แอปเปิล-เอฟบีไอ กับ "ความปลอดภัยบนเครือข่าย"

แอปเปิล-เอฟบีไอ กับ "ความปลอดภัยบนเครือข่าย"

แอปเปิล-เอฟบีไอ กับ "ความปลอดภัยบนเครือข่าย"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์ pairat@matichon.co.th

      คดีความคาราคาซังอยู่ในสหรัฐอเมริกาในเวลานี้ระหว่าง แอปเปิล อิงค์. ฝ่ายหนึ่ง กับ สำนักงานสอบสวนกลาง (เอฟบีไอ) อีกฝ่ายหนึ่ง ไม่เพียงมีความน่าสนใจอยู่ในตัวคดีเองอยู่แล้วเท่านั้น ยังน่าสนใจมากยิ่งขึ้นไปอีกว่า ผลลงเอยเรื่องนี้จะก่อให้เกิดผลกระทบกับคนที่ใช้งานโทรศัพท์ “ไอโฟน” สารพัดรุ่นหรือไม่ และมากน้อยแค่ไหน

      เพื่อทำความเข้าใจเรื่องนี้ต้อง ย้อนกลับไปที่เหตุการณ์สังหารหมู่ที่เมืองซานเบอร์นาร์ดิโน รัฐแคลิฟอร์เนีย ในสหรัฐอเมริกา ที่มีผู้เสียชีวิตมากถึง 14 คน คนร้ายสองสามีภรรยาเสียชีวิตระหว่างหลบหนีเมื่อวันที่ 2 ธันวาคมปีที่แล้ว

      ปมเงื่อนสำคัญคือ คนร้ายในคดีนี้ใช้โทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟนของไอโฟน ที่มีการเข้ารหัสเพื่อปกป้องข้อมูลภายในของผู้ครอบครองตามปกติ เหมือนไอโฟนที่อยู่ในมือของเราๆ ท่านๆ ในเวลานี้

      ทางเอฟบีไอต้องการ รู้รายละเอียดทั้งหมดที่อยู่ภายในเครื่อง อาทิ คนร้ายติดต่อกับใครอย่างไรบ้าง ทั้งที่ผ่านทางการพูดคุยแล้วก็ผ่านทางโซเชียลมีเดียทั้งหลาย เก็บข้อมูลอะไรไว้บ้าง เพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับคนร้ายรายนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เหตุผลเพราะคดีนี้เป็นคดีก่อการร้าย คนร้ายเองประกาศตัวเป็น “ผู้ที่จงรักภักดี” ต่อองค์การก่อการร้ายระดับโลกที่รู้จักกันในชื่อ ไอเอส หรือ ไอซิส

      เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นถือกันว่าเป็นเหตุก่อการร้ายที่ร้ายแรงที่สุดในดินแดนของสหรัฐอเมริกานับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ 9/11 เรื่อยมา

      คดีแบบนี้ ยิ่งล่วงรู้เกี่ยวกับคนร้ายและเครือข่ายมากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นผลดีต่อ “ความมั่นคงของรัฐ”และ “ความปลอดภัย” ของประชาชนมากยิ่งขึ้นเท่านั้น

      ฟังดูแล้วก็เป็นเหตุเป็นผลดี ทุกอย่างก็ไม่น่าจะมีปัญหา เอฟบีไอถึงได้ยื่นขอความร่วมมือไปยัง “แอปเปิล อิงค์.” ภายใต้พื้นฐานแนวคิดดังกล่าว

      แต่กรณีนี้กลายเป็นคดีความที่ไม่เพียง คาราคาซังอยู่ในศาลเท่านั้น ยังถึงขั้นต้องหยิบยกเข้าไปถกกันในรัฐสภาสหรัฐเลยทีเดียว ด้วยเหตุที่ว่า แอปเปิล อิงค์. ตอบปฏิเสธที่จะทำตามคำขอของเอฟบีไอ

      ทิม คุก ซีอีโอของแอปเปิลไม่ปฏิเสธเปล่า แต่ยังเปิดเผยเรื่องนี้ต่อสาธารณะ จนลุกลามกลายเป็นเรื่องหนึ่งซึ่งสร้างความแตกแยกทางความคิดในสังคมอเมริกัน ได้อย่างใหญ่หลวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาของ “ปีแห่งการเลือกตั้ง” อย่างเช่นในตอนนี้

ถามว่า “ทิม คุก” เอาอะไรเป็นเหตุผลไปปฏิเสธคำขอของเอฟบีไอ?

      ทิม คุก บอกว่า สิ่งที่เอฟบีไอขอให้แอปเปิลทำนั้น พิจารณาดูแล้วอาจไม่จำกัดอยู่เฉพาะกรณีซานเบอร์นาร์ดิโนเพียงกรณีเดียว แต่จะกลายเป็นช่องโหว่ให้โทรศัพท์ไอโฟนทั้งหมดในเวลานี้มีช่องโหว่ให้ล้วง ความลับได้ตลอดเวลา ซึ่งเท่ากับเป็นการร้องขอให้แอปเปิลทำในสิ่งที่จะล่วงละเมิดกฎหมายรัฐ ธรรมนูญ ฉบับแก้ไขครั้งที่ 1 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของชาวอเมริกัน ที่มีสิทธิที่จะปกป้องสิ่งซึ่ง “เป็นส่วนตัว” ของตัวเองไม่ให้คนอื่นได้ล่วงรู้ได้

เอฟบีไอยังคงยืนกรานว่า สิ่งที่ร้องขอให้แอปเปิลทำ จำกัดอยู่เฉพาะเรื่องซานเบอร์นาร์ดิโนเท่านั้น

      ถ้าจะถามต่อว่า เหตุผลของทิม คุก มีน้ำหนักหรือไม่ และมีสิทธิที่จะคิดเห็นไปในทำนองนั้นหรือไม่? ในความคิดเห็นส่วนตัว แบบที่ไม่เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด (เพราะไม่มีความจำเป็นต้องเข้าข้าง) ผมคิดว่า แอปเปิลมีสิทธิเต็มที่ที่จะระแวงไปในทำนองนั้นเพราะผมไม่เชื่อว่า เอฟบีไอไม่มีปัญญาทำอะไรกับโทรศัพท์แค่เครื่องเดียวเครื่องนั้น

      ในการเข้าให้ปากคำเรื่องนี้ต่อกรรมาธิการยุติธรรม สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกา เจมส์ โคมีย์ ผู้อำนวยการเอฟบีไอ บอกว่า เอฟบีไอจนปัญญาที่จะ “ทะลวง” ระบบเข้ารหัสของไอโฟนเข้าไปดูข้อมูลข้างใน แถมยังบอกด้วยว่า ได้พยายามสอบถามเรื่องนี้ไปยัง “ทุกๆ ส่วน” ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ของรัฐบาลสหรัฐแล้ว คำตอบที่ได้ก็เหมือนเดิมคือ ไม่มีใครทำได้?

นั่นคือเหตุผลที่ทำให้ต้องขอให้แอปเปิลทำให้

      แต่สิ่งที่เอฟบีไอขอให้แอปเปิลทำนั้น แม้จะไม่เป็นที่รับรู้กันโดยละเอียด แต่เข้าใจกันว่า เป็นการขอให้แอปเปิลเขียนซอฟต์แวร์ที่เป็นระบบปฏิบัติการใหม่ครอบลงไปบนระบบ ปฏิบัติการเดิม เพื่อให้สามารถใช้งานไอโฟนตัวที่เป็นปัญหาได้เหมือนกับเป็นเจ้าของปกติ โดยไม่จำเป็นต้องรู้รหัสอีกแล้ว ศัพท์ที่เรียกกันในวงการก็คือการเขียน “รอม” ใหม่ “ออน ท็อป” ลงไปเพื่อการนี้

      ผมเดาเอาว่า ใครต่อใครก็คงไม่เชื่อว่า เอฟบีไอไม่มีปัญญาจะล้วงเอาอะไรต่อมิอะไรในโทรศัพท์เครื่องนั้นออกมาโดยที่ ไม่ต้องใช้รหัสของเจ้าของเดิมในการเปิดเครื่อง

      เมื่อไม่เชื่อก็ต้อง เดาเอาว่า ที่เอฟบีไอพยายามบอกว่าทำไม่ได้ เพราะอยากได้อย่างอื่นมากกว่า นั่นคืออยากได้ช่องทางพิเศษที่จะเข้าสู่ภายในเครื่องไอโฟนแต่ละเครื่องได้ใน อนาคต โดยไม่ต้องมานั่งกังวลกับรหัสที่เจ้าของแต่ละเครื่องตั้งกันไว้อีกต่อไป

      ในเวลาเดียวกัน ผมก็เชื่อว่าที่ทิม คุก หยิบยกเอาประเด็น “ไพรเวซี” ขึ้นมาอ้างในการปฏิเสธคำขอของเอฟบีไอนั้น เป็นความชาญฉลาดอย่างหนึ่ง เป็นความฉลาดในการดึงเอาคนส่วนมากมาเป็นพวก เป็นเกราะป้องกันให้ตัวเองได้อย่างนิ่มนวล แต่แหลมคม

      เพราะสิ่งที่ทิม คุก พยายามปกป้อง ไม่ใช่เสรีภาพของเราๆ ท่านหรอกครับ แต่เป็นธุรกิจมูลค่าเป็นหมื่นๆ ล้านของแอปเปิลต่างหาก

      ใครจะซื้อแอปเปิลไปใช้อีกต่อไป ถ้ารู้ๆ กันอยู่ว่าต่อไปนี้เอฟบีไอ สามารถล้วงตับเราได้ทุกครั้ง ทุกเวลาที่ต้องการ?




แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook