หนังสือที่ได้รับมา “ตำราไสยศาสตร์” ฉบับพิสดาร โดย การะเกต์ ศรีปริญญาศิลป์

หนังสือที่ได้รับมา “ตำราไสยศาสตร์” ฉบับพิสดาร โดย การะเกต์ ศรีปริญญาศิลป์

หนังสือที่ได้รับมา “ตำราไสยศาสตร์” ฉบับพิสดาร โดย การะเกต์ ศรีปริญญาศิลป์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ ต้องบอกก่อนว่า เป็นประสบการณ์ และความคิดความเห็นส่วนตัว ยังไม่เคยเล่าอย่างเป็นทางการที่ไหนมาก่อน แต่เพราะมีเหตุการณ์หลายอย่างที่โยงใยกันไปมา จึงทำให้ได้ลองตั้งสมมุติฐานบางอย่างขึ้นมา ในลักษณะอยากจะค้นหาว่า เรื่องราวต่างๆ เป็นเพียงเหตุพ้องพาน เราคิดไปเอง อยู่ในข่ายเอกมโนโทจินตนาการ หรือมันเป็นสิ่งบอกเหตุการณ์ที่น่าศึกษาต่อไป

นั่นคือการอุบัติขึ้นของเรื่องราวแต่ละส่วนเสี้ยว ที่เหมือนจิ๊กซอว์ขนาดเล็ก ค่อยๆ ปะติดปะต่อกันไป จนทำให้ค่อยๆ เห็นภาพใหญ่เลือนรางขึ้นทีละน้อย

แต่ความที่เรื่องมีความซับซ้อน เพราะคงต้องเรียบเรียงไปตามความรู้สึกนึกคิด และแทรกเกร็ดที่ระลึกนึกได้เป็นช่วงๆ ไป จึงอาจจะเขียนยาวหน่อย ก็จะแบ่งเป็นช่วงๆ ไปนะคะ

ปฐมบท “หนังสือที่ได้มา”

(เรื่องส่วนนี้ เคยเขียนไว้เล็กน้อยในเรื่องเล่าเกี่ยวกับคุณไสย, เคยลงในเพจการะเกต์พยากรณ์) เรื่องมีอยู่ว่า

วันหนึ่ง มีคนส่งข้อความมาบอกว่า เธอพบหนังสือเล่มหนึ่งอยู่ในห้องพระที่บ้าน แต่ไม่เคยเห็นหนังสือเล่มนี้มาก่อนเลย ทั้งๆ ที่ได้เข้าไปปัดกวาดเช็ดถูห้องพระอยู่เสมอมา

เธอผู้นั้นอยู่ร่วมบ้านกับคุณแม่ พ่อกับน้องชายได้เสียชีวิตไปแล้ว ดังนั้น จึงคาดว่าหนังสือเล่มดังกล่าว น่าจะเป็นของคุณพ่อ

แต่เธอว่า ก็น่าแปลก ไม่เคยเห็นหนังสือเล่มนี้มาก่อนเลยจริงๆ ตั้งแต่สมัยที่คุณพ่อยังอยู่ จนท่านเสียไป แม้จะมีการทำบุญบ้านหลายครั้ง มีการดูแลทำความสะอาดทุกห้องอย่างดี แม้แต่ชั้นหนังสือต่างๆ ก็ไม่เคยมีหนังสือเล่มนี้อยู่ในความทรงจำเลย

แต่ก็อาจเป็นได้ว่า เพราะไม่ใช่หนังสือในแนวที่เธอสนใจก็เป็นได้ จนเมื่อวันหนึ่ง เข้าไปทำความสะอาดห้องพระตามปกติ กลับพบหนังสือเล่มนี้วางเด่นหราอยู่ ด้วยความข้องใจ เธอจึงนำไปให้คุณแม่ดู

คุณแม่ก็บอกว่า ไม่เคยเห็นหนังสือเล่มนี้มาก่อนเช่นกัน และทั้งสองก็ไม่เคยสนใจเรื่องในทำนองนี้มาก่อน ตัวคุณแม่เองบอกด้วยว่า สมัยที่คุณพ่อยังมีชีวิตอยู่นั้น แม้ท่านจะเป็นคนใจบุญสุนทานคนหนึ่ง และมีพระเครื่องสะสมไว้มาก แต่โดยมากเพราะมีผู้นำมามอบให้ คุณแม่เองไม่เคยเห็นว่าคุณพ่อจะสนใจเรื่องแนวนี้มาก่อนเลย

เธอผู้นั้นจึงได้ติดต่อมาหา เพื่อจะบอกว่า อยากจะส่งหนังสือมาให้ เพราะเห็นว่าทำงานสายนี้อยู่ เผื่อจะเป็นประโยชน์

แล้วไม่กี่วันต่อมา หนังสือก็มาถึง

หนังสือเล่มดังกล่าว มีขนาดรูปเล่มเท่าหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คทั่วไป แต่กระดาษค่อนข้างเก่า มีสีน้ำตาลอ่อน บนปกเขียนว่า

“ตำราไสยศาสตร์”

ฉันนั้น เป็นคนชอบอ่านหนังสือ ชอบเก็บหนังสือ และหลายครั้งถ้าเจอหนังสือเก่าที่ถูกใจก็จะซื้อหาเก็บไว้ตลอด แต่ก็ไม่เคยเห็นหนังสือเล่มนี้มาก่อนเช่นกัน

พอพลิกดูไปมา ก็เข้าใจได้ว่าทำไมไม่เคยเห็น เพราะบนปกระบุไว้ว่า

พิมพ์เพื่อแจกญาติมิตร และผู้ที่เคารพนับถือ ด้วยอภินันทนาการ จาก นายวีระ เชาว์มั่น จึงได้ถึงบางอ้อว่า อ๋อ เป็นได้ว่าคุณพ่อของผู้ส่งมาให้ คงจะได้มาจากการร่วมงาน เป็นของที่ระลึกเป็นแน่แท้

จากนั้น ก็จึงพลิกอ่านดูก่อนคร่าวๆ ในหน้าแรกของหนังสือ เขียนไว้ว่า “ตำราไสยศาสตร์เล่มนี้ หากเกิดผลดีประการใดขึ้นแล้ว ข้าพเจ้าขออุทิศส่วนกุศลนั้นให้แก่ คุณอนันต์ คุณานุรักษ์ ผู้รวบรวมด้วย”

ลงชื่อ นายวีระ เชาว์มั่น

ใจก็คิดว่า น่าสนใจดีนะ เปิดผ่านๆ เห็นมีคาถาอยู่หลายบท แต่บางบทก็คุ้นเคยอยู่ ตอนแรกจึงนึกเพียงว่า ก็สงสัยจะเป็นหนังสือรวมตำราคาถาทั่วไป ซึ่งจะว่าไปแล้วที่บ้านเองก็มีตำราเกี่ยวกับเวทมนตร์คาถาต่างๆ อยู่พอสมควร

ก็เลยอ่านข้ามๆ คร่าวๆ แล้ววางหนังสือทิ้งไว้

จนอีกวันหนึ่ง ก็นึกอยากจะเอาหนังสือมาอ่านดูอีกสักที คราวนี้เปิดไล่ไปจนถึงข้างหลัง พบว่าท้ายสุดมีบทความเขียนในลักษณะคล้ายๆ คำตามว่า

s__34201614

“คติธรรม

ของท่านเจ้าคุณญาณโมลี

วัดตานีนรสโมสร”

ขึ้นต้นข้อเขียนว่า

“ไสยศาสตร์ แปลว่า การรู้เรื่องการนอนของใจ ได้แก่ทำใจให้สงบ จากอารมณ์ที่ปรารถนาบ้าง และไม่ปรารถนาบ้าง จนใจวางอารมณ์นิ่งอยู่กลางๆ หรือที่เรียกว่าวางเฉย ใจเช่นนี้แหละเรียกว่าใจนอน

เมื่อนำไปใช้เข้ากับอารมณ์ใด ย่อมเป็นใจที่ทรงไว้ซึ่งอำนาจอย่างน่าอัศจรรย์ สามารถที่จะบันดาลเหตุการณ์ และสรรพสิ่งต่างๆ ให้เป็นไปตามความปรารถนา

ผู้ที่ศึกษาความรู้การนอนของใจนี้ ย่อมทำอะไรได้แปลกประหลาดเป็นพิเศษ เช่น การอยู่ยงคงกะพันชาตรี ไปมาไหนๆ ได้รวดเร็ว ฯลฯ เป็นผู้มีเมตตามหานิยมเป็นต้น

ความรู้ประเภทนี้ จึงเป็นที่นิยมของท่านบุรพชนชาวไทยมาแต่โบราณกาลจนตราบเท่าทุกวันนี้

แต่มีหลักธรรมดาอยู่ว่า สิ่งใดมีคุณอนันต์ สิ่งนั้นก็มีโทษมหันต์ ไสยศาสตร์ก็เหมือนกัน ถ้าผู้เรียนรู้แล้วนำไปใช้ในทางที่ผิด เช่น เป็นผู้ร้ายปล้นสดมภ์ หรือเอาไปใช้เป็นอาถรรพ์ฝังรูป ทำให้ผู้อื่นทุกข์ยากลำบาก ก็มีผลร้ายสะท้อน ผู้นั้นหาความเจริญไม่ได้ กลายเป็นคนคุ้มดีคุ้มร้ายดูน่าสลดใจ

และถ้านำไปใช้ในทางที่ดี เช่น ต่อสู้เพื่อประเทศชาติ หรือช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก ก็มีผลดีสะท้อนให้ผู้นั้นมีความเจริญด้วยลาภยศสรรเสริญ อันเป็นความประสงค์ของผู้สร้างตำรับไสยศาสตร์ที่แท้จริง...”

พออ่านมาถึงตรงนั้น ก็ชักให้นึกจับใจ พลิกไปดูด้านหลัง จึงเห็นว่า ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2498

ทีนี้ เมื่ออ่านไปจนจบเล่มแล้ว ก็ให้นึกสนใจขึ้นมาว่า เออ พระคุณเจ้าผู้เขียนบทความนี้เป็นใครกันหนอ ด้วยความที่ตัวเองมีชีวิตส่วนหนึ่งอยู่กับเรื่องทางพิธีกรรม ความเชื่อ โหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ อันคุ้นเคยมาแต่อ้อนแต่ออก เพราะพ่อเองก็ทำงานสายนี้มาโดยตลอด

เมื่อเจอข้อความของ “พระ” ที่เขียนถึงวิชาไสยศาสตร์ไว้อย่างมีหลักเกณฑ์ ดูเต็มไปด้วยทัศนคติที่ดี ที่ควรจะเป็นแนวทางที่ถูกต้อง ก็เลยนึกอยากจะลองค้นหาดูสักหน่อยว่า ท่านเจ้าคุณผู้นี้ท่านเป็นใคร

แน่นอนว่า ก็ต้องใช้ Google ในการสืบค้นข้อมูล และเป็นเรื่องโชคดีไม่น้อย ที่ในสมัยนี้ เรามักจะหาอะไรๆ ได้อย่างง่ายดายในกูเกิล

ทว่า เมื่อเห็นข้อมูลที่ปรากฏออกมา ก็ต้องชะงักทันที

จากการสืบค้นด้วยคีย์เวิร์ดว่า

“เจ้าคุณญาณโมลี

วัดตานีนรสโมสร”

ก็เจอลิงค์แรกนำไปที่บทความว่า

พระธรรมโมลี (พระเทพญาณโมลี) (เกตุ ติสฺสโร วัดตานีนรสโมสร ท่านมีนามเดิมว่า “เกตุ”

คำว่า “เกตุ” ที่ปรากฏอยู่ในวงเล็บชื่อ เป็นสิ่งที่ทำให้อดจะอึ้งไปไม่ได้ เพราะความที่ฉันเองในตอนเกิด ก็มีชื่อจริงว่า เกตุ ด้วยเหมือนกัน และเมื่ออ่านไปตามลิงค์ต่างๆ ก็ให้นึกทึ่งมากยิ่งขึ้น

ประวัติบอกว่า ท่านเป็นพระคุณเจ้าผู้มีความรู้ความสามารถมาก เป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนสอนภาษาไทยแห่งแรกในจังหวัดปัตตานี และยังเป็นผู้ชอบเขียนกาพย์กลอน มีผลงานเป็นร้อยแก้วร้อยกรองต่างๆ

เล่มที่ขึ้นชื่อของท่านเล่มหนึ่ง คือ “มหาสุบินคำฉันท์”

อดคิดไม่ได้ว่า หากท่านยังมีชีวิตอยู่ และได้หนังสือที่ท่านเขียนคำตามมาอย่างนี้ หากมีโอกาสก็อยากไปกราบท่านสักครั้งหนึ่ง แต่ก็นั่นเอง เมื่ออ่านจากประวัติต่างๆ ก็พบว่าท่านได้มรณภาพไปแล้ว ตั้งแต่ปี 2540 โดยสิริรวมอายุได้ 100 ปี (ท่านชาตะในปี 2440)

ปีที่ท่านเขียนคำตามในหนังสือดังกล่าว ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2498 นับว่าก่อนฉันเกิดได้ 16 ปี 

สิ่งที่ฉันเกิดความสนใจขึ้นมาก็คือ เจ้าของหนังสือที่ส่งมาให้ก็ไม่รู้จักท่าน ฉันเองก็ไม่รู้จัก แต่การพ้องพานด้วยชื่อที่มากับหนังสือ ได้จุดความสนใจให้ฉันเองหวนกลับมาพิจารณาหนังสือใหม่ ว่า หรือชะรอยในหนังสือเล่มนี้ จะมีอะไรดีๆ ซ่อนอยู่

แล้วในท่ามกลางคาถาต่างๆ ในเล่ม ฉันก็สะดุดเข้ากับหน้าที่ 26 หัวข้อว่า

“วิธีปฏิบัติต่อพี่เลี้ยงทั้งสี่”

แล้วจึงได้ตัดสินใจ เอาหนังสือใส่พานบูชา จัดข้าวตอกดอกไม้รำลึกถึงผู้จัดทำหนังสือ ผู้รวบรวมเขียน และพระคุณเจ้าพระธรรมโมลี ว่าจะขอลองร่ำเรียนศึกษาแบบทางไกลผ่านตำราดูสักที

เชื่อหรือไม่ว่า แล้วพี่เลี้ยงตามตำราในหนังสือดังกล่าว ก็มีปรากฏขึ้นมาได้จริงๆ ซึ่งจะเล่าในตอนต่อไป และนั่นคือสิ่งหนึ่งที่ได้ทำให้เกิดความรัก และนับถือหนังสือเล่มนี้มาก พลางอดคิดไม่ได้ว่า หนังสือถูกส่งมาให้อย่างตั้งใจจริงๆ ใช่ไหม?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook