[Tips & Tricks] 7 เทคนิคถ่ายภาพด้วยสมาร์ทโฟนสำหรับมือใหม่ ที่จะทำให้คุณดูโปรขึ้นทันตา

[Tips & Tricks] 7 เทคนิคถ่ายภาพด้วยสมาร์ทโฟนสำหรับมือใหม่ ที่จะทำให้คุณดูโปรขึ้นทันตา

[Tips & Tricks] 7 เทคนิคถ่ายภาพด้วยสมาร์ทโฟนสำหรับมือใหม่ ที่จะทำให้คุณดูโปรขึ้นทันตา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปัจจุบันนี้กล้องดิจิทัลบนสมาร์ทโฟนพัฒนามาไกลมากจนถ่ายรูปสวยๆ ได้ไม่แพ้กล้องโปรเลยทีเดียว และด้วยความที่สมาร์ทโฟนเป็นเสมือนปัจจัยที่ 5 ที่ทุกคนต้องมี ทำให้ทุกคนสามารถฝึกถ่ายรูปด้วยตัวเองได้โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนหลายหมื่นบาทเพื่อซื้อกล้อง เลนส์ และอุปกรณ์อื่นๆ เหมือนแต่ก่อน แต่การเรียนรู้ด้วยตัวเองตั้งศูนย์โดยไม่มีพื้นฐานใดๆ มาก่อนเลยนั้น อาจต้องใช้เวลาลองผิดลองถูกอยู่นาน

ในโอกาสนี้ทีมงาน Thaimobilecenter จึงขอนำเทคนิคพื้นฐาน 7 ข้อสำหรับการถ่ายภาพด้วยสมาร์ทโฟนมาฝากตากล้องมือใหม่ทุกท่าน เพื่อเป็นแนวทางให้พัฒนาฝีมือได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา ไปดูกันเลยครับว่ามีอะไรบ้าง

 1. ทำความคุ้นเคยกับกล้องมือถือของตัวเอง

1

สมาร์ทโฟนแต่ละรุ่นมีสเปกที่ไม่เหมือนกัน ทำให้มีกล้องดิจิทัลที่แตกต่างกันไปด้วยทั้งด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ไม่ว่าจะเป็นเซ็ตอัพแบบกล้องเดี่ยว-กล้องคู่ ความละเอียดภาพ ชนิดของเลนส์ ซอฟต์แวร์ประมวลผล ไปจนถึงฟีเจอร์เสริมอื่นๆ ดังนั้นสิ่งที่ตากล้องมือใหม่ควรทำเป็นอันดับแรกคือการเรียนรู้ขีดความสามารถของกล้องที่ตัวเองใช้ด้วยการหยิบมาถ่ายรูปเล่นบ่อยๆ จนคุ้นเคยว่ากล้องของเราทำอะไรได้และไม่ได้บ้าง สังเกตหาจุดอ่อน-จุดแข็งแล้วดึงความสามารถของมันออกมาให้มากที่สุดครับ

 2. พยายามอย่าซูม

2

เมื่อต้องการถ่ายวัตถุบางอย่างแบบเฉพาะเจาะจง พยายามอย่าซูมภาพเพื่อขยายวัตถุในภาพ แต่ให้เดินเข้าไปถ่ายใกล้ๆ แทน เพราะกล้องสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่ใช้การซูมแบบดิจิทัลซึ่งเป็นการขยายขนาดพิกเซลในภาพทำให้ภาพแตก ไม่คมชัดเท่าที่ควร แม้ว่าสมาร์ทโฟนบางรุ่นจะมีฟังก์ชันการซูมแบบออพติคัลซึ่งเป็นการซูมด้วยเลนส์และไม่ทำให้ภาพแตก แต่ก็ซูมได้แค่ 2-3 เท่า

นอกจากนี้ ควรระวังอย่าให้ฉากหลังเด่นเกินไป หากสมาร์ทโฟนมีเอฟเฟ็กต์โบเก้ (หน้าชัดหลังเบลอ) ก็สามารถนำมาใช้เพิ่มความโดดเด่นให้กับวัตถุได้เช่นกัน

 3. อย่าลืม “กฎสามส่วน” และ “จุดตัดเก้าช่อง”

3

ในการถ่ายภาพแต่ละครั้ง คนส่วนใหญ่ที่ไม่เคยศึกษาด้านการถ่ายภาพมาก่อนมักจะจัดตำแหน่งจุดสนใจให้อยู่ตรงกลางเสมอ แต่จริงแล้วยังมีวิธีการจัดองค์ประกอบภาพที่ดีกว่า นั่นคือการจัดองค์ประกอบภาพโดยอิง “กฎสามส่วน” และ “จุดตัดเก้าช่อง”

กฎ 3 ส่วน คือ หลักการจัดองค์ประกอบภาพขั้นพื้นฐานโดยแบ่งภาพออกเป็น 3 ส่วนทั้งในแนวตั้งและแนวนอน เส้นแบ่งจะแบ่งภาพออกเป็น 9 ส่วนเท่าๆ กัน และจะตัดกัน 4 จุด ดังภาพ เราเรียกจุดตัดเหล่านี้ว่า “จุดตัดเก้าช่อง” ซึ่งทั้ง 4 จุดนี้เองที่เป็นจุดสนใจหลักของภาพ และเหมาะสมที่สุดในการจัดวางวัตถุเพื่อขับเน้นความโดดเด่นออกมา

ตัวอย่างภาพถ่ายที่จัดองค์ประกอบภาพตามกฎสามส่วน

4

5

6
นำมาใช้กับภาพยนตร์ก็ได้เช่นกัน

 4. หลีกเลี่ยงการใช้แฟลชโดยไม่จำเป็น

7

เรามักจะเข้าใจว่าแฟลชเป็นอุปกรณ์สำหรับเพิ่มแสงให้ภาพเวลาถ่ายในที่มืดๆ จึงพยายามใช้แฟลชทุกครั้งที่มีโอกาสไม่ว่าตอนนั้นจะเป็นช่วงอาทิตย์ลับขอบฟ้า หรือในร่มเงาอาคาร แต่แฟลชของสมาร์ทโฟนจะทำให้ภาพมีแสงเงาและสีสันที่ไม่เป็นธรรมชาติ วิธีที่ดีกว่าการใช้แฟลช คือการอาศัยแหล่งกำเนิดแสงจากสิ่งแวดล้อม เช่นโคมไฟ แสงไฟถนน แสงจากอาคารบ้านเรือน และอื่นๆ แทน

 5. ถ่ายให้มีคนติดในรูปบ้าง

8

บางครั้งถึงแม้ว่าเราจะตั้งใจถ่ายวิวทิวทัศน์ แต่การเพิ่มผู้คนเข้าไปในภาพด้วยจะทำให้ภาพดูมีเรื่องราวและน่าสนใจยิ่งขึ้น และยังสื่อถึงขนาดและมิติของพื้นที่ในภาพไปในตัวด้วย

 6. รักษาเลนส์ให้สะอาดอยู่เสมอ

9

หากถ่ายรูปแล้วติดเงาแปลกๆ อย่าเพิ่งตกใจ เพราะสิ่งที่เห็นอาจไม่ใช่วิญญาณ แต่เป็นเศษฝุ่นผงหรือคราบสกปรกที่ติดอยู่บนเลนส์ ให้ใช้ผ้าสะอาดผืนเล็กๆ ชุบน้ำหมาดๆ เช็ดเบาๆ แล้วเช็ดซ้ำด้วยผ้าแห้งอีกครั้ง ใครที่มีน้ำยาล้างแว่นตาก็สามารถนำมาใช้เช็ดเลนส์กล้องสมาร์ทโฟนได้เช่นกัน เพียงเท่านี้เลนส์ก็จะกลับมาสดใสชัดเจนเหมือนเดิมแล้ว

 7. เรียนรู้การใช้แอปพลิเคชันแต่งรูป

10

สมาร์ทโฟนในปัจจุบันมักจะมีฟังก์ชันการแต่งภาพพื้นฐานมาให้อยู่แล้ว ซึ่งทำให้เราสามารคร็อปตัด ปรับค่าสี ใส่ฟิลเตอร์ และอื่นๆ ได้ ควรฝึกใช้งานฟังก์ชันเหล่านี้ให้ชำนาญ จะช่วยให้เราจัดการรูปภาพได้โดยไม่ต้องพึ่งคอมพิวเตอร์ทุกครั้ง หรืออาจลองดาวน์โหลดแอปแต่งภาพบน App Store หรือ Google Store เพื่อทดลองลูกเล่นใหม่ๆ ก็ดีเหมือนกันครับ

สุดท้ายนี้ก็หวังว่าเทคนิคง่ายๆ ทั้ง 7 ข้อจะช่วยให้ตากล้องมือใหม่ทุกท่านพัฒนาฝีมือได้เร็วขึ้นและสนุกกับการถ่ายภาพมากกว่าเดิม แล้วพบกับเทคนิคการใช้งานสมาร์ทโฟนใหม่ๆ อีกครั้งกันในโอกาสหน้า สำหรับวันนี้ สวัสดีครับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook