เคยไหม? โดนพ่อแม่ทำโทษตอนเด็กๆ แล้วจำฝังใจถึงปัจจุบัน

เคยไหม? โดนพ่อแม่ทำโทษตอนเด็กๆ แล้วจำฝังใจถึงปัจจุบัน

เคยไหม? โดนพ่อแม่ทำโทษตอนเด็กๆ แล้วจำฝังใจถึงปัจจุบัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วัยเด็ก... วัยอยากรู้อยากเห็น วัยที่ยังไม่ค่อยเข้าใจถึงความเป็นห่วงเป็นใยของพ่อแม่ และเป็นวัยที่อยากลอง อยากทำตามใจตัวเอง จึงเป็นที่มาของคำว่าเด็กดื้อ คือเด็กที่ไม่เชื่อฟังผู้ใหญ่ หรือฟังแต่ไม่ปฏิบัติคำสั่งของผู้ใหญ่นั่นเอง เลยเป็นที่มาของการ “ทำโทษ” เพื่อให้เด็กจำเอาไว้ว่าสิ่งที่ทำเป็นสิ่งที่ไม่ดี ไม่ควรทำ ทำแล้วจะต้องเจ็บตัว

แต่การทำโทษเด็กในแบบฉบับของผู้ใหญ่ อาจก่อร่างสร้างบาดแผลจางๆ เอาไว้ให้เด็กจวบจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตได้ง่ายกว่าที่คิด เรามาดูบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ จาก สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กันค่ะ

____________________

เคยสงสัยกันไหมคะว่า เรื่องราวบางอย่างก็ผ่านไปตั้งนานมากแล้ว แต่เพราะอะไรเรากลับไม่เคยลืมเลย ราวกับมันเพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน ?

นั่นก็เป็นเพราะสมองของเรา มีโครงสร้างที่เรียกว่า อะมิกดาล่า (Amygdala) และ ฮิปโปแคมปัส (Hippocampus)

Amygdala เกี่ยวข้องกับอารมณ์ ส่วน Hippocampus เกี่ยวข้องกับความจำ ทั้งสองส่วนนี้ทำงานสัมพันธ์กัน Amygdala กระตุ้นให้ Hippocampus บันทึก(encode) และเก็บรวบรวม(consolidate) ความจำได้ดีขึ้น ความทรงจำที่มีอารมณ์ร่วมมากๆ จึงถูกเก็บไว้ได้อย่าง 'แจ่มชัด' และ 'เนิ่นนาน'

ตัวอย่างเช่น ความกลัว ซึ่งเป็นอารมณ์สำคัญต่อการมีชีวิตรอดของสิ่งมีชีวิต หากเราจำได้ว่าอะไรอันตราย เราก็จะถอยห่างจากสิ่งนั้น ในการทดลอง ลิงที่ถูกตัดAmygdalaออกไป แม้ว่าจะเคยโดนงูกัดมาแล้ว ก็ยังเข้าไปจับงูอีก เพราะสมองส่วนอารมณ์ทำงานประสานกับสมองส่วนความจำนี่เอง ที่ทำให้เรารู้จักหลบเลี่ยงอันตราย แต่สมองก็ไม่สามารถที่จะ 'เลือกบันทึก' เฉพาะสิ่งที่น่าจำ หรือ สิ่งที่เราอยากจำได้ จึงมีหลาย ๆ เหตุการณ์ ที่ไม่รางเลือน แม้ว่าเราไม่เคยพยายามจำ ทั้ง ๆ ที่เวลาก็ผ่านไปนานมากแล้ว

ตั้งแต่เราเป็นเด็ก.. ที่ทำได้แค่เพียงร้องไห้ จนกระทั่งเราเป็นผู้ใหญ่.. ที่เข้าใจอะไร ๆ มากขึ้น

 

.

 

เวลาหมอได้ฟังเรื่องฝังใจจากวัยเยาว์ที่คนไข้เล่าทีไร จะนึกถึงภาพ ตุ๊กตาแม่ลูกดก ของรัสเซียทุกที ในใจของผู้ใหญ่ตรงหน้าหมอ มี 'เด็กคนนั้นที่ยังเสียใจ' อยู่

" แม่เอาแต่ด่าๆๆ แล้วก็ซื้อก๋วยเตี๋ยวมาให้ ... ซึ่งมันไม่ใช่สิ่งที่เราอยากได้ "

คนไข้ยังจำได้ดี แม้ว่าตอนนี้จะเธอจะอายุสี่สิบกว่าแล้ว และยังเจ็บปวดเมื่อพูดถึงมัน.

 

+++ จากข้อเท็จจริงและตัวอย่างข้างต้น เราจะนำไปประยุกต์ใช้อย่างไรได้บ้าง? +++

 

1) ระมัดระวังคำพูดและการกระทำต่อคนสำคัญ : คนที่เรารัก คนที่รักเรา รวมถึง คนสำคัญอย่าง เด็ก ๆ ผู้เป็น "อนาคต" เช่น

- ครู เมื่อเห็นว่านักเรียนทำคะแนนได้ไม่ดี ... แทนที่จะพูดดูถูกเขาต่อหน้าเพื่อนๆ ... ก็ควรหาสาเหตุและหาวิธีที่จะทำให้เขาเรียนรู้เรื่อง

- พ่อแม่ เมื่อหงุดหงิดโมโหลูก ... แทนที่จะ ขู่ลูกว่าจะไม่รัก / หลอกว่าจริง ๆ แล้วไม่ใช่ลูกแท้ๆ / พูดเสียดสี ประชดประชัน / พูดเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่น ... ก็จัดการกับอารมณ์ของตัวพ่อแม่เองให้ได้ก่อน

 

ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ หยดน้ำตา แต่... อยู่ที่ "ความรู้สึกว่าตัวเองดีพอและมีคุณค่า" (self esteem) ที่ถูกบั่นทอน ซึ่งมีส่วนกำหนด "ชีวิต" ของคนคนนั้น.

 

2) ฝึกที่จะอยู่กับปัจจุบัน อย่างเป็นมิตรกับตัวเอง

ในเหตุการณ์ที่ทำให้เราเจ็บปวด "ความรู้สึก"ที่เกิดขึ้นมักบิดเบือน"ความคิด"ในขณะนั้น ทำให้เรามองสิ่งต่างๆแย่กว่าที่เป็นจริง รวมทั้ง "มุมมองที่มีต่อตัวเอง" เช่น

เรามันแย่ ไม่มีใครต้องการ ขนาดพ่อแม่ยังทำแบบนี้... และเราก็เชื่ออย่างนั้นมาโดยตลอดโดยไม่รู้ตัวเช่นกัน

 

ความทรงจำ คือ การเลือกจำสิ่งที่เกิดขึ้นในวิธีของเรา บางอย่าง มันก็ไม่ใช่ 'ความจริง'

คงไม่มีใครสามารถลบล้างความทรงจำได้ ไม่ว่าในแง่เรื่องราวหรือความรู้สึก เราคงต้องฝึกที่จะ "ก้าวออกมา" จากตรงนั้น เพื่อที่จะมองสิ่งต่างๆ ด้วยสายตาที่ "เข้าใจ" มากขึ้นได้

ฝึกให้อภัย เพื่อให้อดีตมีผลกับเราน้อยลง..น้อยลงและ เป็นมิตรกับตัวเอง คนที่อยู่ในปัจจุบัน ให้มากขึ้น..มากขึ้น

 

#หมอมีฟ้า

____________________

 

Sanook! Health หวังว่า คุณพ่อคุณแม่ รวมถึงผู้ใหญ่ ครูบาอาจารย์ทั้งหลายอ่านแล้ว คงค้นพบหาวิธีที่จะว่ากล่าวตักเตือนลูกสุดที่รักได้อย่างเหมาะสมมากขึ้นนะคะ รวมไปถึงผู้ใหญ่ที่อดีตเคยเป็นเด็ก ขอให้ลืมอดีตอันเลวร้าย แล้วทำใจยอมรับกับปัจจุบันให้มากขึ้นด้วยเช่นกันค่ะ อย่าให้บาดแผลในวัยเด็กทำร้ายตัวเองในปัจจุบันอีกเลยนะคะ


ขอบคุณเนื้อหาจาก สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
ภาพประกอบจาก istockphoto

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook