ระวัง “ไข้กาฬหลังแอ่น” ระบาดแถบชายแดน-ชุมชนแออัด

ระวัง “ไข้กาฬหลังแอ่น” ระบาดแถบชายแดน-ชุมชนแออัด

ระวัง “ไข้กาฬหลังแอ่น” ระบาดแถบชายแดน-ชุมชนแออัด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัยอธิบดีกรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลว่า จากการเฝ้าระวังสถานการณ์โรคไข้กาฬหลังแอ่นในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม- วันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 มีรายงานผู้ป่วย 24 ราย เสียชีวิต 8 ราย จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด คือ ยะลา แม่ฮ่องสอน สตูล ปัตตานี และบึงกาฬ ตามลำดับ โดยปีนี้พบว่าจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา (ปี 2559 ป่วย 17 ราย เสียชีวิต 2 ราย) โดยเฉพาะจังหวัดในภาคใต้และภาคเหนือตามแนวชายแดนติดกับประเทศพม่า ซึ่งโรคนี้พบได้ตลอดทั้งปีเฉลี่ยเดือนละ 2-4 ราย และมีรายงานผู้ป่วยล่าสุดในเดือนตุลาคม 2 ราย ที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.ปัตตานี คาดว่า มีโอกาสจะพบผู้ป่วยโรคไข้กาฬหลังแอ่นเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตามแหล่งชุมชนแออัด ในจังหวัดในภาคใต้และภาคเหนือ รวมถึงพื้นที่ตามแนวชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน

 

ไข้กาฬหลังแอ่น คืออะไร?

ไข้กาฬหลังแอ่น หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อไข้กาฬหลังแอ่น เป็นโรคติดเชื้อชนิดหนึ่ง เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Neisseria meningitidis ซึ่งเป็นเชื้อกรัมลบรูปทรงกลมจำพวกเดียวกับเชื้อหนองในแท้ หรือ Neisseria gonorrheae แต่ไม่ทำให้เกิดกามโรคและมีความรุนแรงในการก่อโรคมากกว่า มีอัตราการตายสูงกว่า ชื่อโรคไข้กาฬมีเหตุจากความรุนแรงของโรค ซึ่งทำให้ผู้ป่วยถึงแก่กรรมได้ในเวลาอันสั้น และ ชื่อหลังแอ่น เนื่องจากลักษณะของผู้ป่วยโรคนี้อาจมีการชักเกร็ง หลังแข็งแอ่น ชื่อโรคไม่เกี่ยวข้องกับนกนางแอ่นแต่อย่างใด

 

ไข้กาฬหลังแอ่น ติดต่อกันได้อย่างไร?

ไข้กาฬหลังแอ่นติดต่อโดยเชื้อโรคกระจายจากช่องปาก ช่องจมูก จากคนหนึ่งสู่อีกคนโดยตรง ผ่านระบบทางเดินหายใจ สามารถเกิดได้ทุกวัย แต่มักพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ อาการคือ มีไข้ ปวดศีรษะรุนแรง อาเจียน คอแข็ง อาจมีผื่นแดง จ้ำเลือดขึ้นตามผิวหนังร่วมด้วย และอาจเกิดภาวะช็อกอย่างรวดเร็ว ในผู้ที่มีโรคประจำตัวและภูมิต้านทานโรคต่ำ เช่น โรคตับไต โรคหัวใจ โรคเลือด ดื่มสุราเป็นประจำ ฯลฯ อาจมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้

 

วิธีป้องกันไข้กาฬหลังแอ่น

หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัดเป็นเวลานาน เช่น สถานบันเทิง ตลาดที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก เป็นต้น ระวังการสัมผัสกับน้ำมูก น้ำลายของผู้อื่น และล้างมือบ่อยๆ ส่วนผู้ที่เดินทางไปทวีปแอฟริกาหรือประเทศในตะวันออกกลาง ต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่นเพื่อเพิ่มภูมิต้านทาน หากมีอาการป่วยสงสัยว่าเป็นโรคนี้ ควรรีบพบแพทย์ทันที

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook