“ไข้หวัดมะเขือเทศ” คืออะไร อันตรายแค่ไหน ป้องกันอย่างไร

“ไข้หวัดมะเขือเทศ” คืออะไร อันตรายแค่ไหน ป้องกันอย่างไร

“ไข้หวัดมะเขือเทศ” คืออะไร อันตรายแค่ไหน ป้องกันอย่างไร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

พบผู้ป่วยโรค “ไข้หวัดมะเขือเทศ” ที่ประเทศอินเดีย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี อาการเริ่มต้นจะคล้ายไข้หวัด คือมีไข้ ปวดเมื่อยตัว ซึ่งอาการจะไม่รุนแรงและหายเองได้ ขณะนี้ยังไม่มีรายงานการพบผู้ป่วยในประเทศไทย

“ไข้หวัดมะเขือเทศ” คืออะไร

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ระบุว่า ไข้หวัดมะเขือเทศ เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัส “คอกซากี A16 (Coxsackie A16)” ที่ก่อให้เกิดโรคมือ เท้า และปาก (จากการถอดรหัสพันธุกรรมจากตัวอย่างสวอบตุ่มแผลจากผู้ป่วยสองราย)

ที่มีชื่อเรียกขานในท้องถิ่นว่า “ไข้หวัด มะเขือเทศ” เนื่องจาก หากติดเชื้อ ผู้ป่วยซึ่งเป็นเด็กเล็กจะมีผื่นแดงคล้ายมะเขือเทศ สร้างความเจ็บปวดให้กับร่างกาย โดยเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้ง่ายเป็นพิเศษ เนื่องจาก เชื้อไวรัสชนิดนี้แพร่กระจายได้ง่ายจากการสัมผัส เช่น เด็กเล็กสัมผัสพื้นผิวที่ไม่สะอาดที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งหรืออุจจาระของเด็กติดเชื้อ หรือนำสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสเข้าปาก

กระทรวงสาธารณสุขอินเดียได้ออกมายืนยันว่าพบผู้ติดเชื้อ“ไข้หวัดมะเขือเทศ” ในประเทศอินเดียตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 จนถึงขณะนี้พบแล้วถึง 82 ราย เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ พบการระบาดมากที่สุดในรัฐเกรละ (ซึ่งเป็นรัฐที่พบไวรัสโควิด-19 และ ไวรัสฝีดาษลิงระบาดมาก เช่นกัน) รองลงมาเป็น รัฐทมิฬนาฑู รัฐโอริสสา และรัฐหรยาณา

กลุ่มเสี่ยงโรคไข้หวัดมะเขือเทศ

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า ผู้ป่วยในประเทศอินเดียเป็นกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี พบผู้ติดเชื้อเกือบร้อยคน ไม่มีผู้เสียชีวิต เนื่องจากเชื้อไวรัสชนิดนี้แพร่กระจายได้ง่ายจากการสัมผัส เช่น การสัมผัสพื้นผิวที่ไม่สะอาด หรือนำสิ่งของเข้าปาก จึงทำให้กลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้ง่ายเป็นพิเศษ 

อาการของโรคไข้หวัดมะเขือเทศ

อาการเริ่มต้นจะคล้ายไข้หวัด คือ

  1. มีไข้ 
  2. ปวดเมื่อยตัว 
  3. มีผื่นขึ้น ผื่นที่ขึ้นจะมีลักษณะแดง และเป็นตุ่มน้ำคล้ายมะเขือเทศ (โรคนี้ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับการรับประทานมะเขือเทศแต่อย่างใด) 

จากการสันนิษฐานลักษณะทางระบาดวิทยาและอาการเด็กที่ป่วยจะคล้ายกับโรคมือ เท้า ปาก ที่พบบ่อยได้ในเด็ก ไม่ใช่โรคติดเชื้อชนิดใหม่

สถานการณ์ของโรคไข้หวัดมะเขือเทศในไทย

สถานการณ์ของโรคไข้หวัดมะเขือเทศยังไม่น่ากังวล ยังไม่มีรายงานการพบผู้ป่วยในประเทศไทย และโรคดังกล่าวเป็นการแพร่ระบาดอยู่ในวงจำกัด ซึ่งกระบวนการคัดกรองและรักษาในประเทศก็สามารถทำได้เช่นเดียวกับการรักษาโรคมือ เท้า ปากในเด็ก และในปัจจุบันมีทั้งชุดตรวจคัดกรอง ยารักษาในสถานพยาบาลในประเทศทุกระดับ

วิธีป้องกันโรคไข้หวัดมะเขือเทศ

ในช่วงฤดูฝนนี้ อากาศเย็นและชื้น เชื้อโรคแพร่กระจายได้ง่าย จึงขอความร่วมมือผู้ปกครองระมัดระวังดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด หมั่นทำความสะอาดของเล่นเด็ก และบริเวณพื้นที่ที่เด็กอยู่เป็นประจำ เพื่อลดเชื้อโรคที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook