"ระบบน้ำเหลือง" คืออะไร? สำคัญต่อร่างกายอย่างไร?

"ระบบน้ำเหลือง" คืออะไร? สำคัญต่อร่างกายอย่างไร?

"ระบบน้ำเหลือง" คืออะไร? สำคัญต่อร่างกายอย่างไร?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

น้ำเหลือง เป็นส่วนประกอบหนึ่งในร่างกายที่หลายๆ คนคุ้นเคยกันมานาน แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่า น้ำเหลืองคืออะไร และทำหน้าที่อย่างไรในร่างกาย Hello คุณหมอ เลยจะมาแนะนำให้ทุกคนได้รู้จักกับ ระบบน้ำเหลือง อีกหนึ่งระบบสำคัญในร่างกายที่ไม่ควรมองข้าม

ระบบน้ำเหลือง คืออะไร

ระบบน้ำเหลือง (Lymphatic system) คือเครือข่ายที่เชื่อมต่อระหว่างเนื้อเยื่อ หลอดเลือด และอวัยวะในร่างกาย เพื่อไหลเวียนของของเหลวไร้สี ที่เรียกว่า น้ำเหลือง ให้กลับเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิต น้ำเหลืองจะไหลเวียนไปทั่วทั้งร่างกาย คล้ายคลึงกับการไหลเวียนของเลือด

หน้าที่หลักๆ ของระบบน้ำเหลือง มีดังนี้

  • รักษาความสมดุลของระดับน้ำในร่างกาย โดยการเก็บสะสมน้ำส่วนเกินที่ไหลออกมาจากเซลล์และเนื้อเยื่อทั่วร่างกาย แล้วส่งคืนกลับเข้าสู่กระแสเลือด
  • ดูดซึมไขมันและวิตามินที่ละลายในไขมัน ที่อยู่ในระบบทางเดินอาหาร แล้วส่งคืนกลับเข้าสู่กระแสเลือด
  • ปกป้องร่างกายจากเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมต่างๆ โดยการผลิตเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ (Lymphocyte) และเซลล์ภูมิคุ้มกันอื่นๆ ที่ช่วยกำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย เช่น เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัส เป็นต้น ลำเลียงและกำจัดเซลล์ที่ผิดปกติออกจากน้ำเหลือง ส่วนประกอบของระบบน้ำเหลือง


ส่วนประกอบของน้ำเหลือง

ระบบน้ำเหลืองนั้นเป็นเครือข่ายซับซ้อน ที่ประกอบไปด้วยส่วนต่างๆ มากมาย ได้แก่

  • น้ำเหลือง

น้ำเหลือง คือของเหลวส่วนเกินที่ไหลออกมาจากเซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆ ในร่างกาย รวมเข้ากับสารอื่นๆ เช่น โปรตีน แร่ธาตุ ไขมัน เซลล์ น้ำเหลืองนั้นจะช่วยลำเลียงเซลล์เม็ดเลือดขาวไปยังจุดต่างๆ ในร่างกาย เพื่อช่วยปกป้องร่างกายจากเชื้อโรค และการติดเชื้อ

  • ต่อมน้ำเหลือง

ต่อมที่มีลักษณะคล้ายเม็ดถั่ว ทำหน้าที่คอยสังเกตการณ์และกรองเอาเซลล์ที่เสียหายและเซลล์มะเร็งออกจากน้ำเหลือง นอกจากนี้ยังผลิตและกักเก็บเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ และเซลล์ภูมิคุ้มกันอื่น ๆ ที่โจมตีและกำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย

ในร่างกายของเรานั้นจะมีต่อมน้ำเหลืองอยู่ประมาณ 600 ต่อม กระจายอยู่ตามจุดต่างๆ ทั่วร่างกาย และเมื่อร่างกายเกิดการติดเชื้อ ต่อมน้ำเหลืองก็มักจะตอบสนองด้วยการบวมขึ้น เพราะมีการสะสมของเซลล์เม็ดเลือดขาว เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อจุลินทรีย์อื่นๆ ที่อยู่ในต่อมน้ำเหลือง

  • ท่อน้ำเหลือง

ท่อน้ำเหลืองคือเครือข่ายของท่อ ที่ทำหน้าที่ในการลำเลียงน้ำเหลืองไปยังเนื้อเยื่อต่างๆ ในร่างกาย ท่อน้ำเหลืองนั้นจะเก็บรวบรวมแล้วเซลล์และน้ำเหลืองส่วนเกิน ก่อนจะนำไปกรองที่ต่อมน้ำเหลือง ท่อน้ำเหลืองทำงานคล้ายกับหลอดเลือด แต่จะมีแรงดันในท่อน้ำเหลืองต่ำกว่ามาก และมีวาล์วสำหรับเปิดปิด เพื่อช่วยให้น้ำเหลืองไหลไปในทางเดียวกัน

  • ท่อรวบรวม

ท่อรวบรวม (Collecting ducts) คือท่อที่เชื่อมต่อระหว่างท่อน้ำเหลืองกับหลอดเลือดดำ ทำหน้าที่ในการส่งน้ำเหลืองกลับคืนเข้าสู่กระแสเลือด เพื่อให้ปริมาณและแรงดันของเลือดอยู่ในระดับที่ปกติ นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันไม่ให้มีน้ำสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อมากเกินไปอีกด้วย

นอกจากนี้ อีกส่วนประกอบหนึ่งของระบบทางเดินน้ำเหลือง ก็คือ อวัยวะน้ำเหลือง ซึ่งเป็นอวัยวะศูนย์กลางในการผลิตเซลล์ที่ช่วยต่อต้านสิ่งแปลกปลอมและเชื้อโรค อวัยวะน้ำเหลืองนั้นได้แก่

  • ต่อมน้ำเหลือง
  • ต่อมไทมัส (Thymus Gland)
  • ต่อมทอนซิล (Tonsils)
  • ม้าม (Spleen)
  • ไขกระดูก

อวัยวะอื่นๆ เช่น หัวใจ ปอด ลำไส้ ตับ และผิวหนัง ก็มีส่วนหนึ่งของเนื้อเยื่อน้ำเหลืองเป็นส่วนประกอบด้วยเช่นกัน


โรคเกี่ยวกับระบบน้ำเหลืองที่พบได้บ่อย

  • มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma)

โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองหมายถึงโรคมะเร็งที่เกิดขึ้นกับต่อมน้ำเหลือง ทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาวเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนขึ้นมามากเกินไปโดยไม่สามารถควบคุมได้ โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองมีอยู่หลายประเภท เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน และชนิดนอนฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin Lymphoma)

  • ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ

เมื่อต่อมน้ำเหลืองติดเชื้อ ก็มักจะทำให้ต่อมน้ำเหลืองมีอาการอักเสบและบวมขึ้น การติดเชื้อที่ทำให้ต่อมน้ำเหลืองบวมที่พบได้มากที่สุดคือ อาการคออักเสบ โรคโมโนนิวคลิโอซิส (Mononucleosis) การติดเชื้อเอชไอวี และการติดเชื้อที่ผิวหนัง

  • โรคบวมน้ำเหลือง (Lymphedema)

หากระบบน้ำเหลืองทำงานผิดปกติ เช่น มีสิ่งอุดตันในท่อน้ำเหลือง ก็จะทำให้เกิดการสะสมของน้ำเหลือง จนเกิดเป็นอาการบวม เรียกว่า โรคบวมน้ำเหลือง การอุดตันของท่อน้ำเหลืองนี้อาจเกิดขึ้นจากการผ่าตัด การฉายรังสีบำบัด หรือการบาดเจ็บ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook