ไตอักเสบ ภัยเงียบของวัยทำงาน อาจเสี่ยงไตวายภายหลัง

ไตอักเสบ ภัยเงียบของวัยทำงาน อาจเสี่ยงไตวายภายหลัง

ไตอักเสบ ภัยเงียบของวัยทำงาน อาจเสี่ยงไตวายภายหลัง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คุณกำลังมีปัสสาวะสีผิดปกติหรือไม่? กำลังปวดเอวค่อนไปทางด้านหลังหรือเปล่า? ถ้าคุณเคยประสบปัญหาเหล่านี้ ขอให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายโดยด่วน เพราะคุณอาจกำลังเสี่ยงโรค “ไตอักเสบ” โดยไม่รู้ตัว

 

โรคไตอักเสบ คืออะไร?

ไตอักเสบ คือภาวะที่กลุ่มเลือดฝอยของไตมีอาการอักเสบ ปกติแล้วกลุ่มเลือดฝอยของไตจะทำหน้าที่กรองของเหลวส่วนเกิน หรือของเสียที่ปะปนในกระแสเลือดให้กลายเป็นปัสสาวะ ดังนั้นเมื่อกลุ่มเลือดฝอยเหล่านี้มีอาการอักเสบ จึงส่งผลให้ปัสสาวะไม่ปกติ รวมถึงเกิดอาการปวดบริเวณไตข้างที่มีอาการอีกด้วย โดยอาจเป็นที่ไตทั้งสองข้าง หรือข้างใดข้างหนึ่งเพียงข้างเดียวก็ได้ นอกจากนี้ไตอักเสบบางชนิดหากไม่รีบรักษาอาจเรื้อรังจนกลายเป็นไตวายได้ในที่สุด

 

ไตอักเสบ เกิดจากสาเหตุใด?

สาเหตุของโรคไตอักเสบมีอยู่มากมาย อาจจะเกิดขึ้นเองโดยที่ไม่ได้ทำอะไรเป็นพิเศษ อาจมาจากกรรมพันธุ์ การติดเชื้อแบคทีเรียสเตร็ปโตค็อกคัส ที่มาจากอาการเจ็บคอ หรือติดเชื้อทางผิวหนัง ติดเชื้อจากการอักเสบของเยื่อบุหัวใจ จากเชื้อไวรัส ที่ก่อให้เกิดเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบี ซี นอกจากนี้ยังอาจเป็นผลข้างเคียงมาจากโรคประจำตัวอย่าง โรคแพ้ภูมิคุ้มกันตัวเอง (SLE) เบาหวาน หลอดเลือดอักเสบ ความดันโลหิตสูง มะเร็งปอด หรือมะเร็งเม็ดเลือดขาว เป็นต้น

 

อาการของโรคไตอักเสบ

  1. ปัสสาวะมีสีออกชมพู หรือสีโคล่า เพราะมีการปนเปื้อนของเซลล์เม็ดเลือดแดง

  2. ปัสสาวะมีฟอง เนื่องจากมีโปรตีนที่เป็นส่วนเกินปะปนออกมากับปัสสาวะ

  3. มีอาการบวมน้ำที่อวัยวะบางส่วน เช่น มือ เท้า หรือท้อง

  4. มีความดันโลหิตสูง

  5. อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ปวดข้อ มีผื่นคัน หรือมีปัญหาที่ทางเดินระบบหายใจ

  6. อาจมีอาการปวดบริเวณไต ซึ่งอยู่บริเวณเอวค่อนไปด้านหลัง อาจจะปวดข้างใดข้างหนึ่ง หรือปวดทั้งสองข้างก็ได้

 

การรักษาโรคไตอักเสบ

เนื่องจากสาเหตุของโรคมีอยู่มากมาย หากแพทย์สามารถระบุถึงสาเหตุของโรคได้อย่างชัดเจน การรักษาจะทำโดยมุ่งเน้นที่การรักษาตั้งแต่ต้นเหตุ โดยให้ยารักษาที่อาการต้นเหตุ เช่น ยาลดความดันโลหิตหากความดันโลหิตสูง ยาขับปัสสาวะที่ช่วยรักษาอาการบวมน้ำซึ่งเกิดจากการสะสมของของเหลวในร่างกาย นอกจากนี้ยังอาจพิจารณาให้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ หรือปอดอักเสบ เพื่อเพิ่มภูมิต้านทานโรค และลดภาวะอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ในอนาคต

 

โรคไตอักเสบ ป้องกันได้อย่างไร?

  1. งดการสูบบุหรี่

  2. ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อป้องกันการกำเริบของโรคเบาหวาน

  3. ควบคุมความดันโลหิตให้เป็นปกติอยู่เสมอ

  4. มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย และไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับคนอื่น เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี และไวรัสตับอักเสบ

  5. ดูแลรักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อรักษาภูมิต้านทานโรคให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook