“น้ำมะพร้าว” มีประโยชน์ แต่ผู้ป่วยโรคไต-หัวใจ ควรระวัง

“น้ำมะพร้าว” มีประโยชน์ แต่ผู้ป่วยโรคไต-หัวใจ ควรระวัง

“น้ำมะพร้าว” มีประโยชน์ แต่ผู้ป่วยโรคไต-หัวใจ ควรระวัง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

น้ำมะพร้าวมีประโยชน์ ดื่มได้ แต่ผู้ป่วยโรคไตและโรคหัวใจ อาจต้องปรึกษาแพทย์ประจำตัวเพื่อหาวิธีดื่มที่ปลอดภัยและเหมาะสม

น้ำมะพร้าว อันตรายต่อผู้ป่วยโรคไตเสื่อม และโรคหัวใจ

น้ำมะพร้าวจัดเป็นเครื่องดื่มที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง แต่ไม่เหมาะสำหรับคนที่เป็นโรคไตเสื่อม เพราะน้ำมะพร้าวจะไปกระตุ้นการขับปัสสาวะ ถ้าร่างกายขาดน้ำ คนที่เป็นโรคไตอาจจะหัวใจวายได้ และคนที่มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ ถ้าร่างกายได้รับโพแทสเซียมมากเกินไป อาจสร้างปัญหาให้หัวใจ และเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้น ผู้บริโภคจึงควรบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม

คุณค่าทางโภชนาการของน้ำมะพร้าว

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์ฯ ได้ศึกษาคุณภาพและความปลอดภัยของน้ำมะพร้าวสดและน้ำมะพร้าวในภาชนะบรรจุปิดสนิท ชนิดละ 7 ตัวอย่าง โดยนำมะพร้าวสดเก็บจากร้านค้าในพื้นที่ จ.ราชบุรี นนทบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และน้ำมะพร้าวในภาชนะบรรจุปิดสนิท 7 ยี่ห้อ เก็บจากร้านสะดวกซื้อหรือห้างสรรพสินค้า เพื่อตรวจวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการ ได้แก่ แร่ธาตุ วิตามิน น้ำตาล ฮอร์โมน ความเป็นกรดด่าง และการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช

ผลการตรวจวิเคราะห์ พบแคลเซียม แมกนีเซียม โซเดียม โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส แมงกานีส เหล็ก สังกะสี ซีลีเนียม และคลอไรด์ในน้ำมะพร้าวสดมากกว่าน้ำมะพร้าวในภาชนะบรรจุปิดสนิท โดยเฉพาะโพแทสเซียมและคลอไรด์ในปริมาณเฉลี่ย 133.81-215.20 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม พบวิตามิน บี 2 ในน้ำมะพร้าวสดน้อยกว่า 0.01 มิลลิกรัมต่อ 100 มิลลิลิตร แต่ตรวจไม่พบในน้ำมะพร้าวที่ผ่านการแปรรูป เนื่องจากวิตามิน บี 2 ละลายน้ำได้ดีและถูกแสงสว่างทำลายได้ง่าย และวิตามิน บี 3 ในปริมาณเฉลี่ย 0.04-0.1 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม

เนื่องจากวิตามิน บี 3 ทนความร้อนและแสงสว่างได้ดีกว่า พบน้ำตาล 3 ชนิด ประกบด้วย กลูโคส ฟรุกโตส และซูโครส ในปริมาณเฉลี่ย 1.28-2.61 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร และพบฮอร์โมนเอสตราไดออล (estradiol) ซึ่งอยู่ในกลุ่มของเอสโตรเจน (estrogen) ทุกตัวอย่าง โดยมีปริมาณน้อยกว่า 1.0 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร และเทสโทสเตอโรน (testosterone) น้อยกว่า 0.2 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร สำหรับค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) พบอยู่ในช่วง 4.9-5.4 และตรวจไม่พบการตกค้างของสารเคมี กำจัดศัตรูพืชทุกตัวอย่าง

จากการศึกษาดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าน้ำมะพร้าวมีแร่ธาตุและเกลือแร่ในปริมาณสูง ส่วนน้ำตาลกลูโคส ฟรุกโตส และซูโครส ที่พบในน้ำมะพร้าวสด ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยพบว่า น้ำมะพร้าวสดจะมีกลูโคสสูงกว่าน้ำตาลชนิดอื่น (ประมาณร้อยละ 50 ของน้ำตาลทั้งหมด) และปริมาณน้ำตาลจะขึ้นอยู่กับอายุของลูกมะพร้าว โดยมะพร้าวอ่อนจะมีปริมาณน้ำตาลสูงกว่ามะพร้าวแก่ ส่วนน้ำมะพร้าวในภาชนะบรรจุปิดสนิทจะมีซูโครสสูง อาจเพราะมีการเติมน้ำตาลทรายในกระบวนการผลิตเพื่อปรุงแต่งรสชาติ หรือเพิ่มความหวาน

ระวังปริมาณน้ำตาลในน้ำมะพร้าว

การบริโภคน้ำมะพร้าว 1 ผลหรือ 1 ขวด (ประมาณ 200-300 มิลลิลิตร) จะได้รับน้ำตาล 7-25 กรัม ซึ่งกรมอนามัยได้แนะนำว่าควรบริโภคน้ำตาลไม่เกิน 32 กรัมต่อวัน ดังนั้นการบริโภคในปริมาณที่เหมาะสมไม่ควรเกิน 1 ผลต่อวัน จะช่วยในการรักษาระดับน้ำตาลในกระแสเลือดได้ดี และมีงานวิจัยขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) พบว่าน้ำมะพร้าวที่มีคุณภาพดีควรมีค่าความเป็นกรด-ด่าง อยู่ระหว่าง 5.0-5.4 

น้ำมะพร้าว กับฮอร์โมนเพศชาย

เรื่องฮอร์โมนเพศในน้ำมะพร้าวมีปริมาณเอสตราไดออล และเทสโทสเตอโรนน้อยมาก เมื่อเทียบกับฮอร์โมนเพศที่ถูกผลิตขึ้นในร่างกายมนุษย์

แต่ก็มีงานวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของการบริโภคน้ำมะพร้าวต่อระบบสืบพันธุ์ พบว่าน้ำมะพร้าวสามารถส่งผล กระตุ้นระบบต่อมไร้ท่อที่ควบคุมการหลั่งฮอร์โมนเพศ และมีผลช่วยให้อวัยวะในระบบสืบพันธุ์ของเพศหญิงและชาย พร้อมทั้งช่วยให้สเปิร์มแข็งแรงขึ้น 

ดังนั้น การดื่มน้ำมะพร้าวจึงอาจเป็นปัจจัยหนึ่งจากหลายๆ ปัจจัยในการเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ และอาจเป็นผลจากแร่ธาตุหลายชนิดในน้ำมะพร้าว เช่น โพแทสเซียม สังกะสี แมงกานีส และวิตามินที่ช่วยให้ระบบไหลเวียนโลหิตทำงานดียิ่งขึ้น ส่งผลให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook