สายทันตะไม่ยอมรอ ขอใช้เทคโนโลยีเสมือนจริงสอนแพทย์ช่วงล็อกดาวน์

สายทันตะไม่ยอมรอ ขอใช้เทคโนโลยีเสมือนจริงสอนแพทย์ช่วงล็อกดาวน์

สายทันตะไม่ยอมรอ ขอใช้เทคโนโลยีเสมือนจริงสอนแพทย์ช่วงล็อกดาวน์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เท่าที่ผ่านมาการฝึกสอนแพทย์สมัยใหม่ได้อาศัยเทคโนโลยีแบบที่เรียกว่าเสมือนจริงหรือ Virtual Reality (VR) และเทคโนโลยีเสริมจริงหรือ Augmented Reality (AR) เข้าช่วยมากขึ้นแต่เรื่องนี้ยังมีไม่มากนักสำหรับด้านทันตกรรม

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อาจารย์มหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ สองคนได้พัฒนาคลีนิคทันตกรรมแบบ VR ขึ้นเพื่อช่วยฝึกสอนนักศึกษาทันตแพทย์โดยเฉพาะในช่วงล็อกดาวน์ ด้วยการให้นักศึกษาทันตแพทย์สวมแว่นตา VR เข้าไปอยู่ในคลินิกของโลกเสมือนจริงเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับเครื่องมือต่างๆ รวมทั้งเพื่อทดลองผ่าตัดปลูกถ่ายฟันให้กับคนไข้เสมือนจริงด้วย

นายแพทย์ Cortino Sukotjo จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐอิลลินอยส์ที่นครชิคาโกบอกว่าในการสอนนั้นนักศึกษาแพทย์มักต้องฝึกทำซ้ำๆเพื่อให้เกิดความชำนาญ และด้วยการใช้เทคโนโลยี AR ผสมผสานกับ VR ดังกล่าวนักศึกษาแพทย์จะสามารถฝึกฝนได้จากที่บ้านโดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลา

นายแพทย์ Cortino Sukotjo ร่วมมือกับอาจารย์ Markus Santoso ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเสริมจริงและเสมือนจริงที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐฟลอริดาเพื่อพัฒนาโปรแกรมต้นแบบขึ้นและอาศัยจุดแข็งรวมทั้งความรู้ความชำนาญซึ่งกันและกัน โดยอาจารย์ Markus Santoso บอกว่าเขานำปัญหาจากโลกของความเป็นจริงจากนายแพทย์ Cortino Sukotjo มาพัฒนาโปรแกรมต้นแบบแล้วให้นายแพทย์ Cortino Sukotjo กับนักศึกษาแพทย์ของเขานำโปรแกรมที่ว่านี้ไปทดลองใช้ดู

คุณ Stephanie Schreiber นักศึกษาทันตแพทย์ผู้หนึ่งบอกว่าโปรแกรมจำลองเพื่อฝึกการผ่าตัดปลูกถ่ายฟันช่วยเธอได้มากทีเดียวในเรื่องขั้นตอนต่างๆ ที่ต้องเตรียมตัวรวมทั้งการฝึกอุปกรณ์ที่ต้องใช้ ด้วยการนำเธอเข้าสู่คลินิกเพื่อรักษาคนไข้แบบเสมือนจริงนั่นเอง

มีการตีพิมพ์ผลการศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของโปรแกรมเสมือนจริงและเสริมจริงนี้ในวารสาร Journal of Dental Education และถึงแม้ประสิทธิผลของการสอนแบบนี้อาจจะยังได้ไม่เต็มที่เหมือนการสอนแบบตัวต่อตัวในสถานการณ์จริงก็ตาม

แต่ทันตแพทย์ Cortino Sukotjo ก็บอกว่าเทคโนโลยีดังกล่าวสามารถช่วยเสริมการสอนและเป็นทางเลือกหนึ่งเพื่อฝึกฝนทักษะโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงล็อคดาวน์ได้ เพราะทันตแพทย์ Cortino Sukotjo บอกว่าคณะทันตแพทย์ศาสตร์ของตนต้องปิดตัวลงถึงสามเดือนเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งสำหรับนักศึกษาแพทย์ที่ต้องจ่ายค่าเล่าเรียนปีละ 100,000 ดอลลาร์หรือกว่าสามล้านบาทไทยนั้น เทคโนโลยีเรื่องนี้สามารถช่วยเสริมและเพิ่มเติมทักษะให้ได้อย่างแน่นอน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook