3 สัญญาณอันตรายเสี่ยง “ออฟฟิศซินโดรม”

3 สัญญาณอันตรายเสี่ยง “ออฟฟิศซินโดรม”

3 สัญญาณอันตรายเสี่ยง “ออฟฟิศซินโดรม”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ชีวิตคนวัยทำงานโดยเฉพาะพนักงานออฟฟิศที่ต้องนั่งหน้าคอมนานๆ นอกจากจะต้องใช้สายตาและสมองในการคิดงานอย่างหนักแล้ว กลับต้องมีความเสี่ยงเป็นโรคออฟฟิศซินโดรมเพิ่มด้วยซะงั้น ถ้าใครยังไม่รู้จักว่าเจ้าโรคนี้คืออะไร มีสัญญาณเสี่ยงอย่างไรบ้างล่ะก็ตาม Sanook! Health มากันเลย

 

โรคออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) คืออะไร ?

เป็นภาวะที่มักพบมากในวัยทำงาน เนื่องจากการนั่งทำงานนานหลายชั่วโมง ไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายมากนัก รวมทั้งเคลื่อนไหวไม่ถูกลักษณะ เช่น นั่งหลังงอ เดินห่อไหล่ ไม่ยืดตัว เป็นระยะเวลานาน ทำให้เริ่มมีอาการเมื่อยตาม ไหล่ บ่า หลังและข้อมือ จนอาจกลายเป็นเรื้อรังได้

นอกจากนี้สภาพแวดล้อมในที่ทำงาน พวกโต๊ะ เก้าอี้ ก็มีผลต่อการเป็นโรคออฟฟิศซินโดรมเช่นกัน เพราะบางทีความสูงของเก้าอี้และโต๊ะไม่เหมาะสมกัน โต๊ะสูงกว่าเก้าอี้นิดเดียว ทำให้ต้องนั่งก้มหลังงอทำงาน แค่คิดก็รู้สึกเมื่อยแล้ว ยิ่งต้องทำงานทุกวันล่ะก็ ไม่น่าแปลกใจเลยที่จะเป็นโรคออฟฟิศซินโดรม

 

3 สัญญาณเสี่ยงเป็นโรคออฟฟิศซินโดรม :

 

1. มือชา นิ้วล็อค เอ็นอักเสบ

เกิดจากการที่มือและนิ้วของเราอยู่ในลักษณะเดิมเป็นเวลานาน นั่นก็คือ การจับเมาส์ ในการทำงานหน้าจอแต่ละวันเราต้องนั่งทำอยู่หลายชั่วโมงกว่าจะถึงพักเที่ยงหรือเลิกงาน ติดต่อกันทุกๆ วัน ทำให้กล้ามเนื้อกดทับเส้นประสาทและเส้นเอ็นจนอักเสบ จึงเกิดอาการมือชา นิ้วล็อค เอ็นอักเสบขึ้นได้  

 

2. ปวดหัวเรื้อรัง (ไมเกรน)

ชีวิตการทำงานย่อมไม่ได้ราบรื่นอยู่ตลอดเวลา อาจมีความเครียดเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจากงานหรือสภาพแวดล้อมความเครียดมีผลต่อไมเกรนอย่างมาก รวมทั้งเรื่องการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ ความร้อน แสงแดดและการขาดฮอร์โมนบางชนิด หากรู้สึกมีอาการปวดขมับด้านหน้าศีรษะแล้วละก็ รู้ไว้เลยว่าคุณมีความเสี่ยงที่จะเป็นไมเกรนแล้วล่ะ

 

3. ปวดหลังเรื้อรัง

ถือเป็นปัญหาที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้มากกว่าข้ออื่นๆ เพราะการนั่งทำงานนานๆ ย่อมทำให้เกิดอาการล้า เมื่อย จากตอนแรกที่นั่งตัวตรง หลังตรง เมื่อเวลาผ่านไป คุณอาจเริ่มงอหลังลงมาโดยไม่รู้ตัว และเมื่อนั่งหลังงอหลังค่อมเป็นเวลานานๆ ติดต่อกันวันแล้ววันเล่า จะส่งผลให้กล้ามเนื้อบริเวณคอ สะบัก เกร็งอยู่ตลอดเวลา จึงเกิดอาการปวดหลังเรื้อรัง

 

อ่านจบแล้ว ใครที่มีอาการดังกล่าวควรรีบปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เร็วเลยนะ ไม่งั้นคงต้องทนทรมานกับเจ้าโรคออฟฟิศซินโดรมนี้ไปอีกนาน พยายามอย่าเครียด จัดที่นั่งให้เหมาะสม ลุกออกไปเคลื่อนไหวร่างกายทุกๆ 1-2 ชั่วโมง หากทำได้ตามนี้น่าจะพอช่วยเลี่ยงไม่ให้เจ้าโรคนี้มากล้ำกรายได้มากเลยทีเดียว

 

 


Story : Martmatt

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook