ติดเชื้อ "ไวรัส" VS "แบคทีเรีย" ข้อแตกต่าง และวิธีรักษาที่ควรรู้

ติดเชื้อ "ไวรัส" VS "แบคทีเรีย" ข้อแตกต่าง และวิธีรักษาที่ควรรู้

ติดเชื้อ "ไวรัส" VS "แบคทีเรีย" ข้อแตกต่าง และวิธีรักษาที่ควรรู้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แม้ไวรัสและแบคทีเรียจะเป็นจุลินทรีย์เหมือนกัน แต่ก็มีหลายอย่างที่แตกต่างกัน และคุณควรรู้ถึงความแตกต่างเหล่านั้น เพื่อที่จะได้ป้องกันการติดเชื้อได้อย่างถูกต้อง หรือเมื่อติดเชื้อแล้ว จะได้รักษาได้อย่างถูกวิธี


ความแตกต่างของการติดเชื้อไวรัส กับการติดเชื้อแบคทีเรีย

แบคทีเรียเป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวขนาดเล็กที่ค่อนข้างซับซ้อน มีผนังเซลล์ที่คงรูป ทำให้สามารถรักษารูปร่างได้ ภายในเซลล์ของแบคทีเรียจะมีของเหลวที่ห่อหุ้มด้วยเยื่อบุบางๆ ลักษณะคล้ายยาง แบคทีเรียนั้นสามารถมีชีวิตอยู่ได้ด้วยตัวเอง และสามารถสร้างอาหารได้ ทั้งยังอยู่รอดได้ในสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย จะในพื้นที่ร้อนจัด เย็นจัด มีกากกัมมันตรังสี หรือในร่างกายมนุษย์ แบคทีเรียก็สามารถมีชีวิตอยู่ได้ทั้งนั้น

แบคทีเรียส่วนใหญ่นั้นไม่เป็นอันตราย แถมแบคทีเรียบางชนิดยังจัดว่าเป็นแบคทีเรียชนิดดี (probiotic) ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายของเรา เพราะช่วยในการย่อยอาหาร ช่วยทำลายจุลินทรีย์ก่อโรค ช่วยต่อสู้กับเซลล์มะเร็ง ช่วยดูดซึมสารอาหาร เป็นต้น โดยแบคทีเรียชนิดที่สามารถก่อโรคในมนุษย์ได้นั้น มีน้อยกว่า 1% ด้วยซ้ำ

ส่วนไวรัสนั้นเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีโครงสร้างง่ายๆ ไม่ซับซ้อน และมีขนาดเล็กกว่าแบคทีเรีย โดยไวรัสชนิดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดก็ยังมีขนาดเล็กกว่าแบคทีเรียชนิดที่มีขนาดเล็กที่สุด ไวรัสทุกชนิดจะมีแกนกลางเป็นกรดนิวคลิอิกซึ่งเป็น RNA หรือ DNA และมีโปรตีนห่อหุ้มล้อมรอบ สำหรับการดำรงชีวิตและการเจริญเติบโตของไวรัสก็แตกต่างจากแบคทีเรีย เพราะไวรัสไม่สามารถสืบพันธุ์ได้ด้วยตัวเอง จำเป็นต้องเข้าไปเจริญเติบโตและแพร่พันธุ์ในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตเท่านั้น

ไวรัสส่วนใหญ่สามารถก่อโรคได้ และไวรัสบางชนิดก็จะโจมตีเซลล์เฉพาะที่ เช่น ไวรัสชนิดที่โจมตีเซลล์ตับ ไวรัสที่โจมตีระบบทางเดินหายใจ ไวรัสที่โจมตีกระแสเลือด และในบางครั้ง ไวรัสก็โจมตีแบคทีเรียด้วย

การติดเชื้อไวรัส และการติดเชื้อแบคทีเรีย

เราติดเชื้อไวรัส หรือเชื้อแบคทีเรียได้ยังไง

เชื้อไวรัสและแบคทีเรียส่วนใหญ่สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ โดยคุณอาจ ติดเชื้อไวรัส หรือเชื้อแบคทีเรียได้จากสาเหตุเหล่านี้

  • การสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่ติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น แตะตัว จูบ

  • การสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากร่างกายของผู้ที่ติดเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรีย เช่น สารคัดหลั่งจากมีเพศสัมพันธ์ อย่างน้ำอสุจิ ของเหลวจากช่องคลอด หรือสารคัดหลั่งจากระบบทางเดินหายใจ เช่น น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ ที่ออกมาเมื่อไอ จาม

  • การถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ หรือตอนคลอด

  • การสัมผัสพื้นผิวที่มีเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียปนเปื้อน เช่น ลูกบิดประตู ก๊อกน้ำ แล้วเอามือไปสัมผัสใบหน้า ดวงตา ปาก จมูก

  • การกินอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย

  • การโดนแมลงที่มีเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียกัด


โรคจากการติดเชื้อไวรัสที่พบบ่อย

  • ไข้หวัดใหญ่

  • ไข้หวัดธรรมดา

  • การติดเชื้อไวรัสในลำไส้และกระเพาะอาหาร หรือที่เรียกว่า ไวรัสลงกระเพาะ หรือหวัดลงกระเพาะ

  • อีสุกอีใส

  • หัด

  • เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากไวรัส

  • หูด

  • การติดเชื้อเอชไอวี

  • ไวรัสตับอักเสบ

  • ไข้ซิกา

  • โควิด-19


โรคจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่พบบ่อย

  • คออักเสบ

  • การติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ

  • อาหารเป็นพิษเนื่องจากเชื้อแบคทีเรีย

  • เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ

  • เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากแบคทีเรีย

  • หนองในแท้

  • โรคไลม์

  • วัณโรค

  • บาดทะยัก


การติดเชื้อแบบไหน ถึงต้องใช้ยาปฏิชีวนะ

แม้เชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรียจะเป็นจุลินทรีย์เหมือนกัน แต่ก็ใช่ว่าจะสามารถรักษาด้วยยาปฏิชีวนะได้เหมือนกัน เพราะยาปฏิชีวนะนั้นใช้สำหรับรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียได้เท่านั้น โดยยาปฏิชีวนะจะช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตและการแบ่งตัวของแบคทีเรีย แต่กลับไม่มีผลต่อเชื้อไวรัส หากคุณติดเชื้อไวรัส เช่น เป็นไข้หวัดธรรมดา อาการมักหายเองภายใน 1-2 สัปดาห์โดยไม่ต้องใช้ยา และหากจะรักษาการติดเชื้อไวรัสด้วยยา ก็มักเป็นการใช้ยารักษาตามอาการ ไม่มียารักษาจำเพาะ

แม้ว่ายาปฏิชีวนะจะสามารถรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียได้ แต่คุณก็ต้องใช้ยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และไม่ใช้ยาเกินขนาดเด็ดขาด เพราะอาจทำให้แบคทีเรียปรับตัวจนต้านทานยาปฏิชีวนะ หรือที่เรียกว่าภาวะดื้อยาปฏิชีวนะของเชื้อแบคทีเรีย หรือแบคทีเรียดื้อยา จนทำให้รักษาได้ยากขึ้น

และเมื่อเริ่มใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียตามที่แพทย์สั่งแล้ว คุณก็ควรกินยาให้ครบตามที่แพทย์ระบุด้วย อย่าหยุดยากลางคันเด็ดขาด ถึงแม้จะรู้สึกดีขึ้นแล้วก็ตาม เพราะการกินยาไม่ครบตามจำนวนที่กำหนด อาจทำให้ยังมีเชื้อแบคทีเรียก่อโรคหลงเหลืออยู่ในร่างกาย จนโรคไม่หายขาดได้


วิธีป้องกันการติดเชื้อไวรัส และเชื้อแบคทีเรีย

คุณสามารถป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อไวรัส และเชื้อแบคทีเรียได้ ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

  1. ดูแลสุขอนามัยให้ดี เช่น

    - ล้างมือให้สะอาด โดยเฉพาะหลังใช้ห้องน้ำ ก่อนและหลังสัมผัสหรือกินอาหาร หลังสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากผู้ป่วย

    - ไม่เอามือสัมผัสใบหน้า ปาก จมูก และดวงตา หากยังไม่ได้ล้างมือให้สะอาด

    - ไม่ใส่ของใช้ส่วนตัว เช่น แก้วน้ำ ช้อนส้อม แปรงสีฟัน ผ้าเช็ดตัว ร่วมกันคนอื่น

  2. เข้ารับการฉีดวัคซีน โดยในปัจจุบันมีวัคซีนป้องกัน การติดเชื้อไวรัส และแบคทีเรียหลายชนิด เช่น วัคซีนโรคหัด วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนรวมป้องกัน คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก

  3. หากป่วยควรพักฟื้นที่บ้าน หรือเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล อย่าออกจากบ้านไปทำงาน หรือไปที่สาธารณะ เพราะคุณอาจไปแพร่เชื้อโรคให้ผู้อื่นได้ และอาจติดเชื้อโรคอื่นได้ง่ายด้วย เพราะตอนป่วย ระบบภูมิคุ้มกันจะอ่อนแอลง

  4. กินอาหารที่สะอาดและปรุงสุก ควรกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกแล้วเท่านั้น หรือหากเป็นผักและผลไม้สด ก็ควรล้างให้สะอาดก่อนกิน

  5. ป้องกันแมลง สัตว์ กัดต่อย เมื่อต้องอยู่ในที่ที่แมลงชุม เช่น ยุง เห็บ ควรป้องกันด้วยการสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ทายาป้องกันแมลง นอนกางมุ้ง เป็นต้น

  6. มีเพศสัมพันธ์แบบปลอดภัย ใช้อุปกรณ์ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทุกครั้งเมื่อทำกิจกรรมทางเพศ เช่น ถุงยางอนามัย แผ่นยางอนามัย และไม่ควรมีคู่นอนหลายคน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook