"ซิงค์" (Zinc) หรือ "แร่สังกะสี" กับประโยชน์สุขภาพที่คุณควรรู้

"ซิงค์" (Zinc) หรือ "แร่สังกะสี" กับประโยชน์สุขภาพที่คุณควรรู้

"ซิงค์" (Zinc) หรือ "แร่สังกะสี" กับประโยชน์สุขภาพที่คุณควรรู้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลายๆ คนอาจจะเคยได้ยินเกี่ยวกับ ซิงค์ (Zinc) แร่สังกะสี หนึ่งในแร่ธาตุที่มีความสำคัญต่อร่างกายเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกับในเรื่องของการเจริญเติบโต แต่เราสามารถหาแร่สังกะสีนี้ได้จากที่ไหน และจะเกิดอะไรขึ้นหากร่างกายของเราขาด ซิงค์


ซิงค์ สำคัญอย่างไรกับร่างกาย

ซิงค์ หรือ แร่สังกะสี นั้นเป็นหนึ่งในสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ที่ร่างกายไม่สามารถผลิตขึ้นเอง หรือกักเก็บไว้ได้ แต่จะได้รับผ่านทางการรับประทานอาหารเท่านั้น

ร่างกายของเราจำเป็นต้องใช้แร่สังกะสี เพื่อใช้ในกระบวนการทำงานต่างๆ ของร่างกาย เช่น

  • การเจริญเติบโตและการพัฒนาของร่างกาย

  • ปฏิกิริยาของเอนไซม์

  • การทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน

  • การสังเคราะห์โปรตีน

  • การสังเคราะห์ DNA

  • การฟื้นฟูบาดแผล

  • การแสดงออกของยีน (Gene expression)

นอกจากนี้แร่สังกะสีนี้ยังมีความจำเป็นต่อการทำงานของเอนไซม์กว่า 300 ชนิด ที่ช่วยในเรื่องของกระบวนการเผาผลาญ การย่อยอาหาร การทำงานของระบบประสาท ตลอดไปจนถึง การพัฒนาและการทำงานของเซลล์ภูมิคุ้มกันในร่างกาย ซิงค์จึงจัดได้ว่าเป็นแร่ธาตุที่มีความสำคัญต่อร่างกายมากเป็นอันดับ 2 รองจากธาตุเหล็ก


ประโยชน์สุขภาพที่ได้จากสังกะสี

  • ช่วยในเรื่องการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน

ซิงค์นั้นมีความสำคัญอย่างมากต่อระบบภูมิคุ้มกัน เนื่องจากร่างกายของเราจำเป็นต้องใช้แร่สังกะสีในการทำงานของเซลล์ระบบภูมิคุ้มกันที่เรียกว่า T-cells ซึ่งเป็นเซลล์ที่ช่วยในการควบคุมการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน และจัดการกับเซลล์ที่ติดเชื้อหรือเซลล์ผิดปกติ งานวิจัยหลายชิ้น ยังให้คำแนะนำว่า ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้สูงอายุ ควรบริโภคอาหารที่มีแร่สังกะสี เพื่อช่วยเพิ่มการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง และช่วยป้องกันจากโรคที่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น โรคปอดอักเสบ เป็นต้น

ในขณะเดียวกันหากร่างกายขาดแร่สังกะสี อาจส่งผลให้เกิดปัญหาต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย และอาจนำไปสู่ปัญหาอื่น เช่น การติดเชื้อ ได้ในที่สุด

  • ลดอาการอักเสบ

ซิงค์สามารถช่วยลดปริมาณของความเครียดที่เกิดจากออกซิเดชัน (oxidative stress) และช่วยลดปริมาณของโปรตีนบางชนิดที่ทำให้เกิดอาการอักเสบได้ มีงานวิจัยที่พบว่า ผู้สูงอายุที่รับประทานซิงค์วันละ 45 มก. ต่อวัน จะมีโอกาสในการเกิดอาการอักเสบน้อยกว่ากลุ่มที่ใช้ยาหลอก

  • ช่วยจัดการเรื่องสิว

เนื่องจากปัญหาสิวส่วนใหญ่นั้นเกิดจากการอักเสบ หรืออาจจะเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย มีงานวิจัยพบว่าการทายาหรือรับประทานยาที่มีส่วนผสมของซิงค์ สามารถช่วยรักษาอาการสิวได้ โดยการลดอาการอักเสบ และป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดสิว ทั้งยังช่วยลดการทำงานของต่อมน้ำมัน จึงช่วยลดการสะสมและอุดตันของไขมันบนใบหน้า อันจะนำไปสู่การเกิดสิวได้อีกด้วย

  • ฟื้นฟูบาดแผล

ซิงค์มีส่วนสำคัญในการรักษาความสมบูรณ์และโครงสร้างของผิวหนัง ผู้ป่วยที่มีอาการบาดแผลเรื้อรัง มักจะมีปัญหาเรื่องการเผาผลาญแร่สังกะสีบกพร่อง และมีระดับของสังกะสีในเซรั่มต่ำ ดังนั้นครีมทาผิวหลายชนิด จึงมักจะนิยมเพิ่มซิงค์ลงไป เพื่อช่วยรักษาอาการทางผิวหนัง เช่น อาการระคายเคือง หรือผื่นผิวหนัง


จะเกิดอะไรขึ้นหากร่างกายเราขาดซิงค์

แม้ว่าโอกาสจะเกิดขึ้นได้น้อย แต่บางคนก็อาจจะมีปัญหาในเรื่องของภาวะขาดสังกะสี ได้ โดยเฉพาะผู้ที่มียีนผิดปกติ ทารกที่ดื่มนมจากแม่ที่ได้รับแร่สังกะสีไม่พอ ผู้ที่ติดแอลกอฮอล์ หรือผู้ที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกันบางประเภท คนเหล่านี้มักจะเกิดภาวะขาดสังกะสีได้

อาการของภาวะขาดสังกะสีนั้น มีดังต่อไปนี้

  • การเจริญเติบโตและการพัฒนาของร่างกายผิดปกติ

  • เข้าสู่วัยหนุ่มสาวช้า

  • มีผื่นผิวหนัง

  • ท้องเสียเรื้อรัง

  • แผลหายช้า

  • ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง

  • ผมบางลง

  • ความอยากอาหารลดลง

  • ผิวแห้ง

  • มีปัญหาเรื่องการเจริญพันธุ์

  • อารมณ์แปรปรวน


อาหารที่เป็นแหล่งของ สังกะสี

การที่ร่างกายของเราจะได้รับ แร่สังกะสี นั้นมาจากการรับประทานอาหาร แต่โชคดีที่อาหารที่ได้จากเนื้อสัตว์และพืชหลายชนิดมักจะอุดมไปด้วยแร่สังกะสี ทำให้ง่ายต่อบริโภคให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

อาหารที่เป็นแหล่งของซิงค์ มีดังต่อไปนี้

  • สัตว์ทะเลเปลือกแข็ง เช่น ปู กุ้ง หอยนางรม หอยแมลงภู่ และหอยกาบ เป็นต้น

  • เนื้อสัตว์ เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อแกะ เป็นต้น

  • ปลา เช่น ปลาซาดีน ปลาแซลมอน เป็นต้น

  • ถั่ว เช่น ถั่วดำ ถั่วลูกไก่ (Chickpeas) ถั่วเขียว เป็นต้น

  • ธัญพืช เช่น เมล็ดฟักทอง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ เมล็ดแตงโม ข้าวโอ๊ต ควินัว เป็นต้น

  • ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น นมสด โยเกิร์ต เนย ชีส เป็นต้น

  • ไข่

  • ผักบางชนิด เช่น เห็ด ผักคะน้า หน่อไม้ฝรั่ง เป็นต้น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook