10 ข้อแนะนำเมื่อต้องย้ายไปอยู่บ้านที่เล็กลง

10 ข้อแนะนำเมื่อต้องย้ายไปอยู่บ้านที่เล็กลง

10 ข้อแนะนำเมื่อต้องย้ายไปอยู่บ้านที่เล็กลง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อมีความจำเป็นบางอย่างทำให้เราต้องย้ายออกจากบ้านหลังใหญ่ไปอยู่บ้านที่มีขนาดเล็กลง มันค่อนข้างยากที่จะทำใจ และปรับตัว แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นมากที่สุดก็คือ ข้าวของมากมาย ไม่สามารถขนไปบ้านใหม่ได้ทั้งหมด แต่ก็ไม่สามารถจะตัดใจทิ้งอะไรได้สักอย่าง เมื่อเป็นแบบนี้แล้ว จะเริ่มการโยกย้ายกันอย่างไรดี Sanook! Home มีข้อแนะนำ

1.เริ่มจากการเช็คข้าวของที่มีก่อน แน่นอนว่า ทุนคนต่างก็มีของเยอะแยะ แต่เราต้องทำใจยอมรับว่า เราจะต้องทิ้งของบางอย่างไป ให้เริ่มจากการเดินดูรอบ ๆ บ้าน และตอบคำถามตัวเองด้วยความจริงใจว่า ข้าวของที่เห็นเหล่านั้น ทำให้เรารู้สึกอย่างไร สบายหูสบายตาดี หรือรกเลอะเทอะ สำรวจดูให้ดีว่า มีของไร้สาระ หรือขยะสะสมอยู่มากน้อยแค่ไหน ของบางสิ่งบางอย่าง เราก็ซื้อแล้วซื้ออีก เต็มบ้านไปหมด ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้นำมาใช้งาน พิจาณาถึงความจำเป็นของมันอย่างจริงจัง เพราะถึงเวลาแล้ว ที่ต้องตัดใจ ทิ้งอะไรไปบ้าง

2.ต้องมีเป้าหมาย และหาวิธีที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายนั้น แม้ว่าสิ่งที่ต้องการอาจจะเป็นเพียงแค่ จัดของในโรงรถ ให้เอารถเข้าไปจอดได้ หรือเป้าหมายที่ใหญ่กว่า คือการย้ายบ้านออกจากหลังใหญ่ ไปอยู่ในที่ ที่อาจจะเล็กและแคบกว่ามาก แค่เมื่อเราเห็นความจำเป็นแล้ว ก็ค่อย ๆ ลงมือทำ และควรทำด้วยทัศนคติในเชิงบวก เช่น เป็นการย้ายไปอยู่คอนโด เพื่อความสะดวกในการเดินทาง หรือการย้ายผู้สูงอายุ ไปอยู่ในบ้านพักที่เหมาะสำหรับการดูแล เป็นต้น

3.ให้เริ่มด้วยการกำจัดของที่ไม่สำคัญก่อน อย่าเริ่มด้วยสิ่งที่มีความเกี่ยวเนื่องกับอารมรณ์ ความรู้สึก หรือความทรงจำ เช่น รูปถ่ายครอบครัว ของที่ระลึกในโอกาสพิเศษ แต่ให้เริ่มจากของทั่ว ๆ ไป เช่น ขยะตามลิ้นชักในห้องครัว ของรก ๆ ในห้องน้ำ เมื่อเริ่มจากของพวกนี้แล้ว ค่อยขยับไปที่จุดอื่น ๆ ต่อไป

4.วางแผนและจัดลำดับในการทำงาน ว่าจะเริ่มจากอะไร เช่น จัดการกับลิ้นชักโต๊ะ ไปต่อที่อาหารหมดอายุ กองผ้า กองกระดาษ นำนิตยสารเก่าไปรีไซเคิล และนำของที่ยังใช้ได้แต่ไม่ได้ใช้แล้วไปบริจาคเป็นต้น

5.จัดการกับอารมณ์ความรู้สึก หลาย ๆ คนรู้สึกว่า ของแต่ละชิ้นนั้นเป็นความทรงจำ และมีความหมาย การที่มีความจำเป็นต้องทิ้งของเหล่านั้นไป ก็เหมือนเป็นการทำร้ายความรู้สึก ในกรณีนี้ไม่ควรคิดว่า การที่เราจะต้องกำจัดของเหล่านั้น ไม่ใช่การโยนทิ้ง Marlene Stum ผู้เชี่ยวชาญด้านศาสตร์แห่งครอบครัว จาก University of Minnesota บอกว่า ถ้าในวันนี้ ใครยังเก็บจานอาหารของคุณย่าเอาไว้ ขอให้คิดว่า การที่เราไม่เอาจานใบนั้นไปด้วย ไม่ได้หมายความว่า เราทิ้งคุณย่า แต่นั้นเป็นเพียงแค่เราไม่ได้เก็บของของคุณย่าเอาไว้เท่านั้นเอง

6. ตัดสินใจให้ได้ว่าอะไรที่จะเอาไป อะไรที่จะไม่เอา เมื่อต้องตัดสินใจในจุดนี้ ให้ตอบคำถามตัวเอง 3 คำถาม ดังนี้
-    นี่คือของที่เรารักหรือเปล่า
-    นี่คือสิ่งที่เราจำเป็นต้องมีใช่หรือไม่
-    เราได้ใช้ของสิ่งนี่หรือไม่

จากนั้น มาดูที่ของ สมมุติว่า มันเป็นหนังสือ ถ้าคำตอบคือ เรารักหนังสือเล่มนี้ แต่เราไม่จำเป็นต้องมีมัน และเราก็ไม่ได้อ่านมันแล้ว หลังจากได้คำตอบ เราจะตัดสินใจขั้นต่อไปได้ง่ายขึ้น

7. ไม่ต้องมีความรู้สึกผิด หลาย ๆ คนไม่กล้าทิ้งของเพราะรู้สึกผิดที่จะทิ้ง เช่น เก็บไว้นานแล้ว ไม่ได้ใช้เลย แต่ไม่กล้าทิ้ง เพราะมันแพง หรืออาจจะคิดว่า เก็บไว้ก่อนเถอะ สักวันอาจจะได้ใช้ หรือ ไม่อยากทิ้ง เพราะคงหาของแบบนี้ไม่ได้อีกแล้ว นี่เป็นเสื้อผ้าเก่าของแม่ ทิ้งไม่ลง แม้มันจะเชยมาแล้วก็ตาม ความรู้สึกแบบนี้ ต้องกำจัดออกไปก่อน มันจะทำให้เราสามารถตัดสินใจบริจาคหรือยกให้คนอื่น ที่เขาสามารถจะใช้ประโยชน์จากมันได้

8.ให้ความสำคัญกับความทรงจำของคนอื่น ในกรณีที่เราต้องย้ายไปพร้อมกับครอบครัว หรือคนรัก เราต้องให้ความสำคัญกับของรักของหวงของพวกเขาด้วย แต่ละคนจะมีความละเอียดอ่อนในเรื่องเหล่านี้ต่างกัน ของบางอย่างเราเห็นว่า ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่มันกับมีความสำคัญกับอีกคนหนึ่ง ดังนั้น การถาม การคุยกันในครอบครัว ว่าจะเก็บอะไร ไม่เก็บอะไร จึงเป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกัน

9.เก็บความทรงจำไม่ใช่เก็บของ รูปวาดไดโนเสาร์ ของประดิษฐ์ของเด็ก ๆ แทนที่จะเก็บทั้งหมด ลองเปลี่ยนมาเป็นถ่ายภาพเก็บไว้แทน หรืออาจจะทำเป็นอัลบั้มงานศิลปะของลูกเลยก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเก็บไว้ทุกชิ้น ให้ลูก ๆ เลือกเฉพาะชิ้นที่ชอบ ไว้เพียง หนึ่งหรือสองชิ้นก็พอ

10.เราไม่สามารถนำความประทับใจไปได้ทั้งหมด เมื่อเราคิดว่าทุกอย่างมีความหมาย มีความสำคัญต่อเราทั้งหมด แต่ให้ลองคิดอีกอย่างว่า สิ่งที่สำคัญนั้น อาจไม่ได้เป็นสิ่งพิเศษเสียทั้งหมด หากในครอบครัว มีของสะสมมากมาย ควรเลือกชิ้นที่มีค่าควรแก่การใช้ มีค่าควรแก่การสวมใส่ หรือมีค่าควรแก่การนำมาโชว์ จากนั้นก็เลือกไว้สักสองสามชิ้น ที่เหลือก็ยกให้คนอื่น หรือบริจาคไป ให้คิดไว้ว่า แม้พื้นที่ในใจของเราไม่มีจำกัด แต่พื้นที่บ้านของเรามีจำกัด เช่นเดียวกับความรู้สึกที่ดีกับใครบางคนก็อยู่ที่ใจ ไม่ได้อยู่ที่ของเช่นกัน

เรียบเรียงข้อมูลจาก http://www.countryliving.com

ภาพจาก www.istockphoto.com

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook