ตามัว เห็นภาพซ้อน เห็นแสงกระจาย ระวังโรค "ต้อกระจก"

ตามัว เห็นภาพซ้อน เห็นแสงกระจาย ระวังโรค "ต้อกระจก"

ตามัว เห็นภาพซ้อน เห็นแสงกระจาย ระวังโรค "ต้อกระจก"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากอายุ 50 ปีขึ้นไป พบปัญหาการมองไม่ชัด มัวเหมือนมีฝ้าหรือหมอกบัง มองเห็นสีต่างๆ ผิดเพี้ยนไปจากเดิม ต้องการแสงสว่างมากขึ้นในการมอง ต้อกระจกอาจเข้ามาเยี่ยมเยือน การตรวจเช็กเพื่อดูความผิดปกติของดวงตาเป็นสิ่งสำคัญ 

โรคต้อกระจก คืออะไร?

พญ.ธารินี เสงี่ยมพรพาณิชย์ จักษุแพทย์ผู้ชำนาญการด้านการผ่าตัดต้อกระจก กระจกตา และการผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกติ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า โรคต้อกระจก (Cataract) คือ ภาวะที่เลนส์ตาเกิดความขุ่นมัว ส่งผลให้แสงเข้าไปในดวงตาน้อยลง จอประสาทตารับภาพได้ไม่ชัดเจน การมองเห็นลดลงเรื่อยๆ แบบค่อยเป็นค่อยไป แต่หากปล่อยทิ้งไว้จนเกิดความรุนแรงอาจทำให้มองไม่เห็นได้ในที่สุด

สาเหตุของโรคต้อกระจก

ต้อกระจกเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ อาทิ

  1. การเสื่อมสภาพของเลนส์ตาตามวัยเป็นสาเหตุที่พบมากที่สุด โดยจะพบตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป

  2. ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีระดับน้ำตาลสูงและควบคุมได้ไม่ดีพอ จะกระตุ้นเลนส์ตาให้ขุ่นขึ้นได้เร็วกว่าคนที่อยู่ในช่วงอายุเดียวกันแต่ไม่เป็นโรคเบาหวาน

  3. การใช้ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ ทำให้เกิดต้อกระจกบางชนิดได้

  4. เคยมีอุบัติเหตุกระทบกระแทกบริเวณดวงตา เคยมีการอักเสบ หรือมีการติดเชื้อบริเวณตามาก่อน

  5. การเผชิญกับแสงแดดติดต่อกันเป็นเวลานานโดยขาดการป้องกัน

  6. มีประวัติครอบครัวเป็นต้อกระจกแต่กำเนิดหรือเป็นตั้งแต่อายุน้อยๆ 

การรักษาโรคต้อกระจก

การผ่าตัดรักษาต้อกระจกเริ่มต้นจากการตรวจวินิจฉัย และประเมินสภาพตาอย่างละเอียดก่อนการทำผ่าตัดโดยจักษุแพทย์ การผ่าตัดต้อกระจกมี 2 วิธี คือ

  1. วิธีสลายต้อกระจกด้วยเครื่องสลายต้อ (Phacoemulsification with Intraocular Lens) เป็นวิธีที่ได้รับความนิยม ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ไม่ต้องดมยาสลบ ทำภายใต้การหยอดหรือฉีดยาชาเฉพาะที่ โดยจักษุแพทย์จะเปิดช่องเล็กๆ ที่ขอบตาดำประมาณ 2.4 -2.75 มิลลิเมตร แล้วสอดเครื่องมือสลายต้อเข้าไปที่ตัวต้อกระจก โดยเปิดถุงหุ้มเลนส์เป็นวงกลม และปล่อยพลังงานความถี่สูงเท่าระดับอัลตราซาวนด์เข้าสลายต้อกระจกนำเลนส์ตาที่ขุ่นออกมา จากนั้นจึงใส่เลนส์ตาเทียมเข้าไปแทนที่เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถมองเห็นภาพได้ชัดเจน โดยการเลือกเลนส์เทียมขึ้นกับความต้องการการใช้สายตาของผู้ป่วย เช่น เลนส์ชัดระยะเดียวหรือชัดหลายระยะ รวมถึงลักษณะตาของผู้ป่วย เช่น ถ้ามีสายตาเอียงร่วมด้วยอาจใช้เลนส์เทียมชนิดแก้เอียง เป็นต้น ซึ่งวิธีนี้ใช้เวลาผ่าตัดเพียงไม่นาน ประมาณ15- 30 นาที หลังผ่าตัดการมองเห็นดีขึ้นและกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้เร็ว ลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดแบบดั้งเดิม

  2. ผ่าตัดต้อกระจกแบบเปิดแผลกว้าง (Extracapsular Cataract Extraction with Intraocular Lens) เป็นวิธีผ่าตัดดั้งเดิมใช้ในกรณีที่ต้อกระจกสุกและแข็งมากๆ จนไม่เหมาะกับการสลายด้วยเครื่อง จักษุแพทย์จะเปิดแผลบริเวณครึ่งบนของลูกตายาวประมาณ 10 มม. เพื่อเอาตัวเลนส์แก้วตาที่เป็นต้อกระจกออก แล้วใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่แล้วจึงเย็บปิดแผลด้วยไหมเย็บแผล 

การดูแลตัวเองหลังผ่าตัดโรคต้อกระจก

ภายหลังผ่าตัดต้อกระจกการดูแลตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ ต้องระมัดระวังไม่ให้ติดเชื้อและปฏิบัติตามคำแนะนำของจักษุแพทย์อย่างเคร่งครัด ซึ่งจักษุแพทย์จะทำการนัดผู้ป่วยเพื่อติดตามผลเป็นระยะ คนไข้ควรสวมที่ครอบตาจนกว่าแพทย์จะให้เอาออก ใช้ยาหยอดตาตามที่แพทย์สั่ง ระวังการโดนลม ฝุ่น และแสงจ้า อย่าให้ดวงตาโดนน้ำ ห้ามขยี้ตา หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่กระทบกระเทือนดวงตาตามคำแนะนำของแพทย์ หากมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับดวงตา เช่น ปวดตา ตาแดง มีขี้ตามากผิดปกติ ตามัวลง สู้แสงไม่ได้  ควรกลับมาพบแพทย์ทันทีก่อนนัด  

การป้องกันโรคต้อกระจก

โรคต้อกระจกส่วนหนึ่งไม่สามารถป้องกันได้เนื่องจากความเสื่อมตามวัย แต่สามารถดูแลดวงตาเพื่อยืดอายุความแข็งแรงและชะลอการเกิดโรคต้อกระจกได้เช่น การสวมแว่นกันแดด ทานอาหารที่มีประโยชน์ ไม่ควรซื้อยาหยอดตามาใช้เอง โดยเฉพาะที่มีส่วนประกอบของสเตียรอยด์ และควรตรวจสุขภาพดวงตาเป็นประจำทุกปี โรคต้อกระจกเป็นโรคที่พบได้บ่อยในทุกคน

หากอายุครบ 40 ปี ควรมาตรวจตาปีละ 1 ครั้ง และหมั่นสังเกตความผิดปกติของดวงตา หากตามัวลงหรือสายตาเปลี่ยนจนผิดสังเกตควรต้องรีบมาพบแพทย์ทันที และสำหรับคนที่พบว่าตนเองเป็นต้อกระจกควรรีบเข้ารับการผ่าตัดรักษาโดยเร็ว อย่าปล่อยไว้จนรุนแรง ที่สำคัญอย่าลืมใส่ใจดูแลสุขภาพดวงตาและสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงทุกช่วงวัย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook