่าย ๆ เช่น โรคสะเก็ดเงิน ด่างขาว มะเร็งผิวหนัง โรคภูมิแพ้เรื้อรัง ฯลฯ ผมรู้สึกว่าเป็นงานที่ท้าทาย และวิทยาการเรื่องพวกนี้ไปไกลพอสมควร ตอนแรกไม่ได้คิดจะเปิดเป็นโรงพยาบาล คิดแค่เปิดเป็นศูนย์การแพทย์ขนาดใหญ่เท่านั้น แต่พอดูพื้นที่ แค่ลงเครื่องมือพื้นที่ก็ไม่พอแล้ว และถ้าจะทำให้ Cover การให้บริการทั้งหมด คงต้องใช้พื้นที่หลายพันตารางเมตร จนในที่สุดก็กลายมาเป็นโรงพยาบาลผิวหนัง อโศก ซึ่งเปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2551"

 

  • การให้บริการและทิศทางของโรงพยาบาลผิวหนัง อโศก...?

 

ปัจจุบัน โรงพยาบาลผิวหนัง อโศก เปิดให้บริการครอบคลุมทุกการรักษา โดยแบ่งประเภทการให้บริการออกเป็น 2 ส่วน คือ

1.การรักษาโรคเกี่ยวกับผิวหนัง อาทิ แผนกโรคผิวหนังทั่วไป แผนกผิวหนังและสุขภาพเด็กแผนกโรคภูมิแพ้ผิวหนัง แผนกเลเซอร์ผิวหนัง แผนกฉายแสงอาทิตย์เทียม แผนกเส้นผมและหนังศีรษะ แผนกรักษาความผิดปกติของเม็ดสี

2. การรักษาผิวพรรณความงาม อาทิ แผนกรักษาสิว แผนกปรับแต่งและกระชับเรือนร่าง แผนกรักษาริ้วรอยและแผลเป็น แผนกเส้นเลือดขอด แผนกเวชศาสตร์วัยยุวัฒน์ "แนวคิดในการก่อตั้งโรงพยาบาลตั้งแต่เริ่มแรกคือ ต้องเป็นโรงพยาบาลที่ครอบคลุมการรักษาทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับผิวหนัง เป็นผู้นำในด้านการรักษาและในการบริหารงานต้องโปร่งใส เพราะเราวางแผนทุกอย่างไว้เพื่อจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ตั้งแต่เริ่มดำเนินการ และคาดว่าประมาณปลายปี 2012 หรือต้นปี 2013 บริษัทจะเข้าตลาดหลักทรัพย์อย่างแน่นอน

ส่วนตัวผมต้องการให้โรงพยาบาลเจริญเติบโตในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการบริหารงานที่ต้องมีความโปร่งใส คนทั่วไปก็จะรับรู้ว่าเราทำงานด้วยความโปร่งใสจริง ๆ และเชื่อว่าในแง่ของบุคลากรที่ทำงานกับเราก็จะเกิดความมั่นใจในตัวองค์กร ว่าเราไม่ได้ทำงานแบบฉาบฉวย ในแง่ของการพัฒนาด้านการรักษา ผมก็จะทำควบคู่กันไป
ทิศทางของโรงพยาบาลในอนาคตอันใกล้นี้ จะมีการเปิดสาขาเพิ่มเป็นสาขาที่สอง เพื่อเพิ่มช่องทางในการให้บริการกับคนไข้ในย่านปิ่นเกล้าให้ได้รับความสะดวกมากขึ้น คิดว่าประมาณปลายเดือนมกราคมหรือต้น เดือนกุมภาพันธ์ 2554 นี้น่าจะเปิดให้บริการได้ หลังจากนั้นจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ และเมื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์แล้วภายใน 5 คาดว่าจะเปิดสาขาเพิ่มอีกประมาณ 4-5 สาขา"
สัดส่วนของผู้ป่วยที่มารักษา

กลุ่มลูกค้าจะมีทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ สำหรับคนไทยช่วงที่เปิดโรงพยาบาลใหม่ ๆ ความที่เป็นโรงพยาบาลผิวหนัง แน่นอนคนที่มาจะมาด้วยเรื่องโรค รู้สึกว่ารักษาโรค ฉะนั้น สัดส่วนของ Cosmetic จะน้อยกว่า แต่หลังจากนั้น อัตราการเติบโตของโรคผิวหนังจะมีเข้ามาด้วยสื่อที่เราใช้ แต่ Cosmetic จะไปด้วยคำพูดของคนไข้ที่เป็นลักษณะ word-of-mouth ดังนั้น อัตราการเติบโตของกลุ่ม Cosmetic จะเร็วกว่า เลยกลายเป็นว่าตอนนี้ Cosmetic 60-70% อีก 20-30% เป็นการรักษาโรค

 

  • เกือบ 2 ปีที่ผ่านมากับการทำธุรกิจรู้สึกพอใจแค่ไหน...?

 

เท่าที่ผ่านมา ผมเห็นโรงพยาบาลมีการเจริญเติบโตมาโดยตลอด ถ้าไม่นับช่วงที่เกิดวิกฤตทางการเมือง และคาดว่าในปีหน้ายิ่งมีสาขาเพิ่มเราก็คงเติบโตแบบก้าวกระโดด ซึ่งสิ่งที่ผมอยากเห็นจากธุรกิจนี้คือ เริ่มตั้งแต่การตั้งชื่อโรงพยาบาล ผมไม่ได้นำชื่ออะไรมาเกี่ยวข้องเลย เป็น "โรงพยาบาลผิวหนัง อโศก" เพราะไม่อยากให้องค์กรนี้ยึดติดกับตัวบุคคล องค์กรจะต้องเติบโตต่อไปไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น
โดดเด่นด้านเครื่องมือทางการแพทย์...ทิ้งห่างคู่แข่งในธุรกิจที่ใกล้เคียง ถ้าด้าน Cosmetic คู่แข่งอาจมีมาก แต่ถ้าเป็นเกี่ยวกับเรื่องโรคผิวหนังเราอาจไม่มีคู่แข่ง เพราะถ้าเทียบประสิทธิภาพในการรักษากับ facility ที่มีอยู่ เพราะตอนนี้นวัตกรรมของเราไปไกลกว่าเยอะ สองปีที่ผ่านมาผมมีเครื่องมือใหม่ ๆ เข้ามาเกือบทุกเดือน เรียกว่าไปรักษาที่ไหนไม่หาย มาที่นี่เรามีคำตอบ เพราะเรามีเครื่องมือที่ทันสมัย เช่น Phototherapy ในการรักษาโรคผิวหนังเรื้อรัง มี Super Vision X-Ray สำหรับรักษามะเร็งผิวหนังชนิดที่ไม่ต้องผ่าตัด เป็นต้น

 

  • ส่วนตัวเป็น CEO แบบไหน...?

 

โรงพยาบาลนี้ผมดูแลเองทุกอย่างตั้งแต่เริ่มก่อสร้าง ตั้งแต่ยังไม่มีอะไรเลย งานบางอย่างมีคนดูแลโดยตรงแต่ผมก็ต้องรับรู้ เพราะจะมีช่วงเวลาที่ทุกแผนกต้องมาคุยกับผม ทุกแผนกต้องมาพูดคุยถึงความก้าวหน้า ปัญหา อุปสรรคและวิธีแก้ไข
ปัจจุบันผมยังลงมือทำงานเองทุกอย่าง แม้กระทั่งการลงไปตรวจคนไข้ ผมทำงาน 7 วัน ทุกคนเห็นผมทุกวัน เป็นผู้บริหารที่ทุกคนสามารถสัมผัสได้ตั้งแต่พนักงานระดับล่าง เพราะสไตล์การทำงานของผมคือ ทำทันที ไม่ว่าอะไรก็ตามที่เห็นว่าแก้ไขได้ ผมทำทันที และถ้าสามารถแก้ได้ในตอนนั้นผมจะทำเลย
ถ้าสิ่งไหนทำเองได้ผมลงมือทำเอง เพราะถ้าเป็น CEO แล้วใช้คำสั่งเพียงอย่างเดียว ก็จะไม่เกิดแรงจูงใจในการทำงานสำหรับพนักงาน ผมไม่ใช่ผู้นำทางด้านคำสั่งอย่างเดียว แต่พยายามจะเป็นผู้นำทางด้านจิตวิญญาณ แปลว่าการทำงานทุกอย่างผมขอมีส่วนเกี่ยวข้องหรือลงมือทำด้วย ผมไม่ได้ทิ้งให้คุณทำงานตามลำพัง แล้วมานั่งประเมินผลงาน บอกเพียงแค่ว่าทำดีหรือไม่ดีแค่นั้น ถ้าทำได้ผมทำ ลงมือเองได้ลงมือทำเองหมด

 

  • ใช้หลักในการบริหารปกครองอย่างไร ...?

 

จริง ๆ จะว่าเป็นกึ่ง family ก็ใช่นะ ผมพยายามวางให้โรงพยาบาลเป็นเหมือนองค์กรที่เป็นแบบ standard สากล แต่มีกลิ่นไอของ family อยู่ เพราะผมเชื่อว่าความเป็น family ซื้อไม่ได้ด้วยเงิน เพราะเงินไม่สามารถซื้อได้ทุกอย่าง

 

  • ทำงานอย่างไรให้มีความสุข...?

 

การทำงานของผม ๆ รู้สึกเหมือนกับการเลี้ยงลูก เริ่มจากเจ้าหน้าที่ทุกคนไม่ใช่ลูกจ้าง แต่เป็นเหมือนเพื่อนร่วมงาน ผมโชคดีที่ได้เจ้าหน้าที่ที่มี royalty กับองค์กร เวลาประเมินผมให้คะแนน royalty เยอะมาก คือความรู้คุณศึกษาได้ ความชำนาญคุณทำบ่อย ๆ คุณฝึกได้ แต่ royalty ซื้อด้วยเงินไม่ได้ แต่นั่นก็เป็นหน้าที่ของผมที่จะต้องตอบแทนพนักงานทุกคน เมื่อบริษัทได้เข้าตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้ทุกคนได้มีส่วนในการเป็นเจ้าของธุรกิจ

 

  • ฝากคำแนะนำถึงผู้ที่ต้องการจะใช้บริการเพื่อการรักษา...?

 

สิ่งแรกคือ คนไข้ต้องหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคที่เกิดขึ้นก่อน ปัจจุบันข้อมูลข่าวสารหาสามารถหาได้ง่ายมาก ประการต่อมาคือ ต้องดูความน่าเชื่อถือของสถาบันที่จะไปรักษา เพื่อดูว่าที่ไหนเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคนั้นจริง ๆ  และหาที่ที่มี facility พร้อม เพราะไม่ใช่แค่รักษาอย่างเดียว แต่จะต้องได้คุณภาพและความปลอดภัยด้วย

 

ผู้เขียน : ณัฐกานต์

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook