เปิด “พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ณ วังสระปทุม”

เปิด “พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ณ วังสระปทุม”

เปิด “พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ณ วังสระปทุม”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากหลับตานึกย้อนภาพไปในอดีต สถานที่สำคัญในปัจจุบันหลายๆ แห่งไม่ได้มีเพียงแต่รูปทรงอาคารอันสวยงามตามลักษณะอย่างที่เห็น หากแต่ค่อยๆ มีการเปลี่ยนแปลง พัฒนา และมีประวัติความเป็นมาอันควรค่าแห่งความทรงจำเฉกเช่นเดียวกับ อาคารพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของ "วังสระปทุม" นั้นก็มิได้โดดเด่นเพียงลักษณะทางสถาปัตยกรรมเท่านั้น หากแต่ตัวอาคารที่ปรับเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ฯนี้ ยังคงมีเรื่องราวสำคัญทางประวัติศาสตร์ให้พวกเราชาวไทยได้จดจำอีกมากมาย

จากทุ่งนาห่างไกล สู่วังสระปทุม
พื้นที่ของ “วังสระปทุม” ที่เป็นที่ตั้งของอาคารพิพิธภัณฑ์ฯ นั้นสืบทอดเรื่องราวต่างๆ มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระองค์โปรดพื้นที่บริเวณนี้ตั้งแต่ครั้งยังเป็นทุ่งนาที่เต็มไปด้วยดอกบัว และกอบัวในหน้าน้ำหลาก 

หอนิทรรศการในปัจจุบันของพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

กระทั่งต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ทรงซื้อที่ดินผืนนี้ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์โดยตั้งพระทัยว่าจะยกให้พระราชโอรสคือ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกหรือ “สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช”


ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 เสด็จขึ้นครองราชย์ สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าจึงขอพระราชทานเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินผืนนี้จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อพระราชทานแด่สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักองค์แรกบนที่ดินแห่งนี้

พระตำหนัก3 องค์ บนแผ่นดินทรงค่า
ภายในพื้นที่ของวังสระปทุมจัดแบ่งเป็นที่ตั้งของพระตำหนักหลัก 3 องค์ ที่ทำการปลูกสร้างไล่เรียงลำดับตามความจำเป็นในการใช้สอย ในแต่ละช่วงเวลาที่สมเด็จพระพันวัสสาฯ ประทับอยู่  โดยพระตำหนักองค์แรกคือ พระตำหนักเขียว หรือ พระตำหนักน้ำ สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประทับชั่วคราวก่อนสร้างพระตำหนักใหญ่ เหตุที่เรียกว่าพระตำหนักเขียวนั้นเชื่อว่าน่าจะมาจากสีของอาคารซึ่งเป็นสีของวันพระราชสมภพสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า คือ วันพุธ

รูปแบบสถาปัตยกรรม : ลักษณะอาคารเป็นบ้านชั้นเดียวหรือบ้านชั้นครึ่งที่ใช้พื้นที่ว่างใต้โครงหลังคาเป็นห้อง ซึ่งเข้าใจว่าทำไว้เป็นบ้านหลังเล็กๆ เพื่อใช้ในการประทับพักผ่อนเป็นการส่วนพระองค์ ส่วนรูปแบบสถาปัตยกรรมนั้นเป็นสไตล์บ้านชนบทยุโรป เนื่องด้วยช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ช่างจากประเทศอิตาลี  และเยอรมันเข้ามารับราชการอยู่ในเมืองไทยจำนวนมาก  ลักษณะของพระตำหนักเขียวที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือมีชานพระตำหนักยื่นลงไปริมน้ำด้านคลองแสนแสบ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือของพื้นที่วังสระปทุม

ต่อมาเมื่อสมเด็จพระบรมราชชนกสำเร็จการศึกษาวิชาทหารเรือเสด็จกลับเมืองไทย ตัวองค์ตำหนักใหญ่ก็ถูกสร้างแล้วเสร็จเพื่อรองรับครอบครัวของพระองค์ฯ และสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าก็ได้ทรงย้ายขึ้นไปประทับอยู่บนพระตำหนักใหญ่

พระตำหนักใหญ่ มุขทิศตะวันตก

พระตำหนักใหญ่  ปัจจุบันได้รับการบูรณะซ่อมปรับปรุง เป็นพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าเยื่ยมชม โดยมีกำหนดการปีละสามเดือนในช่วง ธันวาคม ถึง มีนาคม ของทุกปี

ลวดลายปูนปั้นประดับพระตำหนักใหญ่


รูปแบบโคมไฟ

รูปแบบสถาปัตยกรรม : ด้านรูปลักษณ์การตกแต่งทางสถาปัตยกรรมของพระตำหนักองค์นี้อาจมีความหรูหราน้อยกว่าบ้านของท่านคหบดีบางหลัง เนื่องจากท่านเจ้าของบ้านกำหนดให้ออกแบบเน้นประโยชน์ใช้สอยตามการใช้งานที่เป็นบ้านที่มีขนาดการใช้งานพอเหมาะกับจำนวนสมาชิกในบ้าน แม้รูปแบบจะเป็นฝรั่ง แต่การใช้งานทั้งตำแหน่งที่ตั้ง การรับลม การป้องกันแดดนั้นได้รับการคิดและออกแบบมาอย่างลงตัว 

ราวระเบียง


ลวดลายบนช่องแสงเหนือประตู งานไม้แกะลายผลทับทิม ทางความเชื่อสื่อถึงความเป็นสิริมงคล หากเทียบเคียงฟังก์ชั่นการใช้งานเหมือน "บานเกล็ด" ในปัจจุบัน

เพราะประตูหน้าต่างทุกบานสามารถเปิดให้กระแสลมเย็นเนื่องจากพัดผ่านหมู่แมกไม้เข้าสู่ภายในอาคารได้อย่างทั่วถึงกันทั้งหมด สำหรับการตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นนั้นมีความร่วมสมัยกับลวดลายปูนปั้นที่วังบางขุนพรหม แต่ลดความซับซ้อนลงไป  สันนิษฐานว่าเพื่อความเหมาะสมกับงบประมาณการก่อสร้าง

ห้องเทา: ห้องบรรทมสมเด็จพระบรมราชชนก จัดแสดงเฟอร์นิเจอร์ของเดิมที่มีการทาสีใหม่ตามแบบเดิม รวมถึงมีเครื่องพระสำอางเป็นเครื่องแก้วเจียระไน อีกทั้งยังมีห้องสรง ที่ใช้กระเบื้องจากยุโรป เป็นสีขาว สีแดง และสีเขียว

ความน่าสนใจของพระตำหนักใหญ่ : พระตำหนักใหญ่ได้รับการคิดและวางแบบผังเบื้องต้นโดยโดยสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า กล่าวกันว่าทรงใช้หางพลูและก้านไม้ขีดไฟจัดวางตามพระราชประสงค์ในการใช้สอย และเพื่อให้ถูกต้องตามทิศทางลมพัดผ่าน

เฉลียงพระตำหนักใหญ่ชั้นบน : ในช่วงปลายพระชนม์ชีพ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าโปรดที่จะประทับตรงเฉลียงชั้นบนหน้าห้องพระบรรทมซึ่งปัจจุบันเป็นห้องทรงนมัสการ เมื่อทรงตื่นบรรทมแล้วจะเสด็จออกมาประทับที่เฉลียงตลอดทั้งวัน เสวยพระกระยาหาร ณ ที่นี้ด้วย บริเวณนี้มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ เนื่องจากเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงเป็นประธาน

เมื่อสร้างแล้วเสร็จก็ทรงใช้เป็นพระตำหนักที่ประทับตั้งแต่ประมาณ พ.ศ.2459  นอกจากนี้พระตำหนักองค์นี้ยังเคยเป็นที่ประทับของครอบครัว”มหิดล”เมื่อครั้งสมเด็จพระบรมราชชนกกับสมเด็จพระบรมราชชนนี  เสด็จกลับจากทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษ และยังเป็นสถานที่ประกอบพิธีอภิเษกสมรสของทั้งสองพระองค์และต่อมาได้เป็นพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร

ห้องทรงพระสำราญ : สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าใช้ทรงพระอักษร และใช้ทรงพักผ่อน ภายในประดับพระฉายาลักษณ์ มีหนังสือวารสารที่ท่านทรงบอกรับเป็นวารสารต่างประเทศ

ปัจจุบันสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดพระตำหนักใหญ่เป็นพิพิธภัณฑ์สนองพระราชดำริแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อให้เป็นแหล่งศึกษาพระราชกรณียกิจแห่งสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ผู้ทรงมีคุณูปการต่อประเทศชาติและปวงชนชาวไทย ได้รับพระราชทานชื่อว่า “พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า”


ห้องพิธี: เดิมใช้เป็นที่รับรองพระราชอาคันตุกะ ใช้ประกอบพิธีต่างๆ เช่น พิธีสงฆ์ และใช้เป็นที่ประทับทอดพระเนตรการแสดงของพระญาติ และนักเรียนโรงเรียนราชินีที่มักรำถวายในวันคล้ายพระราชสมภพ ปัจจุบันจัดแสดงโต๊ะเสวย บนโต๊ะจัดวางชุดจานประดับอักษรพระนามย่อ สว สมเด็จเจ้าฟ้าสมมตวงศ์วโรทัย พร้อมด้วยชุดเครื่องโต๊ะอื่นๆ รวมทั้งเมนูอาหารตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5

ส่วนพระตำหนักองค์ที่สามเรียกกันว่า พระตำหนักใหม่  เป็นพระตำหนักอีกองค์หนึ่งในบริเวณวังสระปทุม ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกของพระตำหนักใหญ่ มีสระน้ำและสวนต้นไม้คั่น สร้างขึ้นหลังจากสร้างพระตำหนักใหญ่ประมาณ 10 ปี คือเมื่อประมาณ 90 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสมเด็จพระบรมราชชนกโปรดให้หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร ซึ่งทรงสำเร็จการศึกษาทางด้านสถาปัตยกรรมจากประเทศฝรั่งเศสเป็นผู้ออกแบบ ทั้งนี้เพื่อทรงใช้เป็นที่ประทับของ “ครอบครัวมหิดล” ของพระองค์ฯ ที่ขยายใหญ่ขึ้นตามจำนวนสมาชิกของครอบครัวที่เพิ่มขึ้น ณ ปัจจุบันได้ พระราชทานวังสระปทุม ให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ซึ่งพระองค์ได้ทรงใช้พระตำหนักใหม่องค์นี้เป็นที่ประทับตั้งแต่ พ.ศ. 2543

ห้องรับแขก

หอนิทรรศการ

3 เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ภายในพระตำหนักใหญ่-อาคารพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ณ วังสระปทุม

1. เป็นสถานที่อภิเษกสมรสของสมเด็จพระบรมราชชนกกับสมเด็จพระบรมราชชนนี วันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2463

2. เป็นสถานที่จัดพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันกับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493

3. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์อ่านประกาศสถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์กิติยากรขึ้นเป็น "สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์" พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ในโอกาสพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสด้วย

หอนิทรรศการ

กล่าวได้ว่าวังสระปทุมเป็นที่ประทับของพระราชวงศ์ในพระบรมจักรีวงศ์ 3 พระองค์ ซึ่งองค์การยูเนสโกประกาศเฉลิมพระเกียรติให้ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก ผู้มีผลงานดีเด่น ได้แก่ สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกและสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ณ วังสระปทุม แห่งนี้จึงเป็นสถานที่สำคัญและควรค่าแก่การจดจำยิ่งนัก ปัจจุบันในปี พุทธศักราช 2559 นี้ พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชมตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2559 ตั้งแต่วันจันทร์-เสาร์ เวลา 10.00 น.-15.00 น. อัตราค่าเข้าชมผู้ใหญ่ 150 บาท นักเรียน/นักศึกษา 50 บาท โดยการเข้าชมทุกครั้งควรนัดหมายล่วงหน้า เนื่องจากจัดเป็นรอบในการเข้าชม  รอบละประมาณ 15 คน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทรศัพท์ 02 252 1965-7 หรือ www.queensavang.org และ www.facebook.com/queensavangmuseum

ขอบคุณข้อมูล
พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

อัลบั้มภาพ 21 ภาพ

อัลบั้มภาพ 21 ภาพ ของ เปิด “พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ณ วังสระปทุม”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook