รักษา “มะเร็งต่อมไทรอยด์” ด้วย “สารรังสีไอโอดีน”

รักษา “มะเร็งต่อมไทรอยด์” ด้วย “สารรังสีไอโอดีน”

รักษา “มะเร็งต่อมไทรอยด์” ด้วย “สารรังสีไอโอดีน”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ไม่ใช่โรคมะเร็งทุกประเภทที่เป็นแล้วจะต้องเสียชีวิตไปทุกครั้ง โดยเฉพาะหากพบในระยะแรกๆ มีโอกาสที่อาการจะทุเลา ควบคุมได้ หรืออาจจะหายขาดได้สูง รวมถึง “มะเร็งต่อมไทรอยด์” ที่หากพบในระยะแรกๆ และเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่แรก มีโอกาสดีขึ้น ถึงหายขาดจากโรคได้สูงมากเช่นกัน


ต่อมไทรอยด์ คืออะไร?

ผศ.พญ.คนึงนิจ กิ่งเพชร แพทย์สาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย อธิบายว่า ต่อมไทรอยด์เป็นอวัยวะหนึ่งที่อยู่ด้านหน้าของคอ ใต้ลูกกระเดือก มีรูปร่างคล้ายผีเสื้อตัวเล็กๆ ที่ด้านหน้าของคอ ต่อมไทรอยด์มีหน้าที่ในการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ ที่มีหน้าที่ในการช่วยเผาผลาญพลังงานของร่างกาย


สาเหตุของมะเร็งต่อมไทรอยด์

มะเร็งต่อมไทรอยด์ คือ เนื้อร้ายของไทรอยด์ที่เซลล์มีการแบ่งตัว เพิ่มจำนวนมากผิดปกติ และแพร่กระจายได้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมาพบแพทย์เมื่อคลำเจอก้อนที่บริเวณด้านหน้าของคอ ถ้ามีอาการมาก หรืออยู่ในระยะแพร่กระจายแล้ว อาจพบเป็นต่อมน้ำเหลืองที่คอโตได้


อันตรายของมะเร็งต่อมไทรอยด์

มะเร็งต่อมไทรอยด์ส่วนใหญ่เป็นมะเร็งที่ไม่ค่อยน่ากลัว มีการเติบโตช้า และไม่ค่อยมีการแพร่กระจายเท่าไร และหากเป็นในระยะเริ่มแรกของโรค โดยเฉพาะเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิด Papillary ถ้ารักษาได้อย่างถูกต้อง มีโอกาสหายขาดได้สูงมาก ผู้ป่วยจะมีอายุขัยเท่ากับคนทั่วไป


วิธีรักษาโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์

มะเร็งต่อมไทรอยด์ส่วนใหญ่เป็นมะเร็งที่เซลล์มะเร็งสามารถจับรังสีไอโอดีนได้ ซึ่งมีวิธีการรักษาหลักๆ ดังต่อไปนี้

  1. การผ่าตัดต่อมไทรอยด์
  2. การรับประทานสารรังสีไอโอดีน (การกลืนรังสีไอโอดีน) เพื่อให้สารรังสีไอโอดีนปล่อยรังสีออกมาเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งที่ต่อมไทรอยด์ได้ แต่บางครั้งที่ก้อนเซลล์มะเร็งเล็กมาก อาจไม่จำเป็นต้องกลืนรังสีไอโอดีน แพทย์จะพิจารณาเป็นรายๆ ไป
  3. รับประทานยาฮอร์โมนไทรอยด์ หลังรับประทานสารรังสีไอโอดีนในปริมาณที่ค่อนข้างสูง เพื่อทดแทนฮอร์โมนไทรอยด์ที่สูญเสียไปจากการผ่าตัด และเพื่อควบคุมโรคมะเร็ง


สารรังสีไอโอดีน ที่ใช้รักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ คืออะไร?

สารรังสีไอโอดีน หรือ น้ำแร่รังสีไอโอดีน สามารถแผ่รังสีออกมาได้ ทางการแพทย์จึงนำรังสีนั้นมาใช้ประโยชน์ในการรักษาโรค

สารรังสีไอโอดีน มี 2 รูปแบบ คือ 

  1. แบบน้ำ ที่มีลักษณะใส ไม่มีสี กลิ่น รส 
  2. แบบเม็ด มีลักษณะเป็นแคปซูลเม็ดเล็กๆ มีขนาดเท่าปลายนิ้วก้อย


ผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ ด้วยสารรังสีไอโอดีน

การรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ ด้วยสารรังสีไอโอดีน เป็นวิธีการรักษาที่ค่อนข้างเฉพาะเจาะจงในการใช้รักษากับเซลล์มะเร็งที่ต่อมไทรอยด์ เมื่อเปรียบเทียบกับผลข้างเคียงของการรักษาด้วยวิธีเคมีบำบัดโดยทั่วไปแล้ว พบว่ามีผลข้างเคียงน้อยกว่ามาก ที่สำคัญคือ ผมไม่ร่วง

อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยรังสีไอโอดีนที่อาจพบได้คือ 

  • คลื่นไส้ อาเจียน 
  • ต่อมน้ำลายอักเสบ (ปวดและบวมที่ต่อมน้ำลาย) เนื่องจากรังสีบางส่วนมีการขับออกทางต่อมน้ำลาย


วิธีเตรียมตัวก่อนเข้ารับการรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ ด้วยวิธีสารรังสีไอโอดีน

  1. งดอาหารทะเล และอาหารที่มีไอโอดีนสูง เช่น น้ำปลา เกลือ ซีอิ๊ว ไข่เสริมไอโอดีน ประมาณ 2 สัปดาห์ก่อนเข้ารับการรักษา
  2. ผู้หญิงต้องไม่อยู่ในระหว่างตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร และงดการตั้งครรภ์อย่างน้อย 1 ปี หรือจนกว่าแพทย์จะอนุญาต


วิธีปฎิบัติตัวหลังเข้ารับการรักษาด้วยสารรังสีไอโอดีน

  1. ดื่มน้ำมากๆ ราว 6-8 แก้วต่อวัน และปัสสาวะบ่อยๆ เพื่อขับเอาสารรังสีที่ตกค้างในร่างกายออกมาผ่านปัสสาวะ และกดชักโครกอย่างน้อย 2 ครั้ง หรือราดน้ำมากๆ
  2. รับประทานอาหารที่มีรสเปรี้ยว เพื่อช่วยให้สารรังสีที่ตกค้างในร่างกายถูกขับออกมาผ่านต่อมน้ำลายให้ได้มากที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดต่อมน้ำลายอักเสบจากสารรังสีที่ตกค้างได้
  3. หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับเด็ก และสตรีมีครรภ์อย่างน้อย 1 สัปดาห์
  4. หลีกเลี่ยงการนอนใกล้ผู้อื่น หรือนอนห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 2 เมตร เป็นเวลา 1 สัปดาห์
  5. รับประทานยาฮอร์โมนไทรอยด์ตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ

สำหรับวิธีรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ด้วยสารรังสีไอโอดีน สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย หรือติดต่อ Line @nmchula

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook