ภาวะ "หัวใจล้มเหลว" เกิดขึ้นได้แม้อยู่ในวัยหนุ่มสาว-ร่างกายแข็งแรง

ภาวะ "หัวใจล้มเหลว" เกิดขึ้นได้แม้อยู่ในวัยหนุ่มสาว-ร่างกายแข็งแรง

ภาวะ "หัวใจล้มเหลว" เกิดขึ้นได้แม้อยู่ในวัยหนุ่มสาว-ร่างกายแข็งแรง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคทรวงอก แนะเตือนผู้ป่วยหากมีอาการ หอบ เหนื่อยหายใจลำบาก อ่อนเพลีย มีอาการบวมตามอวัยวะ อย่าละเลยควรรีบพบแพทย์ทันที

หัวใจล้มเหลว ไม่แก่ก็เป็นได้

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ในปัจจุบันพบว่า ภาวะหัวใจล้มเหลวไม่ได้เกิดแค่ในเฉพาะผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ในกลุ่มคนที่อายุยังน้อย ร่างกายแข็งแรง ก็สามารถเกิดภาวะนี้ได้เช่นกัน ซึ่งภาวะหัวใจล้มเหลวเป็นภาวะความผิดปกติของการทำงานของหัวใจ ที่ไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงเนื้อเยื่อ และอวัยวะต่างๆ ของร่างกายได้อย่างเพียงพอ รวมถึงไม่สามารถรับเลือดกลับเข้าสู่หัวใจได้ตามปกติ

อาการของผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว

  • หอบเหนื่อย ในขณะที่ออกแรงหรือหายใจไม่สะดวกขณะที่นอนราบ
  • รู้สึกอ่อนเพลีย ทำให้ความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันและการออกกำลังกายลดลง
  • มีอาการบวมน้ำ บวมกดบุ๋มที่เท้าและขา
  • น้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากไตทำงานผิดปกติ ทำให้เกิดภาวะคั่งน้ำและเกลือ

สามารถวินิจฉัยได้โดย ซักประวัติตรวจร่างกาย ประเมินภาวะสมดุลของน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย ร่วมกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจภาพถ่ายรังสีทรวงอก ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจหัวใจด้วยคลื่นสะท้อนความถี่สูง เป็นต้น

สาเหตุของภาวะหัวใจล้มเหลว

นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่าภาวะหัวใจล้มเหลวเป็นกลุ่มอาการ ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบและกล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวอ่อนแรงจากการขาดเลือด กล้ามหัวใจอักเสบ โรคลิ้นหัวใจตีบหรือลิ้นหัวใจรั่ว ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตสูง และการใช้สารเสพติด เป็นต้น เป้าหมายสำคัญในการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว เพื่อป้องกันและชะลอการเสื่อมของการทำงานหัวใจ ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและลดอัตราการเสียชีวิต

วิธีดูแลผู้ป่วยหัวใจล้มเหลว

การดูแลสุขภาพในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวสามารถทำได้ ดังนี้

  1. รับประทานยาตามแพทย์สั่งให้ครบถ้วน
  2. ควบคุมอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม ของหมักดองเพื่อจำกัดปริมาณโซเดียม
  3. ควบคุมปริมาณน้ำดื่มตามแผนการรักษา
  4. สังเกตอาการบวมน้ำ
  5. ชั่งน้ำหนักก่อนทานอาหารเช้าทุกวัน หรือภายหลังเข้าห้องน้ำขับถ่ายแล้วในช่วงเช้า
  6. หลีกเลี่ยงความเครียดและควรพักผ่อนให้เพียงพอ
  7. งดการสูบบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติด
  8. ออกกำลังกายที่เหมาะสมอย่างสม่ำเสมอ
  9. สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ หากเดินขึ้นบันได 8-10 ขั้นแล้วไม่มีอาการหอบเหนื่อย
  10. ควรได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ประจำปีในกรณีไม่มีข้อห้าม
  11. ผู้ป่วยควรมาพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอเนื่องจากต้องมีการปรับยาให้เป็นไปตามแผนการรักษา
  12. ทำการรักษาที่สาเหตุในที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวในผู้ป่วยบางรายที่มีข้อบ่งชี้เช่น การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน หรือการผ่าตัดบายพาส การจี้ด้วยคลื่นความถี่วิทยุ เพื่อรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ และการผ่าตัดซ่อมหรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจเป็นต้น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook