ห้องเก่าร้าง 35 ปี แปลงร่างเป็น “บูรณะสถาน” สำนักงานนั่ง นั่ง นอน นอน
คำที่ถูกค้นบ่อย
    Sanook//s.isanook.com/sr/0/images/logo-new-sanook.png60060
    //s.isanook.com/wo/0/ud/40/202345/202345-thumbnail.jpgห้องเก่าร้าง 35 ปี แปลงร่างเป็น “บูรณะสถาน” สำนักงานนั่ง นั่ง นอน นอน

    ห้องเก่าร้าง 35 ปี แปลงร่างเป็น “บูรณะสถาน” สำนักงานนั่ง นั่ง นอน นอน

    2015-09-22T13:36:00+07:00
    แชร์เรื่องนี้

    จั่วหัวเรื่องมาแบบนี้ หลายคนอาจคิดว่า “บูรณะสถาน” เป็นออฟฟิศของคนทำงานแบบทีเล่นทีจริง แต่เปล่าเลย เพราะเรากำลังจะเล่าถึงออฟฟิศของคนเอาการเอางาน ที่คิดจะเอาดีเรื่องการออกแบบและตกแต่งภายใน รวมไปถึงถนัดงานด้านการรีโนเวท ปรับปรุงอาคารเก่าที่เน้นรักษาเรื่องราวของสิ่งปลูกสร้างเหล่านั้นไว้

    สภาพอาคารพาณิชย์ภายนอกก่อนรีโนเวท


    สภาพอาคารภายใน แสดงให้เห็นถึงลักษณะพื้นที่ดั้งเดิม

    เช่นเดียวกับตัวสำนักงานของบูรณะสถานเอง ก็เป็นผลงานการรีโนเวทต่อเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงการวันอุดมสุข คอมมิวนิตี้มอลล์ที่มดงานในออฟฟิศบูรณะสถานร่วมแรง ร่วมใจแชร์ไอเดียเปลี่ยนอาคารพาณิชย์เก่าอายุราว 35 ปีมาเป็นคอมมิวนิตี้มอลล์ที่ทำให้คนในชุมชนสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้

     

    ชั้นดาดฟ้าก่อนรีโนเวท

    บรรยากาศระหว่างการรีโนเวท

    หลังโครงการใหญ่เสร็จสิ้น ชาวบูรณะสถานปลงใจเลือกพื้นที่บริเวณชั้น 4 ของคอมมิวนิตี้มอลล์แห่งนี้เป็นที่ตั้งสำนักงานของตนเองเนื่องจากองค์ประกอบสำคัญต่างๆ ครบครัน ทั้งทำเลดี ทางเข้า-ออกสะดวก และมีดาดฟ้าให้ใช้ประโยชน์
    บูรณะสถานใช้พื้นที่ 120 ตารางเมตรซึ่งเป็นห้องเก่าจำนวน 1 ห้องรวมกับดาดฟ้า เพื่อจัดสรรพื้นที่ทำงานที่ไม่เน้นบรรยากาศการทำงานเหมือนออฟฟิศทั่วไป แต่เน้นสร้างพื้นที่ให้พนักงานทุกคนรู้สึกผ่อนคลาย เป็นพื้นที่สำหรับการสร้างสรรค์งาน ดังนั้นบูรณะสถานจึงไม่ใช่สำนักงานที่รวมโต๊ะทำงานแบบเป็นแพทเทิร์นเดียวกันไว้ หรือมีห้องประชุมแบบซีเรียส หากแต่ที่นี่กลับให้บรรยากาศคล้ายบ้านที่ทุกคนสามารถลุกจากโต๊ะส่วนตัวไปนั่งคิดงานตรงโซฟา นั่งผ่อนอารมณ์ ปูเสื่อทานอาหารบนชั้นดาดฟ้า หรือเปิดเพลงฟังในระหว่างที่คิดงานไม่ออก

     

    โถงด้านหน้าหลังเปิดประตูเข้ามาในออฟฟิศ

     

    ด้านในจัดวางเหมือนห้องรับแขกในบ้าน บางทีก็รู้สึกเหมือนเป็นแกลอรี่

    ความพิเศษอีกข้อหนึ่งของการรีโนเวทออฟฟิศนี้คือการใช้วัสดุเก่าที่หลงเหลือจากการรีโนเวทวันอุดมสุข คอมมิวนิตี้มอลล์มาใช้งานเป็นส่วนใหญ่ ทั้งแผ่นไม้ปูพื้นห้อง แผ่นสังกะสีจากแคมป์คนงานก่อสร้าง ที่เกิดจากการคิดและจับวัสดุแต่ละประเภทแมชเข้าหากันอย่างลงตัว อีกทั้งของตกแต่งทุกชิ้นภายในสำนักงานล้วนมีเรื่องราวที่เจ้าของตัวจริงไม่ใส่ใจ แต่กลับมีคุณค่าสำหรับชาวบูรณะสถาน อย่างตู้กับข้าวใบเก่าที่ถูกวางทิ้งไว้แบบไม่ใส่ใจ แต่กลับถูกนำมาตั้งเป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นสำคัญหน้าออฟฟิศ หรือเก้าอี้นั่งของอาม่าคนหนึ่งที่แม้เจ้าของจะเสียชีวิตไปแล้ว แต่กลับถูกนำมาทำให้มีชีวิตอีกครั้งภายในบูรณะสถาน

     

    อัง แพร และเฟรนด์ (เรียงจากซ้ายมือผู้อ่าน) The team บูรณะสถาน

     

    โต๊ะนั่งทำงานของพนักงาน หันหน้าออกไปทาง BTS

    ดาดฟ้า เห็นแล้วเหมาะสำหรับจัดปาร์ตี้มากกว่า

    พนักงานทุกคนที่นี่จึงทำงานอย่างมีความสุข แต่ละคนจะมีมุมโปรดที่ทำให้รู้สึกมีความสุขในการทำงานอย่างน้องแพร ชอบส่วนเปิดโล่งซึ่งเป็นโถงกลางเชื่อมต่อระหว่างชั้นล่างกับดาดฟ้าเพราะแสงธรรมชาติที่สาดเข้ามาระหว่างวันช่วยเปลี่ยนอารมณ์ในการทำงานของเธอ สำหรับเฟรนด์วิศวกรสาวของบูรณะสถานกลับเลือกโถงรับแขกเป็นพื้นที่โปรด เพราะแม้จะถูกใช้ดัดแปลงเป็นห้องประชุมแบบไม่เป็นทางการในบางครั้ง แต่ทุกครั้งที่คิดงานไม่ออกเฟรนด์ก็มักมานั่งเล่น เปิดเพลงคลอเบาๆ กระตุ้นสมอง ส่วนอังเลือกดาดฟ้าเป็นมุมพิเศษเพราะมันทำให้เธอเห็นสีเขียวบ้างในระหว่างการคิดงาน

     

    ส่วนนั่งเล่น นั่งชิล สูดอากาศ แตะขอบฟ้า

     

    ผสมผสานวัสดุที่แตกต่างกันได้อย่างลงตัว

    ส่วนตกแต่งเล็กๆ น้อยๆ ในออฟฟิศที่ช่วยทำให้อารมณ์ดี

    งานรีโนเวทหรือการออกแบบตกแต่งสำหรับชาวบูรณะสถาน จึงมิใช่เพียงการรับเงินค่าจ้างการออกแบบเพื่อเปลี่ยนอาคาร หรือบ้านเก่าให้เป็นบ้านใหม่เท่านั้น แต่ทุกๆ คนจะคำนึงถึงเรื่องราวที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังสิ่งปลูกสร้างเหล่านั้น รวมไปถึงฟังก์ชั่นการใช้งานที่ตอบโจทย์สำหรับทุกคน ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการทำงานรีโนเวท





    อัลบั้มภาพ 43 ภาพ

    อัลบั้มภาพ 43 ภาพ ของ ห้องเก่าร้าง 35 ปี แปลงร่างเป็น “บูรณะสถาน” สำนักงานนั่ง นั่ง นอน นอน