Google กำลังพัฒนาให้การเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ทำได้ไร้รอยต่อยิ่งขึ้น

Google กำลังพัฒนาให้การเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ทำได้ไร้รอยต่อยิ่งขึ้น

Google กำลังพัฒนาให้การเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ทำได้ไร้รอยต่อยิ่งขึ้น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในงาน CES 2022 กูเกิล (Google) ก็ได้ประกาศการพัฒนาทางด้านซอฟต์แวร์ใหม่มากมาย เพื่อให้แอนดรอยด์ (Android) และ วินโดวส์ (Windows) ทำงานได้เข้ากันมากยิ่งขึ้น เพื่อให้คนในอีโคซิสเต็ม (Ecosystem) สามารถใช้งานอุปกรณ์ในเครือ เชื่อมต่อ ใช้งานได้สะดวกสบายมากขึ้น ให้อารมณ์เหมือนกับที่แอปเปิ้ล (Apple) กำลังทำอยู่ในตอนนี้

ซึ่งการพัฒนานี้ประกอบไปด้วยฟีเจอร์ทางด้านซอฟต์แวร์มากมาย อย่างเช่นการเพิ่มอุปกรณ์ที่สามารถใช้ Fast Pair ให้เพิ่มมากขึ้น พัฒนาการใช้อุปกรณ์ Chromecastรวมไปถึงพัฒนาการเชื่อมต่อระหว่างสมาร์ทโฟนที่ใช้แอนดรอยด์ กับโน๊ตบุ๊ก มากยิ่งขึ้น ถึงขนาดที่ทางกูเกิลออกมาประกาศเองว่า “นี่เป็นครั้งแรกเลย ที่เราจะโฟกัสด้านซอฟต์แวร์ให้เข้ากับระบบปฏิบัติการอื่น เช่นวินโดวส์”

อย่างแรกที่ทางกูเกิลประกาศก็คือ Fast Pair โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกูเกิล เอเซอร์ (Acer) เอชพี (HP) และอินเทล (Intel) เพื่อให้สามารถใช้ฟีเจอร์ Fast Pair กับคอมพิวเตอร์ที่ใช้วินโดวส์ได้ ซึ่งจะทำให้เชื่อมต่อสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์กับโน๊ตบุ๊กได้ง่ายยิ่งขึ้น จากนั้นค่อยเชื่อมต่อผ่านบลูทูธ เพื่อซิงค์ข้อความ หรือส่งต่อไฟล์ผ่านระบบ Nearby Share ทีหลังก็ได้ โดยฟีเจอร์นี้จะใช้ได้กับโน๊ตบุ๊กบางรุ่นภายในปีนี้

ในขณะเดียวกัน กูเกิลก็นำเอาระบบ Fast Pair ไปใช้กับอุปกรณ์ที่มากกว่าสมาร์ทวอทช์ รถยนต์ หรือระบบเครื่องเสียงรถยนต์ โดยระบบนี้ใช้ได้แล้วกับ Pixel Buds และนาฬิกา Fitbit บางรุ่น เพื่อให้อุปกรณ์เหล่านั้นเชื่อมต่อและตั้งค่าเริ่มใช้งานได้ง่ายขึ้น โดยในอีกไม่กี่เดือน Chromebook จะสามารถเชื่อมต่อกับหูฟังที่มีระบบนี้ได้ง่ายขึ้นอีก แล้ว Chromebook ที่จะเปิดตัวในปีนี้ ก็จะตั้งค่าครั้งแรกได้ง่ายสุด ๆ เพียงแค่เชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ แล้วก็สามารถดึงเอาข้อมูลบัญชี Google หรือกระทั่งรหัส WiFi ที่เคยเซฟไว้มาใช้ใน Chromebook ใหม่ได้เลย

การตั้งค่า Chromebook ครั้งแรก โดยเชื่อมกับสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์เท่านั้น ภาพโดย Google

กูเกิลยังบอกอีกว่า ในอนาคตจะทำให้เชื่อมต่อหูฟังไร้สายเชื่อมต่อกับ Google TV หรือ Android TV ได้ด้วยระบบ Fast Pair เดียวกันนี้ รวมถึงเชื่อมต่อกับอุปกรณ์สมาร์ทโฮมได้ด้วย นั่นทำให้การเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT กับอุปกรณ์เน็ตเวิร์กในบ้านนั้นทำได้ง่ายกว่าที่เคยเป็นมา แน่นอนว่ามันคงไม่ง่ายเหมือนเวลาที่เราตั้งค่า HomePod ของแอปเปิ้ลที่แค่เอา iPhone มาวางไว้ใกล้ ๆ ก็เริ่มดำเนินการตั้งค่าแล้ว แต่อนาคต กูเกิลน่าจะมีวิธีในการเชื่อมต่อที่น่าสนใจมานำเสนอแน่นอน

แล้วกูเกิลก็อยากทำให้การต่อภาพหรือเสียงออกไปยังอุปกรณ์ต่าง ๆ สะดวกสบายมากขึ้น ด้วยการเพิ่มอุปกรณ์ที่สามารถใช้ Google Cast ได้หลากหลายแบรนด์มากยิ่งขึ้น โดยเริ่มจากลำโพงของโบส (Bose) ก่อน อัพเดตนี้จะทำให้สมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ของเราสามารถส่งเพลงจากในโทรศัพท์ขึ้นไปเล่นบนลำโพงที่รองรับได้ง่ายขึ้นด้วย

แล้วทางกูเกิลก็ยังต้องกาารที่จะ ‘สร้างเทคโนโลยีสำหรับหูฟังบลูทูธขึ้นใหม่’ โดยจะทำให้เปลี่ยนอุปกรณ์ที่จะเล่นเสียงเองแบบอัตโนมัติตามอุปกรณ์ที่เรากำลังใช้อยู่ อย่างเช่น ถ้าเรากำลังดูหนังบนแท็บเล็ตแอนดรอยด์ แล้วมีสายเข้ามาที่สมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ของเรา เมื่อเรากดรับสาย ตัวหูฟังจะตัดการเชื่อมต่อกับแท็บเล็ต หยุดหนังให้ แล้วเปลี่ยนมาเชื่อมต่อสมาร์ทโฟน ให้เรารับสายและคุยผ่านหูฟังนั้นได้เลย แล้วตัดกลับไปที่แท็บเล็ตหลังจากวางสายแล้ว ซึ่งฟีเจอร์นี้จะถูกฝังเข้าไปในระดับซอฟต์แวร์ ไม่ใช่แค่ในบางแอปที่รองรับเท่านั้น

เทคโนโลยีการตัดการเชื่อมต่อจากแท็บเล็ต ไปยังสมาร์ทโฟนแบบอัตโนมัติ  ภาพโดย Google

ส่วนหูฟังที่รองรับ จะได้รับการอัพเดตให้ใช้ฟีเจอร์ Spatial Audio หรือระบบเสียงรอบทิศทางที่จะปรับทิศทางของเสียงตามการขยับหัวของเรา โดยจะได้รับการอัพเดตภายในไม่กี่เดือนต่อจากนี้

และในสิ้นปีนี้ Phone Hub หรือระบบเชื่อมต่อสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ให้สามารถโทรเข้า-ออกบน Chromebook ได้ จะได้รับการอัพเดตให้มีประโยชน์มากขึ้นด้วย โดย Phone Hub จะทำให้เราสามารถส่งข้อความหาเพื่อนผ่านแอปพลิเคชันใดก็ได้ โดยไม่ต้องลงแอปใน Chromebook แม้แต่แอปเดียว รวมถึงจะเพิ่มกล้องถ่ายภาพเข้าไปใน Phone Hub ซึ่งจะทำให้เราดูภาพถ่ายในสมาร์ทโฟนของเราได้ด้วย

ฟีเจอร์ใหม่ของ Phone Hub ที่จะทำให้เราส่งข้อความหาเพื่อนได้แม้ไม่ได้ลงแอปพลิเคชันใน Chromebook  ภาพโดย Google

ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า จะมีการอัพเดตให้กับ Wear OS 3 ด้วย เมื่อเราใส่สมาร์ทวอทช์ที่ใช้ Wear OS 3 นี้อยู่ สมาร์ทโฟนหรือ Chromebook ของเราก็จะปลดล็อคอยู่ตลอดที่เราอยู่ใกล้อุปกรณ์เหล่านั้น

แม้กระทั่งรถก็ยังได้รับการอัพเดตนะ ! โดยสมาร์ทโฟน Pixel ของกูเกิลและซัมซุง (Samsung) บางรุ่นจะสมารถล็อค หรือปลดล็อครถยนต์รุ่นที่รองรับได้ด้วย เพียงแค่เรานำสมาร์ทโฟนของเราไปแตะกับรถรุ่นที่รองรับเท่านั้น โดยจะเริ่มจากรถ BMW บางรุ่นก่อน ในช่วงสิ้นปีนี้ สมาร์ทโฟนบางรุ่นที่รองรับการเชื่อมต่อแบบ ultra-wideband จะสามารถปลดล็อคประตูรถได้โดยไม่ต้องหยิบสมาร์ทโฟนออกจากกระเป๋าด้วยซ้ำ และกูเกิลยังเพิ่มการสนับสนุนสำหรับการแชร์คีย์ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการทำงานร่วมกันของ Connected Car Consortium (CCC) ดังนั้นจึงสามารถแชร์การเข้าถึงรถจากระยะไกลได้โดยตรงจากสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์เลย

สมาร์ทโฟนบางรุ่น สามารถปลดล็อครถได้เลยในอนาคต เพียงแค่นำเอาสมาร์ทโฟนไปแตะที่รถเท่านั้น ภาพโดย Google

และสุดท้ายก็คือ เราสามารถบอกกับ Google Assiatant ได้เลยว่าจะให้ทำให้รถนั้นอุ่นขึ้นด้วยการเปิดเครื่องทำความร้อนในรถรอไว้ก่อน, ทำความเย็นด้วยการเปิดแอร์เอาไว้ก่อน, ล็อค-ปลดล็อครถของเรา แล้วก็ถามว่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้าของเราเหลือแบตเตอรี่เท่าไหร่ก็ได้ด้วยนะ โดยทางกูเกิลบอกว่าฟีเจอร์นี้จะใช้ได้กับรถยนต์ของวอลโว่ (Volvo) ก่อนในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า แล้วจะมีแบรนด์อื่น ๆ ตามมาในอนาคต

โดยทางกูเกิลได้อัพโหลดวีดีโอสรุปฟีเจอร์เหล่านี้ไว้ในยูทูปด้วย

ดูเหมือนว่าเมื่อฟีเจอร์ทั้งหมดเปิดให้ใช้งานได้ครบทุกอันแล้ว ผู้ใช้ที่ไม่ได้ใช้แอปเปิ้ลก็จะได้รับประสบการณ์การเชื่อมต่อข้ามกันระหว่างอีโคซิสเต็มได้ง่ายขึ้นอย่างแน่นอน

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ ของ Google กำลังพัฒนาให้การเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ทำได้ไร้รอยต่อยิ่งขึ้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook