งีบหลับกับโต๊ะทำงานโดยไม่ระมัดระวัง อาจส่งผลเสียหายร้ายแรง

งีบหลับกับโต๊ะทำงานโดยไม่ระมัดระวัง อาจส่งผลเสียหายร้ายแรง

งีบหลับกับโต๊ะทำงานโดยไม่ระมัดระวัง อาจส่งผลเสียหายร้ายแรง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผลวิจัยทางการแพทย์หลายสำนัก มักให้บทสรุปที่ตรงกันว่า การงีบหลับช่วงสั้น ๆ 15-20 นาที หลังจากตื่นมาแล้ว 8 ชั่วโมง จะช่วยลดความเครียด รู้สึกสดชื่น ผ่อนคลาย เพิ่มความจำและความสามารถในการเรียนรู้ ช่วยให้การทำงานต่อจากนั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีผลวิจัยพบว่า ช่วยลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคหัวใจ และทำให้สุขภาพดีในระยะยาวอีกด้วย

ปัจจุบันองค์กรจำนวนไม่น้อย ยอมรับผลดีของการงีบหลับช่วงสั้น ๆ เหล่านี้ จึงไม่ถือว่า การที่พนักงานงีบหลับบ้างในเวลางาน เป็นเรื่องผิดระเบียบ หากไม่กระทบหรือส่งผลเสียต่องาน  ถึงกระนั้น หากงีบหลับแบบฟุบกับโต๊ะทำงานโดยไม่ระมัดระวังแล้ว อาจส่งผลเสียหายร้ายแรงได้...

เมื่อประมาณต้นเดือนมิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา สำนักข่าวต่างประเทศได้รายงานว่า ศาลแรงงานแห่งรัฐเฮสเซ่น ทางตะวันตกตอนกลางของเยอรมนี ได้พิจารณาคดีที่พนักงานของธนาคารแห่งหนึ่งในเยอรมนี เผลองีบหลับด้วยการหนุนศีรษะบนคีย์บอร์ด แล้วนิ้วไปกดแช่ที่แป้นพิมพ์เลข "2" จนกลายเป็นการโอนเงินที่มากถึง 222,222,222.22 ยูโร (ราว 8.9 พันล้านบาท) โดยไม่รู้ตัว

เมื่อตื่นขึ้นและเห็นว่าตนเองทำอะไรลงไป เขาตกใจมาก จึงแจ้งให้ผู้จัดการสาขาของธนาคารทราบ ซึ่งช่วยแก้ไขสถานการณ์ได้ทันท่วงที แต่ผลที่ตามมาปรากฏว่า ผู้บริหารธนาคารมีคำสั่งให้ไล่พนักงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบรายงานการทำธุรกรรมในแต่ละวันออกจากงานแทน โดยให้เหตุผลว่า ไม่ตรวจสอบรายการโอนเงินโดยละเอียด ขณะที่พนักงานคนที่เป็นต้นเหตุกลับได้รับเพียงจดหมายตักเตือน แต่โชคยังเข้าข้าง ในที่สุดศาลได้พิจารณาและมีคำพิพากษาให้ธนาคารรับพนักงานที่ถูกไล่ออกกลับเข้ามาทำงานตามเดิม เนื่องจากเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น

แม้ว่าเหตุการณ์ที่ไม่น่าเกิดขึ้นนี้ จะจบลงด้วยความสุข ปัญหาที่เกิดขึ้นแก้ไขได้ และไม่มีใครต้องออกจากงาน แต่ในอีกมุมหนึ่งที่ดีกว่า คือ ปัญหาแบบนี้ ไม่ควรที่จะเกิดขึ้นเลย
บทเรียนที่คนทำงานทุกคนควรตระหนัก ไม่ใช่การงีบหลับ แต่ประเด็นสำคัญ คือ ความประมาทเพียงเล็กน้อย อาจสร้างความเสียหายยิ่งใหญ่ได้

พลาดเพราะไม่คิดก่อนทำในขณะที่พนักงานคนนั้นง่วงจนทนไม่ไหว การงีบหลับคงเป็นทางเลือกที่เขาใช้อยู่เสมอ และที่ผ่านมาไม่เกิดผลเสียแต่อย่างใด จึงไม่ได้คิดให้รอบคอบ ง่วงก็งีบเลย ซึ่งในความเป็นจริง หากคิดสักนิด ย่อมเห็นว่าโอกาสที่ความผิดพลาดเกิดขึ้นมีความเป็นไปได้ เพราะการนอนทับบนคีย์บอร์ด ในขณะที่เครื่องคอมพิวเตอร์ยังเปิดอยู่โอกาสที่นิ้วมือจะไปโดนปุ่มใด ๆ บนคีย์บอร์ดย่อมเป็นไปได้โดยที่เราไม่รู้ตัว ดังนั้นความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนี้จึงสามารถสรุปได้ว่าเป็นการกระทำโดยประมาท เพราะเป็นเรื่องที่สามารถป้องกันได้

ผลร้ายอาจใหญ่เกินคาดในกรณีนี้ จากความผิดเล็ก ๆ ของการงีบหลับแล้วนิ้วไปโดนคีย์บอ์รดในช่วงเวลาไม่กี่วินาทีเท่านั้น ของพนักงานเพียงคนเดียว ส่งผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้องและองค์กรในภาพรวม คน ๆ เดียวทำผิด แต่ผู้ตรวจสอบถูกไล่ออก และองค์กรต้องวิ่งวุ่นในการจัดการปัญหาความวุ่นวายที่เกิดขึ้น ซึ่งหากปัญหานี้แก้ไขไม่ได้ องค์กรย่อมสูญเสียเงินจำนวนมหาศาลไปอย่างไม่น่าจะเกิดขึ้น


เรื่องที่เกิดขึ้นนี้เป็นตัวอย่างที่ดี สำหรับคนทำงานที่อาจเกิดความผิดพลาดขึ้น เพราะประมาท ไม่คิดให้รอบคอบก่อน หรือพลั้งเผลอเลินเล่อ คิดว่าไม่เป็นอะไร แต่ในความเป็นจริง หากเราตั้งสติในการทำงาน คิดให้รอบคอบก่อนเสมอว่า ถ้าทำสิ่งนี้ หรือไม่ทำสิ่งนี้ จะเกิดผลที่ตามมาอะไรได้บ้าง สิ่งที่เราจะทำนั้นสร้างผลดีผลเสียอะไรบ้าง เพื่อประเมินว่า เราควรทำสิ่งนั้นหรือไม่ ย่อมช่วยให้เรารอบคอบ ก่อนที่จะตัดสินใจทำลงไป ย่อมช่วยลดความเสียหายจากความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจลงได้

จำไว้ว่า การแก้ปัญหายากกว่าป้องกันปัญหาดังนั้น เราจำเป็นต้องมีสติ และคิดให้รอบคอบก่อนทำสิ่งใดลงไปเสมอ
แน่นอนว่าความผิดพลาดที่ไม่ตั้งใจนั้นอาจเกิดขึ้นได้ แต่ถ้าเราสามารถป้องกันมิให้ปัญหาที่ไม่จำเป็น หรือปัญหาที่เกิดจากความประมาทเลินเล่อมิให้เกิดขึ้นได้ และเหลือไว้เฉพาะปัญหาที่คาดไม่ถึง ปัญหาที่ไม่สามารถป้องกันได้จริง ๆย่อมช่วยให้องค์กรขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย โดยไม่ต้องเสียเวลาจัดการกับปัญหาที่ไม่ควรเกิดขึ้น

 

ผู้เขียน
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์

 

 

.....................................................................................................................

ติดตามทุกเรื่องราวเกี่ยวกับผู้ชาย รวบรวมข้อมูลเรื่อง แฟชั่นผู้ชาย ทรงผมผู้ชาย น้ำหอมผู้ชาย
พร้อมด้วยหลากหลายบทความเกี่ยวกับ สุขภาพ สาวสวย และที่เที่ยวกลางคืนได้ที่นี่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook