5 วิธีลดความดันสูง ทำได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องกินยา

5 วิธีลดความดันสูง ทำได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องกินยา

5 วิธีลดความดันสูง ทำได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องกินยา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อีกหนึ่งปัญหาสุขภาพที่คนไทยเป็นกันมาก คือ “ความดันโลหิตสูง” มักพบในวัยทำงานไปจนถึงวัยชรา คนที่มีน้ำหนักมากกว่าเกณฑ์มาตรฐาน และคนที่มีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม

แม้ว่าจะเป็นอาการที่พบได้มาก และเป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคอันตรายอื่นๆ ตามมาได้ แต่จริงๆ แล้วมีวิธีง่ายๆ ที่ทำตามกันได้ และช่วยลดความดันโลหิตได้จริง โดยอาจไม่ต้องพึ่งยารักษาโดยเฉพาะเสมอไป มาฝากกัน

5 วิธีลดความดันสูง ได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องกินยา

  1. วัดความดันโลหิตทุกวัน

เราสามารถวัดความดันโลหิตได้ด้วยตัวเอง ด้วยเครื่องวัดความดันโลหิตที่มีจำหน่ายตามร้านขายยาที่น่าเชื่อถือ การมีเครื่องวัดความดันที่บ้าน สามารถบ่งชี้ถึงภาวะแทรกซ้อนระยะยาวได้ดีกว่าการวัดความดันที่โรงพยาบาล และชีวิตเรามักอยู่บ้านเป็นประจำมากกว่า การวัดความดันที่อยู่ที่บ้านก็จะเป็นตัวบ่งบอกถึงความดันของคนๆ นั้นได้ดีกว่า

ควรวัดความดันโลหิตเป็นประจำทุกวัน วันละ 2 ครั้ง ในเวลาตื่นนอนตอนเช้า (หลังตื่นนอน 1 ชั่วโมง) และในเวลาก่อนนอน (หากใครที่กำลังกินยารักษาอาการความดันโลหิตอยู่ ให้วัดความดันก่อนกินยาทั้งในช่วงหลังตื่นนอน และก่อนนอน)

  1. ออกกำลังกาย

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ความดันโลหิตของคุณกลับมาเป็นปกติ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้ความดันโลหิตกลับมาเป็นปกติได้ โดยการออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่มีความดันโลหิตสูง คือการออกกำลังหัวใจ (คาร์ดิโอ) การออกกำลังกายที่ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น รู้สึกเหนื่อยหอบระหว่างออกกำลังกาย เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะๆ ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ แอโรบิก ฯลฯ

สำหรับผู้ที่ไม่เคยออกกำลังกายเลย อยู่ในวัยชรา หรือมีน้ำหนักมากกว่าเกณฑ์มาตรฐานเยอะ แนะนำการเดินเร็ว หรือแอโรบิกในท่าง่ายๆ เบาๆ ให้รู้สึกเหนื่อยเล็กน้อย ไม่เหนื่อยจนเกินไป โดยแนะนำให้ออกกำลังกายครั้งละอย่างน้อย 30 นาที 3-5 วันต่อสัปดาห์ หรือ 150 นาทีต่อสัปดาห์

หากความดันโลหิตสูงเกินกว่า 180/100 มิลลิเมตรปรอท ควรจะหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายและปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ รวมถึงผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอื่นๆ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน และอื่นๆ ควรปรึกษาแพทย์ถึงวิธีออกกำลังกายที่เหมาะสมอีกครั้ง

  1. ลดอาหารรสเค็มจัด กินผักผลไม้มากขึ้น

อาหารรสเค็ม พบได้ในอาหารไทยทั่วไปที่มีการปรุงรสเค็มหนัก เช่น ส้มตำ ยำต่างๆ แกงไตปลา หรือเมนูอื่นๆ รวมไปถึงอาหารที่มีการใส่ซอสปรุงรสเยอะๆ เช่น สุกี้ยากี้ และอาหารสำเร็จรูป เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แฮม ไส้กรอก ปลากระป๋อง อาหารแช่แข็ง ของหมักดอง ฯลฯ ควรลดการบริโภค และลดการปรุงรสเพิ่ม

การกินเค็มจะทำให้อาการความดันโลหิตสูงแย่ลง การลดเค็ม คือการลดเกลือโซเดียมให้ต่ำกว่า 2 กรัมต่อวัน ซึ่งเทียบเท่ากับเกลือแกงที่เราทำอาหารกัน 1 ช้อนต่อวัน หรือถ้าเกิดเทียบกันเป็นซีอิ๊ว ซอสปรุงรส น้ำปลาก็จะตกประมาณ 4 ช้อนต่อวัน

นอกจากลดเค็มแล้ว ควรกินผักผลไม้ทดแทนให้มากขึ้น ในปริมาณ 20-30 กรัมต่อวัน ซึ่งจะสามารถช่วยลดความดันโลหิตสูงได้ แต่หากเป็นผู้ป่วยโรคไต ควรปรึกษาแพทย์ถึงผักและผลไม้ที่ควรกินอีกครั้ง

  1. เลิกบุหรี่ ลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

การสูบบุหรี่ และการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ทำให้ความดันโลหิตสูงแย่ลงเช่นกัน และยังเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนอันตรายที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้อีกด้วย

สำหรับบางคนที่ไม่สามารถเลิกเหล้าและบุหรี่ได้ทันที ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ เนื่องจากในปัจจุบัน เรามีทั้งการทำกิจกรรมบำบัดและยาที่ทดแทนสารต่างๆ ที่ช่วยลดอาการระหว่างการเลิกเหล้าเลิกบุหรี่ได้

  1. กินยาตามแพทย์สั่ง พบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง

สำหรับใครที่เข้ารับการรักษาความดันโลหิตสูงกับแพทย์เรียบร้อยแล้ว ควรกินยาอย่างสม่ำเสมอตรงเวลา และไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง เพื่อให้แพทย์ประเมินอาการ และได้รับการรักษาตามอาการอย่างถูกต้องต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook