งด "ปลูกถ่ายไต" ช่วง "โควิด-19" ระบาด ลดเสี่ยงติดเชื้อจากผู้บริจาคบางกลุ่ม

งด "ปลูกถ่ายไต" ช่วง "โควิด-19" ระบาด ลดเสี่ยงติดเชื้อจากผู้บริจาคบางกลุ่ม

งด "ปลูกถ่ายไต" ช่วง "โควิด-19" ระบาด ลดเสี่ยงติดเชื้อจากผู้บริจาคบางกลุ่ม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ “การปลูกถ่ายไต” ถูกระงับชั่วคราว เพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อ จากผู้บริจาคสมองตายที่ไม่ทราบแน่ชัดว่ามีประวัติเสี่ยงหรือไม่ อย่างไรก็ตามการผ่าตัดฉุกเฉินอย่างตับและหัวใจยังคงให้บริการปกติ

ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานคณะอนุกรรมการปลูกถ่ายไต คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ปัจจุบัน มีผู้ป่วยรอปลูกถ่ายไตจำนวนมาก ราว 7,000 คนทั่วประเทศ ส่วนใหญ่ผ่าตัดได้ราว 600 คนต่อปี แต่ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาคนเสียโอกาสพอสมควรเนื่องจากการผ่าตัดหยุดชะงักและการรับบริจาคก็หยุดลง หลายโรงพยาบาลการเดินทางถูกล็อคดาวน์ การขนส่งอวัยวะทำไม่ได้ ขณะเดียวกัน ต้องหยุดการรับบริจาคอวัยวะในช่วงที่มีการติดเชื้ออย่างกว้างขวางเพราะเกรงว่าคนที่บริจาคอาจเป็นพาหะของเชื้อโควิด-19

“แม้ในสถานการณ์ปกติ ผู้ที่มาบริจาคไตก็ยังไม่เพียงพอต่อผู้ที่รอรับ เนื่องจากผู้ที่รอปลูกถ่ายประมาณ 7,000 คน แต่มีผู้บริจาคราว 300-400 ราย แบ่งเป็น ยอดบริจาค 60% คือ ผู้บริจาคที่มีภาวะสมองตายซึ่งจะใช้ไตได้ 2 ข้าง และอีก 40% เป็นญาติพี่น้องบริจาคให้กันจะสามารถบริจาคได้เพียงไตเดียว"

“ยกตัวอย่าง หากมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุที่ประสงค์บริจาคอวัยวะ ทางโรงพยาบาลต้องเจาะเลือดดูชนิดของเนื้อเยื่อไต และส่งข้อมูลไปที่ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย เพื่อให้ดูความเข้ากันได้ของเนื้อเยื่อ ว่าตรงกับผู้รอรับบริจาคคนใด คนนั้นก็ได้รับการปลูกถ่าย ซึ่งส่วนใหญ่เฉลี่ยระยะเวลารอประมาณ 4 ปี บางคนรอ 6 เดือน หรือบางคนรอถึง 10 ปี แต่หากเป็นญาติพี่น้องส่วนใหญ่จะสามารถบริจาคได้เลยเพราะเนื้อเยื่อใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ การรับบริจาคไต ต้องปลูกถ่ายภายใน 24 ชั่วโมง และพักรักษาตัวอยู่โรงพยาบาล 1-2 สัปดาห์” 

ปัจจุบัน โรงพยาบาลที่สามารถปลูกถ่ายไตได้มีราว 20 แห่งส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และโรงพยาบาลศูนย์ เช่น โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ และโรงพยาบาลศูนย์ใหญ่ๆ ตามต่างจังหวัด โดยการรักษาโรคไตในปัจจุบัน สามารถเบิกได้ทุกสิทธิการรักษา สำหรับรามาฯ ถือเป็นศูนย์ใหญ่ ที่ทำการปลูกถ่ายไตมากที่สุดในประเทศรวมกว่า 2,500 คน หรือ 1 ใน 4 ของผู้ป่วยที่ปลูกถ่ายไตในประเทศไทย ผ่าตัดราว 180 ไตต่อปี หรือเดือนละประมาณ 15 คน

“ขณะนี้ เรื่องของการบริจาคอวัยวะ และการปลูกถ่ายเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยทางรามาฯ วางแผนว่าจะเปิดให้บริการปลูกถ่ายไตในเดือนหน้า เพราะแนวโน้มผู้ป่วยโควิด-19 เริ่มดีขึ้น คิดว่าการบริการทางการแพทย์ด้านอื่นๆ น่าจะค่อยๆ กลับมาสู่ปกติ ตอนนี้นอกจากผ่าตัดไต ผู้ป่วยผ่าตัดอื่นๆ เช่น เข่า ไส้เลื่อน นิ่ว ก็ถูกเลื่อนออกไปเช่นกัน ดังนั้น หลายโรงพยาบาลก็รอสัญญาณจากทางกระทรวงสาธารณสุข หากสถานการณ์ดีขึ้น คาดว่าน่าจะค่อยๆ ปลดล็อคทีละนิด ให้บริการด้านอื่นๆ เหมือนเดิม ไม่เช่นนั้นคนไข้ก็ต้องรอ ผ่าตัดไม่ได้


ผู้ป่วยหลังผ่าตัดเปลี่ยนไต ห้ามขาดยากดภูมิเด็ดขาด

ผศ.นพ.สุรศักดิ์ ระบุว่า ผู้ป่วยหลังจากผ่าตัดเปลี่ยนไต จะต้องกินยากดภูมิตลอดชีวิต เรื่องยากดภูมิสำคัญมาก การขาดยาแค่เดือนเดียวมีผลทำให้ไตเสีย ยาเหล่านี้ซื้อไม่ได้ ร้านขายยาไม่ขาย รับจากโรงพยาบาลอื่นก็ไม่ได้ ดังนั้น ในช่วงเดือนที่ผ่านมา มีผู้ป่วยบางคนมาไม่ได้ เนื่องจากถูกกักตัว รถโดยสารและเครื่องบินชะลอการเดินทาง ทางรามาฯ และโรงพยาบาลหลายแห่ง จึงมีบริการจัดส่งยาทางไปรษณีย์ ครั้งละ 3 เดือน หลังจากนั้นคาดว่าสถานการณ์โควิด-19 น่าจะดีขึ้น แต่หากยังไม่ดีขึ้นก็ทำเรื่องเข้ามาขอเพิ่มอีก 3 เดือน

“อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่รอการปลูกถ่ายไต ระหว่างนั้นจะมีการฟอกเลือด ล้างไตทดแทน จึงถือว่าไม่ได้ด่วนมาก ผู้ป่วยที่ฟอกเลือดจะแข็งแรงมากในช่วง 2 ปีแรก หากรอนานไปร่างกายจะทรุดโทรมลง 5-10 ปี ร่างกายจะไม่ค่อยดีเริ่มอ่อนแอ แต่ผู้ป่วยโรคอื่นที่น่ากังวลกว่า คือ “ตับวาย” รอไม่ได้เลยต้องได้รับการผ่าตับรวดเร็ว หากรอนานเกิน 1 เดือนผู้ป่วยจะไม่รอด เพราะไม่มีเครื่องล้างตับ และ “หัวใจล้มเหลวระยะสุดท้าย” หากไม่ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจภายใน 1 เดือนส่วนใหญ่จะเสียชีวิต ดังนั้น หัวใจ กับ ตับ เป็นสิ่งที่รอไม่ได้ หากมีผู้บริจาคตับและหัวใจที่ยังใช้ได้ดี ทางโรงพยาบาลก็ยังคงผ่าตัดปลูกถ่ายอยู่ไม่มีการหยุด”


ผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนไต ควรระมัดระวังตัวเองไม่ให้ติดเชื้ออย่างเคร่งครัด

ผศ.นพ.สุรศักดิ์   แนะว่า สำหรับในช่วงนี้แนะนำให้ผู้ป่วยโรคระมัดระวังตัว เนื่องจากผู้ป่วยที่ปลูกถ่ายไตทั่วประเทศซึ่งมีราว 5,000 คน เป็นผู้ป่วยที่ต้องทานยากดภูมิตลอดชีวิต หากหยุดยาเมื่อไร ร่างกายจะมองว่าไตเป็นสิ่งแปลกปลอม ภูมิต้านทานจะไปทำลายไต ผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงภูมิต้านทานต่ำ เพราะฉะนั้น โอกาสติดเชื้อโควิด-19  และอาการรุนแรงจะมากกว่าคนปกติ ภูมิสู้ไม่ได้เชื้อจะลงปอดทำให้เป็นปอดบวมได้ง่าย ดังนั้น ผู้ป่วยต้องมีสุขอนามัยที่ดี ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์ อยู่ห่างจากคนอื่น 2 เมตร อย่าเข้าใกล้คนที่ไม่สบาย ถ้ามีอาการผิดปกติ ไข้ ไอ ให้รีบพบแพทย์ แต่คนที่บริจาคไตทั่วไป ในเดือนหน้าหากไม่มีอาการสามารถมาบริจาคได้

“ปัจจุบัน ยังมีผู้บริจาคไตจำนวนน้อยมาก หากมองว่าผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุช่วงสงกรานต์ราว 600 คนต่อปี หากทุกคนบริจาคจะสามารถช่วยชีวิตคนได้อีกกว่า 1,200 คน นอกจากนี้ 1 คน ยังสามารถช่วยคนได้อีกกว่า 7-8 ชีวิต เพราะสามารถบริจาคได้ทั้งหัวใจ ดวงตา ตับ ไขกระดูก ฯลฯ” 


ผ่าตัดเปลี่ยนไต สามารถมีสุขภาพแข็งแรงเหมือนคนปกติได้

สำหรับผู้ที่มีชีวิตที่บริจาคไตไปข้างหนึ่ง การใช้ชีวิตหลังจากนั้นจะยังเหมือนเดิม โอกาสภูมิต้านทานต่ำไม่มีเพราะไม่ได้กินยากดภูมิ การติดเชื้อต่างๆ ไม่รุนแรง สุขภาพดี อายุยืนเท่าคนทั่วไป โรคไตจะมีมากขึ้นกว่าคนปกติไม่ถึง 1% ต้องระวังเล็กน้อยเรื่องความเสี่ยง เช่น ไม่ให้เป็นโรคอ้วนเพราะคนอ้วนจะเป็นเบาหวาน ความดัน โรคไต ได้ง่าย ไม่กินเค็ม ทำให้ความดันขึ้นเป็นสาเหตุให้เกิดไตวาย ระวังการทานยาที่เป็นพิษต่อไต เช่น ยาแก้ปวด ดื่มน้ำมากๆ วันละ 8-10 แก้ว ไม่ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ หากปฏิบัติตัวตามนี้ได้ก็จะมีชีวิตเหมือนคนปกติ มีลูก มีครอบครัวได้

“กรณีผู้ป่วยที่ไม่ได้ปลูกถ่ายไตจนเสียชีวิต มีบ้างในกรณีที่เป็นผู้สูงอายุ 70  ปีขึ้น ผ่าตัดไม่ไหวเพราะมีโรคร่วมเยอะ เช่น หัวใจ เบาหวาน ก็ต้องฟอกเลือดไปเรื่อยๆ มีโรคแทรกซ้อน เช่น เป็นเบาหวานและมีโรคแทรกซ้อน คือ หัวใจ เส้นเลือดสมองแตก/ตีบ หรือติดเชื้อ ภูมิต้านทานไม่ดี แต่หากเป็นผู้ป่วยอายุน้อยราว  40  ปี แนะนำให้เปลี่ยนไต จะทำให้มีคุณภาพชีวิตดี สุขภาพแข็งแรง ไปทำงานและเป็นกำลังของสังคมได้”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook