“พาราเซตามอล” กินพร่ำเพรื่อ เสี่ยงตับพัง

“พาราเซตามอล” กินพร่ำเพรื่อ เสี่ยงตับพัง

“พาราเซตามอล” กินพร่ำเพรื่อ เสี่ยงตับพัง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ยาพาราเซตามอล หรือยาแก้ปวด ลดไข้ เป็นยาที่คนไทยซื้อรับประทานเองมากที่สุด แต่พฤติกรรมการซื้อและรับประทานยาเองอย่างพร่ำเพรื่อ อาจส่งผลไปสู่การรับประทานยาเกินขนาด ปัญหาการดื้อยา และปัญหาสุขภาพจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

สอดคล้องกับรายงานของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ที่ระบุว่า มูลค่าการบริโภคยาของคนไทยในปี 2553 คนไทยบริโภคทั้งยาแผนปัจจุบัน และยาแผนโบราณที่ผลิตเองและนำเข้าประมาณ 47,000 ล้านเม็ดต่อปี หรือเฉลี่ย 128 ล้านเม็ดต่อวัน โดยมีผู้ป่วยซื้อยารับประทานเองร้อยละ 15 ของผู้ป่วยทั้งหมด โดยอาการป่วยที่เป็นสาเหตุให้ประชาชนหาซื้อยาเองเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ได้แก่ อาการปวดหัว ตัวร้อนและอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ซึ่งตรงกับชนิดของยาที่คนทั่วไปเลือกซื้อหามาใช้เป็นอันดับแรกคือ กลุ่มยาแก้ปวดลดไข้อะเซตามิโนเฟน (acetaminophen) หรือ พาราเซตามอลนั่นเอง

เภสัชกร ณรงค์ศักดิ์ ใบเนียม เภสัชกรประจำร้านขายยาจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า

“ยาพาราเซตามอล เป็นยาแก้ปวด และลดไข้ที่คนไทยนิยมใช้กันมากที่สุด บางคนกินแก้หวัด ป้องกันหวัด หรือแก้ปวดเมื่อย ข้อดีคือไม่ระคายเคืองกระเพาะ แต่แท้จริงแล้วมีผลข้างเคียงที่อันตรายที่สุดคือการเกิดพิษต่อตับ หากใช้เกินขนาดหรือใช้ติดต่อกันนานเกินไป ถึงแม้ว่าจะเป็นยาที่มีความปลอดภัยในการใช้ก็ตาม

 

อันตรายจากพาราเซตามอล

จากการสำรวจวิจัยทั้งในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ พบว่า มีการใช้ยาพาราเซตามอลเกินขนาดมากขึ้นทุกปี เช่นเดียวกับจำนวนของผู้ที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจากพิษของพาราเซตามอลที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคตับนั้นจะยิ่งเพิ่มโอกาสอาการเกิดภาวะตับเป็นพิษ (hepatotoxicity) และอาการตับวายเฉียบพลันได้ (acute liver failure) แม้ว่าไม่ได้รับประทานเกินขนาดก็ตาม

 

ผู้ที่มีความเสี่ยงต่ออันตรายจากยาพาราเซตามอล

กลุ่มคนเหล่านี้ได้แก่ ผู้ที่ติดสุราเรื้อรังหรือดื่มเป็นประจำ, ผู้สูงอายุ, มีประวัติครอบครัวเป็นโรคตับ, ผู้ที่มีประวัติหรือมีโอกาสเป็นไวรัสตับอักเสบ, ผู้ที่รับประทานยาชนิดอื่นเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว โดยกลุ่มคนเหล่านี้มักจะมีภาวะเนื้อเยื่อตับถูกทำลายและผิดปกติ โอกาสที่การทำงานของตับจะกลับคืนสู่สภาพปกติจะยากกว่าคนทั่วไป จึงทำให้มีโอกาสเกิดภาวะความเป็นพิษของยาต่อตับนั้นรุนแรงกว่าคนปกติ แม้ว่าไม่ได้ใช้เกินขนาดก็ตาม

 

ทานยาพาราเซตามอลอย่างไรให้เหมาะสม?

สำหรับการรับประทานยาพาราเซตามอลในผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 2 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง ตามที่ฉลากยาระบุไว้ ห้ามรับประทานเกินกว่า 4,000 มิลลิกรัม หรือ 8 เม็ดต่อวัน ซึ่งยาพาราเซตามอลชนิดเม็ดส่วนใหญ่จะมีขนาด 500 มิลลิกรัม โดยแต่ละครั้งห้ามรับประทานเกิน 1,000 มิลลิกรัม หรือ 2 เม็ด และห้ามรับประทานบ่อยภายในช่วงเวลาที่ต่ำกว่า 4 ชั่วโมง ซึ่งการคำนวณยาในการรับประทานควรใช้น้ำหนักตัวเป็นเกณฑ์

โดยขนาดยาที่เหมาะสม คือ 10 - 15 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ดังนั้น หากน้ำหนัก 50 กิโลกรัม ก็สามารถรับประทานยาพาราเซตามอลได้ที่ 500 - 750 มิลลิกรัมต่อครั้ง แต่หากน้ำหนักตัวมากจนคำนวนแล้วเกินกว่า 1,000 มิลลิกรัม ก็ควรรับประทานแค่ 1,000 มิลลิกรัมเท่านั้น และรับประทานได้ไม่เกิน 4 ครั้ง เพื่อไม่ให้เกิน 4,000 มิลลิกรัมต่อวัน และไม่ควรรับประทานติดต่อกันนาน 7 วัน เพราะจะส่งผลอันตรายต่อตับ”

 

ยาพาราเซตามอล ทำร้ายตับได้อย่างไร?

ตับของคนเราเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญต่อร่างกายเป็นอันมาก มีหน้าที่เป็นโรงงานผลิตพลังงานให้ร่างกาย สร้างและควบคุมการใช้น้ำตาลกลูโคส, โปรตีน, น้ำดี, เป็นหน่วยเก็บรักษาวิตามิน แร่ธาตุ รวมถึงมี­­หน้าที่กำจัดของเสียหรือสารที่เป็นพิษ ของเสียที่ร่างกายที่ได้มาจากอาหารหรือสารที่เรารับเข้าไป เช่น แอลกอฮอลล์ กาแฟ หรือ ยา ซึ่งการที่ได้รับสิ่งเหล่านี้มากเกินก็อาจจะทำให้ตับเสียหายได้

โดยภาวะตับเป็นพิษจากพาราเซตามอล เกิดจากตัวยาจะผ่านกระบวนการเมตาบอลึซึมและถูกเปลี่ยนให้อยู่ในรูปของสาร NAPQI (N-acetyl-p-benzoquinone imine) ซึ่งถ้ามีปริมาณมากเกินไปจะทำให้เกิดภาวะ oxidative stress ซึ่งทำให้เซลล์ตับเสียหายได้ ถ้าตับนั้นไม่มีความสามารถที่จะกำจัดออกได้อย่างทันท่วงที

ภาวะนี้เกิดได้จากการรับประทานยาติดต่อกันเป็นเวลาหลายวันและได้รับยาเกินขนาด หรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยง แม้ว่าจะไม่มีอาการใดที่ชี้ชัดว่าเกิดภาวะเป็นพิษขึ้น แต่อาการที่เกิดขึ้นอาจจะมีส่วนคล้ายอาการไข้หวัดใหญ่ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยรับประทานยาต่อด้วยความเข้าใจผิด ทำให้อาการรุนแรงขึ้น และในบางคนอาจจะไม่มีอาการใดเลยจนกระทั่ง 48-72 ชั่วโมงภายหลังรับประทานยา

 

มองหา "ทอรีน" ในยาพาราเซตามอล

ล่าสุดมีงานวิจัยระดับนานาชาติหลายเรื่องที่ตีพิมพ์ถึงคุณสมบัติของทอรีน นอกจากจะช่วยบำรุงสายตาแล้ว ยังช่วยป้องกันความเป็นพิษของยาที่มีต่อตับ

ทอรีนเป็นกรดอะมิโนชนิดหนึ่ง ที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการเจริญเติบโตของร่างกายควบคุมของเหลวในเซลล์, ควบคุมระดับการเข้าออกของแคลเซียมระหว่างเซลล์ และสามารถป้องกันความเป็นพิษและความผิดปกติที่เกิดกับอวัยวะต่างๆ เช่น สมอง หัวใจ และไต โดยทอรีนจะเกี่ยวข้องกับกระบวนการปกป้องเซลล์จากอนุมูลอิสระต่างๆ โดยมีคุณสมบัติป้องกัน oxidative stress ของร่างกายที่เกิดจากสารพิษ โดยการลดระดับสารอนุมูลอิสระ, ลดระดับ lipid peroxidation และลดความเสียหายที่เกิดต่อเซลล์ และ DNA, ลดการเสียหายของไมโทคอนเดรียและการตายของเซลล์ โดยทอรีนนั้นสามารถลดความเสียหายจากอนุมูลอิสระที่เพิ่มมากขึ้นในตับอันเป็นผลมาจากปริมาณ NAPQI ที่สูงขึ้น

ดังนั้นยาพาราเซตามอลที่มีส่วนประกอบของทอรีนจึงสามารถนำมาใช้ในการป้องกัน และรักษาความเป็นพิษของตับที่เกิดจากการรับประทานยาได้ แต่เพื่อประสิทธิภาพและความปลอดภัย ควรปรึกษาเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook