สร้าง "บ้านของเรา" ที่อยุธยา แบบบ้าน "ธนนไชย" ของ กทม

สร้าง "บ้านของเรา" ที่อยุธยา แบบบ้าน "ธนนไชย" ของ กทม

สร้าง "บ้านของเรา" ที่อยุธยา แบบบ้าน "ธนนไชย" ของ กทม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สร้างบ้านเป็นเรื่องยาก แต่สำหรับคนมีฝันอย่างคุณสมาชิกหมายเลข 1994121 จากเว็บไซต์พันทิพ ดอทคอม ก็ไม่เคยยอมแพ้ ในที่สุด...ก็มีโอกาสมารีวิวการ สร้างบ้านของเราที่อยุธยา ซะที การจะสร้างบ้านสักหลังนึงเนี่ย ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะคะ เคยเข้ามาหาข้อมูลจากห้องชายคาแห่งนี้...อยากได้ตัวอย่างบ้านธนนไชยที่สร้างเสร็จแล้ว..แต่ก็ไม่มี การมารีวิวบ้านของเราในครั้งนี้ ก็แอบเขินอยู่เหมือนกัน แต่เพื่อเป็นการบันทึกเรื่องราวของเราและเพื่อเป็นวิทยาทานความรู้ตอบแทนเหล่าสาวกพันทิพ ณ ห้องชายคาแห่งนี้...เอาวะ...สู้ว้อยยย เป็นกำลังใจให้ด้วยนะคะ

ก่อนอื่นขอเริ่มต้นการสร้างบ้านเป็นลำดับขั้นตอนดังนี้นะคะ

เรื่องที่ 1 การเลือกที่ดินปลูกสร้าง

เราเริ่มวางแผนที่จะปลูกบ้านกัน เริ่มแรกจะปลูกบนเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ ไม่ไกลจากบ้านเดิมเท่าไหร่ แต่ต้องใช้เวลาในการถมดินและรอเวลาอีกหลายประการ เราก็เอาต้นไม้ไปลงไว้ตั้งแต่ก่อนน้ำท่วมปี 54 ต้นไม้ตายหมดจนปัจจุบันก็มีต้นไม้อีกครั้ง

ตรงพื้นที่สีฟ้าล่ะค่ะที่เราจะปลูกบ้านกัน แต่ก็ต้องเปลี่ยนใจมาปลูกที่หลังบ้านเดิมในพื้นที่สีแดงแทน เนื่องจาก
1. แม่สามีบอกว่าไกลเกินอยากให้อยู่ใกล้กัน มีอะไรจะได้ช่วยกันได้ ตอนแรกก็ไม่คิดว่าไกลหรอกแค่ 300-500 เมตรเอง แต่พอน้ำท่วมปี 54 เท่านั้นล่ะถึงได้เข้าใจว่า การอยู่แยกออกไปมันไกลจริงๆ
2. ถ้าไปปลูกที่พื้นที่สีฟ้าคงต้องเสียตังค์ทำรั้วหลายตังค์แน่ๆ เปลี่ยนใจดีก่า
3. มีคนบอกว่าอยู่ในพื้นที่เด่นเกินไป เดี๋ยวจะเป็นที่หมายปองของมิจฉาชีพ...อันนี้ระแวงค่ะ กลัวตอนอยู่บ้านกะลูกสองคน

จากนั้น จึงให้ที่ดินมาทำรางวัดไว้เพื่อแบ่งจากบ้านเดิม มีพื้นที่อยู่ที่ 66 ตารางวา

ต่อมา ก็มาถึงเรื่อง มหากาพย์ล่ะค่ะ
เรื่องที่ 2 การเลือกแบบบ้าน

หุหุ ไม่อยากบอกเลยว่า เรามีแบบบ้านอยู่ในครอบครองหลายแบบมาก ทั้งจากการไปเดินงาน "บ้านและสวน" และการซื้อมาทางอินเทอร์เน็ต เนื่องจากเราประมาณการปลูกสร้างไว้ประมาณล้านต้นๆ ไม่ว่าจะเป็น


สวยใช่ป่ะแบบนี้

หรือแบบนี้

จริงๆ แบบสวยๆ มีมากมายนะคะ การจะเลือกแบบที่เหมาะกับเรามันก็เหมือน "พรหมลิขิต" ต้องให้ได้พื้นที่พอเหมาะกับครอบครัว การใช้สอยเข้ากับ Life Style ของเรา จริงๆ พูดให้หรูไปอย่างงั้นเองค่ะ จริงๆ แล้ว มันมีเหตุผลของมันดังนี้

1. แบบแรกสวยนะของบ้านป่าตาล BP01 ชอบมาก ซื้อแบบมาแล้ว BOQ ก็มีแล้ว คนสร้างเยอะมีตัวอย่างมากมายในเว็บไซต์/อินเทอร์เน็ต แต่ถ้าจะสร้างคงต้องปรับให้เข้ากับครอบครัวเราที่หน้างาน อันนี้มันไม่จบง่ายๆ ซิค่ะ ท่าทางจะบานบุรีแน่นอน
2. แบบที่ 2 สามีชอบอยากได้บ้านยกสูง เวลาน้ำมาจะได้ไม่มีปัญหา แต่เราว่ามันได้เนื้อที่ไม่เต็มตามการใช้สอยของเรา
3. แบบที่ 3 นี่ก็งามมากเลยนะคะ แต่เราติดอยู่ที่บันไดมันอยู่นอกบ้านอ่ะ แบบนี้เคยวางไว้ว่าจะไปปลูกตรงพื้นที่สีฟ้าตามแผนที่ด้านบน ปลูกต้นไม้เยอะๆ คงมีความสุขดี แต่ถ้าคุณผูู้ชายหรือครอบครัวเราไม่อยู่บ้านนี่เป็นห่วงกลัวขโมยขโจรนี่ซิค่ะ...คิดหนักเลย...ก็เลยเอาไปให้พี่ที่ทำงานช่วยปรับแบบบันไดให้ ดูยุ่งยากน่าดูเนาะ การเลือกแบบที่สวยงามแล้วยังต้องคำนึงถึงสภาวะแวดล้อม Lay Out และทิศทางลมด้วย พี่เค้าบอกว่า แบบสวยแต่ห่วงว่าหลังคามีรอยต่อเยอะ โอกาสที่นกบินเข้าบ้าน หรือถ้าช่างมุงหลังคาไม่ดีนี่ก็เสร็จเหมือนกัน...น่านซิเนอะ

ก็เลยเปลี่ยนใจเอาขนาดที่เล็กลง เอาหลังคาง่ายๆ ไม่ต้องมีรอยต่อเยอะ เพราะเราต้องใช้ช่างท้องถิ่น แบบทั้งสามนี้ เป็นการออกแบบของช่างทางภาคเหนือ เราเลยเปลี่ยนใจว่าอย่าซื้อแบบอีกเลย มาดูแบบบ้านฟรีของ กทม.กันดีกว่า เลยมาจบที่ "แบบบ้านธนนไชย" ที่นี่ล่ะค่ะ แต่เราใช้แบบกลับแบบซ้ายขวาค่ะ

 เริ่มได้เรื่องได้ราวแล้วนะคะบ้านของเรา ทีนี้มาดูการปรับพื้นที่เตรียมพร้อมกันดีกว่านะคะ

ถ่ายจากหน้าบ้าน กะว่ากลับแบบแล้วเอารถเข้าด้านนั้นเลยค่ะ

รูปนี้ถ่ายจากกำแพงเข้าไป

รูปนี้ถ่ายแบบมุมกว้าง

อันนี้เราถมดินสูงขึ้นมาอีกค่ะ สามีอยากได้สัก 1 เมตรให้ได้เท่ากับระดับน้ำท่วมเดิม แต่พอดียุบลงไป ก็อยู่ประมาณ 70 เซนติเมตรค่ะ

ขั้นตอนต่อไป ก็จะเป็นเรื่องการหาผู้รับเหมาแล้วนะคะ
เรื่องที่ 3 หาคนสร้างบ้าน

นับเป็นอีกเรื่องที่คนสร้างบ้านอย่างพวกเราต้องให้ความสำคัญ ก่อนอื่นขอแยกประเภทดังนี้ เพื่อให้เพื่อนๆ ในห้องนี้ใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจ

1. บริษัทรับสร้างบ้าน...ครบจบที่เดียว...แต่มีเงื่อนไขที่ให้ใช้แบบของเค้าซึ่งเราไม่ค่อยถูกใจ พี่ที่เป็นวิศวะโยธาในที่ทำงานแนะนำให้ใช้แบบนี้ เพราะจะเหมาะกับเราที่ไม่มีเวลามาคุมงาน คุยให้จบจะได้ไม่บาน แต่เราว่ามันก็แพงอยู่น้า
2. ผู้รับเหมาแบบเหมาทุกอย่าง ทั้งค่าของและค่าแรงแบบนี้ ซึ่งก็ต้องเลือกกันหน่อยเพราะต้องเห็นงานและคุณภาพ รวมทั้ง ต้องไว้ใจได้ในระดับหนึ่ง
3. ผู้รับเหมาที่เหมาเฉพาะค่าแรง ส่วนใหญ่เป็นช่างท้องถิ่น ผู้จ้างจะต้องคุมงานและซื้อของเอง อันนี้น่าจะเหนื่อยที่สุดในบรรดา 3 ประเภทนี้

แต่สำหรับเราเครียดมากันเนิ่นนานเลยล่ะ...เพราะการหาผู้รับเหมาแบบที่เหมาะกับเรานี่ยากจริงๆ รอกันเป็นปีๆ เลยล่ะ ไอ้ที่บอกว่าให้เสนอราคามา 3 รายแล้วพิจารณาว่ารายไหนเสนอมาดีสุดนี่ไม่มีนะคะ หายากมากเลย สรุปมาจบที่คุณสามีขอเลือกและขอรอคุณเพื่อนที่เป็นร้านขายวัสดุก่อสร้างเพราะคุยกันรู้เรื่อง แนะนำดี แถมเลือกวัสดุแบบจริงใจและเหมาะสม ซึ่งพวกเราก็สบายใจที่มีคนไว้ใจได้ช่วยดูวัสดุในระดับหนึ่ง

ที่ขำมากสำหรับเราก็คือ ถือแบบที่ต้องการไปหาพี่เค้า (แบบที่ 3 ก่อน) 
P. R : เออ...เอ็งมี BOQ ป่ะ 
สามี : มีแล้ว...แต่ปรับบันไดยังไม่มีนะ
จากนั้นก็เอาแบบธนนไชย ไปให้พี่เค้าดู จะเอาแบบนี้ล่ะ พี่เค้าก็ OK แต่เราไม่มี BOQ นะ 
ครั้งที่ 3 เลยไปหาแบบบ้านส่งไปซึ่งมี BOQ แกก็ OK
ต่อมาครั้งที่ 4 ไม่ล่ะพี่เอาแบบธนนไชยนี่ล่ะ พี่ก็ถามอีก ไม่เปลี่ยนแล้วนะ แต่ต้องมี BOQ จะได้ทำงานได้สะดวก

คือจริงๆ ก็ขำความไม่แน่นอนของเรานี่ล่ะ พี่เค้าก็ใจเย็นกับความโลเลของพวกเรา เป็นคนอื่นคง....แล้ว 5555

มาถึงขั้นตอนที่หลายคนปรารถนาแล้วนะคะ

เรื่องที่ 4 BOQ
หลังจากที่หาข้อมูลจากในพันทิพแห่งนี้ เราเลยตัดสินใจนำแบบบ้านที่ซีรอกซ์จากสำนักงานเขตหลักสี่ซึ่งอยู่ใกล้ที่ทำงานไปหา SCG Experience แถวเรียบทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์ เสียตังค์ค่าถอด BOQ แค่ 1,000 บาทเท่านั้น ใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์เท่านั้นเอง แต่รู้สึกว่าคุ้มค่านะคะ เพราะน้องเค้าใส่ใจในรายละเอียดมาก ซึ่งในแบบของ กทม.ซึ่งก็ค่อนข้างละเอียดใช้ได้ แต่บางอย่างก็บอกไม่ครบ น้องเค้าก็บอกมาหมด

 

รายการวัสดุต่างๆ ราคาก็ขึ้นอยู่กับเรานะคะว่าจะเลือกวัสดุอะไร แต่การให้ SCG ถอดแบบให้ก็ไว้ใช้เป็นมาตรฐานในการก่อสร้าง เราก็ให้เค้าทำมาก่อนในเบื้องต้น ที่สำคัญคือ ขอหลังคาเป็นพรีม่าลอนคู่เพื่อลดต้นทุนลง

อ่อ...ลืมบอกไปว่าการถอดแบบของ SCG เค้าจะไม่มีระบบประปากับระบบไฟฟ้ามาให้นะคะ แค่เนี้ยก็ตารางเมตรละ 16,000 บาท แล้ว แต่เราคงจะไม่ทำให้ถึงราคาเค้าหรอก เกินงบประมาณที่ตั้งไว้ อิอิ

สำหรับใครที่อยากได้ BOQ นะคะแนะนำว่า ให้ไป SCG Experience ค่ะ ไม่ได้ค่าโฆษณาอะไรนะคะ แต่คิดว่า จะได้อย่างที่เราอยากได้จริงๆ ซึ่งเราสามารถปรับรายละเอียดสำหรับใช้ในการคุยกับผู้รับเหมาและขอยื่นกู้ได้ค่ะ นอกจากนี้ เค้ายังแยกใบเสนอราคาสำหรับงานฝ้าและงานหลังคา เราสามารถนำไปซื้อของได้เลยนะคะ

แต่ที่ชอบมาก คือ เค้าจะให้หนังสือ Material Guide เราสามารถนำมาเปรียบเทียบคุณสมบัติรายการวัสดุที่ต้องการได้ด้วยค่ะ มีประโยชน์มากๆ ในการตัดสินใจด้วย

มาถึงขั้นตอนที่หลายคนปรารถนาแล้วนะคะ

ก่อนจะไปชมภาพการลงเสาเข็มและเสาเอก ขอลง Lay Out ในเบื้องต้นที่เราปรับแบบก่อนนะคะ

อันนี้เราปรับแบบชั้นล่าง ยุบที่จอดรถลงและทำห้องเพิ่ม กะว่าจะทำเป็นพื้นที่ห้องรับประทานอาหาร สามีชอบโล่งๆ เลยต้องเปิดห้องครัว 

อันนี้เราปรับแบบชั้นล่าง ยุบที่จอดรถลงและทำห้องเพิ่ม กะว่าจะทำเป็นพื้นที่ห้องรับประทานอาหาร สามีชอบโล่งๆ เลยต้องเปิดห้องครัว 

ส่วนชั้นบนลดห้องน้ำลง 1 ห้อง เพิ่มพื้นที่ระเบียงที่ห้องทำงาน และเผื่อร่มให้สำหรับลานซักล้างหลังบ้านบริเวณหลังครัว สามีเค้ารู้ทิศทางดี ห้องทำงานอยู่ทางทิศใต้ลมพัดเย็นดีมากเลยค่ะ ตอนแรกดิฉันเอาไปทำเป็นห้องแต่งตัวตามประสาคนไม่รู้ทิศทางลม

เรื่องที่ 5 ลงเสาเข็ม เสาเอก และเสาโท

ในขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่ละเอียดอ่อนนะคะ เราทำเพื่อความถูกต้องไม่เชื่อ ไม่หลบหลู่นะคะ ต้องศึกษาฤกษ์ยามให้เหมาะและสะดวก เพื่อมิให้เกิดโรคเลื่อน เราก็ต้องต้องหาฤกษ์ยามจากกูรู พระอาจารย์ทั้งหลาย เราใช้ 2 ฤกษ์ คือ ฤกษ์ลงเสาเข็ม 1 วันในวันที่ 21 พ.ค.58 และ ฤกษ์ลงเสาเอกอีก 1 วันในวันศุกร์ที่ 29 พ.ค.58

ก่อนลงเสาเข็มก็ต้องตีผังก่อน เพื่อวางจุดลงเสาเข็ม ปกติบ้านแถวอยุธยานี้เค้าไม่ลงเสาเข็มกันค่ะ มีแต่บ้านเรานี่ล่ะที่ลงเสาเข็มเนื่องจากเราเอาแบบบ้านมาจาก กทม.คุณพี่ผู้รับเหมาก็ทำตามแบบและ BOQ ปลอดภัยไว้ก่อน ใช้ขนาด 7 เมตรต่อกัน 2 ต้นความยาวที่เสาเอกจุดนี้มิดพื้นเลยจร้า

กว่าจะเอาเสาเข็มเข้าบ้านได้นี่ทุลักทุเลมาก เพราะต้องเตรียมของก่อนวันลงเสาในวันที่ 20 พ.ค.58 ขอโทษเถอะค่ะ เราไม่ทันนึกกันเลย เพราะมีเหตุตั้งแต่เช้า เค้าเอาเสามาผิดขนาดต้องกลับไป กว่าจะมาถึงก็เกือบ 2 ทุ่ม น้องที่ขับรถเอาเสาเข็มมาส่งบอกรถดับตลอด กว่าจะมาถึงก็มืดค่ำ พี่ผู้รับเหมาเลยบอกคุณสามีว่า "เอ็งจุดธูปบอกเจ้าที่เจ้าทางก่อนเลย" และหลังจากเราทำตามคำแนะนำนั้นแล้ว เท่านั้นนั้นล่ะค่ะ รถก็ Start ติดสามารถยกเสาเข็มลงจากรถได้กว่าจะเสร็จก็สี่ทุ่มเลยล่ะคะ ปาดเหงื่อแปร๊บบบ

ลงเสาเอกในวันศุกร์ที่ 29 พค.2558 เวลา 09.09 น. ค่ะ

วางโต๊ะหันไปทางด้านเสาเอกค่ะ

เจ้าพิธีในพื้นที่ค่ะ

ลงเสาเอกเรียบร้อยตรงเวลาเป๊ะ 09.09 น. 

จากภาพด้านซ้ายเป็นเสาเอก ด้านขวาเป็นเสาโทค่ะ

หลังจากลงเสาเข็ม เสาเอก เสาโท เรียบร้อย คงต้องคิดเรื่องจะหาเงินมาจ่ายให้เค้าแล้วล่ะค่ะ

เรื่องที่ 6 ต่อไป เป็นเรื่องเกี่ยวกับ การกู้และการขอสินเชื่อค่ะ

เป็นธรรมดาของคนเบี้ยน้อยหอยน้อยที่จะต้องหาแหล่งเงินกู้ที่ถูกที่สุด...เท่าที่เป็นไปได้ แฮะ...คนกู้ คือคุณสามีน่ะค่ะ ให้ยื่นกู้คนเดียว ก็ต้องเลือกที่พอรับได้และเหมาะกับค่าใช้จ่ายที่เราจ่ายได้ เราประมาณการเงินกู้ไว้ที่ 2 ล้านค่ะ สามีขอผ่อนประมาณเดือนละประมาณหมื่นห้า อิชั้นเลยต้องหาข้อมูลเพื่อเป็นตัวเปรียบเทียบอยู่ประมาณ 3 ทาง

เรามีข้อมูลอยู่หลายทางไม่ว่าจะเป็น

1. สหกรณ์ออมทรัพย์ ได้อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 5.75% บวกด้วยเงินปันผลที่จะได้รับไม่ถึง 50 สตางค์ อันนี้เก็บไว้ก่อนเพราะดอกเบี้ยยังไม่จูงใจ เงินงวดที่ต้องผ่อนค่อนข้างสูงเพราะเป็นเงิน Fix ที่ต้องบวกดอกเบี้ยเงินต้นเข้าไปด้วย ท่าทางต้องผ่อนเดือนละเกือบ 2 หมื่นแน่...

2. แบงค์ของรัฐสีฟ้า เข้าไปคุยกับแบงค์ให้ช่วยคำนวณเงินงวดมาให้ โอ้ว MRR ตอนนั้นอยู่ที่ 8 กว่าๆ แม้จะมีสวัสดิการของที่ทำงาน -2.00 ก็ยังแพงกว่าสหกรณ์ออมทรัพย์อีกอ่ะ ระยะเวลาก็สั้น เงินงวดและดอกเบี้ยก็สูงนะ...แล้วไอ้ที่ 3 เดือนแรกดอกเบี้ยน้อย ๆ นี่ ยังไม่ทันตั้งตัวก็เปลี่ยนดอกที่สูงขึ้นแล้ว...ขอทำใจก่อนนะฮับ

3. แบงค์เพื่อการเคหะสีส้มเขียว อันนี้เป็นจังหวะที่เพื่อนใช้สวัสดิการที่ทำงานมาขอปรับดอกเบี้ยเป็นแบบมีเงินฝากคงที่ร้อยละ 2.8 พอดี...อู้วววว...ดอกเบี้ยน่าสนมาก จึงไปลองถามดู ดอกเบี้ยปีแรกอยู่ที่ 3.75 พอรับได้นะ ถูกกว่าสหกรณ์ออมทรัพย์ เราเน้นที่ดอกเบี้ยต่ำ พี่เค้าแนะนำว่า ปีที่ 3 ลอยตัว -1.00 (ซึ่งก็ใกล้เคียงกับสหกรณ์ออมทรัพย์) ส่วนเข้าปีที่ 4 ค่อยมา refinance ขอปรับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าได้อีก ก็โอนะ

ทุกที่ที่ติดต่อก็จะขอแบบฟอร์มการขอยื่นกู้ไว้เพื่อเตรียมเอกสารหลักฐานประกอบการยื่นกู้เหมือนบ้างต่างบ้าง เตรียมไว้ก่อนเผื่อไม่ผ่านจะได้หาที่อื่น

ในการยื่นกับแบงค์ส้มเขียว กว่าเอกสารจะพร้อมก็เตรียมกันเป็นเดือนเลยล่ะค่ะ ทั้งหนังสือผ่านสิทธิ หลักฐานจากกรมที่ดิน สลิปเงินเดือนตัวจริง 3 เดือน Statement ย้อนหลัง 6 เดือน แอบกังวลว่า บัญชีติดลบจากธนวรรฏของแบงก์สีฟ้า...จะมีผลต่อการพิจารณารึป่าวเนี่ย แต่พี่ ผจก.แบงก์บอกว่าไม่เกี่ยว ไม่เอามาพิจารณา จะดูว่าเงินเข้าตามจำนวนสลิปเงินเดือนรึป่าว

วันที่ไปยื่นเอกสารเค้าก็จะคำนวณเงินให้คร่าว ๆ ต้องทำประกันชีวิตด้วยแต่รวมในวงเงินให้ด้วย แล้วก็นัดให้ จนท.ไปประเมินหน้างานในเบื้องต้นเพราะถ้าผ่านเค้าจะอนุมัติเงินงวดแรกให้ 20% ของวงเงินโดยไม่จำเป็นว่างานถึง 20% หรือไม่

ต่อมาไม่นานเพียงวันหรือ 2 วัน เจ้าหน้าที่ฝ่ายประเมินก็มา เร็วมากค่ะ เสียค่าประเมินไป 2,800 บาท

แล้วก็รอ...รอ...รอ...ว่าจะผ่านหรืออนุมัติให้เราเท่าไหร่

ระหว่างที่บ้านก็ทำไปเรื่อยๆ พี่ผู้รับเหมาก็ยังไม่มาเก็บตังค์เลย แอบเกรงใจพี่เค้ามากเลยค่ะ
จนในที่สุดแบงค์ก็นัดเซ็นสัญญาเมื่อวันที่ 13 ก.ค.58 ที่ผ่านมาให้เตรียมเงินไปประมาณ 25,000 บาทเซ็นต์สัญญาตอนเช้า สายๆ ก็ไปจดจำนองที่กรมที่ดิน เค้าอนุมัติเงินให้เราประมาณ 2.05 ล้าน รวมประกันชีวิตประมาณแสนก่าๆ (เราเลือกทำแบบ 10 ปี เพราะมันลดหย่อนภาษีได้) ผ่อน 24 ปี ปีแรกส่งงวดละ 12,000 บาท) โอ้ว...เลิฟเลย

ต่อไปก็เริ่มก่อคอคานชั้นล่างค่ะ

ภาพล่างสุดนี้เพราะเราปรับแบบโดยเปลี่ยนใจปรับที่จอดรถเป็นอีกหนึ่งห้องเลยต้องทำคานรับค่ะ

เป็นคอคานดินแว้ววว และเตรียมก่อเสาค่ะ

ถ่ายจากด้านหน้าตรงกลางเป็นบันได

เดิมเป็นที่จอดรถ ตอนนี้เป็นอีก 1 ห้องแล้ว

อีกมุมจากด้านทิศตะวันออกข้างบ้าน ด้านนี้จะเป็นมุมพักผ่อน ด้านในสุดตรงนั้นจะเป็นครัว

 ห้องน้ำถ่ายจากหลังบ้าน

ขยับมาทีละน้อยแล้วนะคะ

วางท่อไว้รอเลยค่ะ สำหรับห้องน้ำและครัว

ความสูงของพื้นตอนนี้เท่ากับระดับน้ำท่วมเมื่อปี 54 แล้ว ถูกใจคุณสามีแล้วค่ะ

ดิน หรือ ทราย เราไม่ใส่ค่ะ เตรียมวางพื้นสำเร็จเลย 

วางพื้นชั้นล่างแล้วนะ เหล็กแหลม ๆ นั่นจะเป็นบันไดทางขึ้นค่ะ

เตรียมเทพื้นชั้นล่างแล้วค่ะ

 

จากนั้นก็เตรียมขึ้นคานชั้น 2 ค่ะ

ต่อไปจะเทคานชั้น 2 แล้วนะคะ

ลำดับต่อไปก็เทพื้นชั้น 2 และหล่อเสาชั้นที่ 2 ค่ะ

อันนี้เทพื้นชั้น 2 แล้วค่ะ

และก็เตรียมขึ้นโครงหลังคาแล้ว

ด้านข้าง ด้านทิศตะวันออก

ด้านหน้าเป็นทิศเหนือค่ะ

ตกใจแปร๊บบบ มีคนสนใจเข้ามาติดตามรอชมมากมาย
ต้องขอบคุณทุกท่านที่เป็นกำลังใจติดตามรอชมนะคะ ในระหว่างรอชมความคืบหน้าบ้าน ขอนำเรื่องเกี่ยวกับที่มาของ Lay Out ที่ได้ศึกษาจากศาสตร์ฮวงจุ้ยและความรู้จากพี่วิศวกรโยธามาแปะไว้ในนี้ก่อนนะคะ

จะเห็นได้ว่าแบบที่เราใช้มีการปรับแบบเป็นซ้ายขวา และแบ่งห้องนอนใหญ่ที่มีห้องน้ำในตัว ออกเป็น 2 ห้องนอน เหตุผลหลักคงเพราะไม่อยากได้ห้องนอนที่มีของในห้องเยอะไปหมด...อยากให้เป็นห้องนอนจริงๆ เลยรวบรวมข้อมูลไว้ดังนี้

เรื่องที่ 7 ฮวงจุ้ยของบ้าน
1. ห้องนอนเจ้าของบ้านควรอยู่ตรงไหนดี???
ขอเครดิตให้เจ้าของเว็บ ตาม Link นี้เลยค่ะ --> http://www.tewaracha.com/ceremonial_fengshui6.shtml
ทำความเข้าใจง่าย ๆ ว่า ทิศไหนเป็นทิศมงคลของเจ้าบ้าน

ตามภาพจริงๆ ทิศที่ดีที่สุดของเจ้าบ้านจะต้องเป็นทิศ "ประธาน" ซึ่งเมื่อดูว่าคนในบ้านของเราควรนอนทิศไหน ปรากฏว่าเราสามคนควรนอนอยู่ทางด้านตะวันออกหมดทั้ง 3 คนเลยค่ะ ถามว่าจำเป็นต้องตามฮวงจุ้ยทั้งหมดหรือไม่ ก็ตอบว่า "ไม่จำเป็น" เอาที่อยู่ในทิศที่ไม่แย่ก็พอเนอะ

หากศึกษาดีๆ ประกอบกับข้อมูลของวิศวกร จะเห็นได้ว่า ฮวงจุ้ย จริง ๆ จะเป็นศาสตร์ในเรื่อง ทิศทางของลม แดดส่องด้านไหน คนเมืองหรือคนรุ่นใหม่สมัยนี้คงไม่สนใจเท่าใดนัก เนื่องจากออกจากบ้านแต่เช้า ตอนเย็นมาก็เปิดแอร์เข้านอนแล้ว

สำหรับเจ้าของกระทู้เอง ก็ไม่ได้ต้องเป๊ะนะคะ แต่เพื่อโชคเพื่อลาภก็เอากับเค้าบ้างก็พอ อิอิ จริงๆ ครอบครัวเราทำงานกันไม่หวังพึ่งโชค แต่อย่าเจอสิ่งไม่ดีแล้วกันค่ะ

กลับมาค่ะ...แต่ถ้าเอาแบบไปให้วิศวกรดูก็จะบอกว่า ทิศที่นอนตรงนี้ดีแล้ว ทิศใต้ลมเข้า ถ้าหน้าหนาวลมเข้าทิศเหนือ สบายใจล่ะ...
สามีผู้รู้ฟ้าดินก็กล่าวไว้เยี่ยงนี้เช่นเดียวกัน เอาเป็นว่าห้องนอนเป็นทิศของเจ้าบ้าน ส่วนของแม่บ้านอย่างเราต้องเป็นห้องครัวค่ะ

2. ห้องครัวเค้าวางไว้ตรงไหนดี
อย่างที่บอกล่ะค่ะ เราเหล่าแม่บ้านจะไปสถิตย์ตรงไหนได้ ถ้าไม่ใช่เป็นแม่นางก้นครัว
สำหรับบ้านเรา สามีบอกว่า ไม่อยากให้อยู่ใต้ห้องนอน เป็นการวางที่ทิศตะวันตกนี่ลงตัวที่สุดแล้วค่ะ
แต่...ต้องมี "แต่" ซิค่ะ ตามที่เค้า Search ในอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่เค้าจะถามว่า "ตามหลักฮวงจุ้ยต้องวางหน้าเตาไปทางไหน"
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่าอะไร คือ "หน้าเตา" คือส่วนไหนกันแน่ หน้าเตาก็คือส่วนที่เราบิดเพื่อจุดแก๊สนั่นล่ะค่ะ

สำหรับเจ้าของกระทู้หน้าเตาต้องหันไปทางทิศตะวันออกค่ะ จึงจะมีความรุ่งเรือง ดังนั้น เตาไฟจริง ๆ ต้องวางเตาให้ตัวเราหันหน้าไปทางด้านทิศตะวันตกค่ะ ซึ่งใน Lay Out เดิมยังไม่เปลี่ยนนะคะ แต่แอบออกแบบแบบครัวให้หันหน้าไปทางด้านนั้นแล้ว

จริงๆ แล้ว หลักฮวงจุ้ยครัว ก็คือ จะไม่วางครัวใกล้น้ำเพราะความชื้นทำให้ไฟติดยาก และไม่วางเตาไฟในทิศที่มีลมพัดแรงเพราะจะช่วยพัดไฟให้ลุกเกินไป ไม่เปิดครัวให้เพื่อนบ้านเห็นเพราะกลัวเพื่อนบ้านจะมากินที่บ้านบ่อย (คนโบราณเค้าว่าไม่ดีอาจล่มจมเพราะเลี้ยงเพื่อนได้)
อันนี้แล้วแต่ความชอบและเหตุผลแต่ละคนนะคะ เอาข้อมูลไว้คิดเล่นๆ แล้วกัน

ท้ายนี้ขอเพิ่มเติมค่ะ สำหรับคนงบน้อยและชอบของฟรี ใครที่เป็นสมาชิก Home Pro (ไม่ได้ค่าโฆษณานะคะ) สามารถนำแบบหรือ Lay Out ไปออกแบบได้ฟรีค่ะ ถ้าเป็นครัวปูนเค้าจะคำนวณรายการวัสดุให้ หน้าบานขนาดไหน ด้วยค่ะ หรือซื้อของให้ครบ 10,000 บาท ก็สามารถออกแบบห้องน้ำหรือห้องครัวก็ได้ค่ะ

สวัสดีค่ะ ขอมาอัพเดทความคืบหน้าหลังจากผ่านไป 1 สัปดาห์นะคะ

โครงหลังคาเหล็กมาแล้วค่ะ

ในขณะที่ขึ้นโครงหลังคาทีมงานก่ออิฐก็เริ่มแล้วค่ะ

เรื่องที่ 8 การเลือกหลังคา
สำหรับโครงหลังคามีหลายวัสดุให้เลือกตามความต้องการของแต่ละคน
ในการทำหลังคาสามารถดำเนินการได้ดังนี้
1. ให้ร้านในเครือ SCG มุงหลังคาให้ พร้อมการรับประกัน 5 ปี สำหรับงานหลังคาเราสามารถตกลงกับ ผรม. แยกงานได้ค่ะ
2. ให้ ผรม.มุงหลังคา สำหรับในพื้นที่อยุธยา ตอนถอดแบบ BOQ ทาง SCG แจ้งว่า ไม่มีช่างมุงแบบลอนคู่หรือพรีม่าตามที่เราต้องการ

มาโชว์งานอิฐกันบ้างนะคะ


ด้านทิศเหนือหน้าบ้านของเรา

ห้องที่เพิ่มขึ้นจากเดิมเป็นที่จอดรถ

อีกสักมุมนะคะ

เริ่มเป็นรูปเป็นร่างแล้วเนอะ จากภาพนี้จะเป็นได้ว่า เริ่มก่อที่ชั้น 2 แล้ว

สำหรับงานก่อมีหลายวัสดุให้เลือกนะคะ ทั้งอิฐมวลเบา อิฐมอญ หรืออิฐบล็อค
ตอนให้ SCG ถอดแบบจะเป็นอิฐมวลเบา แต่เราขอเลือกใช้อิฐมอญเพราะเห็นว่ามีความแข็งแรงและเหมาะกับบ้านเมืองเรามากกว่า จะเจาะ จะแขวนก็สะดวกกว่า ใครว่ากันเสียงได้น้อยกว่าก็ไม่เป็นไรเพราะบ้านเราไม่ได้ใช้กำแพงติดกับใคร และต้นทุนน่าจะถูกกว่า

ทั้งนี้ เคยคิดจะเอาผสมทั้งอิฐมวลเบาและอิฐมอญ ทาง SCG บอกว่า "ไม่ควร" เพราะใช้ปูนคนละประเภทกัน
จึงขอใช้เป็นอิฐมอญสำหรับงานก่อทั้งหมดดีกว่า

วันนี้ขอแปะ ข้อคิดดีๆ ในการสร้างบ้าน สามีส่งมาให้อ่านในไลน์ซึ่งตรงใจเจ้าของกระทู้จริงๆ ค่ะ

"คุณอนันต์ อัศวโภคิน เจ้าของแลนด์แอนด์เฮาส์พูดดี 11 นาที ได้เนื้อหาและแรงบันดาลใจยิ่ง

ในขณะที่คนอื่น ๆ บอกว่าต้องเร่งยกระดับการศึกษาของชาติ แต่คุณอนันต์ ตั้งคำถามว่า คนที่ประสบความสำเร็จ
จะต้องเรียนเก่งจริงหรือไม่ ?

ประเทศไทยเน้นเรื่องการศึกษามากจนลืมเรื่องความสำคัญของการฝึก "นิสัย" คนไทยควรจะมีนิสัยอย่างไร จึงจะเจริญก้าวหน้าในชีวิต

คนที่มีนิสัยดีเหมือนเรามีเครื่องจักรที่ดีในตัวไม่ว่าไปทำอะไรก็จะดี

คุณอนันต์ เจ้าของแลนด์แอนด์เฮาส์ เล่าว่า เกิดมาในครอบครัวยากจน ในบ้านมีคนมากถึง 31 คน ถือเป็นสถานที่สำคัญฝึกนิสัยให้กับเขา จนทำให้มีวันนี้
นิสัยที่ดี ฝึกไม่ยาก เริ่มจากที่บ้านใน 5 ห้อง :

1. ห้องนอน : ฝึกทำใจให้ว่าง ทำสมาธิ ล้างใจสะอาด นอนได้เต็มที่ และฝึกตื่นให้เป็นเวลา เก็บที่นอน เปิดหน้าต่างให้เคยชิน "ถ้าเราเป็นคนไม่ตื่นตามเวลา ใช้ปุ่ม Snooze เพื่อที่จะตื่นมากด Snooze อีกที เราจะกลายเป็นคนที่ทำงานเสร็จนาทีสุดท้ายเสมอ"

2. ห้องน้ำ : ฝึกการใช้น้ำอย่างประหยัด เกรงใจคนอื่น รักษาเวลา การฝึกล้างห้องน้ำให้เป็น จะช่วยฝึกให้เราไม่ดูถูกคน เป็นคนไม่เลือกงาน ไม่มีทิฐิ "สมัยเด็ก บ้านผมไม่ได้มีฐานะ แต่มีคนถึง 31 คน น้ำก็ต้องใช้ประหยัด เข้าห้องน้ำนานไม่ได้ เพราะคนอื่นก็ต้องใช้เหมือนกัน" "ผมล้างห้องน้ำมาจนโต ทำให้ทุกงานผม ห้องน้ำต้องสะอาด เสียอย่างเวลาขึ้นเครื่อง บางทีผมต้องเสีย 15 นาทีเช็ดห้องน้ำจนสะอาด" "คนว่าผมสร้างห้างมาให้คนเข้าห้องน้ำ ทั้ง Terminal 21 หรือ Fashion ก็ยอมรับครับตอนนี้มีคนมาเข้าห้องน้ำห้างผม วันละเป็นแสน"

3. ห้องแต่งตัว : ฝึกให้รู้จักตัดใจ เสื้อผ้าไม่ใส่ต้องทิ้ง เสียสละให้คนอื่น ใช้สิ่งของต่าง ๆ อย่างพอดีตัว "ไม่ใช่จะใช้ชีวิตแย่ ๆ แต่เท้ามีแค่สองข้าง จะมีรองเท้ามากมายทำไม อะไรไม่ได้ใส่เกิน2เดือน เอาไปบริจาคเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่"

4. ห้องกินข้าว : ฝึกการทานอาหาร นั่งพร้อมหน้ากัน รู้จักแบ่งปัน ตักข้าวแล้วต้องกินให้หมด ดังนั้นต้องตักให้พอดีตัว และตักให้พ่อแม่หรือคนอื่นก่อน "ไข่พะโล้ 2 ฟอง นั่งกัน 4 คน เราต้องแบ่งกันคนละครึ่งฟอง และตัดให้แม่ก่อน จนติดนิสัยให้คนอื่นก่อน เช่นเวลาเข้าออกลิฟต์"

5. ห้องทำงาน : ฝึกจัดลำดับความสำคัญ อย่าให้มีอะไรรกบนโต๊ะทำงาน กระดาษที่กองเต็มโต๊ะ บอกนิสัยไม่ตัดสินใจ หรือไม่มั่นคงทางใจ กลัวไม่มีข้อมูล "เวลาผมเจอใครกระดาษกองเต็มโต๊ะ ผมคิดเลยว่าคนนี้ไม่กล้าตัดสินใจ หรือ Insecure กลัวขาดข้อมูล ทั้งที่มันมีในมือถือหมดแล้ว" "ห้องทำงานผมไม่มีกระดาษบนโต๊ะ ไม่มีโทรศัพท์เพราะใช้มือถือ ไม่มีคอมพ์เพราะใช้แท็บเล็ต ตอนนี้มีห้องไว้โชว์ว่าว่างเปล่า"

5 ห้องนี้จะฝึกให้เรา รักษาความสะอาด มีระเบียบวินัย ตรงต่อเวลา สุภาพ และฝึกสมาธิให้ใจสะอาด "คนเรียนเก่งไม่ใช่คนเก่งเสมอไป แต่คนเก่งมักมีนิสัยสร้างความเจริญก้าวหน้าเรื่องนี้อย่าสอนแต่ในห้องเรียน เริ่มจากที่บ้าน"

"ทุกวันนี้โลกวุ่นวายไม่ใช่เพราะคนไม่มีการศึกษา แต่เพราะคนนิสัยไม่ดี และมีการศึกษาเยอะต่างหาก""

งานก่ออิฐชั้นล่างคืบหน้าไปเยอะแล้วค่ะ มาชมกันเลย

ด้านทิศตะวันออกบริเวณรับแขก

ก่อด้านนี้ใกล้เสร็จแล้วค่ะ

มาดูบ้างนอกบ้างนะคะ

เป็นด้านเดียวที่ได้เริ่มงานเซี้ยมแล้ว

ด้านทิศตะวันตกก็ตามมาติดๆ ค่ะ

ส่วนนี้เป็นส่วนที่ต่อเติม เดิมเป็นที่จอดรถ จะใช้เป็นพื้นที่ทานอาหาร ด้านซ้ายรอทำเป็นประตูบาน Slide กะว่าจะทำเป็นระเบียงระแนงไม้ไว้นั่งเล่นจิบกาแฟ หรือสังสรรค์ครอบครัวกับเพื่อนฝูงขนาดย่อมๆ ค่ะ

ต่อเชื่อมกับห้องครัวเลยค่ะ ด้านนี้ครัวกับห้องน้ำอยู่ใกล้กันค่ะ งานก่ออิฐก็มาแล้วค่ะ 

ห้องครัวถ่ายจากด้านหลังค่ะ

ห้องน้ำถ่ายจากด้านหลัง รอติดตั้งวงกบ มองทะลุออกไปจะเป็นบันไดและห้องเก็บของใต้บันได
แฮะ..แต่ยังไม่ได้ทำนะคะบันได ตอนนี้เป็นบันไดลิงอยู่

สวัสดีค่ะเกือบร่วม 2 สัปดาห์เลยนะคะที่ไม่ได้เข้ามาอัพเดทภาพความคืบหน้าเนื่องจากติดภารกิจหลายประการ
วันนี้ขอนำภาพของงานบันไดมาให้ชมแล้วกันนะคะ หลังจากที่เราใช้บันไดลิงในการขึ้นไปชมผลงานชั้นบน
ตอนพี่ผู้รับเหมาบอกลูกน้องว่าขึ้นบันไดได้แล้ว เจ้าของบ้านเค้าจะได้ขึ้นไปดูผลงานด้านบนบ้าง เราก็รีบบอกเลยค่ะ ว่าเราก็ปีนบันไดลิงกันขึ้นไปแล้ว
ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด แฮะ แฮะ

1.เริ่มที่ชั้นล่างด้านในบ้านนะคะ เตรียมก่อวางเหล็กเส้นเพื่อความแข็งแรง (ภาพดูใหญ่มาก ขออภัยด้วยไม่มีเวลาทำ PS)

2. ชั้นบนจากด้านนอกบ้านค่ะ

3.เริ่มงานลูกตั้งแล้วค่ะ จากด้านใน

4.งานลูกตั้งจากด้านนอก

5. แกะไม้แบบลูกตั้งบันไดแล้ว ขออภัยรูปเบลอไม่หน่อย

6. อีกมุมนะคะ

คราวนี้ล่ะค่ะ สามารถขึ้นไปสำรวจบ้านได้อย่างเป็นทางการแล้ว ยอมรับเลยค่ะ ตอนขึ้นบันไดลิงก็เสียวตกเหมือนกัน

ลูกเด็กเล็กแดง อยากติดตามขึ้นบันไดลิงกันหมด อันนี้เป็นความสามารถเฉพาะตัวนะคะ ไม่แนะนำให้ทำตามแต่อย่างใด

ระหว่างที่งานฐานรากกับโครงสร้างต่างๆ เริ่มเข้าที่เข้าทาง งานอิฐก็เริ่มไปเรื่อยๆ งานบางอย่างก็ทยอยทำควบคู่กันไป ทำให้บ้านของเราอาจจะยังไม่เสร็จตามที่ใจต้องการ ใจเย็นไว้ค่ะ กว่าจะสร้างก็รอมากันนานแล้วเนอะ ก็มีปัญหาอุปสรรคบ้างเป็นปกติของการทำงาน ด้วยความที่เราปรับแบบ การสื่อสารระหว่างผู้คุมงาน ผรม.และ เจ้าของบ้าน หรือแม้แต่คนงานของเราถือเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องสื่อสารกันให้เข้าใจกันนะคะเพื่อจะได้ไม่ผิดพลาดและเสียเวลา

เนื่องจากเราตัดสินใจว่าจะใช้อิฐมอญ ดังนั้น การก่อสร้างก็อาจไม่เร็วเหมือนอิฐมวลเบา แต่ในระยะยาวแล้วอิฐมอญน่าจะมีความหนาแน่นมากกว่า จากการหาข้อมูลในนี้ ขอแปะข้อมูลไว้เป็นความรู้ในการติดสินใจของคนอื่นๆ จาก Link นี้ค่ะ http://pantip.com/topic/30743551

ส่วนอันล่างก็เป็นภาพจาก Comment ของ Link ดังกล่าวค่ะ

แต่ที่สำคัญคือเราไม่แนะนำอิฐบล็อคสีเทาๆ ในการก่อตัวบ้านนะคะ เพราะบ้านเดิมเคยต่อครัวเพิ่มเติมที่ติดกับกำแพงโดยใช้อิฐบล็อค ด้วยความที่อยู่ไม่ห่างจากถนนที่รถวิ่งเข้าออก (แต่ถนนบ้านเราไม่ใช่ถนนหลักนะคะ) ตอนนี้มันร้าวแล้วค่ะ สร้างมาไม่ถึง 2 ปีเลย สำหรับใครที่ใช้อิฐบล็อคเพื่อลดต้นทุน คงต้องไปพิจารณาสภาพแวดล้อมพื้นที่ว่ามีความเสี่ยงต่อการแตกร้าวหรือไม่นะคะ ไว้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจแล้วกันค่ะ

หลังจากที่เราได้บันไดแล้ว ก็เริ่มเห็นงานก่ออิฐชั้น 2 กันนะคะ

1. ห้องนอนเราเอง อยู่ด้านทิศตะวันออก

2. ห้องนอนลูกสาว อยู่ด้านทิศตะวันออกเช่นเดียวกัน ในภาพเป็นเจ้าของห้องค่ะ

3. ห้องเก็บเสื้อผ้าค่ะ

4. ห้องทำงาน จะเห็นได้ว่าไม่ได้กั้นอะไรสักเท่าไหร่เพราะห้องนี้ลมเข้าดีสุดๆ เลยค่ะ

ในระหว่างนี้ ช่างจะทยอยผ่ากำแพงเพื่อใส่ท่อร้อยสายไฟค่ะ เนื่องจากบ้านเรากลับแบบ การหันหัวนอนจึงมีการเปลี่ยน ดังนั้น จึงต้องมีการปรับจุดแปลนไฟฟ้าเล็กน้อย ซึ่งการกำหนดจุดไฟฟ้าถือเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องบอกผู้รับเหมาของเราว่าบริเวณไหนจะใช้อะไรเครื่องใช้ไฟฟ้าอะไร เช่น ปลั๊ก สวิซต์ไฟ เครื่องทำน้ำอุ่น แอร์ เครื่องดูดควัน อะไรที่จะต้องใช้ควร List ออกมาก่อนนะคะ

งานบ้านของเราขณะนี้คืบหน้าไปเยอะแล้วค่ะ วันนี้เลยขอนำภาพการติดตั้งหลังคาพร้อมกับฉาบด้านนอกชั้น 2 มาให้ชมกันค่ะ เนื่องจากหลังคาเป็นส่วนที่ถ่ายยากมากเพราะไม่ได้มุมเท่าที่ควร จะเห็นภาพบางส่วนนะคะซึ่งจะเห็นได้ว่างานหลังคาเสร็จแล้ว แต่อยู่ระหว่างงานติดฝ้าเพดานทั้งด้านนอกและด้านในค่ะ 

บ้านหลังนี้หลังคาเป็นโครงเหล็ก ส่วนกระเบื้องจะเป็นลอนคู่สีเทาแกรนิต กรุด้วยแผ่นสะท้อนความร้อน

จากด้านหน้าบ้านนะคะ

ด้านนี้เป็นทิศตะวันออก เป็นด้านห้องนอน 2 ห้องค่ะ

ด้านนี้เป็นทิศตะวันตก ทำเป็นห้องเสื้อผ้า อีกห้องเป็นห้องทำงาน

เรื่องของหลังคา (เลือกหลังคาแบบไหนดีน้า)

หลังคาถือได้ว่าเป็นทรงผม หรือหมวกของบ้าน (อันนี้คิดเอง) เป็นส่วนที่ต้องปกป้องและต้องสวยงาม ก่อนที่เราจะได้แบบธนนไชย เราก็ดูมาหลายแบบตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ส่วนสำคัญในการตัดสินใจ คือ หลังคาต้องไม่ซับซ้อนมาก เพราะกูรูหลายท่านได้เตือนไว้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาระยะยาว ดังนั้น จึงขอนำข้อมูลเกี่ยวกับการตัดสินใจให้เพื่อนๆ ในห้องนี้นำไปใช้ประโยชน์ต่อไป ซึ่งสิ่งที่ต้องคำนึงในการเลือกหลังคาโดยเฉพาะที่เหมาะกับเมืองไทยและเหมาะแต่ละภูมิภาค 

1. ควรมีชายคายื่นออกมามากพอที่จะป้องกันแสงแดดและไม่ให้ฝนสาดเข้ามา ทางหน้าต่างบ้านทั้งสี่ด้าน  โดยเฉพาะด้านทิศตะวันตกซึ่งมีแดดจัดที่สุด

2. หลังคาไม่ควรมีขนาดใหญ่เกินไป  และควรมีความลาดชันมากพอที่จะทำให้ น้ำฝนไหลลงได้สะดวก  เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำรั่วซึมหลังคาได้ง่าย

3. รูปแบบของหลังคาไม่ควรซับซ้อนมากเกินไป  เพราะจะมีปัญหาเรื่องการรั่วซึมของน้ำตรงรอยต่อของหลังคาได้

4. พื้นที่ใต้หลังคาต้องใหญ่พอที่จะให้มวลอากาศร้อนซึ่งลอยสูงไม่ส่งผ่านไปยังห้องด้านล่างได้เร็ว  และต้องมีการระบายอากาศเพื่อให้อากาศร้อนใต้หลังคาถ่ายเท ออกนอกบ้านได้  โดยอาจทำช่องระบายอากาศที่หน้าจั่วของหลังคาหรือฝ้าที่ชายคา และอาจติดฉนวนกันความร้อนบริเวณใต้หลังคาร่วมด้วยก็จะช่วยให้บ้านมีสภาวะน่าสบายมากขึ้น

หลักการออกแบบหลังคาที่ป้องกันการรั่วซึมได้ดี

• ใช้หลังคาทรงสูงมีความชันตั้งแต่ 30 – 45 องศา

• อย่านำหลังคาหลายชนิดมาประกอบกัน  เพราะรอยต่อที่เกิดขึ้นคือจุดอ่อน ที่อาจทำให้เกิดการรั่วซึมของน้ำฝน

• โครงหลังคาที่ไม่ได้มาตรฐานตามรูปลักษณ์ของหลังคามีโอกาสมากที่จะเกิดการแอ่นตัว เป็นเหตุให้น้ำรั่วซึมลงมาได้ จึงต้องพิจารณาถึงขนาดและความแข็งแรงของโครงสร้างด้วย

• องค์ประกอบต่างๆ ของหลังคาเป็นจุดอ่อนที่น้ำฝนจะไหลผ่านได้  จึงควรออกแบบองค์ประกอบนั้นๆ ให้กันน้ำฝนได้

• หลังคาแบนใช้ได้กับบ้านทุกแบบ แต่หลังคาประเภทนี้มีการถ่ายเทน้ำได้ช้า รอยเจาะท่อระบายน้ำต่างๆ เป็นจุดอ่อนที่จะทำให้เกิดการรั่วซึมได้ง่าย รวมถึงแนวเชื่อมชนกับโครงสร้างต่างๆ ก็เป็นจุดอ่อนที่น้ำจะขังและค่อยๆ ซึมผ่านตัวพื้น หลังคาลงไปได้

แบบบ้านธนนไชยก็สามารถตอบโจทย์เหล่านี้ได้ชัดเจนเลยค่ะ สำหรับวัสดุก็สามารถเลือกตามที่ต้องการเลยค่ะ แต่สำหรับเจ้าของกระทู้การใช้หลังคาลอนคู่จะเป็นการช่วยประหยัดงบประมาณได้มากโขเลยค่ะ

เรื่องของหลังคา (เลือกสีไหนดีน้า)

สำหรับเรื่องสีหลังคา หลายคนคงจะมีคำถามเช่นเดียวกับเราใช่ป่ะ ก่อนจะตัดสินใจเลือกสีก็มีการหาข้อมูลจากอากู๋บ้าง ดูสีที่เราชอบบ้าง แต่ที่สำคัญคือ สีหลังคาจะต้องเข้ากับตัวบ้าน เพราะฉะนั้น หลังคาจะเป็นตัวกำหนดว่าตัวบ้านเราจะไปในแนวทางใดนะคะ ขอแชร์ข้อมูลส่วนตัวในการตัดสินใจดังนี้ค่ะ

1. เลือกวัสดุกระเบื้องตามต้นทุนงบประมาณของเรา

2. เลือกสีจากวัสดุกระเบื้องในแต่ละแบบที่เราเลือก เช่น ลอนคู่มีสีอะไรบ้าง ซีแพคมีสีอะไรบ้าง

3. เนื่องจาก BOQ ที่ SCG ทำมาให้ใช้สี TOA เลยลองเข้าไปสำรวจดู ซึ่งในเว็บไซต์ของ TOA เค้ามีบริการออกแบบสีบ้านฟรีโดยสถาปนิกและมัณฑนากรด้วยค่ะซึ่งสามารถนำภาพงานหรือห้องของเรา สามารถบอกโทนสีที่ชอบ หรือระบุไปเลยค่ะว่าหลังคาสีอะไร จากนั้นเค้าจะส่งงานกลับมาที่ e-mail ของเรา นอกจากนี้ยังมีโปรแกรมที่เราสามารถเปลี่ยนเฉดสีได้เองอีกด้วย ซึ่งจะมีรหัสสีที่เราสามารถนำไปใช้ในการเลือกซื้อสีทาบ้านได้ต่อไปด้วยค่ะ

เรื่องของงานฉาบ
หลังจากที่หลังคาเริ่มเป็นรูปเป็นร่างแล้ว งานที่ต่อเนื่องกันจะเป็นงานก่อฉาบค่ะ จะนำภาพมาให้ชม ดังนี้ค่ะ
1. ห้องรับแขก/พักผ่อนชั้นล่าง

มองจากหลังคาด้านทิศตะวันออก

มองจากหน้าบ้านเข้าไป

2. ห้องครัว/รับประทานอาหารชั้นล่าง

อันนี้เป็นโซนครัว

ด้านนี้เป็นโซนรับประทานอาหารค่ะ

3.ห้องนอนชั้นบน

มองจากในบ้าน

มองจากหน้าบ้าน

4.ห้องนอนลูกชั้นบน

มองจากในบ้านค่ะ

มองจากด้านใน

มองจากหน้าบ้านค่ะ

6.ห้องทำงานชั้นบน

ขอบคุณทุกคนที่ยังติดตามนะคะ ^^

สำหรับวันนี้จะมาอัพเดทเรื่องเกี่ยวกับ"การปูพื้น" ค่ะ

เรื่องของการปูพื้น

เราคิดกันไว้ว่าพื้นชั้นล่างเราอยากให้เป็น "แกรนิตโต้" สีอ่อนๆ เพื่อจะทำให้บ้านดูสว่างค่ะ แล้วอีกอย่างราคาแกรนิตโต้ตอนนี้ก็ไม่แพงมากละ
ส่วนชั้นบน เราตั้งใจไว้ว่า อยากใช้ "กระเบื้อง" ที่เป็นลายไม้ๆ แต่ตอนที่ทำ BOQ ออกมา SCG ทำออกมาเป็น "กระเบื้องลายไม้ซึ่งราคาค่อนข้างสูง เคยไปเดินเล่น HP คุณสามีเกิดสนใจการปู "ลามิเนต" ขึ้นมา เราก็เห็นว่าราคาก็ไม่ต่างกันมาก แต่ความคงทนในระยะยาวและการใช้งานต้องระวังในเรื่องน้ำและความร้อนตามประสบการณ์ของน้องสาวของเราเอง

สำหรับใครที่จะหาข้อมูลเกี่ยวกับวัสดุในการปูพื้น มีข้อมูลตามนี้เลยค่ะ

ในการปูพื้นที่บ้าน ช่างจะเริ่มปูตั้งแต่ชั้นบนก่อนค่ะ กระเบื้องที่เราเลือกก็จะเป็นลายไม้ เลือกชนิดที่ตัดขอบแล้วเพราะสามารถปูได้ชิดกว่าในระยะ 1 มม.แต่ถ้าเป็นกระเบื้องธรรมดาจะใช้ระยะประมาณ 3 มม.ค่ะ

ห้องนอนเราค่ะ

ห้องลูกสาวค่ะ

ห้องทำงาน

ห้องเสื้อผ้าค่ะ

ส่วนชั้นล่างจะมาอัพเดทให้ชมในโอกาสต่อไปนะคะ

ต่อไปเป็นงานพื้นชั้นล่างค่ะ 

สำหรับงานปูกระเบื้อง เราใช้ช่างจากสุพรรณ ผู้รับเหมาก็การันตีว่าเขาทำงานดี ก็เห็นใจเค้านะคะ แต่งานกระเบื้องนี่ไม่ค่อยคืบหน้าเท่าที่ควรเพราะมีหลายสาเหตุ ทั้งการตำแหน่งวางท่อในห้องน้ำ มีรอมีรื้อหลายรอบ ซึ่งช่างของเราก็ต้องทำชั้นบนลงมาชั้นล่าง

เราก็เข้าใจเพราะถ้าเป็นการปูกระเบื้องทำงานแบบไม่มีปัญหาก็คงจะใช้เวลาไม่นานเท่าไหร่ แอบเซ็งนิดนึง เซ็ง แต่ก็รอวันที่งานเสร็จ หลายอย่างเป็นรูปเป็นร่างก็ใจชื้นขึ้นมาบ้างค่ะ

เรื่องของฝ้าเพดาน

ในลำดับของการสร้างบ้าน ผู้รับเหมาบอกว่า จะต้องปูพื้นแล้วจึงจะทำฝ้าเพดาน ซึ่งฝ้าเพดานก็มีหลากหลายรูปแบบค่ะ มีทั้งฝ้าหลุม ฝ้านูนต่ำ ฝ้าฉาบเรียบ ขึ้นอยู่กับความชอบและรสนิยมของแต่ละท่านเลยค่ะ 

ฝ้าเพดานของเราเป็นแบบเรียบค่ะ เนื่องจากระบบท่อร้อยสายเราวางไว้หมดแล้ว ซึ่งสามีก็จะชอบอะไรที่เรียบๆ เราแบ่งงานออกเป็น
1. ฝ้าเพดานด้านในชั้นบน

2. ฝ้าเพดานด้านนอกชั้นบน (ภาพประกอบติดบัวแล้วค่ะ)

(ภาพประกอบติดบัวแล้วค่ะ)

3. ฝ้าเพดานด้านในชั้นล่าง

ชั้นล่างพอติดฝ้าแล้วทำให้รู้สึกว่าเพดานต่ำลงมาสักหน่อยนึง เนื่องจากแบบบ้านของเรามีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเรื่องการลดขนาดห้องน้ำชั้นบนลง 1 ห้อง และปรับชั้นบนเป็น 4 ห้องนอน ทำให้ต้องทำคานรับน้ำหนักบริเวณห้องครัวต้องมีขนาดใหญ่ขึ้น ช่างเลยต้องตีฝ้าให้ต่ำลงมาอีกนิดนึงค่ะ ถ้าไม่ตีฝ้า ทำเป็นแบบ Loft ก็จะโปร่งดีนะคะ

4. ฝ้าเพดานด้านนอกชั้นล่าง

ตอนแรกคิดว่าด้านนอกชั้นล่างจะฉาบเรียบ แต่มีการตีฝ้าด้วย...ก็เรียบร้อยดีค่ะ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

อัลบั้มภาพ 74 ภาพ

อัลบั้มภาพ 74 ภาพ ของ สร้าง "บ้านของเรา" ที่อยุธยา แบบบ้าน "ธนนไชย" ของ กทม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook