“กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง" ไม่ได้มาจากการจ้องมือถือ-คอมพิวเตอร์ แต่ก็อันตรายกว่าที่คิด

“กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง" ไม่ได้มาจากการจ้องมือถือ-คอมพิวเตอร์ แต่ก็อันตรายกว่าที่คิด

“กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง" ไม่ได้มาจากการจ้องมือถือ-คอมพิวเตอร์ แต่ก็อันตรายกว่าที่คิด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพมากกว่าที่คิด

รองศาสตราจารย์ พญ.พริมา หิรัญวิวัฒน์กุล ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ โรค MG (Myasthenia Gravis) จริงๆ แล้วเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงที่สามารถเกิดขึ้นได้ในหลายระบบของร่างกาย โดยหากเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อบริเวณดวงตาก็จะทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง (Ocular Myasthenia Gravis) เป็นภาวะที่เปลือกตาหรือกล้ามเนื้อยึดลูกตาอ่อนแรงหลังจากใช้งานไประยะหนึ่ง

อาการของโรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง

  • หนังตาตก 
  • ลืมตาไม่ขึ้น 
  • โฟกัสภาพไม่ได้ 
  • เกิดภาพซ้อน ลักษณะคือเห็นภาพ 2 ภาพเหลื่อมกันหรือเห็นภาพแยกออกจากกัน เนื่องจากแนวการมองของดวงตาทั้งสองข้างไม่มองไปในตำแหน่งเดียวกัน แต่หากคนไข้ปิดตาข้างใดข้างหนึ่ง ภาพซ้อนดังกล่าวจะหายไป

อาการที่เกิดขึ้นจะไม่คงที่ เป็นๆ หายๆ เมื่อไรที่คนไข้ได้พักผ่อนเต็มที่ ไม่เหนื่อยล้า อาการก็จะดีขึ้น แต่พอใช้งานสายตาไปสักพัก อาการก็จะแย่ลง เช่น เวลาตื่นนอนตอนเช้า ดวงตามีขนาดเท่ากัน แต่พอบ่ายๆ กล้ามเนื้อดวงตาเปลี่ยนแปลงตามระยะเวลาที่ใช้งาน หนังตาจะเริ่มตกลงเรื่อยๆ โฟกัสภาพไม่ได้ เห็นภาพซ้อน

สาเหตุของโรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง

กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ที่บริเวณรอยต่อระหว่างเส้นประสาทและกล้ามเนื้อลาย ทำให้สารสื่อประสาททำงานลดลง และมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง สามารถพบได้ในทุกช่วงวัย

โดยปกติ ร่างกายของคนเรา เวลาที่จะใช้กล้ามเนื้อทำกิจกรรมอะไรสักอย่าง สมองจะสั่งการผ่านเส้นประสาท แล้วเส้นประสาทจะหลั่งสารสื่อประสาทไปยังกล้ามเนื้อ ซึ่งจะมีตัวรับสารสื่อประสาทอยู่บนตัวกล้ามเนื้อนั้นๆ ทำให้กล้ามเนื้อกดตัว ทำงานได้ตามปกติ

ความผิดปกติของโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เกิดจากการที่ร่างกายของเราสร้างระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติขึ้นมา โดยจะมีภูมิคุ้มกันอยู่จำพวกหนึ่งที่ชอบเข้าไปแย่งสารสื่อประสาทกับตัวรับบริเวณกล้ามเนื้อ ทำให้สารสื่อประสาทที่หลั่งออกมาจากเส้นประสาททำงานได้น้อยลง กล้ามเนื้อจึงอ่อนแรงลงตามระยะเวลาการใช้งานและสารสื่อประสาทที่ลดลง

กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง อาจทำให้สับสนกับอาการเมื่อยล้าดวงตา ตาแห้ง จากการใช้คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน

โรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง ยังพบได้ในประชากรวัยผู้ใหญ่และวัยทำงานในปัจจุบัน ที่ต้องนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ตลอดเวลา ซึ่งอาจทำให้หลายคนสับสนกับภาวะตาล้า หรือตาแห้ง จากการใช้ชีวิตประจำวันและการทำงานตามปกติ รวมถึงพฤติกรรมในการใช้สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ตเป็นประจำ และเป็นเวลานานๆ

อย่างไรก็ตาม สาเหตุสำคัญของภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง มาจากความผิดปกติที่เกิดจากการที่ร่างกายของเราสร้างระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติขึ้นมา โดยจะมีภูมิคุ้มกันอยู่จำพวกหนึ่งที่ชอบเข้าไปแย่งสารสื่อประสาทกับตัวรับบริเวณกล้ามเนื้อ ทำให้สารสื่อประสาทที่หลั่งออกมาจากเส้นประสาททำงานได้น้อยลง กล้ามเนื้อจึงอ่อนแรงลงตามระยะเวลาการใช้งานและสารสื่อประสาทที่ลดลง

นอกจากนี้กลุ่มเสี่ยงโรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง รวมถึงกล้ามเนื้อส่วนอื่นๆ อ่อนแรง ยังอาจมาจากพันธุกรรม และยังมีการศึกษาที่พบว่าโรค MG มักจะมาคู่กับโรคไทรอยด์ถึงประมาณ 10-15% อีกด้วย

วิธีป้องกันโรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง

เนื่องจากโรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงมีสาเหตุหลายอย่าง อาจมาจากปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ เช่น ความเสี่ยงเพิ่มจากการเป็นโรคไทรอยด์ พันธุกรรมจากพ่อแม่ จึงอาจเป็นเรื่องยากที่จะหาวิธีป้องกันได้โดยตรง

แต่เพื่อเป็นการถนอมสายตา และลดภาระในการใช้ดวงตาในแต่ละวัน จึงไม่ควรใช้งานคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และสมาร์ทโฟนเป็นเวลาติดต่อกันนานมากเกินไป ควรพักสายตาด้วยการหลับตา กระพริบตาถี่ มองไกลๆ ออกไปด้านนอกที่มีต้นไม้สีเขียว 10 นาทีทุกๆ 1 ชั่วโมง หรือหยอดน้ำตาเทียมเพื่อช่วยให้ดวงตาชุ่มชื้น แม้ไม่ใช่วิธีลดความเสี่ยงของโรคโดยตรง แต่ก็ช่วยถนอมดวงตาให้มีสุขภาพที่ดีได้เรื่อยๆ รวมถึงหลีกเลี่ยงการอดนอน พักผ่อนน้อย หรือการทำงานหนักจนเหนื่อยมากๆ การอยู่ในที่อากาศร้อน หรือมีแสงจ้ามากๆ ด้วย เพื่อลดปัจจัยในการกระตุ้นให้อาการของโรคแย่ลง ในกรณีที่กำลังมีอาการของโรคอยู่ หรือกำลังเริ่มเป็น

หากสงสัยว่าตัวเองเป็นโรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงหรือไม่ ควรเข้าพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจอย่างละเอียด และทำการรักษาตามขั้นตอนต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook