การบูชาพระพุทธรูป พระเครื่อง ตามหลักโบราณจารย์ เสริมมงคลในชีวิต

การบูชาพระพุทธรูป พระเครื่อง ตามหลักโบราณจารย์ เสริมมงคลในชีวิต

การบูชาพระพุทธรูป พระเครื่อง ตามหลักโบราณจารย์ เสริมมงคลในชีวิต
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สำหรับเรื่องการบูชาพระกับคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธนั้นถือเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากที่สุดเรื่องหนึ่ง เพื่อความเป็นสิริมงคลนั้นซึ่งต้องถือว่าเป็นเรื่องดีทั้งสิ้น จะกล่าวถึงการบูชาพระซึ่งหมายถึงทั้ง พระพุทธรูป พระเครื่อง สิ่งที่สร้างขึ้นมาเป็นตัวแทนของพระพุทธองค์ รวมถึงพระเจดีย์ ไม่ว่าจะเป็นธาตุเจดีย์ ธรรมเจดีย์ บริโภคเจดีย์ หรือ อุเทสิกเจดีย์ ก็ตาม ล้วนแต่สร้างขึ้นเพื่อเป็นการรำลึกถึงพระพุทธเจ้า เวลาไหว้ ใจจะต้องน้อมรำลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า โดยอาศัยสิ่งเหล่านั้นเป็นเครื่องกระตุ้นให้ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ (และยังสามารถไปใช้ได้กับทุกสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไม่ว่าจะเป็นองค์เทพเจ้าวัตถุมงคลต่างๆ ล้วนใช้หลักการเดียวกันทั้งสิ้นในเบื้องต้น ที่ถือว่าเป็นเรื่องที่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง ที่หลายอาจจะบูชาแบบไม่เข้าใจ ที่เน้นเอาเปลือกมากกว่าแก่น)

ควรไหว้ด้วยความสำนึกในพระคุณงามความดี พระเมตตา พระมหากรุณา พระบริสุทธิคุณของพระพุทธองค์ นี่คือคุณประโยชน์ เบื้องต้น แต่เป็นจุดที่สำคัญยิ่งในการบูชาพระ เป็นปริศนาธรรมที่ครูบาอาจารย์ได้ตั้งใจสร้างพระให้เป็นตัวแทนของพระพุทธองค์ เป็นเครื่องมือในการสร้างความดี เพื่อให้คนทุกคนได้พัฒนาศักยภาพในการมีชีวิต นอกเหนือจากคำสอนทางพุทธศาสนาที่ดีเลิศหาศาสนาใดมาเทียบได้ยาก จุดมุ่งหมายในการบูชาพระของคนนั้นอาจจะแตกต่างกัน ซึ่งแล้วแต่จริตของคนที่มี เป็นเรื่องแล้วแต่ภูมิธรรมของคน ในผู้มีภูมิธรรมชั้นสูงท่านไม่ต้องห้อยพระหรือมีพระพุทธรูปในบ้านเลยก็ได้ เพราะพระนั้นสถิตอยู่ในจิตปักแน่นไม่มีสูญสลายไปแล้ว

เป็นจิตที่ตื่นรู้ไม่มีวันหลับและหลงอีกต่อไป สำหรับคนที่มีจริตไม่สูง การบูชาพระเป็นเรื่องจำเป็นในการเหนี่ยวนำให้ไปสู่ความดีงามของชีวิต เป็นเครื่องมือในการกระตุ้นจิต หลายคนใช้พระในการช่วยจิตในการเจริญภาวนาให้เกิดปัญญาที่ถูกต้อง หลายคนใช้เป็นสื่อช่วยเหนี่ยวนำให้จิตน้อมรับคำสอนของพระพุทธองค์ไปทีละน้อยๆ จนเข้าใจในที่สุดแต่ในความเป็นจริงพุทธปาฏิหาริย์ที่มีอยู่ในองค์พระมีอยู่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง แต่จะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นนั้นอยู่ที่ตัวของผู้บูชาว่า มีความเข้าใจอย่างไร ปฏิบัติตนอย่างไร บูชาแบบไหน ส่วนพุทธคุณในเรื่องของการแคล้วคลาด ป้องกันภัยอันตราย รักษาโรค มีโภคทรัพย์ มีลาภไม่ขาดสายนั้น เป็นเหมือนของแถม อยู่ที่บุญและกรรมของคนที่บูชาเป็นสำคัญ เรื่องนี้เราจึงต้องเข้าใจให้ทะลุ

แต่อย่างไรก็ตามคนที่เริ่มบูชาพระนั้น ต้องถือว่าเป็นนิมิตหมายอันดีที่จะทำให้ชีวิตตนเจริญขึ้นอย่างน้อยก็คงเหมือนดังที่หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ พระอริยสงฆ์ที่ละสังขารไปแล้วเคยกล่าวไว้ว่า "ติดวัตถุมงคล ก็ยังดีกว่าติดวัตถุอัปมงคล" ดังนั้นก่อนอื่นคนที่จะบูชาพระต้องทราบว่า การบูชาพระที่ถูกต้องที่สุดก็คือ “การปฏิบัติบูชา” ต่อพระพุทธเจ้าโดยตรง และในพุทธกาล พระพุทธองค์ได้ตรัสถึงการบูชาที่ถูกต้องสำหรับที่เหล่าสาวกจะบูชาพระพุทธองค์ดังปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกมหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค (พระไตรปิฎกเล่มที่ 10) ว่า

“ดูก่อนอานนท์ ตถาคตจะชื่อว่าเป็นผู้ที่บริษัทสักการะเคารพ นับถือ บูชา หรือนอบน้อมแล้วด้วยเครื่องสักการะประมาณเท่านี้ก็หามิได้ พุทธบริษัททั้ง 4 คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ทำการสักการะตถาคต ด้วยเครื่องบูชาสักการะทั้งหลายอันเป็นอามิส เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน เครื่องหอมทั้งหลาย เป็นต้น หาชื่อว่าบูชาตถาคตด้วยการบูชาอันยิ่งไม่ ผู้ใดที่ปฏิบัติธรรม ปฏิบัติอันชอบยิ่ง ปฏิบัติธรรมอันเหมาะสม ผู้นั้นแลชื่อว่าได้ทำการสักการบูชาอันยอดเยี่ยม”

จากคำจากพระโอษฐ์ของพระพุทธองค์นั้น คงจะทำให้ทราบทันทีว่า พระพุทธองค์ทรงยกย่อง "การปฏิบัติด้วยการกระทำ" มากกว่าการจะนำวัตถุสิ่งของใด ๆ มาบูชา เป็นการปฏิบัติทั้งทางธรรมและทางโลกอย่างเหมาะสม แต่พระพุทธองค์ก็ไม่ได้ทรงห้ามถึงการนำสิ่งของทั้งหลายมาบูชา เพราะถือว่าเป็นเรื่องของความเชื่อที่มีมาดั้งเดิมอยู่ก่อนแล้วเท่านั้นเอง

แต่พระพุทธองค์ทรงให้เราทั้งหลายใช้ปัญญาในการพิจารณาว่าเรื่องใดเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม บอกไปแล้วในศาสนาพุทธนั้นไม่ได้ไม่เชื่อในการมีอยู่ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พรหมเทพเทวดา เพราะในพระไตรปิฎกมีการกล่าวในเรื่องเหล่านี้มากมาย แต่ได้วางฐานะของสิ่งศักดิ์สิทธ์ พรหมเทพเทวดาทั้งหลายอยู่ในสถานะที่เหมาะสม มีวิธีบูชาที่ถูกต้อง เรื่องเหล่านี้เป็นเคล็ดวิชาสำคัญที่จะช่วยให้ท่านทั้งหลายพบกับความเป็นสิริมงคลในชีวิตเร็วมากยิ่งขึ้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook